Tag Archives: นครหลวง

โบราณสถานและเจดีย์แบบลาว ลุ่มน้ำป่าสัก วัดพระนอน นครหลวง อยุธยา

วันนี้จะพาไปเที่ยววัดพระนอน อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้มีพื้นที่อยู่ทั้งสองฟากถนน ฝั่งหนึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารโบราณสถานร้าง อีกฟากหนึ่งจะเป็นสถานที่จำพรรษาของพระสงฆ์และทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งผมแวะเข้าไปด้วยความบังเอิญ และได้พบกับโบราณสถานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ได้แก่ อาคารร้างรวมถึงซากโบราณวัตถุหลายชิ้น และเจดีย์โบราณแบบลาว เป็นอัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงชุมชนลาวที่เข้ามาอาศัยแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ครั้งอดีต เจดีย์โบราณซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของโบราณสถานร้าง วัดพระนอน เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก จากรูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นเจดีย์แบบลาว ซึ่งมีความคล้ายกับพระธาตุดำ ในนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นไปตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์บันทึกว่า ในสมัยกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งในอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและพระยาสุรสีห์คุมกองกำลังไปยึดนครเวียงจันทน์และกวาดต้อนชาวลาวนับหมื่นเข้ามาแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก และในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการยกกองกำลังขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนจนประสบความสำเร็จ และได้กวาดต้อนชาวลาวเข้ามาแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีศึกกับนครเวียงจันทน์และได้กวาดต้อนชาวลาวเข้ามาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงอาจจะได้พบเห็นอัตลักษณ์รูปแบบสถาปัตยกรรมของลาวในวัดแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่หลายแห่ง เช่น วัดใหญ่เทพนิมิตร เป็นต้น ช่องทางการติดตาม Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน  YouTube Channel FaithThaiStory Instagram TikTok

เจดีย์ร้างกลางทุ่งที่สร้างไม่เสร็จ วัดเจดีย์หัก นครหลวง อยุธยา

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางท่องเที่ยวอันซีน ไปชมโบราณสถานวัดร้าง กลางทุ่งนา ณ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยคนในพื้นที่เรียกกันว่า “วัดเจดีย์หัก” ซึ่งหลงเหลือซากเจดีย์ตั้งโดดเด่นรายล้อมไปด้วยท้องทุ่งนาเกษตรกรรม และผมได้ทราบข้อมูลมาว่า เป็นเจดีย์ที่สร้างไม่แล้วเสร็จอายุราวร้อยกว่าปีมานี้เอง สร้างโดยหลวงปู่ปลอด สุคันธจันทร์ วัดบ้านชุ้ง แต่หลวงปู่ปลอดได้มรณภาพไปเสียก่อน ทำให้เจดีย์แห่งนี้สร้างไม่แล้วเสร็จ จึงถูกขนานนามกันว่า “วัดเจดีย์หัก” นับแต่นั้นมา คุณณัชทัพพ์ ทองคำ(เพจไสยไสยวิทยา) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดเจดีย์หักไว้อย่างน่าสนใจ เพราะได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวมาจากแม่ยายของเขาเอง คือครูจินตนาซึ่งเป็นลูกหลานของหลวงปู่ปลอด สุคันธจันทร์  คุณณัชทัพพ์ให้ข้อมูลว่า วัดเจดีย์หัก ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ต.บางพระครู อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เจดีย์องค์นี้สร้างไม่แล้วเสร็จ เหลือแต่ฐานล่างและซุ้มมุขหน้า แต่ยอดไม่แล้วเสร็จเพราะหลวงปู่ปลอดท่านได้มรณภาพเสียก่อน เจดีย์หักของหลวงปู่ปลอด ปัจจุบันคนนอกถิ่นไม่ค่อยรู้จัก หลายคนอาจคิดไปว่าเป็นโบราณสถานสมัยอยุธยา ซึ่งแท้จริงแล้วสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง หลวงปู่ปลอด ท่านเป็นพระเกจิที่มีพลังจิตแก่กล้า เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่นวม วัดกลาง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระเถระสหธรรมิกกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ พระนครศรีอยุธยา และหลวงปู่กรอง วัดเทพจันทร์ลอย พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ปลอด สุคันธจันทร์ เป็นพระผู้สร้างวัดบ้านชุ้งและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านเป็นสายบรรพบุรุษของตระกูล “ทองสาริ” ตระกูลคหบดีเจ้าของคานเรือ และที่นาจำนวนมากในพื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ปลอดท่านมีความยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ตั้งใจสร้างวัดและพระเจดีย์เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ในช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 อีกทั้งท่านยังเป็นญาติและผู้อุปการะครูฟ้อน ดีสว่าง หรืออาจารย์ฟ้อน ประสะเลือด… Read More »

วัดใหญ่เทพนิมิตร ชุมชนลาวอพยพลุ่มน้ำป่าสัก

https://youtu.be/6VktiBahWqw วัดใหญ่เทพนิมิตร ชุมชนลาวอพยพลุ่มน้ำป่าสัก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา… สวัสดีครับท่านที่รักการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เนื่องด้วยผมได้เห็นภาพวัดแห่งหนึ่งจากการเผยแพร่ของวารสารเมืองโบราณ เป็นภาพพระธาตุเจดีย์มีลักษณะคล้ายองค์พระธาตุพนม แต่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผมจึงไม่รอช้าที่จะเดินทางไปเที่ยวชมวัดแห่งนั้น วัดที่ผมจะพาไปชมคือ วัดใหญ่เทพนิมิตร ต.สามไถ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา จุดเด่นคือพระธาตุเจดีย์ที่พบแถบทางอีสานและลาว ซึ่งสอดคล้องตามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่า ในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ 3 ได้มีการทำศึกสงครามและกวาดต้อนชาวลาวอพยพเข้ามาแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักจำนวนมาก รูปแบบพระธาตุเจดีย์ที่นี่คล้ายกับพระธาตุพนม และส่วนตัวผมมีความศรัทธาพระธาตุพนมเป็นอย่างมาก จึงได้เดินทางไปกราบสักการะ วัดใหญ่เทพนิมิตรห่างจากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาไม่ถึง 30 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกตลอดเส้นทางครับ บรรยากาศที่วัดจะค่อนข้างเงียบ มีพื้นที่ติดกับโรงเรียนวัดใหญ่ ดูเผินๆ เหมือนสัมผัสบรรยากาศแถบอีสานบ้านเกิดผมครับ จากอัตลักษณ์รูปแบบลาวในวัดแห่งนี้ สอดคล้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนลาวอพยพที่มีบันทึกในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า ในสมัยกรุงธนบุรีเกิดความขัดแย้งในอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองกำลังไปยึดนครเวียงจันทน์และกวาดต้อนชาวลาวเข้านับหมื่นคนมาแถบลุ่มน้ำป่าสัก ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลวงเทพหริรักษ์ได้คุมกองกำลังกับหัวเมืองเหนือขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนจนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.2347 และได้กวาดต้อนชาวลาว(ลาวยวน) เข้ามาแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก จนกระทั่งช่วงรัชกาลที่ 3 มีสงครามกับนครเวียงจันทน์จึงมีการกวาดต้อนชาวลาวมาเช่นกัน ระฆังไม้ หรือที่เรียกว่า โปง จะพบตามวัดแถบอีสานเป็นจำนวนมาก ในอุโบสถจะมีจิตรกรรมซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพจิตกรรมมีความเลือนลางหายไปหลายส่วน ด้านข้างอุโบสถ จะเป็นภาพจิตรกรรม 4 แถว โดยแบ่งเป็น แถวบนสุดจะเป็นภาพพระพรหม, แถวที่สองและสาม จะเป็นภาพเทพชุมนุม นางอัปสร และเหล่ายักษ์นั่งประนมหันหน้าไปยังพระประธาน, แถวล่างสุดเป็นเรื่องราวของรามเกียรติ์ ส่วนด้านหลังพระประธาน เป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระมาลัยกำลังสนทนากับพระอินทร์และมีภาพจุฬามณีมหาเจดีย์ สันนิษฐานว่าจิตรกรรมเขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากชมความงามบริเวณรอบอุโบสถกันแล้ว ผมจึงเดินไปยังริมแม่น้ำป่าสัก เพื่อเก็บบรรยากาศท้องถิ่น บรรยากาศโดยรวมที่วัดใหญ่เทพนิมิตร… Read More »

ปราสาทนครหลวง วัดนครหลวง เส้นทางนมัสการพระพุทธบาทสมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งอยุธยา

เที่ยวปราสาทนครหลวง วัดนครหลวง เส้นทางนมัสการพระพุทธบาทสมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งอยุธยา ครั้งนี้เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ผมจะได้เดินทางไปชมความสวยงามของโบราณสถานที่สวยงามแห่งหนึ่ง แต่ก็ต้องบอกว่าผมไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่มีพี่ที่รู้จักได้แนะนำว่าเป็นโบราณสถานที่น่าสนใจและสวยงามมาก และยิ่งไปกว่านั้น สถานที่ก็ไม่ได้ไกลมาก จึงตัดสินใจเดินทางมาเลยทันทีในวันรุ่งขึ้น และที่นั่นก็คือ “ปราสาทนครหลวง” ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเดินทางก็ไม่ยากเลยครับ แม้ว่าผมจะไม่เคยเดินทางไปที่อำเภอนครหลวง แต่สามารถเดินทางไปถึงได้โดยง่าย ให้หาเส้นทางไปอำเภอนครหลวงแล้วจะเห็นป้ายบอกทางไปปราสาทนครหลวง ภายในตัวอำเภอ ค่อนข้างเงียบสงบแม้จะห่างจากตัวจังหวัดเพียง 20 กว่ากิโลเมตร วัดนครหลวงจะตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งถนน โดยถนนจะแบ่งสถานที่ออกเป็น 2 ส่วน ฝั่งตะวันออกของถนนจะเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทนครหลวง ส่วนฝั่งตะวันตกจะเป็นสถานที่ตั้งของวิหาร อาคารต่างๆของวัด และเป็นท่าน้ำของแม่น้ำป่าสัก บรรยากาศสงบเงียบมากแม้จะเป็นวันเสาร์ ผมเห็นมีคนเดินทางมาบ้าง แต่น้อยมาก สภาพพื้นที่วัดขาดการดูแลพอสมควร แม้ว่าผู้คนจะเดินทางมาน้อยมาก แต่สิ่งมีชีวิตที่มีมากภายในวัดก็คือ “ไก่” มีเยอะมากพอสมควรเลยครับ ท่าน้ำวัด มีสภาพพื้นที่กว้างใหญ่พอสมควร เป็นการบ่งบอกว่าต้องใช้งบประมาณที่มากพอสมควร แต่เสียดายมากที่เงียบเหงาและขาดการดูแล ผมเดินเข้ามาในวัดก็ยังไม่เห็นพระสงฆ์เลย แม่น้ำป่าสักที่ทอดผ่านก็ดูสงบเงียบมากครับ หลังจากที่ผมเดินดูบรรยากาศฝั่งตะวันตกแล้ว ก็ได้เดินทางไปยังฝั่งที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาทนครหลวงต่อไป จุดแรกที่ผมจะเดินทางไปคือ “วิหารศิลาจันทร์ลอยศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งจะตั้งอยู่ต้นทางเลยครับ เมื่อผมเดินเข้ามาภายในวิหาร จะเห็นแท่นศิลาขนาดใหญ่ทรงกลม ถ้ากะด้วยสายตาน่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรโดยประมาณ ประวัติเรื่องราวของแท่นศิลาจันทร์ลอยนี้ค่อนข้างอัศจรรย์ เป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาว่า เกิดเหตุการณ์อันน่าเชื่อว่าศิลาจันทร์ลอยนี้ได้ลอยตามแม่น้ำจนมาติดที่ฝั่งของวัด ชาวบ้านพยายามจะฉุดกันขึ้นมาแต่ก็ฉุดกันขึ้นมาไม่ได้ จึงได้นำเรื่องราวไปบอกกับเจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสมีความรู้ด้านวิชาอาคมจึงได้ใช้สายสิญจ์ 3 สาย บริกรรมคาถาจนสามารถนำขึ้นมาบนฝั่งได้ในที่สุด หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับทราบเรื่องราวดังกล่าว จึงได้มีรับสั่งให้อัญเชิญศิลาจันทร์ลอยนี้มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ เพื่อว่าจะเป็นจุดรวมให้ประชาชนได้สักการะบูชา แต่ศิลาจันทร์ลอยนี้ก็ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็ต้องอัญเชิญกลับมาที่เดิม… Read More »