พระราชาผู้ทรงธรรม ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จากบันทึกของครูบาอาจารย์

By | October 19, 2016

ธ องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก … เสด็จวัดภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 – 13 ตุลาคม 2559) เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้เสวยราชย์ยาวนานที่สุด ตลอด 70 ปีของการครองราชสมบัติ พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติราชภารกิจเพื่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด

นอกจากพระราชภารกิจในการพัฒนาความเป็นอยู่ของปวงชนชาวไทยแล้ว พระองค์ยังเป็นพระราชาผู้ทรงธรรม ใช้ธรรมะในการดำเนินชีวิต ทรงสืบสานทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอีกด้วย

แม้พระองค์จะมีพระราชภารกิจมากมายและยิ่งใหญ่ แต่พระองค์ทรงไม่เคยขาดหลักธรรมแม้แต่น้อย

ดังจะเห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ต่างๆ ที่พระองค์เสด็จไปพบกับพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในการปฏิบัติธรรมยิ่งนัก

สามารถอ่านบทความที่พระองค์เสด็จพบพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรที่บทความในลิ้งค์นี้ >> www.faiththaistory.com/king-monk

โอกาสนี้ผมจึงได้รวบรวมบทความบางส่วนที่ผมได้อ่านและรับรู้เกี่ยวกับพระองค์ที่ได้พบกับพระสงฆ์รูปต่างๆ และมีการสนทนาธรรม หวังว่าบทความนี้จะเป็นการต่อยอดให้ท่านผู้สนใจ ได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเดินทางตามรอยพระองค์ ให้มีชีวิตที่ประสบสุขต่อไป

หนังสือพระเมตตา รวมพระราชปรารภกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

หนังสือพระเมตตา รวมพระราชปรารภกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

**พ่อเหนื่อยมาทั้งชีวิต แต่พ่อไม่เคยหยุดเพื่อพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง…**

ณ โอกาสนี้ แอดมินขอเรียบเรียงบทความบางตอนในหนังสือ “พระเมตตา” โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ซึ่งรวบรวมเรื่องราวพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระอุโบสถหลังใหม่ วัดท่าซุง

ในพระราชปรารภตอนหนึ่ง พระองค์มีพระราชปรารภว่า พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก ทั้งนี้หลวงพ่อก็ทราบดีว่า เพราะพระองค์มีพระราชจริยวัตรห่วงใยพสกนิกรของพระองค์มาก การประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เต็มไปด้วยหมายกำหนดการ และการออกเสด็จไปข้างนอกพระองค์ก็ไม่ได้ทรงพักผ่อน พระองค์ทรงแปรพระราชฐานครั้งใด ก็ปรากฏแต่ข่าวว่าไม่ได้ทรงพักผ่อนอยู่กับที่

เพราะการที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้ง ก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนประชาชน ไปเยี่ยมชาวเขา ชาวบ้าน หลวงพ่อกล่าวต่อว่า เมื่อได้ทราบข่าวการเสด็จของพระองค์ ก็เห็นพระองค์อยู่บนเขาบนดอย รู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก มองๆดูแล้วคิดว่าเวลานี้ถ้าใครเขาจะตั้งให้หลวงพ่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วให้ปฏิบัติอย่างพระองค์ หลวงพ่อไม่เอาแน่ๆ จ้างให้เงินเดือนสักพันล้านก็ไม่เอา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าทำไม่ไหวแน่ ร่างกายไม่ไหว

เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า มีผู้มีความรู้มาบอกว่าพระองค์จะต้องเหน็ดเหนื่อยมาก แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเป็นใครมาบอก แต่หลวงพ่อสงสัยเองว่าพระองค์ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง

พระองค์ตรัสต่อว่า เขาบอกว่าพระองค์จะไม่มีโอกาสหายความเหน็ดเหนื่อยเลย ทรงปรารภเรื่องนี้ หลวงพ่อก็ถวายพระพรว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาของพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร บรรดาพสกนิกรมีความทุกข์ร้อน ทุกข์ยากอยู่ที่ไหนก็ต้องมีความเหน็ดเหนื่อย ต้องไปเยี่ยมเขาให้เขามีกำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้

