จารึก จปร. บนแท่งหินจากภาพวาดของมูโอต์ และวิหารร้างบนเขาพระพุทธบาท สระบุรี

By | November 11, 2019

 

คลิปจาก FaithThaiStory

ตามรอยวิหารร้างและจารึกพระปรมาภิไธย จปร. ร.ศ.๑๑๕ บนแท่งหินซึ่งปรากฏภาพแท่นหินนี้จากภาพวาดของ อ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสำรวจในสมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๑ – ๒๔๐๔) จารึกนี้เป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งที่ รัชกาลที่ ๕ เสด็จสักการะพระพุทธบาท สระบุรี ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๙ (ร.ศ.๑๑๕)

สวัสดีครับ ท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยทางวัฒนธรรมทุกท่าน การเดินทางครั้งนี้ เป็นการเดินทางร่วมค้นหาโบราณสถานบนเขาพระพุทธบาท โดยมีทีมร่วมเดินทางจากเพจภารกิจเที่ยววัด และ เพจตามรอยวัดเก่าลุ่มน้ำลพบุรี

ภาพแท่งหิน ที่อ็องรี มูโอต์ ได้เขียนไว้ (พ.ศ.๒๔๐๑-๒๔๐๔)

ผมได้รับข้อมูลว่า มีวิหารร้างบนเขาพระพุทธบาท แต่น้อยคนจะทราบว่ามีโบราณสถานด้านบนนี้ นอกจากวิหารร้าง ยังพบซากโบราณสถานอีกหลายจุด เช่น วิหารแกลบ หอระฆัง เจดีย์ รวมถึงพบจารึก จปร. บนแท่นหินสูงอีกด้วย

และมีข้อมูลว่าแท่นหินนี้ ได้ถูกสเก็ตภาพไว้โดย อ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสในระหว่างการเดินทางไปยังเขาพระพุทธบาท แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่าก้อนหินนี้อยู่ตรงไหน 

การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการค้นหาโบราณสถาน แท่นหินในประวัติศาสตร์และจารึก จปร.

มณฑปพระพุทธบาท สระบุรี

พระพุทธบาท สระบุรี

พระพุทธบาทที่นี่ ถือเป็นพระพุทธบาทที่มีความเก่าแก่ และเป็นรอยพระพุทธบาทที่ค้นพบเป็นรอยแรกในผืนแผ่นดินไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่พระสงฆ์กรุงศรีอยุธยา เดินทางไปสักการะพระพุทธบาทยังลังกา และได้รับทราบข้อมูลว่าที่กรุงศรีอยุธยาก็มีรอยพระพุทธบาทตามพระคัมภีร์ และถูกค้นพบในเวลาต่อมาโดยนายพรานบุญ เป็นผู้ค้นพบคนแรก

หลังจากที่กราบสักการะรอยพระพุทธบาท เป็นที่เรียร้อยแล้ว จึงได้เดินทางขึ้นไปบนเขาพระบาทเพื่อหาซากโบราณสถานทันที

พระพุทธฉาย วัดพระพุทธบาท สระบุรี

ก่อนไปถึงยอดเขา จะผ่านจุดที่เรียกว่าพระพุทธฉาย ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างและเขียนขึ้นภายหลังให้สอดคล้องกับที่วัดพระพุทธฉาย สระบุรี

ทิวทัศน์บนเขาพระพุทธบาท สระบุรี

เมื่อเดินขึ้นมาจนถึงหน้าถ้ำพระนอน จะมีทางบันไดลงไปตามทาง แต่ปัจจุบันทางปิดอยู่ ผมจึงหาช่องไต่ลงไปตามโขดหินหน้าถ้ำพระนอน (สามารถชมคลิปในบทความนี้ประกอบ) 

ทางลงไปหาวิหารร้าง

ทิวทัศน์ระหว่างทาง พบซากวิหารหรือมณฑปขนาดเล็ก

จุดแรกได้พบกับซากโบราณสถาน ซึ่งน่าจะเป็นวิหารหรือมณฑปหลังเล็กๆ การเดินทางจะเป็นทางเดินที่สะดวกครับ แค่หาทางลงให้เจอเท่านั้น จากนั้นให้เดินไปทางซ้ายตามทางเดินไปเรื่อยๆเลยครับ ใช้เวลาเดินทางไม่นานก็จะพบกับซากวิหารร้างบนเขาพระพุทธฐาทแห่งนี้

ซากวิหารร้าง

ซากวิหารร้าง

ซากวิหาร

ฐานชุกชีในวิหาร

ซากวิหารที่พบ ยังประกอบด้วยผนังครอบทั้งสี่ด้าน แต่หลังคาได้พังทลายไปหมด พบร่องรอยการขุดหาสมบัติกลางวิหารและใต้ฐานชุกชี ผมได้ส่งรูปให้อาจารย์ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ดูเพื่อสันนิษฐานอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรม ได้คำตอบว่า น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะที่โคนเสาวิหารจะมีคิ้วปรากฏ ซึ่งนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์นั่นเอง

ร่องรอยการขุดหาสมบัติกลางวิหาร

ซากเจดีย์หลังวิหาร

ซากวิหารหรือมณฑปขนาดเล็ก

ถัดไปด้านหน้าวิหารร้าง จะมีทางลงและพบซากวิหารหรือมณฑปขนาดเล็กอยู่อีกหนึ่งหลัง

เมื่อทำการบันทึกภาพครอบแล้ว ต่อไปจึงค้นหารอยจารึก จปร. และแท่นหินของมูโอต์ จุดที่จะเดินไปจะอยู่ใกล้กับซากเจดีย์ด้านหลังวิหาร ซึ่งจะมีทางเดินลงค่อนข้างชันครับ

ซากหอระฆัง

หอระฆัง

เมื่อเดินลงมาจะพบกับซากหอระฆังที่ยังไม่พังทลายแอบแฝงอยู่ในป่า เมื่อทำการบันทึกภาพเรียบร้อย จึงเดินมุ่งหน้าต่อไปและก็ได้พบกับแท่นหินในตำนานที่ตรงกับภาพที่อ็องรี มูโอต์ ได้เขียนไว้ และที่สำคัญก็คือ จารึก จปร. อยู่ที่แท่นหินนี้นั่นเองครับ

แท่งหินที่พบจารึก จปร.

เมื่อทำการเปรียบเทียบภาพจึงฟันธงได้ว่าก้อนหินนี้คือภาพที่มูโอต์ ได้เขียนไว้จริง ซึ่งคงจะมีความโดดเด่นคล้ายก้อนหินสามก้อนวางเรียงกันขึ้นไป และรัชกาลที่ ๕ ทรงจารึก จปร ไว้ที่แท่นหินนี้

ภาพแท่งหิน ที่อ็องรี มูโอต์ ได้เขียนไว้ (พ.ศ.๒๔๐๑-๒๔๐๔)

บันทึกอ็องรี มูโอต์

มูโอต์ ได้บันทึกเมื่อครั้งมาถึงเขาพระพุทธบาทและสเก็ตภาพไว้ ความว่า ข้าพเจ้าบ่ายหน้าไปทางเหลี่ยมเขาด้านตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของวัด อันเป็นสถานที่เก็บรักษารอยพระพุทธบาทขององค์พระสมณโคดม พระพุทธเจ้าแห่งดินแดนอินโดจีน ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจ รู้ตัวดีว่าไม่อาจหาคำตอบใดมาบรรยายความวิจิตรตระการตาของภาพที่ได้เห็น ธรรมชาติช่างบันดาลได้ปานนี้ พลังอำนาจอันใดหนอที่ยกหินก้อนมหึมา รูปพรรณสัณฐานแปลกตา ขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายมากองทับซ้อนกันไว้ดังนี้ (จากนังสือ บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์)

จารึก จปร. ร.ศ.๑๑๕

ประวัติจารึก พระปรมาภิไธย จปร.

ข้อมูลจากหนังสือพระปรมาภิไธยที่พบในประเทศไทย โดยกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงประวัติจารึก จปร.ไว้ว่า

วันที่ ๒๘ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๕ เวลา ๓ โมงเช้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท แล้วเสด็จฯ ไปตามทางบนเขาพระพุทธบาท ทรงสลักอักษรพระปรมาภิไธย จปร ในศิลาหน้าผาตามทางแห่งหนึ่ง และรัตนโกสินทร์ศก ๗๙, ๙๑, ๑๐๒ และ ๑๑๕ เป็นที่หมายถึงคราวที่เสด็จฯ มานมัสการพระพุทธบาท แล้วเสด็จฯ ต่อไปถึงเขาขาด เสด็จฯ ลงจากเนินเขามาถึงศาลเจ้าเขาขาด ทรงถวายเครื่องสักการะ แล้วเสด็จฯ กลับมาประทับเสวยพระกระยาหารเช้า เวลาเที่ยงเศษก็ทรงม้าเป็นกระบวนม้าเหมือนวันก่อนๆ เสด็จฯ จากพระพุทธบาทมาตามระยะทางเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น ประทับแรม รุ่งเช้าวันที่ ๒๙ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๕  เสด็จฯ ประทับเรือพระที่นั่งทางชลมารคมาถึงที่พักรถไฟกรุงเก่า แล้วเสด็จกลับพระนครทางรถไฟ

บทปิดท้าย

การเดินทางครั้งนี้ จึงเป็นการจบภารกิจอย่างสมบูรณ์ เพราะได้พบกับสิ่งที่ค้นหาครบทั้งหมด ประกอบไปด้วย โบราณสถาน วิหารร้าง แท่นหินในภาพเขียนของมูโอต์ และจารึกพระปรมาภิไธย จปร. 

บรรยากาศด้านบนมีความร่มรื่นทางธรรมชาติ ลมพัดเย็นสบาย มีทิวทัศน์ที่สวยงามของขุนเขาโดยรอบ ถ้าได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว น่าจะได้รับความนิยมจากผู้ที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ไม่น้อยเลยทีเดียว

สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ บนเขาพระพุทธบาทนี้ ช่างเป็นโบราณสถานที่น่าสนใจและน่าอนุรักษ์ยิ่ง แต่น้อยคนจะทราบเรื่องราวนี้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็คงจะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และสูญไปในที่สุด โดยเฉพาะจารึก จปร. ที่เป็นอนุสรณ์การเสด็จนมัสการพระพุทธบาท ก็จางและสึกกร่อนไปมาก อีกไม่นานก็คงจางหายไปถ้าไม่มีการอนุรักษ์ไว้ครับ

ขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ… แอดมินตั้ม 

นักเดินทางถ่ายรูปกับจารึก จปร.

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

 

บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์