ความเชื่อ ตำนานเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง 5 แห่ง ตามพระไตรปิฎกและคติความเชื่อต่างๆ

By | May 5, 2015

ความเชื่อ ตำนานเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง 5 แห่ง ตามพระไตรปิฎกและคติความเชื่อต่างๆ

วันนี้ผมจะมาเขียนบทความเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่มีปรากฏในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎกและจากบทสวดมนต์ ผมได้เกิดความสงสัยหลายประการในเรื่องของรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีมากมายในประเทศไทยและหลายๆประเทศทั่วโลก ผมสงสัยว่ารอยพระพุทธบาทมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ มีการประทับไว้จริงหรือไม่ จึงได้ค้นหาข้อมูลเรื่องราวมาแบ่งปันกันไว้ที่บทความนี้

จากข้อมูลเรื่องราวที่ผมลองได้ค้นหาจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต ผมจะนำมาสรุปให้ได้ใจความ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจ ทั้งนี้ในประเทศไทยก็จะมีเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทมากมาย ถ้าจะกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่คนไทยทั่วประเทศให้ความสนใจเดินทางไปนมัสการก็คงจะกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งคนไทยเดินทางไปร่วมแสน ร่วมล้านคนในแต่ละปี รอยพระพุทธบาทแต่ละแห่งนั้นจะเป็นรอยพระพุทธบาทแท้จริงหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถที่จะฟันธงลงไปได้ ขอให้คิดว่าเป็นพุทธานุสติ ในการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าจะดีที่สุด…ซึ่งผมเคยฟังธรรมเทศนาของพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง ท่านก็ได้กล่าวไว้เช่นกันเกี่ยวกับเรื่องรอยพระพุทธบาท เป็นเรื่องของพุทธานุสติ ทำให้จิตเป็นกุศล จะแท้หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ตามความเชื่อในพระไตรปิฎกนั้น ถูกกล่าวไว้ในปุณโณวาทสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 23 (ภาค 3 เล่ม 2) อรรถกถาปัญจสูทนี หน้า 410 (ฉบับมหามกุฏฯ ฉลองพระชนมายุสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ) ซึ่งจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท 2 แห่ง ได้แก่ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทา และที่ภูเขาสัจจพันธ์

เรื่องราวคร่าวๆ พอสรุปเนื้อหาในพระไตรปิฎกมีดังนี้

ที่แคว้นสุนาปรันตะ มีพี่น้อง 2 คน คนพี่ชื่อปุณณะ คนน้องชื่อจุฬาปุณณะ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพานิชคาม ซึ่งเป็นหมู่บ้านของพ่อค้ากลุ่มหนึ่ง ครั้งหนึ่งฝ่ายพี่ชายได้บรรทุกเกวียน 500 เล่ม เดินทางไปค้าขายยังเมืองสาวัตถี และตั้งกองเกวียนพักแรมกันใกล้กับวัดพระเชตวันมหาวิหาร ในวันนั้นระหว่างการพักผ่อนกับบริวาร ได้เห็นชาวเมืองสาวัตถี อธิษฐานถืออุโบสถศีล (ถือศีลในวันพระ) และพากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวันมหาวิหารเพื่อฟังธรรม

ฝ่ายปุณณะ เห็นชาวเมืองเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้เดินทางพร้อมบริารไปฟังธรรมด้วยเช่นกัน จนเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก หลังจากฟังธรรมแล้วเสร็จ ฝ่ายปุณณะจึงเข้าถวายบังคมทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและสาวกเพื่อเสวยพระกระยาหารในวันรุ่งขึ้น และหลังจากนั้นเขาจึงยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้น้องชาย เพื่อออกบวช

เมื่อทำการออกบวชแล้ว จึงได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้ากลับไปยังบ้านเกิดที่แคว้นสุนาปรันตะ และได้บรรลุอรหันต์ในพรรษาแรก จากนั้นพระปุณณะเถระ ได้ให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างศาลาด้วยไม้แก่นจันทร์แดง ที่วัดมกุลการามเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระปุณณะเถระได้เดินทางไปยังวัดพระเชตวันมหาวิหารเพื่อกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาพักยังสถานที่นี้ และพุทธองค์ก็ได้รับอาราธนา ที่จะเสด็จไปพร้อมคณะพระภิกษุสงฆ์อีก 499 องค์

จากนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่พระอินทร์เป็นราชาแห่งเทพ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ได้เกิดร้อนขึ้น พระองค์จึงรู้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จเดินทางไกลถึงแคว้นสุนาปรันตะ จึงได้รับสั่งให้พระวิศวกรรม (ท้าววิษณุกรรม) เนรมิตเรือนยอดทั้งหมด 500 หลัง ถวายแด่พระพุทธองค์และเหล่าภิกษุสงฆ์ที่เสด็จตาม โดยเรือนยอดสำหรับพระพุทธเจ้ามี 4 มุข ของพระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ) มี 2 มุข ส่วนที่เหลือมี 1 มุข

เมื่อท้าววิษณุเนรมิตเรือนยอดครบแล้ว พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุได้เข้าสู่เรือนยอดทั้งหมด 499 หลัง มีอยู่หลังหนึ่งที่ว่างอยู่ จากนั้นเรือนยอดทั้งหมดได้ลอยขึ้นสู่อากาศเพื่อไปยังแคว้นสุนาปรันตะ เมื่อทรงเสด็จมาถึงเขาสัจจพันธ์ พระพุทธองค์ได้ทรงหยุดเรือนยอดไว้ในอากาศ เพราะทราบวาระจิตของฤาษีดาบสตนหนึ่ง ชื่อสัจจพันธ์ฤาษี ที่ภูเขาแห่งนี้ว่าสามารถจะบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ได้ ดังนั้นแล้วพระพุทธองค์จึงได้เสด็จลงไปยังเขาสัจจพันธ์และแสดงธรรมแก่ฤาษีดาบสนั้นจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และได้เข้าสู่เรือนยอดที่ว่างอีกหลังหนึ่ง เพื่อไปยังแคว้นสุนาปรันตะ

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพร้อมเหล่าภิกษุ 500 องค์ มาถึงหมู่บ้านพานิชคาม เหล่าพ่อค้าทั้งหลายได้ร่วมกันถวายมหาทานแก่เหล่าภิกษุและพระพุทธเจ้า จากนั้นได้ไปยังวัดมกุลการาม และได้เสด็จเข้าสู่ศาลาไม้จันทร์แดงที่ได้สร้างถวายไว้ เหล่าพ่อค้าได้เข้าฟังธรรมจนบรรลุธรรมไปอย่างมาก

พระพุทธองค์ได้ประทับที่วัดมกุลการาม นาน 3 วัน จึงได้ตรัสต่อพระปุณณะเถระ ให้อยู่ที่นี่เพื่อนำพระธรรมแสดงต่อผู้คนที่ยังไม่รู้อีกมากมาย และพระองค์ก็ได้เสด็จกลับพร้อมภิกษุ 500 รูป มาถึงแม่น้ำนัมมทานที เมื่อถึงริมฝั่งแม่น้ำ ได้พบกับนัมมทานาคราชที่ได้ถวายการต้อนรับแก่พระพุทธองค์ และนาคราชได้ทูลขอพระพุทธองค์ประทานสิ่งที่ให้ระลึกบูชา พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ไว้แทนพระองค์

จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงเขาสัจจพันธ์ ได้ทรงรับสั่งให้พระสัจจพันธ์เถระให้อยู่ ณ ที่เขาสัจจพันธ์แห่งนี้เพื่อแสดงพระธรรมและเผยแพร่ธรรมแก่เหล่าชนที่ยังไม่ถึงธรรม ดังนั้นพระสัจจพันธ์เถระ จึงได้ทูลขอสิ่งที่จะพึงระลึกถึงพระพุทธองค์… พระองค์จึงได้ประทานประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนแผ่นหิน ณ เขาสัจจพันธ์ และได้เสด็จกลับถึงวัดพระเชตวันมหาวิหาร…

จากเรื่องราวในพระไตรปิฎก จึงถือได้ว่าความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทจะปรากฏอยู่ 2 แห่ง คือ ที่เขาสัจจพันธ์ และ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที

คติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทของชาวลังกา

คติความเชื่อของชาวลังกาเรื่องรอยพระพุทธบาทได้เกิดขึ้นมาภายหลัง มีกล่าวในตำนานมหาวงศ์ไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังลังกาทวีป และได้ทรงแสดงธรรมแก่ชาวลังกาจนเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จกลับจึงได้แสดงปาฏิหาริย์ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ยอดเขาสุมนกูฎ เพื่อให้เป็นที่ระลึกบูชาแก่ชาวลังกาต่อไป

ความเชื่อรอยพระพุทธบาทเพิ่มเติมจากหลวงจีนฟาเหียน

ในราวๆ พุทธศตวรรษที่ 10 หลวงจีนฟาเหียนได้เดินทางมายังลังกาเพื่อแสวงหาพระธรรม และนมัสการรอยพระพุทธบาท โดยมีบันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทในลังกา 2 แห่ง คือ บนยอดเขาสุมนกูฎ และอีกรอยหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองอนุราธปุระ ซึ่งนั่นก็คือ สุวรรณมาลิก บนเขาอภัยคีรี แต่เอกสารของชาวลังกาไม่พบเรื่องราวหลักฐานนี้

จะพบหลักฐานจากบทสวดมนต์บาลีของไทยที่ได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาท สุวรรณมาลิก ไว้เท่านั้น

ความเชื่อรอยพระพุทธบาทเพิ่มเติมจากบทสวดมนต์บาลี

จากบทสวดมนต์บาลีคำนมัสการรอยพระพุทธบาท 5 แห่ง ได้กล่าวถึงการนมัสการรอยพระพุทธบาทเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 1 แห่งนั่นก็คือ โยนกปุระ ซึ่งน่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทที่ฝ่ายไทยได้เพิ่มเติมมาภายหลัง ตามชื่ออาจจะหมายถึงอาณาจักรล้านนา ที่เคยเป็นอาณาจักรโยนกมาก่อน

บทสรุปเรื่องราวความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท

จากเรื่องราวทั้งหมดตามความเชื่อต่างๆ ที่รวบรวมมานี้ จึงปรากฏเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทที่ได้รับความเชื่อถือของชาวพุทธอยู่ 5 แห่ง ได้แก่

1. สุวัณณมาลิก (ศรีลังกา) 2. เขาสัจจพันธ์คีรี (วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ประเทศไทย) 3. เขาสุมนกูฏ (ศรีลังกา) 4. แม่น้ำนัมมทานที (มี 2 ความเชื่อคือ ประเทศอินเดียหรือประเทศไทย) 5. โยนกปุระ (วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)

รอยพระพุทธบาททั้ง 5 แห่ง ประดิษฐานอยู่ที่ใดบ้าง

ที่นี้เรามาต่อกันในเรื่อง รอยพระพุทธบาทแต่ละแห่งอยู่ที่ใดบ้าง เรื่องนี้ผมว่าเป็นอจินไตย นะครับ ยิ่งหาข้อมูลก็ยิ่ง งง ยิ่งสับสน เพราะความเชื่อมีมากมาย เอาเป็นว่าอ่านไว้เป็นข้อมูล และระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็พอแล้วนะครับ มาเริ่มกันเลยครับ

1. สุวัณณมาลิก หรือ สุวรรณมาลี

เชื่อกันว่าอยู่ในประเทศศรีลังกา บนยอดเขาอภัยคีรี (Abhayagiri Dagoba) จากเรื่องราวพบหลักฐานการบันทึกจากหลวงจีนฟาเหียน และในบทสวดมนต์บาลี ที่กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ บทสวดมนต์บาลี ผมจะเขียนไว้ท้ายบทความนะครับ

เรื่องราวของรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ไม่พบการบันทึกจากชาวลังกา จึงสันนิษฐานกันว่า พระเจดีย์แห่งนี้ได้สร้างขึ้นครอบรอยพระพุทธบาทไว้ จึงไม่มีใครเคยเห็นรอยพระพุทธบาทแห่งนี้

ปัจจุบันพระเจดีย์ Abhayagiri Dagoba ตั้งอยู่ภายในวัด Abhayagiriya

abhayagiri dagoba

เจดีย์ Abhayagiri Dagoba , Image from http://en.wikipedia.org/wiki/Abhayagiri_vihāra

แผนผังพื้นที่วัด Abhayagiriya ศรีลังกา

แผนผังพื้นที่วัด Abhayagiriya ศรีลังกา , Image from http://en.wikipedia.org/wiki/Abhayagiri_vihāra

ถ้าไปถึงศรีลังกาแล้วลองแวะไปนมัสการพระเจดีย์แห่งนี้กันนะครับ … ถ้าถามว่าไกลจากประเทศไทยแค่ไหน ผมลองคำนวณจาก Google Map ได้รูปด้านล่างครับ

เส้นทางจาก google map ไปสุวรรณมาลิก

เส้นทางจาก google map ไปสุวรรณมาลิก

ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ ก็ 4 -5 วัน ระยะทาง เอาประเทศไทยต่อกัน 3 ครั้งครับ ฮ่าๆ ขำๆนะครับ คงไม่บ้าขับรถไปกันหรอก

2. เขาสัจจพันธ์คีรี

เชื่อกันว่าประดิษฐานที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ค้นพบในสมัยอยุธยา รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม การค้นพบเนื่องจากพระสงฆ์ไทยได้เดินทางไปสักการะรอยพระพุทธบาทไกลถึงลังกา และได้ทราบเรื่องราวจากพระไตรปิฎกว่า มีรอยพระพุทธบาทที่ประเทศไทย จึงได้ทำการค้นหาจนพบที่จังหวัดสระบุรี

เรื่องราวรอยพระพุทธบาทที่ภูเขาสัจจพันธ์นั้น เท่าที่ผมได้ทราบเรื่องราวจะมีคล้ายๆกันอีกแห่งหนึ่ง คือรอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี แต่ความน่าเชื่อถือของรอยพระพุทธบาท จะเชื่อว่าอยู่ที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนผมก็ไปมาทั้ง 2 ที่แล้วหล่ะครับ วัดพระพุทธบาท สระบุรี เดินทางสะดวก ส่วนวัดเขาวงพระจันทร์ ต้องเตรียมความพร้อมก่อนไปนะครับ เพราะต้องเดินขึ้นเขาสูง 3,790 ขั้น เล่นเอาเหนื่อยมากเหมือนกัน

สำหรับเรื่องรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เล่นเอาผมสับสนพอสมควร เพราะมีตำนานเรื่องเล่าคล้ายกันมาก และก็ยิ่งสับสนไปใหญ่เพราะ ป้ายมณฑปของรอยพระพุทธบาทบนเขาวงพระจันทร์เขียนไว้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทโยนกปุเร ไปอีก ก็เลยไม่ทราบข้อเท็จจริงกันเลยงานนี้ อย่างที่ผมกล่าวข้างต้น ผมจะไม่ใส่ใจในเรื่องนี้เพราะการเดินทางไปท่องเที่ยววัดแต่ละครั้งผมจะถือเป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอย่างถึงที่สุด ก็ถือว่าสมความตั้งใจของผมแล้วหล่ะครับ

ขอเพิ่มเติมในส่วนของเรื่องอภิญญา … ผมได้อ่านหนังสือ “ประวัติหลวงพ่อปาน โสนันโท” ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งในการเดินธุดงค์มายังเขตพระพุทธบาท สระบุรี (วัดพระพุทธบาท สระบุรี) และได้ทำการพิสูจน์รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ได้กล่าวยืนยันว่าเป็นพระพุทธบาทที่แท้จริง

หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน

หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน

อ่านเรื่องราวหลวงพ่อปานพิสูจน์พระพุทธบาท สระบุรี ที่ลิ้งค์ด้านล้างนี้

>>> www.faiththaistory.com/lp-pan-prabath <<<

รอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาท สระบุรี

รอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาท สระบุรี

พระพุทธบาท ที่วัดเขาวงพระจันทร์

พระพุทธบาท ที่วัดเขาวงพระจันทร์

ตามตำนานอีกความเชื่อกล่าวว่ารอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ คือรอยพระพุทธบาทที่เขาสัจจพันธ์ แต่ป้ายเขียนไว้เป็น โยนกปุเร

รอยพระพุทธบาท วัดเขาวงพระจันทร์

รอยพระพุทธบาท วัดเขาวงพระจันทร์

รอยพระพุทธบาทที่เขาวงพระจันทร์ ลพบุรี จะอยู่ในครอบสแตเลส ผมถ่ายรูปมาให้ได้แค่นี้ครับ

ลิ้งค์เรื่องราวเพิ่มเติม

วัดพระพุทธบาท สระบุรี

วัดพระพุทธบาท สระบุรี ตอนพิเศษ

หลวงพ่อปานไหว้รอยพระพุทธบาท สระบุรี

ขึ้นเขา 3,790 ขั้น นมัสการรอยพระพุทธบาท เขาวงพระจันทร์

ตำนานรอยพระพุทธบาท เขาวงพระจันทร์

ไม่ว่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทที่ไหนจะแท้จริงหรือไม่ ผมก็ขอกันเหนียว ไปทั้ง 2 ที่เลยครับ ส่วนเพื่อนๆท่านใดสะดวกก็ไปกันให้ได้นะครับ

3. เขาสุมนกูฏ

เชื่อว่าประดิษฐานรอยพระพุทธบาท บนเขาสุมนกูฏ ประเทศศรีลังกา เป็นไปตามคติความเชื่อของชาวลังกามาแต่โบราณ ปัจจุบันเรียกว่า ยอดเขาอดัม (Adam’s Peak) หรือเรียกว่า ศรีปาทะ (Sri Pada)

บนยอดเขาแห่งอดัม (Adam's Peak) ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

บนยอดเขาแห่งอดัม (Adam’s Peak) ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท , Image from : http://en.wikipedia.org/wiki/Adam%27s_Peak

พระสงฆ์นมัสการ รอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ หรือ Adam's Peak

พระสงฆ์นมัสการ รอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ หรือ Adam’s Peak

4. แม่น้ำนัมมทานที

ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน บ้างก็ว่าอยู่ในประเทศไทย บ้างก็ว่าอยู่ที่ประเทศอินเดีย ก็เอาเป็นว่าผมจะขอหาข้อมูลมานำเสนอทั้ง 2 แห่งไปเลยก็แล้วกันครับ

ผมขอเริ่มที่ความเชื่อของประเทศอินเดียก่อน แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา (Narmada) ชาวอินเดียก็มีการบูชาแม่น้ำแห่งนี้เช่นกัน ด้วยการลอยประทีป (กระทง) เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

แม่น้ำนัมมทานที หรือ เนรพุททา (Nermada)

แม่น้ำนัมมทานที หรือ เนรพุททา (Narmada) , Image from : http://commons.wikimedia.org

การบูชาริมแม่น้ำเนรพุททา (Nermada) , Image from : http://www.baps.org

การบูชาริมแม่น้ำเนรพุททา (Narmada) , Image from : http://www.baps.org

ต่อไปเป็นความเชื่อเรื่องริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศไทย เชื่อกันว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานที่เกาะแก้วพิสดาร ปลายแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต

ทางลงไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ภูเก็ต

ทางลงไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ภูเก็ต

รอยพระพุทธบาท ที่เชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ที่ภูเก็ต

รอยพระพุทธบาท ที่เชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ที่ภูเก็ต

5. โยนกปุระ

รอยพระพุทธบาทแห่งสุดท้ายตามความเชื่อ คือ โยนกปุระ เชื่อว่าเป็นอาณาล้านนา ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาจักรโยนกมาก่อน รอยพระพุทธบาทแห่งนี้พบในบันทึกบทสวดมนต์บาลี จึงเป็นที่มาแห่งรอยพระพุทธบาทแห่งนี้

รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ผมเคยได้ยินเรื่องราวมาว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ได้รับการยืนยัน ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแท้จริงจากหลวงปู่แหวน สุจิณโณ และหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ศิษย์พระกรรมฐานสายป่าหลวงปู่มั่น ก็ยิ่งเป็นยืนยันได้มากเลยทีเดียว

ความแปลกของรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทแห่งอื่นๆ เพราะจะเป็นรอยพระพุทธบาทถึงสี่รอย ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในอดีตและปัจจุบัน รวม 4 องค์ (ในภัทรกัปป์นี้) ประกอบไปด้วยพระพุทธเจ้าที่มีรายนามดังนี้

พระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป พระพุทธเจ้าโคดม

และมีตำนานความเชื่อว่า ในอนาคตกาล พระศรีอริยเมตไตรย จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัปป์นี้ จะเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทประสานกันเป็นรอยเดียว

พระพุทธบาทสี่รอย วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

พระพุทธบาทสี่รอย วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

จากขนาดรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จะเห็นถึงความใหญ่โตอย่างมาก ส่วนตัวผมแล้วก็ยังไม่มีโอกาสได้เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เพราะไกลถึงเชียงใหม่ … แต่ผมก็จะต้องหาโอกาสเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้ได้…

คำนมัสการรอยพระพุทธบาท 5 แห่ง

วันทามิ พุทธัง ภะวะปาระติณณัง ติโลกะเกตุง ติภะเวกะนาถัง โย โลกะเสฏโฐ สะกะลังกิเลสัง เฉตะวานะ โพเธสิ ชะนัง อะนันตัง ยัง นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน จะ ตีเร ยัง สัจจะพันธะคิริเก สุเมนา จะลัคเค ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะ ปาทัง ตัง ปาทะัลัญชะนะมะหังสิระสา นะมามิ สุวัณณะมาลิเก สุวัณณะปัพพะเต สุมะนะกูเฏ โยนะกะปุเร นัมมะทายะ นะทิยา ปัญจะปาทะวะรัง ฐานัง อะหัง วันทามิ ทูระโตฯ อิจเจวะมัจจันตะนะมัสสะเนยยัง นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยัง ยัง ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง ตัสสานุภาเวนะ หะตันตะราโยฯ อามันตะยามิ โว ภิกขะเว ปะฏิเวทะยามิ โว ภิกขะเว ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถาติฯ

คำแปลคำนมัสการรอยพระพุทธบาท 5 แห่ง

ข้าพเจ้าขอนมัสการพระพุทธเจ้าผู้ข้ามพ้นฝั่งแห่งภพ, ผู้เป็นธงชัยของไตรโลก ผู้เป็นนาถะเอกของไตรภพ, ผู้ประเสริฐในโลก ตัดกิเลสทั้งสิ้นได้แล้ว ช่วยปลุกชนหาที่สุดมิได้ให้ตรัสรู้มรรคผลและนิพพาน,รอยพระบาทใดอันพระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงไว้ในหาดทรายแทบฝั่งแม่น้ำนัมมะทา,รอยพระบาทใดอันพระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงไว้,เหนือยอดเขาสัจจะพันธ์ และเหนือยอดเขาสุมะนา,รอยพระบาทใดอันพระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงไว้,ในเมืองโยนะกะ ข้าพเจ้าขอนมัสการพระบาท และรอยพระบาทนั้น ๆ ของพระมุนีด้วยเศียรเกล้า,ข้าพเจ้าขอนมัสการสถานที่มีรอยพระบาท,อันประเสริฐ ๕ สถานแต่ที่ไกล, คือที่เขาสุวรรณมาลิก ๑ที่เขาสุวรรณะบรรพต ๑, ที่ยอดเขาสุมะนะกูฏ ๑,ที่โยนะกะบุรี ๑, ที่แม่น้ำชื่อนัมมะทา ๑,ข้าพเจ้าขอนมัสการอยู่ซึ่งพระรัตนตรัยใดๆ อันบุคคลควรไหว้โดยส่วนยิ่ง, อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้,ได้แล้วซึ่งกองบุญอันไพบูลย์,ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้นจงขจัดภัยอันตราย เสียเถิด,ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอให้ท่านทั้งหลายทราบไว้ว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา,ขอให้ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด,ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร กล่าวถึงเรื่องพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม เชียงใหม่

///หลวงปู่สิม พระสงฆ์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งหลวงปู่มั่นท่านได้ยกย่องหลวงปู่สิมไว้ จากบันทึกในหนังสือตามโครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม 12/// ซึ่งมีเนื้อหาว่า…

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร จัดเป็นเพชรน้ำเอกองค์หนึ่งในวงพระกรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต

องค์หลวงปู่มั่น เคยได้ปรารภกับศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านในเชิงเป็นการพยากรณ์ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่มร่วมอยู่ในกองทัพธรรม ว่า

“…ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใดจะหอมกว่าหมู่”

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ก็เคยกล่าวถึงคำพยากรณ์ของพระอาจารย์ใหญ่เหมือนกัน ก่อนที่จะเดินทางจากเชียงใหม่กลับไปพำนักประจำที่จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน ในปี พ ศ. 2516 ก่อนท่านมรณภาพเพียง 1 ปี

