วัดไทร อินทร์บุรี สิงห์บุรี ความสวยงามเมื่อรากโพธิ์โอบรัดโบสถ์ไว้

By | July 17, 2018


https://youtu.be/M3q2xGNvz6g

วัดไทร อินทร์บุรี สิงห์บุรี ความสวยงามเมื่อรากโพธิ์โอบรัดโบสถ์ไว้… หลายครั้งเมื่อเราเดินทางไปท่องเที่ยวยังโบราณมักจะเห็นโบราณบางแห่งมีรากต้นไม้ขึ้นครอบ ซึ่งมีความสวยงามอย่างมาก และเป็นการพยุงอาคารที่มีอายุนับร้อยปี ให้สามารถคงทนถาวรให้ได้เห็นจนถึงปัจจุบัน… วัดไทร อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่มีความสวยงามดังกล่าว ที่ผมจะพาเดินทางไปชมในครั้งนี้

โบสถ์ วัดไทร อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

จากประวัติที่ป้ายหน้าวัดระบุว่า

วัดไทร ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ประวัติวัดไทร ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี  เดิมชื่อว่า “วัดทะยาน” กร่อนมาจากคำว่า “ท้ายย่าน” มีคนเล่าว่าเคยมีพระธุดงค์รูปหนึ่ง มาพบวัดร้างนี้เห็นว่าบริเวณโดยรอบมีต้นไทรขึ้นอยู่หนาแน่น จึงบอกชาวบ้านให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดไทร วัดนี้คาดว่าถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้มีลักษณะพิเศษ คือเป็นวัดที่มีรากต้นไทรยึดกำแพงโบสถ์ที่ประดิษฐานองค์พระประธานไว้โดยรอบ ส่วนของศาลาได้พังลงน้ำไปแล้ว องค์พระประธานนี้ เดิมคนเฒ่าคนแก่เรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว” หรือหลวงพ่อทะยาน ปัจจุบันเรียกว่า “หลวงพ่อวัดไทร”

ผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นเล่าต่อกันมาแต่แรกนั้นองค์พระประธานเป็นหุ่นปูนหุ้มแผง ต่อมาถูกทหารพม่าสุ่มไฟหลอมลอกเอาทองไปหมดเหลือแต่หุ่นปูนข้างใน องค์พระพุทธรูปถูกตัดเศียรไป ต่อมาชาวบ้านแถวนั้นได้เรี่ยไรกันเพื่อนำเงินมาบูรณะต่อเศียรพระพุทธรูปที่ประดิษฐานองค์พระ เป็นโบสถ์เก่าชาวบ้านเรียกว่าโบสถ์มหาอุต คือเป็นโบสถ์ที่มีประตู เข้า – ออกทางเดียว มีคนเล่าว่าเคยมีคนจะเข้ามาบูรณะทำหลังคาโบสถ์ให้ แต่เมื่อลงมือทำก็มีฟ้าผ่าและมีคนฝันว่าองค์พระประธานที่ประดิษฐ์ในโบสถ์นั้น บอกไม่ให้สร้างหรือดัดแปลงใดๆหลังจากนั้นมาก็ไม่มีใครทำหลังคาให้อีก นับตั้งแต่ได้มีการบูรณะเศียรองค์พระประธานแล้ว ชาวบ้านแถวนั้นได้มีการร่วมกันทำบุญในช่วงสงกรานต์ของทุกปี จนปัจจุบันได้กำหนดทำบุญและสรงน้ำองค์พระในวันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี

ความเกี่ยวโยงตามบันทึกการสร้างป้อมปราการสมัยพระยารายณ์มหาราช

มีบันทึกการสร้างป้อมปราการที่ อินทร์บุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บาทหลวงตาชาร์ด บันทึกว่า

เราออกจากเมืองละโว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม พร้อมด้วย ม. เดอ ลา มาร์ วิศวกรของสมเด็จพระคริสต์ธรรมิกราชเจ้า ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงส่งไปวางแนวป้อมปืนที่บางแห่ง เราไปกันทางเรือโดยทวนขึ้นไปถึงอินทร์บุรี (Innebourie) ซึ่งเป็นตัวเมืองเล็กๆ อันเป็นชุมทางใหญ่สามสายแยกไปทางราชอาณาจักรพะโค ลาง และกัมพูชา เราไปถึงในวันที่ 19 ตอนหลังเที่ยง ในขณะที่ ม. เดอ ลา มาร์ เลือกที่ทางอันเหมาะสำหรับวางแนวป้อมปืนในชนบทยาวห้าสิบวาทางด้านนอกอยู่ เราก็เอาใจใส่กับการวัดความผันแปรซึ่งกระทำกันหลายครั้งหลายหน….

เดอ ลา มาร์ ได้บันทึกในเอกสารของตนเองว่า

เมืองนี้เป็นเมืองเล็กในชนบท ตั้งอยู่ประมาณ 25 ลิเออร์ ริมฝั่งน้ำทวนขึ้นไปทางเหนือของละโว้ มีทางน้ำสามสายมาเจอกันที่เมืองนี้ สายหนึ่งมาจากพะโค สายหนึ่งมาจากลาว และอีกสายหนึ่งมาจากกัมพูชา พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชโองการให้ข้าพเจ้าขึ้นไปสร้างป้อมขนาดเล็กเพื่อใช้ยับยั้งทางผ่านของข้าศึกที่จะมาทางนั้น…

(JACQ’HERGOUALC’H, 1993, p. 188)

จากบันทึกดังกล่าว ยังเป็นที่สงสัยกันว่าเป็นพื้นที่ใด เพราะทางภูมิศาสตร์แล้ว อินทร์บุรีไม่ใช่เมืองหน้าด่านสำคัญของอยุธยาหรือลพบุรี และไม่ใช่เส้นทางที่แม่น้ำสามสายบรรจบกัน

แต่ที่อินทร์บุรีมีร่องรอยโบราณสถานที่วัดไทรแห่งนี้ ที่มีศิลปกรรมร่วมสมัยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือช่องประตูและหน้าต่างโค้งแหลม จึงเป็นอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าป้อมปราการที่เดอ ลา มาร์ มาสร้างอาจจะอยู่ใกล้เคียงกับวัดไทร

ทั้งนี้ในบันทึก เดอ ลา มาร์บอกว่าไม่ได้กลับมาตรวจการสร้าง จึงอาจจะสร้างป้อมแล้วเสร็จหรือไม่ก็ได้…

ช่องประตูโค้งแหลม

ในอุโบสถ

หลวงพ่อขาว พระประธานในอุโบสถ

ป้ายงานบุญประจำปี จะจัดขึ้นทุกๆวันที่ 16 เมษายน

สภาพด้านนอกโบสถ์ปัจจุบัน

วัดแห่งนี้เป็นวัดร้างในท้องถิ่นที่ มีเรื่องราวในค้นหาตามรอยตามประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยมีศิลปะร่วมสมัยในสมัยนั้น อีกทั้งมีความสวยงามเมื่อรากโพธิ์ได้ขึ้นคลุมอาคารโบสถ์ จึงเป็นสถานที่ ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com