ความเป็นจริงการเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ เป็นที่ประทับใจของประชาชนทั้งหลาย เราปฏิเสธกันไม่ได้ หลวงพ่อกล่าวต่อว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปที่ไหน พระองค์มีแต่พระราชทาน พระองค์ไม่เคยขอ ถ้าเราทุกคนปฏิบัติอย่างพระองค์ ประเทศจะมีแต่ผู้ก่อการดี จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว คนไทยก็จะอยู่กันเป็นปึกแผ่น ถึงแม้เมืองไทยจะเป็นเมืองเล็กๆ ถ้ารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เต็มไปด้วยสามัคคี แม้ประเทศใหญ่เข้าโจมตีก็รู้สึกจะยาก เพราะความสามัคคีมีกำลังมาก ยากที่คนจะทำลายได้…
……………………………………………………………
เรียบเรียงเรื่องบางตอนจากหนังสือ “พระเมตตา” โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หน้าที่ 27-28, จากพระราชปรารภกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เมื่อครั้งเสด็จมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระอุโบสถหลังใหม่วัดท่าซุง วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2518

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

***พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์***

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อฤาษีลิงดำเคยเข้าเฝ้าแสดงธรรมเทศนาและสนทนาธรรมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เมตตาเล่าเรื่องราวสนทนาธรรมในครั้งนั้น

ซึ่งต่อมาได้พิมพ์ลงในหนังสือ “ธัมมวิโมกข์” ฉบับที่ 212 ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2541 บทสนทนาธรรมดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ : เขาพูดกันว่า “ผมปรารถนาพุทธภูมิ” เป็นความจริงไหมครับ?

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ : เรื่องปรารถนาพุทธภูมิ นี่ พระองค์ปรารถนามานาน แต่เวลานี้ บารมีเป็น “ปรมัตถบารมี” แล้ว ก็เหลืออีก 5 ชาติ และที่พระองค์ปฏิบัติมามันเลยแล้ว ไม่ใช่ไม่สำเร็จ

พุทธภูมินี่ต้องบำเพ็ญกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์เป็น “วิริยาธิกะ” วิริยาธิกะนี่ต้องบำเพ็ญบารมีถึง 16 อสงไขยกับเศษอีกหนึ่งแสนกัป(หลังได้รับพุทธพยากรณ์) นี่บำเพ็ญมาเกิน 16 อสงไขยแล้ว แสนกัปยังไม่ครบ จึงเกิดอีก 5 ชาติ
……………………………………..
เรียบเรียงจาก : หนังสือ มหาบพิตร ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

**พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกขณะจิต…แม้พระองค์จะทรงมีพระราชภารกิจเป็นการส่วนพระองค์**

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร เนื่องในพระราชวโรกาสเสด็จพระราชทานผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯทรงมีพระราชปุจฉาตรัสถามหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ใจความว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ : ทำอย่างไรประเทศชาติ ประชาชน จะอยู่ดีกินดี มีความสามัคคีปรองดองกัน?

หลวงปู่ฝั้น : ให้เข้าหาพระศาสนา เพราะศาสนาสอนให้ละชั่ว กระทำความดี ทำใจให้ผ่องใส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ : คนส่วนมากทำดี คนส่วนน้อยทำชั่ว จะทำให้คนส่วนมากเดือดร้อนไหม… ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขได้?

หลวงปู่ฝั้น : ขอถวายพระพร ทุกวันนี้คนไม่รู้ศาสนาจึงเบียดเบียนกัน ถ้าคนเรานึกถึงศาสนาแล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน เพราะต้องการความสุขความเจริญ คนอื่นก็เช่นกัน คนทุกวันนี้เข้าใจกันว่า ศาสนาอยู่กับวัด อยู่ในตู้ อยู่ในหีบ ในใบลาน อยู่กับพระพุทธเจ้าประเทศอินเดียโน่น จึงไม่สนใจ บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวาย มองหน้ากันไม่ได้ ถ้าคนเราถือกันเป็นบิดามารดา เป็นพี่น้องกันแล้ว ก็สบาย ไปมาหาสู่กันได้ เพราะใจเราไม่มีเวร เวรก็ไม่มี ใจเราไม่มีกรรม กรรมก็ไม่มี

ฉะนั้น ให้มี “พรหมวิหาร” อย่างมหาบพิตรเสด็จมานี้ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด
…………………………………………………..

**พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสนพระทัยในพระศาสนาและปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ**

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเลื่อมใสศรัทธาองค์หลวงปู่ฝั้นอย่างมาก พระองค์ได้นิมนต์หลวงปู่ฝั้นไปพักที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลานานถึงเดือนเศษ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปสนทนาธรรม

เมื่อครั้งที่หลวงปู่ฝั้นได้มรณภาพ ในการสรงน้ำศพหลวงปู่ฝั้น ในปี พ.ศ.2520 เป็นครั้งแรกของเมืองไทย ไม่ว่าในกรณีของบุคคลใดก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์พระราชทานอาบน้ำศพแล้วจะไม่มีการรดน้ำศพอีก

แต่กรณีศพของหลวงปู่ฝั้น ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วยพระกระแสรับสั่งของพระองค์เองว่า “ขออย่าได้ห้ามประชาชนสรงน้ำศพท่านอาจารย์ จงให้เขาได้สรงน้ำกันต่อไปตามแต่ศรัทธา”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แก่พสกนิกรชาวไทย
…………………………………………………….
เรียบเรียงจาก :
หนังสือ มหาบพิตร ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ
หนังสือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ตามโครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่มที่ 11

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหลวงตามหาบัว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับหลวงตามหาบัว

**เรื่องราวของพุทธภูมิ**

บทสนทนาระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน//

เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เพื่อนิมนต์เชิญหลวงตาไปงานพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมกับหลวงตา ความว่าดังนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช : “หลวงปู่ครับ… สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร”

หลวงตา : “พุทธภูมิ ก็เหมือน ดั่งเรานั่งรถไฟนั่งรถไฟไปเชียงใหม่หรือนั่งรถไฟไปอุดรนั่นแหละพุทธภูมิแต่ถ้าเรานั่งจักรยานมาหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ ขี่มอเตอร์ไซค์ไปนั่นแหละ สาวกภูมิเพราะฉะนั้นการเป็นพุทธภูมิก็คือการนำคนไปได้เยอะ ๆ ส่วนสาวกภูมินั้นนำไปได้น้อยๆไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ 1 คน หรือ 3-4 คน ก็ว่ากันไป นั่นคือสาวกภูมิเข้าใจไหมล่ะพ่อหลวง”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช : “เข้าใจแล้วหลวงปู่ แล้วนิพพานเป็นอย่างไรนะหลวงปู่”

หลวงตา : “อ้อ พ่อหลวงเหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละรู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน อยุ่บนกุฏินี่เหรอ วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะแต่พอพระมหากษัตริย์มาถึงนี่แล้ว บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี้แหละแต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละคือวัดป่าบ้านตาดนี่แหละพระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช : ขอบารมีหลวงตาช่วยต่ออายุให้แม่หลวง (สมเด็จย่า)

หลวงตา : “พ่อหลวงนั่นแหละก็จัดการเองได้ขอเองได้” ท่านว่างั้นนะ…”พ่อหลวงก็สามารถจัดการได้เอง”ท่านบอกไปเลยนะว่า…ให้พระเจ้าอยู่หัวขอเองจัดการเองจัดการเองอาตมาต่อให้ไม่ได้หรอก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช : “เอาล่ะ ได้เวลาแล้ว จะกลับแล้วท่านหลวงปู่มีอะไรจะบอกไหมครับ”

หลวงตา : “การเป็นพุทธภูมิสร้างบารมีเพื่อความเป็นพุทธะ พอจบพุทธภูมิได้ก็เป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระพุทธเจ้าก็มีพุทธกิจ 5 คือ ตอนเช้าบิณฑบาต ตอนบ่ายสอนคหบดีมนุษย์ทั่วไปตกเย็นสอนนักบวช สมณะชีพราหมณ์ ตอนกลางคืนแก้ปัญหาเทวดาพอมาตอนเช้ามืดเล็งญาณดูสัตว์โลก สัตว์โลกตัวไหนมีกิเลสเบาบางพอที่จะบรรลุธรรมได้ท่านก็จะเล็งญาณดูรีบไปโปรดก่อน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีพุทธภูมิจนได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระพุทธกิจ 5 อย่างนี้ แต่…ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของประเทศไทยปรารถนาอะไรทำงานกันจนไม่มีเวลาจะพักผ่อน..เอาล่ะ ๆ …อาตมาจะให้พร”
………………………………………………….

บันทึกโดย พระอาจารย์ภูสิต ขันติธโร (พระอุปัฏฐากหลวงตามหาบัว)

**พระราชาผู้ทรงธรรม**

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
– พระราชปณิธาน ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ –
……………………………………….
“…เป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข มีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน มีการสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกัน และมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี…”
– พระบรมราโชวาท ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๗ –
……………………………………….
องค์หลวงตามหาบัวได้กล่าวกับพระเณรถึงความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต่อชาติบ้านเมืองไว้หลายวาระ เช่น เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ ท่านกล่าวว่า

“ใครจะใหญ่ขนาดไหน เราไม่เห็นที่จะไปสัมผัสสัมพันธ์อยู่ในจิตใจ นี่ถ้าไม่ได้ในหลวงฯค้ำเอาไว้มันจมไปนานแล้วแหละเมืองไทย ประชาชนเขารู้เต็มหูเต็มตาเต็มใจ เขาไม่พูดอะไร เขารู้ ตั้งแต่เราอยู่นอกๆ เรายังรู้ เหตุไรเราถึงรู้ ลูกศิษย์เราเหมือนตาสับปะรดอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่รู้ได้อย่างไร ประการที่สองก็คิดพิจารณาแต่ละเรื่องๆ ที่มันปรากฏขึ้นมา มีด้วยเหตุเป็นมายังไงๆ มันจะหนีหลักความจริงไปได้เหรอ”

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร

พระองค์ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น

วันที่ 16 ตุลาคม 2559 หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร (พระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นที่ยังทรงขันธ์อยู่ในปัจจุบัน)

ท่านเทศน์ถึง…ในหลวงว่า
ท่านมิได้เสด็จไปไหน
ท่านเพียงเปลี่ยนภพภูมิที่สูงขึ้น
ความดีของท่านยังสถิตอยู่ในใจเรา
เรามีหน้าที่ทำดีต่อไปตามพ่อสอน
มีพระพุทธพจน์ กล่าวว่า
ผู้ทำความดี แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็..มีค่า
แต่คนไม่ดี แม้มีอายุยืนยาว ก็ชื่อว่า… ไร้ค่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหลวงพ่อวิริยังค์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหลวงพ่อวิริยังค์

    ปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ ทรงวางศิลาฤกษ์พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ ศรีรัตนโกสินทร์  วัดธรรมมงคลกรุงเทพมหานคร

……………………………………………………………………………………..

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหลวงตามหาบัว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับหลวงตามหาบัว

***พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นคุณค่าแห่งธรรมปฏิบัติเหนืออุปสรรคและอุปัทวันตรายทั้งปวง***

ไม่เพียงทรงมีความเคารพเลื่อมใสเท่านั้น ยังทรงมีความสมพันธ์แนบแน่นกับพระปฏิบัติทั้งหลายในสถานที่ต่างๆ อีกด้วย โดยเฉพาะพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต … พระองค์เสด็จฯไปทรงนมัสการเยี่ยมเยียนและสนทนาธรรมไต่ถามธรรมะกับครูบาอาจารย์หลายรูป ไม่ว่าจะทุรกันดารหรือเสี่ยงอันตรายจากภาวะการเมืองในประเทศและต่างประเทศเพียงใด พระองค์ก็มิได้ถือเป็นอุปสรรคให้ท้อพระทัยแต่อย่างใด ทรงเห็นคุณค่าแห่งธรรมปฏิบัติเหนืออุปสรรคและอุปัทวันตรายทั้งปวง ดังเหตุการณ์คราวหนึ่งเกิดขึ้นกับองค์หลวงตามหาบัวโดยตรงและมีการบันทึกไว้ดังนี้

ในตอนเช้าของวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้สั่งกำชับพระเณรในวัดว่า

“วันนี้ จะมีบุคคลสำคัญเข้ามา พวกท่านทั้งหลายจงพากันทำความสะอาดวัดวาอาวาสให้เรียบร้อย อย่าให้บกพร่อง”

พระทั้งหลายเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็ไม่ได้เอะใจอะไร ต่างก็ทำข้อวัตรปฏิบัติไปตามปกติ ทั้งๆที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการหลวงตามหาบัวฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จไปที่วัดป่าบ้านตาด เพื่อกราบนมัสการองค์หลวงตาโดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีทหารคนใดได้ล่วงรู้เรื่องนี้มาก่อน ทหารทั้งหลายต่างสืบข่าวเป็นการโกลาหลว่า เมื่อเวลาบ่ายโมงพระองค์ท่านทรงขับรถออกจากพระตำหนัก ไม่รู้ว่าเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใด

หลวงตาจึงให้โอวาทว่า “มหาบพิตร พระองค์เป็นถึงพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าชีวิตของชนทั้งชาติ หากพระองค์เสด็จมาโดยลำพัง มีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง ถ้าพระองค์เป็นอะไรขึ้นมา คนทั้งชาติจะไม่เหยียบหลวงตาบัวมิดแผ่นดินหรือ”

“กลัวจะเป็นการรบกวนองค์หลวงตา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสพร้อมพนมพระหัตถ์ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส

“รบกวน ไม่รบกวนจะเป็นอะไร แผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ พระองค์พึงมาได้ทุกเมื่อ”

จากนั้นพระองค์ทรงถวายผ้าห่มและไทยทานอื่นๆ มากมาย พร้อมกับปัจจัย 3 หมื่นบาท โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้ถวายธรรมะหลายประการ
…………………………………..
เรียบเรียงจาก ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์

ทรงแจ้งพระราชดำริในการเสด็จออกบรรพชาอุปสมบท

เสด็จออก ณ สีหบัญชร มีพระราชดำรัส ใจความสำคัญว่า

“ข้าพเจ้าขอแถลงดำริ ที่จะบรรพชาอุปสมบทในพระศาสนาให้ทราบ โดยที่พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอน อันชอบด้วยเหตุผล จึ่งเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่ง ตามราชประเพณี”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม การพระราชพิธีผนวช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499

 ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง

ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จออกสีหบัญชร และมีพระราชดำรัสแก่ประชาชน ถึงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกบรรพชาอุปสมบท ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499

ทรงผนวช

ทรงผนวช

พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชในธรรมยุติกนิกาย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งพระองค์ได้รับพระนามฉายาว่า “ภูมิพโล” และทรงประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

……………………………………………………………………………………………..

นี่เป็นเรื่องราวบางส่วน อันน้อยนิดเกี่ยวกับเรื่องราวของพระองค์กับพระราชภารกิจส่วนพระองค์ในการปฏิบัติธรรมและความสนพระราชหฤทัยในทางธรรม … หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์และนำไปต่อยอดในการหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปนะครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com