ขุดพบเศียรพระพุทธรูปโบราณอายุพันปี สวยงามที่สุด ณ เมืองโบราณซับจำปา

https://youtu.be/F1anpvudLhU วันนี้ผมจะพาไปชมความงดงามของเศียรพระพุทธรูปโบราณที่มีอายุกว่าพันปี หรือสมัยทวารวดี ที่มีความสมบูรณ์สวยงามมากที่สุดเศียรหนึ่งที่เคยค้นพบ เศียรพระพุทธรูปนี้ ขุดพบที่เมืองโบราณซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี จากการศึกษาและสำรวจทางโบราณคดี สันนิษฐานอายุราว พุทธศตวรรษที่ 11 – 12 ก่อนการค้นพบเมืองโบราณซับจำปา ได้พบโบราณวัตถุต่างๆตามพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ตั๊กแตนปาทังการะบาดในพื้นที่ ราวปี พ.ศ.2513 กรมการเกษตรจึงส่งอากาศยานเพื่อโปรยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงได้เห็นสัณฐานคูเมืองโบราณซับจำปาทางอากาศ คล้ายรูปหัวใจ จึงเกิดข่าวโด่งดังแพร่กระจายในแวดวงโบราณคดี และเริ่มมีการสำรวจทางโบราณคดีนับแต่นั้นมา โดยนำทีมสำรวจโดยอาจารย์วีระพันธ์ มาลัยพันธ์ อาจารย์วีระพันธ์ มาลัยพันธ์ ได้กล่าวว่าการสำรวจเมืองโบราณซับจำปามีความน่าสนใจเพราะมีความผสมผสานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดี เช่น มีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และพบเศษภาชนะ รวมถึงรูปปั้นตุ๊กตาดินเผายุคประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดีเป็นต้น การขุดสำรวจทางโบราณคดี ได้ค้นพบโบราณวัตถุสำคัญหลายชิ้น แต่ในสมัยนั้น การควบคุมยังลำบากเพราะเป็นพื้นที่ห่างไกล ทำให้มีโบราณวัตถุบางชิ้นได้หลุดรอดถูกลักขโมยไปขายในตลาดต่างประเทศ โบราณวัตถุที่ขุดพบในเมืองโบราณคดีซับจำปามีมากมาย จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ทั้งที่พิพิธภัณฑ์ซับจำปา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี ส่วนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ขุดพบคือ เศียรพระพุทธรูปโบราณ สมัยทวารวดี อายุกว่าพันปี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ที่มีความงดงามและสมบูรณ์มากเศียรหนึ่ง ภาพด้านบนที่ท่านได้เห็นในขณะนี้ เป็นภาพเมื่อครั้งขุดพบเศียรพระพุทธรูปครั้งแรก จากเพจเมืองโบราณซับจำปา และชมรมรักษ์เมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร คุณศุภชัย นวการพิศุทธิ์ นักโบราณคดี ผู้ขุดสำรวจในไซต์งานครั้งนั้น ได้กล่าวว่าตั้งแต่เขาได้เรียนและอ่านหนังสือทางโบราณคดี ไม่เคยพบเศียรพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ที่สวยงามขนาดนี้ โดยปกติจะพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดีเป็นแบบพระเนตรโปนพระโอษฐ์ใหญ่ แต่การค้นพบครั้งนี้ถือว่ามีความงดงามแตกต่างจากข้อมูลที่เคยรับรู้มาก่อน และโบราณวัตถุสำคัญอีกชิ้นที่ค้นพบคือ ฐานและเสาธรรมจักรแปดเหลี่ยม มีจารึกภาษาบาลี ตัวอักษรปัลลวะ คาถาในพระไตรปิฎก 4 คาถา อายุราวพุทธศตวรรษที่… Read More »

วัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ วัดของสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรที่สาบสูญ เหลือเพียงชื่อในแผนที่

https://youtu.be/raWifsrc7L8 สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปตามรอยหาวัดสำคัญวัดหนึ่งที่สาบสูญไปแล้วในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่โบราณและแผนที่ของกรมศิลปากร ระบุถึงตำแหน่งวัดแห่งนี้ไว้ ชื่อว่า “วัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ” คำว่าเจ้าฟ้าดอกเดื่อนี้ คืออีกชื่อหนึ่งของ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” นั่นเอง ที่มาของชื่อเจ้าฟ้าดอกเดื่อนั้น ตามพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ได้กล่าวว่า ขณะสมเด็จพระราชชนนีทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระราชชนกทรงพระสุบินว่ามีผู้ถวายดอกมะเดื่อ ซึ่งพระองค์ทรงทำนายว่า “ดอกมะเดื่อเป็นคนหายากในโลกนี้” เมื่อพระราชโอรสประสูติ จึงพระราชทานนามว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร” ส่วนราษฎรเรียกว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” หรือ “เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ” ซึ่งคำว่า “อุทุมพร” แปลว่า “ดอกมะเดื่อ” นั่นเอง เมื่อครั้งสมเด็จพระราชชนกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ทรงขึ้นครองราชย์ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมีบันทึกแตกต่างกัน บ้างว่าเป็นระยะเวลา 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน หรือเพียง 10 วัน ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ความสำคัญคือ พระองค์สละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบ แล้วลาผนวชทันที แต่พระองค์ก็เคยสึกออกมาเพื่อมาช่วยการศึกสงครามเมื่อครั้งศึกพระเจ้าอลองพญา เมื่อ ปี พ.ศ.2303 เมื่อเสร็จศึกพระองค์ก็ได้ออกผนวชอีก จึงจะเห็นได้ว่าพระองค์นั้นมีพระปรีชาสามารถทั้งสติปัญญาการปกครอง การรบ และใฝ่ในทางธรรม ไม่ปรารถนาในราชสมบัติ จนสุดท้ายในศึกเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2310 ฝ่ายเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าได้คุมตัวภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพรกลับไปด้วย และต่อมาได้มีการค้นพบบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า ต้นฉบับเป็นภาษามอญ เป็นเนื้อหาที่พระเจ้ากรุงอังวะให้สอบถามเชลยศึกเกี่ยวกับพงศาวดารไทยและขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเชื่อว่าย่อมมีคำให้การจากสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรด้วย… Read More »

ปราสาทภูมิโปน ปราสาทขอมโบราณเก่าแก่ที่สุดในไทย

ปราสาทภูมิโปน มีสถานที่ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน  ตำบลดม  อำเภอสังขะ  จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสันนิษฐานอายุการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ถือได้ว่าเป็นปราสาทที่ได้รับอิทธิพลอารยธรรมขอมโบราณที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้ระบุว่าบริเวณสถานที่ตั้งของปราสาทภูมิโปน มีภูมิศาสตร์ที่เชื่อได้ว่าเคยเป็นชุมชนสถานที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดินอยู่โดยรอบ และราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ บริเวณชุมชนบ้านภูมิโปนได้ถูกพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยมีปราสาทภูมิโปนเป็นศูนย์กลางและศาสนสถานในศาสนาฮินดู สำหรับคำว่า “ภูมิโปน” เชื่อว่าน่าจะมาจากภาษาเขมร “ภูมิ” มีความหมายคือ แผ่นดิน, สถานที่หรือหมู่บ้าน และ “ปูน” ซึ่งออกเสียงว่า “โปน” แปลว่า “หลบซ่อน”  ถ้ารวมคำว่า “ภูมิโปน” จึงมีความหมายว่า “สถานที่หลบซ่อน” จากความหมายของคำว่า “ภูมิโปน” จึงไปสอดคล้องกับตำนานท้องถิ่น ที่กล่าวไว้ว่า มีกษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่า “ปราสาทภูมิโปน” ต่อมาเกิดเหตุการณ์เมืองหลวงมีความไม่สงบสุข เนื่องจากมีข้าศึกศัตรูเข้ามาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมองค์นั้นจึงส่งพระราชธิดาของตนพร้อมกับไพร่พลจำนวนหนึ่งไปหลบซ่อนลี้ภัยสงครามที่ภูมิโปน ตามตำนานได้กล่าวถึงพระราชธิดาองค์นั้นมีพระนามว่า “พระนางศรีจันทร์” หรือ “เนียง ด็อฮ ทม” ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วย ปราสาทก่อด้วยอิฐอยู่ทั้งสิ้น 3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง โดยปราสาทอิฐหลังใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า – ออกด้านเดียวทางฝั่งทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อเป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ… Read More »

บ่อน้ำโบราณ ตำหนักท่าเจ้าสนุก เส้นทางสักการะพระพุทธบาท สมัยอยุธยา

https://youtu.be/r-9d4qmJuAs อันซีน อยุธยา บ่อน้ำโบราณสมัยอยุธยาที่หลายคนไม่เคยรู้ สวัสดีครับ หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “ท่าเจ้าสนุก” ซึ่งเป็นชื่อตำบลในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีเรื่องราวความเกี่ยวข้องในเส้นทางเสด็จสักการะรอยพระพุทธบาท สระบุรี มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา และยังปรากฏซากร่องรอยบางอย่างที่แสดงให้เห็นในปัจจุบัน คือ บ่อน้ำโบราณ ที่กล่าวกันว่าเป็นบ่อน้ำที่นำน้ำมาใช้ในพระตำหนักที่มีชื่อว่า “พระตำหนักท่าเจ้าสนุก” ซึ่งเป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นไว้พักแรมระหว่างทางเสด็จสักการะรอยพระพุทธบาท จึงเป็นอีกสถานที่ ที่มีความน่าสนใจตามรอยและบันทึกไว้ในการเดินทางครั้งนี้ รอยพระพุทธบาท สระบุรี ถือได้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่เก่าแก่และมีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีบันทึกการค้นพบในพระราชพงศาวดารและมีพระราชประเพณีการเสด็จสักการะมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่องราวของท่าเจ้าสนุกจากเว็บไซต์เทศบาลตำบลท่าเรือ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ท่าเรือ เดิมเรียกว่า “นครน้อย” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ พ.ศ. 2153 – 2171 เสด็จประพาสเพื่อไปสักการะพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ทางชลมารค(ทางเรือ) ได้จอดเรือเพื่อเสด็จทางสถลมารค(ทางบก)ต่อไป ขบวนเรือหลวงมากันคับคั่งจนไม่มีที่จอดเรือ เรือราษฎร์ได้จอดเลยตัวอำเภอท่าเรือในปัจจุบันขึ้นไปจนถึงตำบลท่าหลวง ส่วนขบวนเรือหลวงก็จอดที่ท่าเจ้าสนุก เพราะมีตำหนักประทับแรมตั้งอยู่ ส่วนเรือของบรมวงศานุวงศ์ ก็จอดท่าถัดๆไปจนถึงหน้าวัดสฎางค์ ได้พักค้างแรมที่ตำหนักท่าเจ้าสนุก วันรุ่งขึ้นก็ข้ามฝั่งไปขึ้นช้างที่ท่าเกย(ติดกับบริเวณวัดไม้รวกในปัจจุบัน) แล้วพระราชดำเนินต่อไปยังอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพื่อทรงสักการะพระพุทธบาท ภายหลังพระมหากษัตริย์ ทุกพระองค์ ต่างเจริญรอยตามพระราชประเพณีสืบมา  ซึ่งตามหลักฐานที่ สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่บริเวณวัดตำหนักพระเจ้าทรงธรรม หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเจ้าสนุก คือ บริเวณโบราณสถานท่าเจ้าสนุกและตำหนักท่าเจ้าสนุก ซึ่งปลูกสร้างด้วยไม้จึงไม่หลงเหลือซากตำหนักให้เห็นในปัจจุบัน ซากโบราณสำคัญที่ยังหลงเหลือให้เห็นและน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพระตำหนักท่าเจ้าสนุก คือ “บ่อน้ำโบราณ” สันนิษฐานว่าเป็นระบบสาธารณูปโภค เพื่อใช้ในเขตพระตำหนักท่าเจ้าสนุก… Read More »

เขื่อนธารทองแดง เขื่อนโบราณสมัยอยุธยา ในวัดปราสาททรงธรรม สระบุรี

https://youtu.be/uqBIDvQOkA4 โบราณสถานเขื่อนดินธารทองแดง เขื่อนโบราณสมัยอยุธยา ที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีความอันซีนที่หลายๆท่านอาจไม่เคยรู้ เพราะแอบซ่อนสายตาตั้งอยู่หลังวัดปราสาททรงธรรม อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี อาจจะถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมในสมัยโบราณ และเป็นเขื่อนแห่งแรกของสยามประเทศ การเดินทางถือว่าสะดวกมาก โดยให้ตั้ง GPS ไปที่วัดปราสาททรงธรรม สระบุรี ซึ่งเราจะเห็นป้ายบอกเส้นทางไปเขื่อนดินธารทองแดงอย่างชัดเจน เมื่อเดินทางมาถึงเขตพื้นที่วัดแล้ว ให้หาที่จอดรถแล้วเดินไปด้านหลังวัด หรือจะสอบถามคนภายในวัดก็ได้ครับ วัดปราสาททรงธรรม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลธารเกษม อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตามประวัติวัดบันทึกว่า ตั้งวัดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2530 จึงเป็นวัดใหม่ที่ไม่ได้เก่าแก่มากนัก และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของเหล่าสาธุชน โดยมีการจัดสรรสถานที่ปฏิบัติอยู่บนภูเขา มีบรรยากาศสัปปายะอย่างยิ่ง เมื่อเดินมาหลังวัด เราจะเห็นลำธารทองแดง ซึ่งเป็นลำธารที่มีบันทึกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและปรากฏเห็นซากเขื่อนกั้นน้ำที่แอบซ่อนอยู่  ประวัติเขื่อนดินธารทองแดง ประวัติของเขื่อนแห่งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2173 – 2199) เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จสักการะพระพุทธบาท สระบุรี โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักธารเกษม ซึ่งตั้งอยู่ริมธารทองแดง และไขน้ำจากธารทองแดงมาใช้ในพระตำหนัก รวมถึงในพระตำหนักท้ายพิกุลด้วย ผมจึงได้ค้นหาเอกสารบันทึกในพงศาวดาร เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลนี้ คือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ 2 สมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อผมอ่านเนื้อหาในพระราชพงศาวดารที่บันทึกถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อครั้งเสด็จสักการะพระพุทธบาท สระบุรี… Read More »

โบราณสถานแปลกตา ปล่องระบายแรงดันน้ำประปา สมัยอยุธยา

https://youtu.be/80tyfssifJ0 วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวของท่อหรือปล่องระบายความดับน้ำ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่อาจจะไม่คุ้นตาของใครหลายๆคน ที่ยังปรากฏให้เห็นชัดเจนในปัจจุบัน จากข้อมูลระบุว่ามีอยู่สองแห่งในเมืองลพบุรี ได้แก่ ข้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และถ้าจะกล่าวถึงระบบท่อประปา จะถือกันว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จะเป็นต้นกำเนิดครั้งแรกในแผ่นดินสยาม ดังที่เราได้เห็นหลักฐานท่อประปาดินเผาและระบบประปามากมายในโบราณสถานต่างๆ และในเขตพระราชวัง ข้อมูลจากหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดลพบุรี. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ปี พ.ศ.2542 ได้เขียนเรื่องการนำน้ำสะอาดมาใช้ในเขตพระราชวังไว้ว่า มีการนำน้ำมาจากทะเลชุบศรและห้วยซับเหล็ก ในระยะแรก รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้นำน้ำมาจากทะเลชุบศร ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำปากจั่นและบังคับให้น้ำไหลตามท่อไปยังอ่างพักตะกอน (อ่างแก้วและสระแก้ว) จากนั้นจึงจ่ายน้ำตามท่อน้ำดินเผาที่ฝังใต้ดินเพื่อนำไปใช้ยังพื้นที่ต่างๆ โดยมีวิศวกรชาวเปอร์เซียเป็นที่ปรึกษาและออกแบบ ในส่วนของห้วยซับเหล็กได้เริ่มนำมาใช้ช่วงท้ายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพราะต้องใช้น้ำมากขึ้นจากการสร้างเมืองที่ใหญ่ขึ้น และมีการสร้างน้ำพุภายในพระราชวัง   ซึ่งน้ำจากห้วยซับเหล็กเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ใสสะอาดที่ไหลลงมาตามซอกเขาธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูงน้ำไหลแรงดี และเนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลมากห่างจากเมืองลพบุรีไปทางทิศตะวันออกราว 12 กิโลเมตร จึงมีการดำเนินการเป็นสองช่วง ช่วงแรกทำเป็นลำรางชักบังคับน้ำจากลำห้วยซับเหล็ก ยาวทอดจนมาถึงบริเวณวังศาลา(ต.ท่าศาลา เมืองลพบุรี) และมีการดำเนินงานประปาช่วงที่สองตั้งแต่วังศาลาจนถึงเมืองลพบุรีโดยวิธีการฝังท่อน้ำดินเผาลงใต้ดิน และในระหว่างเส้นทางลำเลียงน้ำเข้าเมืองลพบุรี จะมีการสร้างท่อหรือปล่องระบายแรงดันของน้ำไว้เป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นจุดผ่อนคลายแรงดันของน้ำในฤดูที่มีน้ำมาก กระแสน้ำไหลแรง ป้องกันไม่ให้แรงน้ำสูงมากเกินไป จนเกินกำลังรับน้ำของท่อน้ำดินเผา และนี่ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของโบราณสถานที่ปรากฏให้เห็นสูงเด่นผ่านสายตาของหลายคนมากมาย ที่อาจไม่มีใครรู้เลยว่าคืออะไร ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com ช่องทางการติดตาม Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน  YouTube Channel FaithThaiStory Instagram TikTok