หลวงปู่ตื้อ ได้ไปเยี่ยม หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ช่วงที่ท่านยังพำนักที่ วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2516 ดังกล่าว

ในการปราศรัยสนทนากันช่วงหนึ่ง หลวงปู่ตื้อได้บอกกับหลวงปู่สิม ว่า

“…ผมมีความลับจะบอกท่านอยู่เรื่องหนึ่ง ผมรักษาเอาไว้ 34 ปีนี่แล้ว เมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นยังอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนท่านจะกลับไปอุดร ท่านได้พยากรณ์ไว้ว่า ศิษย์รุ่นต่อไปที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง คือท่านสิม กับท่านมหาบัว…”

ซึ่งคำกล่าวพยากรณ์ของหลวงปู่มั่นนั้น เป็นการยืนยันได้ว่า หลวงปู่สิมเป็นพระอริยะเจ้าที่ควรเคารพยิ่ง…

หลวงปู่สิมได้กล่าวยืนยันเรื่องรอยพระพุทธบาทสี่รอย เป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์ ความว่า…

“ในเขตเชียงใหม่นี้ ยังมีพระบาทสี่รอยอยู่ในเขตอำเภอแม่ริม แต่ว่าลึกเข้าไปในภูเขา หลวงปู่ผู้เทศน์ไปดูแล้วไปกราบไหว้ มันเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ เป็นก้อนสี่เหลี่ยมขึ้นไปอยู่ข้างริมแม่น้ำ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ได้มาตรัสรู้ในโลก ท่านก็มาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ในยอดหินก้อนนั้น ยาวขนาด 12 ศอก เมื่อหมดศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันโธแล้ว พระพุทธเจ้าโกนาคมโน ก็มาตรัสรื้อขนสัตว์ไปอีก ก่อนนิพพานท่านก็มาเหยียบไว้ที่พระบาทแม่ริมนี้เป็นรอยที่สอง(ขนาด)ลดลงมา มาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสโปมาตรัสรู้ ท่านก็มาเหยียบไว้ได้สามรอย และพระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้ ก่อนที่ท่านจะนิพพานก็เหยียบรอยพระบาทไว้ในหินก้อนเดียวกัน จึงให้ชื่อว่า พระพุทธบาทสี่รอย ยังมีพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์จะมาตรัสรู้ แล้วโปรดเวไนยสัตว์ ก็มาเหยียบไว้อีก เรียกว่าแผ่นดินที่เราเกิดนี้ นับว่าเป็นแผ่นดินที่ร่ำรวยที่สุด แผ่นดินนี้ เรียกว่า ภัทรกัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ได้ห้าพระองค์ พระพุทธเจ้าองค์ใดมาตรัสสอนก็ตาม ก็สอนให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายบำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ละกิเลสความโกรธ ความโลภ ความหลง อันเก่านี้แหละ เมื่อใดปฏิบัติภาวนาบารมีเต็มแล้ว ก็รู้แจ้งพระนิพพาน เมื่อรูปนามแตกดับแล้ว ไปสู่นิพพานไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกอันแสนทุรกันดารนี้อีกต่อไป”

//จากหนังสือพุทธาจารานุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่สิม พุทธจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พุทธศักราช 2536//

หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร

หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร

บทส่งท้าย

และนี่ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และบันทึกตามคติความเชื่อต่างๆ ทั้งนี้การเดินทางไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งอื่นๆ ก็เป็นการทำความดี เพราะเป็นพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน ขอให้อ่านเพื่อทราบเป็นข้อมูล ไม่อยากให้จริงจังแล้วนำไปถกเถียงกัน ซึ่งจะเสียเวลาเปล่าๆ เพราะเราส่วนมากก็ไม่ได้มีจิตที่จะรู้เรื่องพวกนี้กัน 100% อยู่แล้ว ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ

คลิปรอยพระพุทธบาท สระบุรี (วัดพระพุทธบาท) ที่เชื่อว่าเป็นพระพุทธบาทที่แท้จริง

https://youtu.be/HvNMe3FUxHI

คลิปตามรอยเส้นทางธุดงค์หลวงพ่อปาน พิสูจน์พระพุทธบาท สระบุรี

https://youtu.be/uelrce6u3FQ

https://youtu.be/_Vb6ZNegjU0

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com

กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน