ตำนานความเชื่อ แม่ซื้อ เทวดาที่คุ้มครองเด็กทารก

By | October 21, 2014

ตำนานความเชื่อ แม่ซื้อ เทวดาที่คุ้มครองเด็กทารก

ตามตำนานความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยโบราณและได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวกับเด็กทารก ก็คงจะหนีไม่พ้นกับคำว่า “แม่ซื้อ” ซึ่งผมเองก็ได้ยินคำนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ไม่เข้าใจนัก จนมีเพื่อนๆที่มีลูกได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ผมก็เลยลองไปหาข้อมูลความเชื่อเรื่องนี้ดูว่า แม่ซื้อ คือใคร คนไทยเชื่อว่าอย่างไร และก็ขอนำมาเขียนบทความสรุปพอสังเขปไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์และเป็นความรู้นะครับ

การแสดงที่เกียวกับแม่ซื้อ

การแสดงที่เกียวกับแม่ซื้อ

ครั้งแรกๆ นั้นผมคิดว่าแม่ซื้อจะมีอยู่เพียง 1 เดียว แต่ตามความเชื่อที่กล่าวกันนั้น จะมีแม่ซื้อประจำวันเกิดของเด็กแต่คน เพราะฉะนั้นแม่ซื้อตามความเชื่อจึงมีทั้งสิ้นถึง 7 นาง

แม่ซื้อตามความเชื่อ ถือว่าเป็นเทวดาประเภทหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นผีกึ่งร้ายกึ่งดี เชื่อกันว่าเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองทารกแรกเกิด ซึ่งแต่ละภาคของประเทศไทยก็มีความเชื่อเรื่องแม่ซื้อทั้งสิ้น และเด็กทารกที่เกิดมาจะต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแลให้พ้นจากอันตราย  หลายๆคนคงเคยได้ยินว่า แม่ซื้อมักจะมาหยอกเด็กๆ ทำให้เด็กหัวเราะ ยิ้มร่าเริง

ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อแต่ละภาคของไทย

ภาคเหนือและภาคกลาง จะมีความเชื่อคล้ายๆกัน เชื่อว่ามีแม่ซื้อทั้งหมด 7 นาง ที่คอยดูแลทารกตามวันเกิด

ภาคใต้ เชื่อว่าแม่ซื้อเป็นเทวดา บางที่ว่าเป็นภูติผี ทำหน้าที่คอยดูแลทารกแรกเกิดจนมีอายุครบ 12 ปี มีอยู่ด้วยกัน 4 นาง ได้แก่ ผุด ผัด พัด และ ผล

ภาคอีสาน เชื่อว่าแม่ซื้อได้สร้างทารกในครรถ์ จนกระทั่งคลอดออกมา และก็ตามมาดูแลเด็กทารก

ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อกับเด็กทารก

กล่าวว่า เมื่อแม่ซื้อ เห็นเด็กทารก มีแม่ใหม่ ซึ่งก็คือคน จึงเกิดความหวงแหน อยากได้ลูกกลับไปอยู่กับตนเอง จึงมักทำให้เกิดการเจ็บป่วย  ส่วนคนโบราณก็มักจะไม่ให้พูดว่าเด็กทารกน่ารัก แต่มักจะให้พูดว่า น่าเกลียด น่าชัง เพื่อไม่ให้แม่ซื้อนึกเสียดาย จึงมักมีพิธีกรรมที่เรียกว่า แบ่งลูกผี ลูกคน ซึ่งเป็นพิธีรับขวัญเด็กทารกแบบหนึ่ง พิธีกรรมคือ การนำเด็กทารกมาใส่ไว้ในกระด้งร่อน และกล่าวคำว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครมารับไปนะ”

ฝ่ายพ่อแม่เด็กก็จะกล่าวว่าเป็นลูกของตน เป็นการทำพิธีให้ แม่ซื้อรู้ว่า บัดนี้เด็กทารกคนนี้เป็นลูกของตนแล้ว จะได้ไม่มารบกวนอีก

จารึกตำรายาวัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ว่าด้วยโองการแม่ซื้อ

เรื่องของแม่ซื้อยังไปเชื่อมโยงกับกลุ่มจารึกว่าด้วยโองการแม่ซื้อ วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ซึ่งจารึกบนผนังศาลาแม่ซื้อ มีเนื้อหาจะอธิบายที่มาที่ไปของแม่ซื้อ บทไหว้ครู และความสำคัญของแม่ซื้อ ที่เรียกว่า “สารเดชวิธีน้อย”

พิธีไหว้ครู เพื่อปัดเป่าอาการเจ็บป่วยจากแม่ซื้อ จะมีพิธีกรรมคือ เมื่อเด็กทารกคลอดได้ 3 วัน จะมีการอัญเชิญเทพเทวดา ได้แก่ พระนารายณ์ พระอิศวร พระอุมาเทวี พระพาย พระเพลิง พระกาฬ พระพรหม พระยม พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอินทร์ รวม 12 องค์ มาเพื่อประสิทธิ์ประสาทพร

จากนั้นจะทำการกล่าวชื่อของแม่ซื้อประจำวันเกิด ได้แก่

วันอาทิตย์ ชื่อ “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ สีกายสีแดง

วันจันทร์ ชื่อ “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า ผิวกายสีขาวนวล

วันอังคาร ชื่อ “ยักษ์บริสุทธิ์” มีหัวเป็นมหิงสา (กระบือ) ผิวกายสีชมพู

วันพุธ ชื่อ “สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว

วันพฤหัสบดี ชื่อ “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง ผิวกายสีเหลืองอ่อน

วันศุกร์ ชื่อ “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นวัว ผิวกายสีฟ้า

วันเสาร์ ชื่อ ” เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ

จากนั้นจะอธิบายลักษณะของแม่ซื้อและอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ที่มีผลต่อการเจ็บป่วยของเด็กทารกในแบบต่างๆ และก็ทำการอัญเชิญแม่ซื้อมารับอาหารเซ่นไหว้ ได้แก่ อาหารคาวหวานต่างๆ แล้วให้ทำการวอนขอ เมื่ออิ่มแล้วให้รีบไปอยู่ในที่ของตนเอง อย่ามาอยู่หยอกเด็กหรือแกล้งเด็กอีกเลย และกล่าวว่าคนทางนี้จะดูแลเด็กอย่างดี ก็เป็นอันจบพิธี

ทั้งนี้อาจจะมีพิธีกรรมอื่นๆ ตามความเชื่อของแต่ละภูมิภาค เช่น พิธีฟาดข้าว เป็นต้น

ลักษณะรูปร่างของแม่ซื้อประจำวันเกิดต่างๆ

แม่ซื้อประจำวันจันทร์ ชื่อ วรรณนงคราญ หัวเป็นม้า ผิวกายสีขาวนวล

แม่ซื้อประจำวันจันทร์ ชื่อ วรรณนงคราญ หัวเป็นม้า ผิวกายสีขาวนวล

แม่ซื้อประจำวันอังคาร ชื่อ ยักษ์บริสุทธิ์ หัวเป็นกระบือ ผิวกายสีชมพู

แม่ซื้อประจำวันอังคาร ชื่อ ยักษ์บริสุทธิ์ หัวเป็นกระบือ ผิวกายสีชมพู

แม่ซื้อประจำวันพุทธ ชื่อ สามลทัศ หัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว

แม่ซื้อประจำวันพุทธ ชื่อ สามลทัศ หัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว

แม่ซื้อประจำวันพฤหัส ชื่อ กาโลทุกข์ หัวเป็นกวาง ผิวกายสีเหลืองอ่อน

แม่ซื้อประจำวันพฤหัส ชื่อ กาโลทุกข์ หัวเป็นกวาง ผิวกายสีเหลืองอ่อน

แม่ซื้อประจำวันศุกร์ชื่อ ยักษ์นงเยาว์ หัวเป็นวัว ผิวกายสีฟ้า

แม่ซื้อประจำวันศุกร์ชื่อ ยักษ์นงเยาว์ หัวเป็นวัว ผิวกายสีฟ้า

แม่ซื้อประจำวันเสาร์ ชื่อเอกาไลย์ หัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ

แม่ซื้อประจำวันเสาร์ ชื่อเอกาไลย์ หัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ

แม่ซื้อประจำวันอาทิตย์ ชื่อวิจิตรมาวรรณ หัวเป็นสิงห์ผิวกายสีแดง

แม่ซื้อประจำวันอาทิตย์ ชื่อวิจิตรมาวรรณ หัวเป็นสิงห์ผิวกายสีแดง

ขอขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net  โดย kasemakung

พิธีกรรมตามความเชื่อโบราณ ก็เป็นไปเพื่อความสบายใจ และก็มีความสวยงามทางอารยะธรรม ส่วนตัวผมเองก็คิดว่าไม่ได้ถือเป็นเรื่องงมงายอะไร ให้คิดซะว่าเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันสวยงามนี้ไปก็น่าจะดีกว่า จะได้เป็นการบอกกล่าวถึงประวัติศาสตร์เรื่องราวให้เป็นการศึกษาต่อไปในอนาคต