วัดนางคำ(ร้าง) พระเจ้าบรมโกศเสด็จฉลองสมโภช – อารามหลวงสมัยอยุธยา

By | February 1, 2020

https://youtu.be/YgGvfH6wNCw

วัดนางคำ(วัดร้าง) พระเจ้าบรมโกศเสด็จฉลองสมโภช – อารามหลวงสมัยอยุธยา… สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยววัดนางคำ ซึ่งเป็นวัดร้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และถือเป็นอารามหลวงในสมัยอยุธยาอีกด้วย เพราะมีบันทึกในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จฉลองวัดนางคำ เมื่อจุลศักราช ๑๑๑๗ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๒๙๘ จึงถือว่าวัดแห่งนี้มีความสำคัญในอดีตมากอีกวัดหนึ่ง

การเดินทางถือว่าสะดวก ซอยเข้าวัดถือว่าแคบรถสวนทางกันไม่ได้ แต่ก็เข้าซอยไม่ลึกมากครับ ท่านสามารถใช้ Google Map เดินทางได้ ซอยเข้าวัดจะอยู่ที่ซอยอโยธยา 4/2

เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา เจดีย์ประธานวัดนางคำ

บันทึกอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ

เมื่อข้ามคลองบ้านบาตรจะเห็นจุดเด่นคือเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา เจดีย์ประธานของวัดนางคำ ตั้งตระหง่านคงทนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เคยเดินทางมาสำรวจเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๙ และเขียนลงในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ไว้ว่า พบเจดีย์ลังกาขนาดใหญ่ องค์ระฆังเพรียวสูงขึ้นเล็กน้อย ใต้องค์ระฆังเป็นลูกแก้วกลมสามชั้น ต่อลงมาเป็นฐานบัวสามชั้น ทรงแปดเหลี่ยม อาจเป็นีมือช่างในสมัยอยุธยาตอนต้น

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้เขียนบรรยายสภาพการสำรวจเพิ่มเติมไว้ว่า ตรงฐานเจดีย์ถูกนักล่าของเก่าขุดจนพรุน มองเห็นโครงภายในของเจดีย์ ซึ่งก่อเป็นโพรงไปตลอดทั้งองค์ เหนือองค์ระฆังเป็นคานไม้ ตังเจดีย์ผนังหนาประมาณ ๑.๓๐ เมตร อิฐที่ก่อมีขนาด ๓๐ x ๔.๕ x ๑๖ เซนติเมตร บัลลังก์ย่อมุมสิบสอง

ทางทิศตะวันออกของเจดีย์มีซากอุโบสถ เห็นเศษอิฐเกลื่อน เข้าใจว่าจะถูกขุดเอาอิฐไปขายนานแล้ว ใบเสมาไม่มีเหลือ พบชิ้นพระเพลาพระพุทธรูปศิลาทรายขาวจมดินอยู่ ๒-๓ ชิ้น และเศษกระเบื้องลอน นอกนั้นไม่พบอะไรอีกนอกจากป่ารกทึบล้อมรอบเจดีย์ 

ภาพสเก็ตเจดีย์วัดนางคำ โดย อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ

ประวัติและบันทึกในพระราชพงศาวดาร

ตามป้ายของกรมศิลปากรมีรายละเอียดไม่มากนัก เพราะไม่พบหลักฐานการสร้างแต่แรกเริ่ม และได้สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่สร้างในผังแปดเหลี่ยม ว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ 

ส่วนบันทึกในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาได้บันทึกไว้ว่า 

ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ ลุศักราช ๑๑๑๗ (พ.ศ. ๒๒๙๘) ปีกุนสัปตศก ถึง ณ เดือนหก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปฉลองวัดนางคำ

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเขียนถึงวัดนางคำ

จากพระราชพงศาวดารที่ได้บันทึกไว้ จึงเป็นไปได้ว่าวัดนางคำแห่งนี้ น่าจะมีฐานะเป็นวัดหลวงในสมัยอยุธยา เพราะพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จฉลองสมโภชด้วยพระองค์เอง

บรรยากาศที่วัดนางคำ(พ.ศ.๒๕๖๓)

ผมเดินทางไปถึงวัดนางคำ พบว่าเป็นวัดมีขนาดเล็ก แต่เจดีย์ประธานมีขนาดใหญ่พอสมควร ฝั่งตะวันออกเป็นพระอุโบสถ พบเศษซากพระพุทธรูปหินทรายกระจายอยู่หลายชิ้น แต่ชิ้นขนาดใหญ่อยู่ในพระอุโบสถทั้งส่วนลำตัวและพระเพลา พบเศษซากใบเสมาหินทรายแดงพิงไว้ที่ข้างอุโบสถและบนขอบทางประทักษิณของเจดีย์ ในองค์เจดีย์เดินขึ้นไปพบเป็นการก่อเป็นโพรงไปตลอดองค์เจดีย์ พื้นที่วัดล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนและโรงซ่อมรถ

พระอุโบสถ วัดนางคำ

ซากพระพุทธรูปในพระอุโบสถ

เจดีย์ประธาน วัดนางคำ

เศษซากใบเสมา

โพรงองค์เจดีย์

สรุปปิดท้าย

วัดนางคำเป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งที่บันทึกในพระราชพงศาวดาร มีรูปทรงเจดีย์สันนิษฐานรูปแบบจากการสร้างในผังแปดเหลี่ยมว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตามบันทึกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จมาฉลองสมโภชวัดแห่งนี้ จึงน่าจะเป็นพระอารามหลวง เจดีย์วัดนางคำจะมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดสามปลื้ม(เจดีย์กลางวงเวียน) ที่น่าจะมีอายุการสร้างในสมัยเดียวกัน และได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยาปลายเช่นกัน

ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะครับ สวัสดีครับ… แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม เที่ยววัด โบราณสถาน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม