วัดท่าแคลง จันทบุรี โบสถ์เก่าอายุเกือบ 200 ปี สุดคลาสสิค

By | May 30, 2022

YouTube : FaithThaiStory

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยวถึงจันทบุรี เพื่อไปชมความงดงามเก่าแก่ของโบสถ์โบราณอายุเกือบ 200 ปี วัดท่าแคลง ที่มีความเป็นเอกลักษณ์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี

โฐสถ์เก่าวัดท่าแคลง จันทบุรี(ด้านหน้า)

จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดที่ผมเคยทำงานประจำมาก่อน เมื่อราว 10 กว่าปีก่อน แต่ครั้งนั้นยังไม่ได้สนใจเดินทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จึงไม่เคยรู้ว่ามีวัดเก่าแก่สวยงามใกล้บริษัทที่เคยทำงานครั้งนั้น วันนี้ได้มีโอกาสไปถึง อ.นายายอาม จ.จันทบุรี จึงได้ค้นหาข้อมูล พบว่าที่วัดท่าแคลงแห่งนี้ มีความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมโบสถ์เก่าที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกอยู่ด้วย มีอายุเกือบ 200 ปี และยังคงสภาพเดิมอยู่ในปัจจุบันนี้

โบสถ์เก่าวัดท่าแคลง จันทบุรี(ด้านหลัง)

วัดท่าแคลง ไม่ปรากฏบันทึกประวัติการสร้างชัดเจน จึงมีการสันนิษฐานอายุจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบสถ์เก่า ซึ่งผมได้อ่านพบวิจัยเรื่อง สถาปัตยกรรมรัชกาลที่ 5 ในมณฑลการปกครองของภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ได้อธิบายงานวิจัยไว้ว่า โบสถ์เก่าของวัดท่าแคลงมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก สันนิษฐานสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 โดยช่างชาวจีนที่มีภูมิลำเนาในแถบนั้น

ซุ้มหน้าต่างบานกลาง ทำแบบตะวันตก มีปูนปั้นเจดีย์ทั้งสองข้าง ภายในซุ้มโค้งมีภาพเขียนปลาสองตัว

โบสถ์มีขนาดกว้าง 8.86 เมตร ยาว 15.40 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐแบบทรงโรง หลังคาทรงจั่วแบบชั้นลด มุงด้วยกระเบื้องว่าว มีชายคายื่นออกจากผนัง มีประตูทางเข้าด้านหน้าและหลัง ด้านละ 2 บาน ซุ้มประตูทางเข้ามีการตกแต่งด้วยปูนปั้นระบายสี ทำเป็นรูปซุ้มแบบใบโพธิ์ภายในมีการตกแต่งปูนปั้นรูปนกและพันธุ์พฤกษา กรอบประตูปั้นปูนคิ้วเลียบแบบเครื่องไม้ บางส่วนมีการเซาะร่องและระบายสีคราม เหลือง และน้ำตาลตามส่วนต่างๆของซุ้มประตู

ลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มประตู 

หน้าต่างโบสถ์เก่ามีด้านละ 3 บาน โดยบานหน้าต่างกลางของแต่ละด้านมีการตกแต่งกรอบหน้าต่างเป็นปูนปั้น คิ้วและซุ้มโค้งครึ่งวงกลมเหนือกรอบหน้าต่างแบบตะวันตก ด้านข้างซุ้มหน้าต่างมีปูนปั้นเจดีย์ทั้งสองข้างคล้ายพระธาตุเจดีย์แบบลาว ภายในซุ้มมีจิตรกรรมรูปปลา 2 ตัว

สำหรับการตีความสันนิษฐานรูปแบบอิทธิพลทางศิลปกรรม บางท่านก็ว่าซุ้มโค้งที่หน้าต่างเป็นแบบญวนบ้าง แบบลาวบ้าง เพราะที่จันทบุรีมีกลุ่มชนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นญวน ลาว โดยส่วนตัวผมไม่ได้ยึดติดว่าจะอิทธิพลจากแห่งใด

ภายในโบสถ์เก่า วัดท่าแคลง จันทบุรี

ภายในไม่มีภาพจิตรกรรม เครื่องบนเป็นไม้มีรอยแตกรั่วผุพังไปตามกาลเวลา มีฐานชุกชีพระประธาน แต่ทราบว่าได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่โบสถ์หลังใหม่แล้ว ภายในมีความทรุดโทรมหนัก มีพระพุทธรูปและรูปเคารพมากมายหลายองค์แตกชำรุดกระจัดจายอยู่บริเวณฐานชุกชี

ด้านข้างโบสถ์เก่า วัดท่าแคลง จันทบุรี

ฐานชุกชีพระประธานเดิม

รูปเคารพกระจัดกระจาย ภายในโบสถ์เก่า วัดท่าแคลง จันทบุรี

โบสถ์เก่าวัดท่าแคลง จันทบุรี

สภาพปัจจุบันของโบสถ์เก่าหลังนี้ ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา คงรอวันพังในอีกไม่นาน ไม่อยากให้เอ่ยคำว่าเสียดายภายหลังจริงๆเลยครับ

ยุทธนา ผิวขม (แอดมินลุงตั้ม) เรียบเรียง

เอกสารอ้างอิง : สถาปัตยกรรมรัชกาลที่ 5 ในมณฑลการปกครองของภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา 

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน 

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok