วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ สระบุรี ภาพสลักโบราณทางพุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในไทย

By | October 4, 2016


https://youtu.be/NVi7q_FJpss

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปตะลุยท่องเที่ยววัด ชมถ้ำโบราณ ตามรอยภาพสลักโบราณทางพระพุทธศาสนาอายุกว่าพันปีและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี  ด้วยความมีชื่อเสียงของวัดแห่งนี้คือมีถ้ำธรรมชาติ ที่มีสลักภาพศิลปะเก่าแก่ในยุคทวารวดี สันนิษฐานอายุมากกว่าพันปีและถือเป็นภาพสลักทางพระพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปชมกันอย่างมากมาย นอกจากนี้ที่วัดยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีความเงียบสงบ ร่มรื่น แวดล้อมไปด้วยขุนเขาที่สวยงาม และมีธารน้ำตกยิ่งทำให้ดูร่มเย็นยิ่งนัก

การเดินทางในครั้งนี้ ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก จากจังหวัดลพบุรี มาถึงอ.แก่งคอยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งทางเข้าวัดจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง (ปูนตรานกอินทรีย์)  ระหว่าที่ขับรถเข้ามา ก็จะได้ชมบรรยากาศสองข้างทาง ที่ดูร่มรื่นสวยงามของธรรมชาติ ช่างเป็นวันพักผ่อนที่วิเศษจริงๆครับ

วัดถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อว่า ถ้ำพระงามหรือถ้ำเขาน้ำพุ ประกอบด้วย คูหาน้อยใหญ่ 6 คูหา คูหาที่มีภาพสลักบนผนัง เป็นคูหาติดทางเข้าถ้ำพระโพธิสัตว์ คูหานี้มีเจดีย์ปิดทอง ประดิษฐานโบกปูน ปูด้วยกระเบื้อง เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นภายหลังในสมัยปัจจุบันนี้ ณ ผนังด้านเหนือของคูหานี้สูงจากพื้นถ้ำราวๆ 4 เมตร มีภาพสลักนูนต่ำศิลปกรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 13-14)

ทางไปถ้ำ

ทางไปถ้ำ

เมื่อผมมาถึงวัด ต้องบอกว่าได้รับรู้ถึงความสดชื่นจากธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ดีมากๆเลยครับ ผมจอดรถบริเวณป้ายทางเข้าถ้ำ

บรรยากาศสู่ถ้ำ

บรรยากาศสู่ถ้ำ

น้ำตกในวัด

น้ำตกในวัด

ธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในวัด นั่นก็คือธารน้ำตกที่สวยงาม…ซึ่งกลุ่มนักเดินทาง ได้ทำการบันทึกภาพและชมน้ำตกสักระยะหนึ่ง กะว่าจะอัพขึ้นโซเชียล แต่พบว่าสัญญาณสื่อสารทุกค่ายดับสนิท เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ถ้ามากันเป็นคณะควรนัดหมายเวลากันให้ดี เพราะคุณจะใช้เครื่องมือสื่อสารไม่ได้

ทางขึ้นสู่ถ้ำ

ทางขึ้นสู่ถ้ำ

ทางขึ้นถ้ำจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ พันผ้าสี ตามความเชื่อของคนไทยที่มีมายาวนานเกี่ยวกับรุกขเทวดา

ทางขึ้นถ้ำ

ทางขึ้นถ้ำ

ระหว่างดินไปสู่ถ้ำ ก็จะได้ชมบรรยากาศแสนร่มรื่น ที่หาได้ยากในปัจจุบันถ้าเราไม่ออกเดินทางคงไม่ได้พบเจอ

บรรยากาศในวัด

บรรยากาศในวัด

เส้นทางขึ้นถ้ำ

เส้นทางขึ้นถ้ำ

ในวัดจะมีทางขึ้นถ้ำหลักๆ 3 ถ้ำคือ ถ้ำพระโพธิสัตว์ ถ้ำเลียงผา และถ้ำธรรมทัศน์ แต่ละจุดก็จะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไปครับ

บันไดขึ้นถ้ำ

บันไดขึ้นถ้ำ

ผมขอแนะนำว่าให้ใช้ทางขึ้นฝั่งซ้ายก่อนนะครับ เพราะเป็นทางบันไดสามารถเดินขึ้นได้สะดวก ซึ่งจะผ่านถ้ำเลียงผาก่อน จากนั้นจะขึ้นไปสู่ถ้ำพระโพธิสัตว์

เส้นทางขึ้นเขา เข้าถ้ำ

เส้นทางขึ้นเขา เข้าถ้ำ

ปากทางเข้าถ้ำพระโพธิสัตว์

ปากทางเข้าถ้ำพระโพธิสัตว์

บริเวณใกล้ปากถ้ำ

บริเวณใกล้ปากถ้ำ

ในถ้ำพระโพธิสัตว์ จะมีความมืดมาก สามารถเดินเข้าไปเปิดคัทเอ้าท์ไฟแสงสว่างด้านขวามือครับ… เมื่อเปิดไฟแสงสว่างแล้ว เราจะพบกับภาพศิลปะโบราณอายุกว่าพันปี หน้าปากถ้ำฝั่งซ้าย

พระเจดีย์ปิดทองในถ้ำพระโพธิสัตว์

พระเจดีย์ปิดทองในถ้ำพระโพธิสัตว์

ทีมนักเดินทางพิจารณาภาพสลักโบราณ

ทีมนักเดินทางพิจารณาภาพสลักโบราณ

ในถ้ำพระโพธิสัตว์

ในถ้ำพระโพธิสัตว์

ภาพสลักโบราณยุคทวารวดี

ภาพสลักโบราณยุคทวารวดี

ภาพจากซ้ายจะปรากฏเป็นภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรมเทศนา ประทับห้อยพระบาทมีฐานบัวรองรับ ถัดไปมีลักษณะคล้ายเทวะ ที่อาจจะเป็นพระพรหมหรือพระอิศวร ประทับห้อยขาขวา ที่เอวมีผ้าคาดปล่อยชายยาว พระหัตถ์ซ้ายถือวัตถุคล้ายกำไล ต่อมาเป็นภาพพระนารายณ์สี่กรประทับยืน สองกรประสานอยู่เหนือพระอุระ กรข้างขวาถือจักร กรข้างซ้ายถือสังข์ ส่วนด้านบนเป็นภาพเทวดาหรือนางฟ้า 2 องค์  ส่วนด้านล่างถัดจากพระนารายณ์มีลักษณะเหมือนคนก้มกราบ

ในกลุ่มเราตื่นตาตื่นใจกับภาพสลักโบราณนี้มากครับ เพราะได้พากันจินตนาการย้อนกันไปในสมัยนั้น ว่าเพราะเหตุใดจึงมีการสลักภาพตรงนี้

คำอธิบายของอาจารย์วรณัย พงศาชลากร

อาจารย์วรณัย นักมานุษยวิทยา ได้กล่าวถึงภาพสลักนูนต่ำที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ไว้ว่า

ภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำหินปูน ที่ “ถ้ำโพธิสัตว์” เขตตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรี อาจสลักขึ้นด้วยฝีมือของนายช่างที่เดินทางมาจากอินเดียโดยตรง เป็นงานพุทธศิลป์ที่รับกันกับยุคปลายของ “อมราวดี – นาคารชุณโกณฑะ” (Amaravati – Nagarjunakonda) ต้นยุคสมัยราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava Dynasty) แห่ง “แคว้นอานธระประเทศ” (Andhra Pradesh) ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12 

อาจารย์วรณัย พงศาชลากร (EJeab Academy) นักมานุษยวิทยา

ภาพสลักบนผนังที่ถ้ำโพธิสัตว์นี้จัดเป็นรูปสลักของพระพุทธรูปแบบนั่งห้อยพระบาทที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แสดงภาพของพระพุทธเจ้า-พระศากยมุนี ประทับนั่งแบบ “ปรลัมภปทาสนะ” หรือห้อยพระบาทแบบกรีกยุโรปบนบัลลังก์ภัทรบิฐ ข้างพนักพิงเป็นรูปหัวมกร (มะกะระ) มีบัวปัทม์รองรับที่พระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะของการจีบนิ้วจับเส้นชายจีวรลูกบวบที่ตกลงมาเป็นเส้นโค้งเส้นเดียวและพาดผ่านพระเพลาทางด้านซ้าย

ถึงจะมีความคล้ายคลึงกับการประทับนั่งเทศนาธรรม ในพุทธประวัติตอนเทศนา “พระสัทธรรมปุณฑริกสูตรบนยอดเขาคิชกูฎ” ที่มีพระโพธิสัตว์ประทับอยู่รายรอบ 80,000 องค์ ของฝ่ายมหายาน แต่องค์ประกอบของภาพสลักนี้ เป็นภาพของมหาเทพของฝ่ายฮินดูอย่างพระศิวะและพระวิษณุ สะท้อนคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกาย “มหาสังฆิกะ” อิทธิพลตรงจากแคว้นอานธระ ในอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก ในคติความเชื่อว่า องค์พระศากยมุนีนั้นทรงอยู่ในสภาวะสภาวะเหนือโลก เหนือธรรมชาติ ทรงถือเป็น “โลกุตระ” ทรงปรากฏพระองค์ได้ทุกหนแห่งในสกลจักรวาล ทรงสามารถแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเหล่าเทพเจ้าฮินดูบนสรวงสวรรค์ก็ได้

ภาพสลักที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อาจแสดงถึงการแสดงธรรมขั้นสูงสุดที่มีความละเอียดอ่อน ยากจะเข้าใจและเคร่งเครียด ที่กำลังเทศนาต่อเหล่าเทพเจ้าฮินดู โดยมีภาพของพระศิวะ ทรงพระเกศามุ่นมวยแบบชฏามุกุฏศิลปะแบบต้นปัลลวะ ประทับนั่งแบบยกพระเพลาเดี่ยวขึ้นมาไขว้บนอาสนะ แบบ “ลลิตาสนะ” พระหัตถ์ขวาแสดงการตอบรับ พระหัตถ์ซ้าย ถือสายอักษมาลา (ลูกประคำ) ปรากฏจุฑามณีรูปจันทร์เสี้ยวที่มวยพระเกศา นุ่งผ้าเตี่ยว คาดผ้ากฏิสูตรที่พระโสณีปล่อยโค้งห้อย ม้วนทบเป็นหูแล้วทิ้งชายผ้าปลายเป็นหางปลา อันเป็นเอกลักษณ์การนุ่งผ้าของชนชั้นสูงแบบศิลปะในแคว้นอานธระ

ส่วนรูปพระวิษณุ ถือจักรและสังข์ แสดงท่าให้ความเคารพโดยใช้พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่หน้าอก เป็นท่าสักการะที่เก่าแก่กว่าการเคารพด้วยการวันทา (ไหว้) ยืนเอียงแบบตริภังค์ (มนุษย์ธรรมดายืนแบบนี้ไม่ได้) นุ่งผ้าเตี่ยวมัด คาดผ้ากฏิสูตรที่พระโสณีแบบปล่อยหลวมด้านหนึ่งจนผ้าเฉียง ม้วนทบเป็นหูแล้วทิ้ง ชายผ้าที่ข้างลำตัว ปลายเป็นริ้วผ้าทบหลายขยัก

ถัดออกไปทางขวา มีเทพเจ้าอีกสององค์กำลังแสดงท่าเหาะเหินเพื่อเข้ามาร่วมฟังพระธรรม ที่ด้านล่างข้างพระวิษณุ ปรากฏรูปสลักของบุคคลขนาดเล็กกำลังแสดงการสักการบูชาด้วยท่านั่งคุกเข่าก้มกราบวันทา ซึ่งน่าจะหมายถึงมนุษย์ นักบวช (มีมวยผม ?) ที่มาร่วมฟังการเทศนาธรรมบนสวรรค์ หรืออาจเป็นภาพ “ตัวแทน” ในความหมายของตัวช่างผู้แกะสลักภาพเอง ที่ใส่ภาพของตนรวมเข้าไว้กับภาพสลักอันศักดิ์สิทธิ์ แสดงตัวว่าเป็นผู้ถวายการพุทธบูชาอันสำคัญนี้

คูหาในถ้ำพระโพธิสัตว์

คูหาในถ้ำพระโพธิสัตว์

สุดทางถ้ำพระโพธิสัตว์ฝั่งซ้าย

สุดทางถ้ำพระโพธิสัตว์ฝั่งซ้าย

คล้ายแร่โลหะ บนเพดานถ้ำพระโพธิสัตว์

คล้ายแร่โลหะ บนเพดานถ้ำพระโพธิสัตว์

พระพุทธรูปในถ้ำพระโพธิสัตว์

พระพุทธรูปในถ้ำพระโพธิสัตว์

ปฏิมากรรมธรรมชาติ ในถ้ำพระโพธิสัตว์

ปฏิมากรรมธรรมชาติ ในถ้ำพระโพธิสัตว์

กลุ่มนักเดินทาง ได้พากันเดินชมถ้ำพระโพธิสัตว์นานพอสมควร จากนั้นผมและนักเดินทางอีกคน ก็พากันเดินลงมาอีกฝั่งเพื่อไปชมถ้ำธรรมทัศน์

ทางลงสู่ถ้ำธรรมทัศน์

ทางลงสู่ถ้ำธรรมทัศน์

ทางลงอีกฝั่งจะไม่มีบันได แต่ก็ยังมีราวกันให้ได้ใช้ผ่อนแรงครับ

วิวทิวทัศน์สวยงาม

วิวทิวทัศน์สวยงาม

ระหว่างทางที่ลงมาสู่ถ้ำธรรมทัศน์จะได้พบวิวทิวทัศน์อันสวยงาม สดชื่นสบายตา

ปากทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร

ปากทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร

ทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์

ทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์

ปากทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์ เป็นทางเข้าเล็กๆ เมื่อส่องมองเข้าไปจะมองเห็นเป็นถ้ำกว้างใหญ่และยาวไกลสุดสายตา คดเคี้ยว ไปไม่สิ้นสุด… แรกๆนั้นก็เล่นเอาผมใจระทึก เกิดความรู้สึกหลอนๆพิกล เพราะดูถ้ำเร้นลับอย่างมาก แต่ด้วยว่าไหนๆก็มากันแล้ว จึงขอลงไปดูกันสักหน่อย

การเดินทางเข้าชมถ้ำธรรมทัศน์สิ่งที่ผมขอแนะนำคือ ต้องสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นผ้าใบ เพราะจะได้ปีนป่ายสะดวก ไม่เกิดอุบัติเหตุ… ถ้าเป็นไปได้ควรพกไฟฉายไปด้วย เพราะถ้าเกิดไฟฟ้าดับงานเข้าแน่ๆ และที่สำคัญควรมีเพื่อนร่วทางไปด้วย เนื่องจากจะได้ไม่รู้สึกหลอน และถ้าเกิดอุบัติเหตุจะได้ช่วยเหลือกันได้ ย้ำนะครับควรมีเพื่อนไปด้วย

บรรยากาศภายในถ้ำธรรมทัศน์กว้างใหญ่และยาวมาก ผมประมาณเส้นทางน่าจะอยู่ที่ราวๆ 1 กิโลเมตร บรรยากาศเป็นอย่างไร สามารถชมคลิปและภาพได้เลยครับ

ในถ้ำธรรมทัศน์

ในถ้ำธรรมทัศน์

พิจารณาอยู่ครับว่า จะไปต่อดีมั้ย ใจหลอนๆ

พิจารณาอยู่ครับว่า จะไปต่อดีมั้ย ใจหลอนๆ

บรรยากาศการเข้าถ้ำธรรมทัศน์ จะมีอยู่ในช่วงต้นๆ ที่ต้องปีนป่ายบันใดและไต่เชือกขึ้นไปครับ หลังจากนั้นจะเป็นเส้นทางคดเคี้ยวไปไกลมากครับ

เดินต่อไป

เดินต่อไป

และหยุดมองดู

และหยุดมองดู

ปฏิมากรรมธรรมชาติ

ปฏิมากรรมธรรมชาติ

ระหว่างเดินทางเข้าชมถ้ำธรรมทัศน์ ก็ตื่นเต้นพอสมควร ต่างติดจินตนาการไปต่างๆนาๆ … ถ้ามาคนเดียว คไม่เข้ามาแน่นอน ถ้าไม่เชื่อคุณลองมาชมและพิสูจน์กันนะครับ น่าจะเป็นที่ถูกใจของคนนิยมเข้าป่าชมถ้ำ

วันที่ผมเดินทางไปนั้นไปไม่สุดเส้นทางในถ้ำธรรมทัศน์ เพราะว่าไม่มีไฟฉายไปด้วย…ซึ่งจะสามารถเดินเข้าไปต่อได้ราวๆ 200 เมตร … ผมจึงได้นัดแนะกลุ่มนักเดินทางว่าจะกลับไปใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน… ยังไงผมจะมาอัพเดทบรรยากาศต่อไปนะครับ…

ขุนเขา ณ วัดถ้ำพระโพธิสัตว์

ขุนเขา ณ วัดถ้ำพระโพธิสัตว์

ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความการเดินทางท่องเที่ยวของผมต่อไปนะครับ…

ช่วงเก็บตกครั้งที่ 2 (วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2559) ชมถ้ำธรรมทัศน์และ จารึก จ.ป.ร

การเดินทางกลับไปครั้งนี้ เพื่อจะเก็บภาพ จารึกพระปรมาภิไธย “จ.ป.ร” ชมถ้ำเลียงผา และเข้าชมถ้ำธรรมทัศน์ จนสุดเส้นทางครับ

ขึ้นไปยังต้นน้ำตก เพื่อชม จารึก จ.ป.ร

ขึ้นไปยังต้นน้ำตก เพื่อชม จารึก จ.ป.ร

อักษรพระปรมาภิไธย “จ.ป.ร”

อักษรพระปรมาภิไธย “จ.ป.ร”

อักษรพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นมาจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช” จึงมีอักษรพระปรมาภิไธยว่า “จ.ป.ร”

จารึกการประพาสของพระองค์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2439 (ร.ศ. ๑๑๕)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ จากสระบุรีโดยรถไฟถึงที่พักรถไฟแก่งคอย เสด็จลงจากรถไฟแล้วทรงม้าไปตามทางป่าถึงบ้านลาวเวลา 4 โมงเช้า พักเสวยพระกระยาหารเช้าจากนั้นทรงม้าไปเรื่อยๆ บ่ายโมงเศษถึงตำบลพุน้ำโจน พระองค์ทอดพระเนตรน้ำตกแล้วโปรดให้จารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ และปีที่เสด็จไว้ที่บริเวณเนินเขาเหนือน้ำตก

การเดินทางไปชมพระปรมาภิไธย จะต้องขึ้นไปที่ต้นน้ำตกนะครับ และก็ต้องระวังการปินป่ายก้อนหินด้วย เพราะอาจะจะหกล้มได้

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ จากด้านบน

พระอุโบสถ จากด้านบน

ถ้ำเลียงผา

ถ้ำเลียงผา

ถ้ำเลียงผา เป็นถ้ำที่มีลักษณะเป็นชะง่อนผายื่นออกมา ถึงก่อนที่จะเดินขึ้นไปยังถ้ำพระโพธิสัตว์

สำหรับถ้ำพระโพธิสัตว์นั้น ผมได้เดินขึ้นไปชมแล้ว จึงเดินไปชมถ้ำธรรมทัศน์ต่อทันที

ภายในถ้ำธรรมทัศน์

ภายในถ้ำธรรมทัศน์

วันเดินทางมีเพื่อนร่วมทริป รวมผมแล้วก็ 4 คน…มาครั้งนี้สบายใจขึ้นเยอะครับ ฮ่าๆ มาคนเดียวนี่ผมไม่มาแน่ๆ

ปฏิมากรรมธรรมชาติ เป็นรูปคล้ายพระปรางค์

ปฏิมากรรมธรรมชาติ เป็นรูปคล้ายพระปรางค์

ความกว้างในถ้ำธรรมทัศน์

ความกว้างในถ้ำธรรมทัศน์

ยิ่งเข้าไปยิ่งเหมือนเหมืองแร่

ยิ่งเข้าไปยิ่งเหมือนเหมืองแร่

บางช่วงต้องปีนป่าย

บางช่วงต้องปีนป่าย

ปฏิมากรรมธรรมชาติ แล้วแต่จินตนาการครับ

ปฏิมากรรมธรรมชาติ แล้วแต่จินตนาการครับ

ห้องโถง ก่อนเข้าถึงจุดลึกที่สุด

ห้องโถง ก่อนเข้าถึงจุดลึกที่สุด

โอ่งรองน้ำในถ้ำ

โอ่งรองน้ำในถ้ำ

เนื่องจากในถ้ำมีรอยแตก จึงมีน้ำไหลลงมา และมีคนนำโอ่งมารองไว้ น้ำเย็นดีครับ

จุดนี้มืดมากครับ

จุดนี้มืดมากครับ

จุดนี้มืดที่สุด ให้เทียบกับภาพด้านล่าง ที่ผมใช้ไฟส่อง

จุดนี้มืดที่สุด ให้เทียบกับภาพด้านล่าง ที่ผมใช้ไฟส่อง

จุดมืดที่สุด เมื่อส่องไฟ

จุดมืดที่สุด เมื่อส่องไฟ

จุดลึกที่สุดของถ้ำธรรมทัศน์

จุดลึกที่สุดของถ้ำธรรมทัศน์

ในจุดลึกที่สุดของถ้ำธรรมทัศน์จะมีผู้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ กลุ่มเราจึงทำการกราบไหว้ และถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกครับ

เพดานถ้ำธรรมทัศน์ จุดที่ลึกที่สุด

เพดานถ้ำธรรมทัศน์ จุดที่ลึกที่สุด

ถือเป็นการปิดจ๊อบสำหรับวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ สระบุรี… เหนื่อยเล็กน้อยครับ แต่คุ้มค่าเหลือเกิน เรียนเชิญมาท่องเที่ยวชมบรรยากาศที่ปนความลึกลับกันนะครับ แล้วคุณจะไม่ผิดหวังเลย…

ปิดท้ายด้วยคลิปตะลุยถ้ำรอบที่สอง


https://youtu.be/Bg91eeZW2mY

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด