ประเพณีลอยกระทงมีจุดประสงค์อะไร? และเกี่ยวข้องกับนางนพมาศอย่างไร?

By | October 30, 2014
ภาพจาก herorangers.com

ภาพจาก herorangers.com

ประเพณีลอยกระทงมีจุดประสงค์อะไร? และเกี่ยวข้องกับนางนพมาศอย่างไร? นางนพมาศคือใคร?

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 700 ปีมาแล้ว ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  โดยรูปแบบในปัจจุบันมักจะมีการจัดมหรสพ ร้านค้า แสดงแสงสี และเป็นงานที่เน้นความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ มีการประกวดเทพีนพมาศ แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงประเพณีลอยกระทงว่ามีที่มาและมีจุดประสงค์ในเรื่องอะไร รวมถึงเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับประเพณีลอยกระทง

และผมเองก็เช่นกัน ที่ไม่มีความรู้เรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงเลย รู้เพียงแต่ว่าเป็นประเพณีที่งดงามของไทยมานาน และผมก็ได้ ร่วมงานประเพณีลอยกระทงอยู่บ่อยครั้ง ส่วนมากก็ไปดูแสงสี งานมหรสพ งานแสดงต่างๆ เท่านั้น ในใจก็เหมือนเป็นการพักผ่อนกับเพื่อนๆมากกว่า

ผมจึงลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงเพิ่มเติม เพื่อว่าอาจจะเกิดประโยชน์ และเข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้นบ้าง ผมได้เปิดอ่านหนังสือ “ตามรอยพระพุทธบาท” เล่มที่ 1 โดยพระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต ซึ่งท่านได้เขียนอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงไว้ละเอียดพอสมควรเลยครับ ซึ่งตามเนื้อหาจะเกี่ยวข้องถึงการบูชารอยพระพุทธบาทของคนในสมัยโบราณ ผมจึงขออนุญาตเรียบเรียงข้อมูลมาสรุปไว้คร่าวๆ เพื่อจะเป็นบันทึกความจำไว้ต่อไป

ภาพจาก www.rakkorat.com

ภาพจาก www.rakkorat.com

จุดเริ่มต้นและจุดประสงค์ของประเพณีลอยกระทง

ตามหลักฐานจากหนังสือ เขียนไว้ว่า จุดเริ่มต้นของประเพณีลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประมาณ พ.ศ. 1830 ซึ่งยุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของกรุงสุโขทัยอย่างมาก ประชาชนมีความสุข และบ้านเมืองเจริญอย่างสูงสุด และตามบันทึกก็บันทึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระมหากษัติริย์พระองค์แรก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาราช” ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่า 700 ปี

ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีพระราชประเพณีหนึ่งที่เรียกว่า “จองเปรียง” ในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งถือเป็นวันนักขัตฤกษ์ในสมัยนั้น จะมีการชักโคม ลอยโคม และประชาชนก็พากันตกแต่งโคมลอยอย่างสวยงามทั่วทั้งพระนคร เพื่อนำถวายพ่อขุนรามคำแหง ให้ทรงสักการะ พระจุฬามณีเจดีย์ ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่า พระจุฬามณีเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 และมีการบรรจุมวยพระเกศาของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช และพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วด้านขวา ไว้ด้วย)

สำหรับพระสนมกำนัลฝ่ายใน ก็ทำการประดิษฐ์โคมลอย (กระทง) กันอย่างสวยงาม เพื่อทำการถวายและสักการะรอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำ นัมทานที นางนพมาศซึ่งเป็นพระสนมเอก ได้ทำการประดิษฐ์โคมลอย (กระทง) เป็นรูปดอกบัว ที่มีความสวยงามมาก ทำให้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพอพระทัย จึงมีรับสั่งให้ถือเป็นประเพณีในวันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำการประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัว เพื่อทำการสักการะรอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมทานที และประเพณีนี้ก็ได้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เท่าที่ผมพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่า ประเพณีมีจุดประสงค์ 2 อย่าง คือการชักโคมจะเป็นการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ ส่วนการลอยโคมเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท

 

ความสำคัญของนางนพมาศ

ที่นี้เรามากล่าวถึงนางนพมาศกันบ้าง ว่านางเป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไร จนถึงกับมีประเพณีการประกวดนางนพมาศในปัจจุบันนี้ ตามประวัตินั้น นางนพมาศ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ โดยมีบิดานามว่า “โชตรัตน์” มีบรรดาศักดิ์ว่า “ออกพระศรีมโหสถ ยศกมลเลศครรไลยหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์” ซึ่งถือว่ามีเกียรติยศมากกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวงในสมัยนั้น ซึ่งมีหน้าที่บัญชาการตกแต่งพระนคร ส่วนมารดามีนามว่า “นางเรวดี” โดยนางนพมาศเกิดในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 3 ปีชวด

เมื่อนางนพมาศเกิด ฝ่ายญาติมิตรทั้งหลาย ได้นำเครื่องทองต่างๆ มาเป็นของขวัญรับขวัญ จึงเป็นเหตุให้บิดานาง ตั้งชื่อว่า “นพมาศ” แปลว่า “ทองเนื้อเก้า” และมีพิธีสมโภชธิดาอย่างประณีต ทั้งการอาราธนาพระสงฆ์หลายองค์ มาเจริญพระพุทธมนต์ทั้งสิ้น 7 วัน และยังมีการอัญเชิญ พราหมณาจารย์ ผู้ชำนาญในไตรเทพ มาทำพิธีชัยมงคลอีก 3 วัน และเมื่อยังเยาว์ ฝ่ายบิดาก็เฟ้นหาผู้มีความรู้วิชาการต่างๆ มาเป็นผู้คอยดูแลเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นวิชาด้านภาษา วรรณกรรม โครงกลอน โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไตรเพท และอีกมากมาย จนนางนพมาศ (น่าจะเรียกว่านางสาวนพมาศ) มีอายุ 15 ปี ก็มีความรู้มากมายและนับเป็นสตรีนักปราชญ์คนสำคัญคนหนึ่งของกรุงสุโขทัยในสมัยนั้น

นางนพมาศ ถือว่าเป็นสตรี ที่มีความงามถึง 3 ประการ คือ งามในรูปสมบัติ งามในทรัพย์สมบัติ และงามในปัญญาสมบัติ จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วกรุงสุโขทัย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้มี ทิศาปาโมกข์ท่านหนึ่ง (เจ้าสำนักผู้มีวิชาความรู้และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก) ถึงกับแต่งกลอนสรรเสริญนางนพมาศไว้ถึง 3 บท จนเรื่องราวของบทกลอนสรรเสริญเลื่องลือไปถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงได้ทรงไต่ถามกับ “ท้าวจันทรนาถภักดี” ว่ากลอนนี้แต่งขึ้นหรือเป็นเรื่องจริง

และทรงได้รู้ความจริงว่า กลอนนี้แต่งขึ้นจากเรื่องจริง จึงได้รับสั่งให้นำนางนพมาศเข้ามาเป็นพระสนมอยู่ในพระราชวัง และเป็นเกียรติยศแก่ “ออกพระศรีมโหสถ” ผู้เป็นบิดา จากนั้นมาชีวิตของนางนพมาศก็ได้หันเหเข้ามาอยู่ในแวดวงสตรีผู้สูงศักดิ์ เพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชสำนัก

เมื่อนางได้เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักในตำแหน่งนางสนม และเป็นแบบอย่างกุลสตรีไทย สมกับที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดของบิดาและมารดา ทำให้นางได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ตำแหน่ง นางสนมเอก ได้รับการยกย่องเชิดชูว่า เป็นแบบอย่างของกุลสตรี ที่สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ผูกพันกับสถาบันศาสนาและพระมหากษัติริย์ ให้เป็นแบบอย่างที่ดีน่ายึดถือของกุลสตรีทุกคน ด้วยเหตุนี้ จึงมีการประกวดนางนพมาศ ในวันลอยกระทงเสมอมาจนถึงปัจจุบันนี้

การประกวดเทพีนางนพมาศ ภาพจาก www.trueplookpanya.com

การประกวดเทพีนางนพมาศ ภาพจาก www.trueplookpanya.com

อานิสงส์การลอยกระทง

ส่วนในเรื่องของอานิสงส์ผลบุญที่เกิดขึ้นจากการลอยกระทงนั้น พระราชพรหมยาน (หลงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

ก่อนที่เราจะลอยกระทงก็จงตั้งใจบูชาพระรัตนตรัยก่อน  และหลังจากนั้น ก็ขอขมาโทษต่อองค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดา ที่เราได้เคยปรามาสในพระรัตนตรัย

ถ้าเราไม่เคยปรามาส โทษอันใดของเราก็ไม่มี ทำจิตของเราให้ผ่องใส และที่เคยปรามาสแล้ว ถ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงสงเคราะห์ยกโทษให้เราก็หมดไป กำลังใจของเราก็พึงมีแต่กุศล

ในเรื่องของอานิสงส์การลอยกระทง ถ้ากำลังใจของท่านทำด้วยกำลังใจเป็นกุศล ถ้ากำลังใจ ของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนยังอ่อนที่จะต้องเร่ร่อนไปในวัฏสงสาร อย่างน้อยที่สุดทุกท่านก็เกิดเป็นเทวดา เพราะอำนาจของพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทมีความมั่นคง จิตตั้งตรงเป็นฌาน ท่านก็เกิดเป็นพรหม

ตามคำกล่าวของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ผมก็จะขอแปลจากไทยเป็นไทยอีกรอบ ก็น่าจะหมายความว่า ก่อนการลอยกระทง ให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  ทำจิตใจให้เป็นกุศล และกล่าวขอขมาต่อพระรัตนตรัย ซึ่งก็จะเป็นการผ่อนโทษในสิ่งที่เราอาจจะได้ล่วงเกินต่อพระรัตนตรัยมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้จิตใจเกิดกุศล และอาจจะมีผลต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติมากขึ้นต่อไป

 

บทปิดท้าย

และนี่ก็เป็นเรื่องราวพอคร่าวๆ เกี่ยวกับประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามและสวยงามยิ่งของชาวไทยมาช้านาน อย่างน้อยๆก็ร่วม 700 ปี ผ่านมาแล้ว ถือเป็นประเพณีนี้มีมายาวนานประเพณีหนึ่ง และเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์อีกด้วย จึงควรช่วยกันรักษาประเพณีอันดีงามนี้ไว้ตลอดไปนะครับ

– ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ –

ภาพจาก herorangers.com

ภาพจาก herorangers.com

เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