วัดเจดีย์ทอง ปทุมธานี วัดเก่าแก่ศูนย์รวมใจชาวมอญอพยพ

By | July 9, 2019

เจดีย์ทอง ศิลปะมอญ

วัดเจดีย์ทอง ปทุมธานี วัดเก่าแก่ศูนย์รวมใจชาวมอญอพยพ… สวัสดีครับ ท่านที่รักการท่องเที่ยววัฒนธรรม ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อไปเที่ยวชมวัดแห่งหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์สะท้อนเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวมอญอพยพ นั่นก็คือ วัดเจดีย์ทอง

วัดแห่งนี้มีเอกลักษณ์สำคัญคือ เจดีย์ศิลปะมอญที่บ่งชี้ว่า แถบนี้มีการอพยพของชาวมอญถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวมอญในอดีต

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบมอญ พระนามว่า “หลวงพ่อขาว” อีกด้วย

ริมน้ำเจ้าพระยา วัดเจดีย์ทอง

วัดเจดีย์ทอง ติดริมน้ำเจ้าพระยาในบรรยากาศดีๆ ซึ่งเส้นทางริมน้ำเจ้าพระยาตลอดสายที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จะมีวัดเก่าแก่มากมายให้เที่ยวชม และสะท้อนเรื่องชุมชนมอญอีกหลายแห่งด้วยครับ 

เสมาหินทรายแดง ศิลปะอยุธยา

วัดเจดีย์ทอง มีความเป็นไปได้ว่าเป็นวัดเก่ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งรับกับศิลปกรรมใบเสมาหินทรายแดง สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 (อยุธยาตอนปลาย)

จากข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า วัดเจดีย์ทอง เดิมนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้ร้างลงจากสงครามกรุงแตก เมื่อ ปี พ.ศ.2310

ต่อมาพระยารามซึ่งเป็นบุตรของพระยาเจ่ง (เป็นน้องเจ้าพระยามหาโยธา)เป็นผู้ริเริ่มบูรณะและสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อสมัยได้อพยพหนีพม่า และได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก ต่อมาพระยารามผู้นี้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยานครเขื่อนขันธ์ รามัญราชชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษานครเขื่อนขันธ์

วัดเจดีย์ทองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2508 

เจดีย์ทอง

รูปแบบเจดีย์เลียนแบบมาจากอานันทเจดีย์ในเมืองพุกาม 

เสาหงส์ ธงตะขาบ สัญลักษณ์ชาวมอญ

ตำนานสัญลักษณ์ชาวมอญ

ธงตะขาบ

มีตำนานเล่าว่า ณ ดอยสิงคุตต์ เมืองย่างกุ้ง มีตะขาบยักษ์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่และชอบจับช้างมากินเป็นอาหาร จนซากช้างกองสุมเต็มไปหมด

วันหนึ่งมีพ่อค้าจากต่างแดนผ่านมาพบซากช้างนี้ จึงอาศัยจังหวะที่ตะขาบยักษ์ออกไปหากิน คัดเลือกและขนงาช้างลงเรือสำเภาของตนไป เมื่อตะขาบยักษ์กลับมาเห็นก็โกรธมาก จึงไล่ตามพ่อค้านั้นลงไปในทะเล แต่กลับต้องพบกับปูยักษ์เจ้าทะเลขนาดมหึมา เจ้าตะขาบยักษ์สู้ไม่ได้จึงถูกปูยักษ์จับกินเป็นอาหารไปในที่สุด

ต่อมาในสมัยพุทธกาล ตปุสสะและภัลลิกะ พ่อค้าจากอุกกลชนบท ได้พบกับพระพุทธเจ้าและได้แสดงตนเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าจึงประธานพระเกศาธาตุให้ทั้งสองคน ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองของตนแล้ว ก็ได้เสาะหาสถานที่ก่อสร้างเจดีย์บรรจุเกศาธาตุ จนมาสรุปที่ดอยสิงคุตต์ของตะขาบยักษ์ ส่วนเจดีย์นี้ ปัจจุบันก็คือเจดีย์ชเวดากอง และการแขวนธงตะขาบก็เพื่อระลึกถึงตะขาบยักษ์เจ้าถิ่นและบูชาปูชนียสถานด้วยนั่นเอง

หงส์

“หงส์” เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ มีตำนานที่เล่าขานกันมาดังนี้ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ 8 ปี ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่างๆ

จนกระทั่งวันหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล เมื่อน้ำงวดสูงได้ประมาณ 23 วา ครั้งน้ำเปี่ยมฝั่งพอน้ำกระเพื่อม บนเนินดินนั้นมีหงส์ทอง 2 ตัวเล่นน้ำอยู่ ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เนื่องจากเนินดินที่ยืนอยู่มีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว พอที่หงส์ยืนได้ตัวเดียวเท่านั้น

พระพุทธองค์ตนัสว่ากาลสืบไปภายหน้า เนินดินที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นมหานครมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ ที่นี้   

ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 100 ปี เนินดินกลางทะเลใหญ่นั้นก็ตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มีพระราชบุตรของพระเจ้าเสนะคงคา ทรงพระนามว่าสมลกุมาร และวิมลกุมาร เป็นผู้รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นเมืองขึ้น เป็นอันว่าเมืองหงสาวดี ซึ่งมอญเรียกว่า อองสาแวะตอย ได้เกิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองลงเล่นน้ำอยู่นั่นเอง

ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศแต่นั้นมา 

คนมอญนั้นมีชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา จึงสร้างเสาหงส์ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัด เป็นการแสดงว่าวัดนั้นเป็นวัดมอญ

หอสวดมนต์ ประดิษฐานหลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาวอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์ทอง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากหินสีขาว ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก สูงประมาณ 2 ศอก ศิลปกรรมแบบมอญ ประดิษฐานที่หอสวดมนต์ วัดเจดีย์ทอง

เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อขาว ครั้งหนึ่งพระภิกษุมอญชื่อว่า พระอมราภิกขุ ซึ่งบวชที่วัดเจดีย์ทองและเป็นเครือญาติของพระอาจารย์น้อย คุณสาโร เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ทองสมัยนั้น และได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ขณะจะเดินทางกลับได้พบภิกษุนามว่า พระอาจารย์ต่วน เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ศรัทธากยาราม อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร และได้ไปพบร้านจำหน่ายพระพุทธรูปร้านหนึ่ง มีพระพุทธรูปหินขาวสวยงาม จึงได้บูชามา 2 องค์ นำมาประดิษฐานที่ วัดเจดีย์ทอง และ วัดราษฏร์ศรัทธากะยาราม

หลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาว

วัดเจดีย์ทอง เป็นวัดเก่าสะท้อนชุมชนมอญอพยพที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งที่น่าไปเที่ยวชม ในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศดีๆในการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมครับ

ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป… สวัสดีครับ…แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด