Tag Archives: วัดร้าง

ตามรอยหาสมบัติ วัดพระยาไกร วัดร้างและสาบสูญสู่ศูนย์การค้าเอเชียทีค

หลายท่านคงทราบว่า เอเชียทีค ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เคยเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นก็คือ “วัดพระยาไกร” ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดที่สาบสูญ หลงเหลือเพียงชื่อ สถานที่ต่างๆ เช่น แขวงวัดพระยาไกร ชุมชนตลาดเก่าวัดพระยาไกร และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ความทรงจำในอดีต ได้สะท้อนให้เห็นที่หน้าสถานีตำรวจ มีการจำลองพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดพระยาไกรไว้อีกด้วย จากหนังสือถนนเจริญกรุง ได้อธิบายเรื่องราววัดพระยาไกรไว้ว่า มีอีกชื่อหนึ่งคือ “วัดโชตนาราม” ด้วยเหตุที่ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) เป็นผู้สร้าง โดยตั้งใจจะถวายเป็นวัดหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังได้รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาไกรโกษา” วัดแห่งนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า “วัดพระยาไกร” ความรับรู้เรื่องราวในอดีต เกี่ยวกับวัดพระยาไกร ได้สะท้อนความงดงามผ่านพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้กล่าวในหนังสือราชการตอนหนึ่งว่า “…ส่วนวัดโชตนารามนั้น พระยาไกรผู้สร้างได้ทำเป็นการใหญ่โต ฝีมือประณีต บรรจงเลียนแบบอารามหลวง เหลือที่คนภายหลังจะซ่อมรักษาไว้ได้ และอยู่ในหมู่การค้าของคนต่างประเทศด้วย…”  พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของวัดพระยาไกรว่า “… วัดนี้ขณะยังไม่ร้าง มีโบสถ์สูงตระหง่านกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกนั้น เรือที่ผ่านตามลำน้ำเจ้าพระยามาย่านนี้ จะเห็นหลังคาโบสถ์มาแต่ไกล…” ทุกสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรคงทนถาวร และวัดพระยาไกรก็เช่นกัน ภายหลังที่ผู้สร้างวัดถึงแก่กรรม ก็ไม่มีทายาทที่พอจะมีกำลังในการดูแลรักษา ประกอบกับวัดยังไม่ได้รับเข้าเป็นพระอารามหลวง เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรุดโทรมหนัก และมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหลวงอีกด้วย จนกระทั่งปี 2440 ทางราชการจึงให้สิทธิ์เช่าพื้นที่วัดพระยาไกร แก่บริษัทอีสต์ เอเชียติค… Read More »

วัดบันไดนาค วัดร้างที่เหลือเจดีย์ถูกเจาะหาสมบัติพรุนไปทั้งองค์ ในป่าที่อยุธยา

วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยวัดร้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามไปยังฝั่งทิศใต้นอกเกาะพระนครศรีอยุธยา ที่ ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อไปยังวัดบันไดนาค ซึ่งเป็นวัดร้างยังไม่ผ่านการบูรณะ ปัจจุบัน(ปี 2566) ยังหลงเหลือซากเจดีย์สมัยอยุธยา ที่ถูกเจาะหาสมบัติจนพรุนทั้งองค์ วัดแห่งนี้ไม่พบข้อมูลเอกสารบันทึก แม้แต่หนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ที่ อ.น. ณ ปากน้ำได้ลงพื้นทีสำรวจ เมื่อราวปลายปี 2509 ก็ไม่ปรากฏการพบวัดแห่งนี้ ซึ่งสมัยนั้นคงอยู่ในป่ารกทึบ ประกอบกับวัดร้างในอยุธยามีเป็นจำนวนมาก จึงอาจตกสำรวจในครั้งนั้น แม้วัดบันไดนาค จะยังไม่ผ่านการบูรณะ แต่ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้เรียบร้อยแล้ว  พื้นที่วัดบันไดนาค มีสภาพที่มีวัชพืชและต้นไม้ขึ้นปกคลุมจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะต้องลุยป่าเข้าไป ซากองค์เจดีย์ของวัดบันไดนาค มีสภาพถูกเจาะหาสมบัติด้านในจนพรุนไปทั้งองค์ เกือบจะพังทลายลงมา เมื่อเรามองเข้าไปด้านในจะเห็นช่องกรุ เป็นห้องกลวงที่เคยถูกค้นหาเมื่อครั้งอดีต สำหรับเรื่องการขุดหาสมบัติในอยุธยาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากได้กอบกู้คืนเอกราช ซึ่งมีบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาครั้งกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ว่า มีการขุดหาสมบัติตามวัดในกรุงศรีอยุธยาโดยคนจีนและคนไทย พบของมีค่าและทองคำ มีจำนวนมากจึงต้องนำออกไปเป็นลำเรือ แม้แต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ให้รื้ออิฐไปสร้างกรุงใหม่ ก็มีการลักลอบขุดหาสมบัติด้วยเช่นกัน กาลเวลาผ่านไปหลายร้อยปี จนมาถึงปัจจุบัน โบราณสถานทุกแห่งในกรุงศรีอยุธยา จึงถูกทำลายไปมากมาย เนื่องจากไม่พบบันทึกประวัติการสร้างวัด จึงสันนิษฐานจากรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์ วัดบันไดนาค ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเจดีย์ของวัดบันไดนาคไว้ว่า ชั้นซ้อนเจดีย์มีความคล้ายกับเมรุรายที่วัดไชยวัฒนราม ซึ่งมีชั้นซ้อนรองรับด้วยบัวหงายต่อกันขึ้นไปหลายชั้นจนแทบไม่เหลือยอด แม้จะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมก็ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างถึงสมัยอยุธยาต้น แต่เป็นเจดีย์ที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบวัดไชยวัฒนารามในสมัยอยุธยาตอนปลาย สุดท้ายนี้ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ / แอดมินลุงตั้ม (ยุทธนา ผิวขม) ช่องทางการติดตาม Facebook : เพจภารกิจเที่ยววัด YouTube… Read More »

วัดหมาผี วัดร้างในดงป่าประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร

วัดหมาผี เป็นชื่อสามัญที่เรียกกันมาจากเรื่องราวเล่าขานในอดีต เพราะในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แต่เดิมนั้นเป็นป่าทึบ มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 1,600 ไร่ และเป็นที่แน่นอนว่า ที่ใดมีโบราณสถาน ที่นั่นย่อมมีการขุดกรุ หาสมบัติ  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานับศตวรรษ วัดหมาผี ก็เป็นเป้าหมายของนักขุดกรุหาสมับติ เพราะพื้นที่เป็นป่ารกทึบ ง่ายแก่การหลบสายตา อีกทั้งการขุดหาสมบัติ มักจะกระทำกันในเวลากลางคืน เพื่อให้ปลอดผู้คน เมื่อมีการขุดหาสมบัติ เรื่องราวที่ตามมาก็คือ การบอกเล่ากันปากต่อปาก ถึงความอาถรรพ์ของสถานที่ และที่วัดแห่งนี้ ก็เล่ากันว่า ผู้ที่มาขุดหาสมบัติ ได้พบกับเหล่าสุนัขผี เฝ้าวัด มีความดุร้าย มีการหายตัวไปมาไร้ร่องรอย เป็นที่โจษขานถึงความน่ากลัว จนเป็นชื่อเรียกติดปากกันว่า “วัดหมาผี”   รูปแบบการสร้างวัดแห่งนี้ เป็นผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส วัสดุการสร้างล้วนเป็นศิลาแลง นอกกำแพงแก้ว เป็นคูน้ำขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ 8 เมตรอยู่ทั้งสี่ทิศ เป็นลักษณะที่เรียกว่า “อุทกสีมา” ด้านหน้ามีวิหารขนาดใหญ่ ฐานยกสูง มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ไม่หลงเหลือร่องรอยซากพระพุทธรูปให้เห็น น่าจะสร้างด้วยศิลาแลงเช่นกัน บริเวณข้างฐานชุกชีบนวิหาร พบซากพระพุทธรูปหินทราย 2 องค์ มีขนาดหน้าตักราว 2 ฟุต ด้านหลังวิหาร มีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ บนฐานเขียนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช่องซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ด้านละ 5 องค์ หลงเหลือโกลนพระพุทธรูปศิลาแลงอยู่บางส่วน ด้านหลังเจดีย์ประธาน พบฐานเจดีย์ขนาดเล็ก อาจจะเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดแห่งนี้ วัดหมาผี เป็นวัดขนาดกลางในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรที่มีวัดมากกว่า 50… Read More »

วัดสองพี่น้องและวัดโตนดหลาย โบราณสถานอายุ 600 ปี ชัยนาท

  YouTube : FaithThaiStory   วัดสองพี่น้องและวัดโตนดหลาย(วัดร้าง) ที่มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งอยู่ที่ ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท วัดสองพี่น้องไม่ปรากฏข้อมูลบันทึกหลักฐานการสร้าง แต่มีตำนานท้องถิ่นกล่าวว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20 จากสาเหตุที่เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยาแย่งชิงราชสมบัติกัน และได้สิ้นพระชนม์ในสนามรบด้วยกันทั้งคู่ เจ้าสามพระยาผู้น้อง จึงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน และสร้างปรางค์ถวายเจ้าอ้ายพระยา สร้างเจดีย์ถวายแด่เจ้ายี่พระยา ซึ่งเป็นเพียงตำนานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น ไม่มีเอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกยืนยัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดสองพี่น้อง” ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับวัดนี้ไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสรรคบุรี พ.ศ. ๒๔๔๔ ไว้ว่า วัดสองพี่น้องคงไม่ใช่เรื่องของสองพี่น้องสร้าง แต่คงเป็นวัดสองวัดติดกัน เพราะเห็นกำแพงเหลื่อมกันอยู่ ซึ่งวัดดังกล่าวก็คือ วัดโตนดหลาย ซึ่งเป็นวัดร้างที่อยู่ติดกันนั่นเอง จากการขุดสำรวจทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า มีการก่อตั้งวัดสองพี่น้อง มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 หรือมีอายุราว 600 ปีขึ้นไป พบร่องรอยการบูรณะเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22 และถูกทิ้งร้างลงหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา และได้กลับมาใช้พื้นที่ใหม่อีกครั้งในปัจจุบัน ดังนั้นในปัจจุบันนี้ วัดสองพี่น้อง ไม่ใช่วัดร้าง มีพระจำพรรษา โดยมีโบราณสถานอยู่ในพื้นที่ โบราณสถานวัดโตนดหลาย อยู่ห่างจากวัดสองพี่น้องเพียง 300 เมตร มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีเจดีย์ประธานเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่ 20 นอกจากเจดีย์ประธาน ยังปรากฏร่องรอยโบราณสถาน ได้แก่ วิหาร… Read More »

เจดีย์ร้างกลางทุ่งที่สร้างไม่เสร็จ วัดเจดีย์หัก นครหลวง อยุธยา

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางท่องเที่ยวอันซีน ไปชมโบราณสถานวัดร้าง กลางทุ่งนา ณ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยคนในพื้นที่เรียกกันว่า “วัดเจดีย์หัก” ซึ่งหลงเหลือซากเจดีย์ตั้งโดดเด่นรายล้อมไปด้วยท้องทุ่งนาเกษตรกรรม และผมได้ทราบข้อมูลมาว่า เป็นเจดีย์ที่สร้างไม่แล้วเสร็จอายุราวร้อยกว่าปีมานี้เอง สร้างโดยหลวงปู่ปลอด สุคันธจันทร์ วัดบ้านชุ้ง แต่หลวงปู่ปลอดได้มรณภาพไปเสียก่อน ทำให้เจดีย์แห่งนี้สร้างไม่แล้วเสร็จ จึงถูกขนานนามกันว่า “วัดเจดีย์หัก” นับแต่นั้นมา คุณณัชทัพพ์ ทองคำ(เพจไสยไสยวิทยา) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดเจดีย์หักไว้อย่างน่าสนใจ เพราะได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวมาจากแม่ยายของเขาเอง คือครูจินตนาซึ่งเป็นลูกหลานของหลวงปู่ปลอด สุคันธจันทร์  คุณณัชทัพพ์ให้ข้อมูลว่า วัดเจดีย์หัก ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ต.บางพระครู อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เจดีย์องค์นี้สร้างไม่แล้วเสร็จ เหลือแต่ฐานล่างและซุ้มมุขหน้า แต่ยอดไม่แล้วเสร็จเพราะหลวงปู่ปลอดท่านได้มรณภาพเสียก่อน เจดีย์หักของหลวงปู่ปลอด ปัจจุบันคนนอกถิ่นไม่ค่อยรู้จัก หลายคนอาจคิดไปว่าเป็นโบราณสถานสมัยอยุธยา ซึ่งแท้จริงแล้วสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง หลวงปู่ปลอด ท่านเป็นพระเกจิที่มีพลังจิตแก่กล้า เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่นวม วัดกลาง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระเถระสหธรรมิกกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ พระนครศรีอยุธยา และหลวงปู่กรอง วัดเทพจันทร์ลอย พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ปลอด สุคันธจันทร์ เป็นพระผู้สร้างวัดบ้านชุ้งและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านเป็นสายบรรพบุรุษของตระกูล “ทองสาริ” ตระกูลคหบดีเจ้าของคานเรือ และที่นาจำนวนมากในพื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ปลอดท่านมีความยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ตั้งใจสร้างวัดและพระเจดีย์เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ในช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 อีกทั้งท่านยังเป็นญาติและผู้อุปการะครูฟ้อน ดีสว่าง หรืออาจารย์ฟ้อน ประสะเลือด… Read More »

วัดเจตวงศ์(ร้าง) ปทุมธานี จิตรกรรมโบราณอดีตพระพุทธเจ้า

ข้อมูลทั่วไป วัดเจตวงศ์(ร้าง) วัดเจตวงศ์(ร้าง) ต.บางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี เป็นโบราณสถานวัดร้าง มีสิ่งปลูกสร้างสำคัญ คือ อุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมโบราณที่สวยงามและหลงเหลืออยู่ และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ชอบถ่ายรูปสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมโบราณ วัดเจตวงศ์ไม่พบบันทึกประวัติการสร้าง แต่สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมฐานอุโบสถมีบัวลูกแก้วอกไก่ ที่น่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งนี้โดยรอบอุโบสถพบฐานใบเสมาทั้ง 8 ทิศ แต่ไม่พบใบเสมา  รูปแบบอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา มีเทพพนมอยู่ตรงกลาง มีพาไลชายคายื่นออกมา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชีประดับกระจก มีพระอันดับลดหลั่นซ้ายและขวาข้างละ 1 องค์ ภาพจิตรกรรมโบราณหลังพระประธาน หลงเหลือภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับในซุ้มเรือนแก้วเพียงองค์เดียว ผนังหุ้มกลองหน้าด้านบนเป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าชนะมาร ผนังด้านข้างเหนือหน้าต่างเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้วมีพระสาวกประนนมือซ้ายและขวา เหนือขึ้นไปเป็นภาพเหล่าเทวดา ภาพจิตรกรรมช่องระหว่างหน้าต่าง เป็นภาพในพุทธประวัติแต่ลบเลือนไปเกือบทั้งหมด การเดินทาง วัดจะอยู่ในซอยวัดชินวราราม ต.บางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยตั้ง Google map เดินทางไปถึงได้สะดวก เมื่อไปถึงแล้วสามารถเปิดประตูเข้าชมอุโบสถได้ครับ @tum_faiththaistory จิตรกรรมฝาผนังโบราณ วัดเจตวงศ์(วัดร้าง) เมืองปทุมธานี เป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า #วัดร้าง #faiththaistory #ปทุมธานี #โบราณ ♬ แขกไทร (เดี่ยวขลุ่ย) – สำนักการสังคีตกรมศิลปากร ช่องทางการติดตาม Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน  YouTube Channel FaithThaiStory Instagram TikTok