วัดใหญ่เทพนิมิตร ชุมชนลาวอพยพลุ่มน้ำป่าสัก

By | July 22, 2019

https://youtu.be/6VktiBahWqw

วัดใหญ่เทพนิมิตร ชุมชนลาวอพยพลุ่มน้ำป่าสัก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา… สวัสดีครับท่านที่รักการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เนื่องด้วยผมได้เห็นภาพวัดแห่งหนึ่งจากการเผยแพร่ของวารสารเมืองโบราณ เป็นภาพพระธาตุเจดีย์มีลักษณะคล้ายองค์พระธาตุพนม แต่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผมจึงไม่รอช้าที่จะเดินทางไปเที่ยวชมวัดแห่งนั้น

วัดที่ผมจะพาไปชมคือ วัดใหญ่เทพนิมิตร ต.สามไถ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา จุดเด่นคือพระธาตุเจดีย์ที่พบแถบทางอีสานและลาว ซึ่งสอดคล้องตามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่า ในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัชกาลที่ 3 ได้มีการทำศึกสงครามและกวาดต้อนชาวลาวอพยพเข้ามาแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักจำนวนมาก

รูปแบบพระธาตุเจดีย์ที่นี่คล้ายกับพระธาตุพนม และส่วนตัวผมมีความศรัทธาพระธาตุพนมเป็นอย่างมาก จึงได้เดินทางไปกราบสักการะ

วัดใหญ่เทพนิมิตรห่างจากตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาไม่ถึง 30 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกตลอดเส้นทางครับ

อุโบสถและพระธาตุเจดีย์ วัดใหญ่เทพนิมิตร

บรรยากาศที่วัดจะค่อนข้างเงียบ มีพื้นที่ติดกับโรงเรียนวัดใหญ่ ดูเผินๆ เหมือนสัมผัสบรรยากาศแถบอีสานบ้านเกิดผมครับ

วัดใหญ่เทพนิมิตร ถ่ายจากด้านหน้าอุโบสถ

จากอัตลักษณ์รูปแบบลาวในวัดแห่งนี้ สอดคล้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนลาวอพยพที่มีบันทึกในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีและพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า

ในสมัยกรุงธนบุรีเกิดความขัดแย้งในอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองกำลังไปยึดนครเวียงจันทน์และกวาดต้อนชาวลาวเข้านับหมื่นคนมาแถบลุ่มน้ำป่าสัก

ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลวงเทพหริรักษ์ได้คุมกองกำลังกับหัวเมืองเหนือขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนจนเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ.2347 และได้กวาดต้อนชาวลาว(ลาวยวน) เข้ามาแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก จนกระทั่งช่วงรัชกาลที่ 3 มีสงครามกับนครเวียงจันทน์จึงมีการกวาดต้อนชาวลาวมาเช่นกัน

พระพุทธรูปในศาลาข้างอุโบสถ

ระฆังไม้(โปง) ที่พบมาแถบอีสาน

ระฆังไม้ หรือที่เรียกว่า โปง จะพบตามวัดแถบอีสานเป็นจำนวนมาก

หน้าบันอุโบสถ

ในอุโบสถจะมีจิตรกรรมซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระประธานในอุโบสถ

ภาพจิตกรรมมีความเลือนลางหายไปหลายส่วน ด้านข้างอุโบสถ จะเป็นภาพจิตรกรรม 4 แถว โดยแบ่งเป็น แถวบนสุดจะเป็นภาพพระพรหม, แถวที่สองและสาม จะเป็นภาพเทพชุมนุม นางอัปสร และเหล่ายักษ์นั่งประนมหันหน้าไปยังพระประธาน, แถวล่างสุดเป็นเรื่องราวของรามเกียรติ์

ส่วนด้านหลังพระประธาน เป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระมาลัยกำลังสนทนากับพระอินทร์และมีภาพจุฬามณีมหาเจดีย์

สันนิษฐานว่าจิตรกรรมเขียนขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ภาพจิตรกรรมผนังด้านข้างอุโบสถ

ภาพจิตรกรรมหลังพระประธาน

ภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์

ด้านหลังอุโบสถ

หลังจากชมความงามบริเวณรอบอุโบสถกันแล้ว ผมจึงเดินไปยังริมแม่น้ำป่าสัก เพื่อเก็บบรรยากาศท้องถิ่น

ศาลาริมแม่น้ำป่าสัก

แม่น้ำป่าสัก

บรรยากาศโดยรวมที่วัดใหญ่เทพนิมิตร เป็นวัดในท้องถิ่นที่ปรากฏเรื่องราวอัตลักษณ์ของชุมชนในอดีต ที่น่าเดินทางไปท่องเที่ยวอีกวัดหนึ่ง สามารถไปเยี่ยมชมได้ทุกวันครับ

สุดท้ายนี้ขอบพระคุณการติดตามแล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ… แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด