ภารกิจเที่ยววัดร้างในเมืองกรุง ภาค 1 – วัดน้อยทองอยู่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดสวนสวรรค์

By | February 23, 2018


https://youtu.be/4L_n9PUnLrk

ภารกิจเที่ยววัดร้างในเมืองกรุง ภาค 1 – วัดน้อยทองอยู่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดสวนสวรรค์… ท่องเที่ยววัดร้างในบางกอก… สวัสดีครับท่านผู้ติดตามและชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยความศรัทธาทุกท่าน บทความนี้เป็นบทความพิเศษที่ผมจะพาทุกท่านเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงตามหาวัดร้างที่แอบซ่อนอยู่ โดยผมได้ใช้หนังสือวัดร้างในบางกอก โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ประกอบการเดินทาง

รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดร้างที่น่าสนใจมากมาย ที่น้อยคนนักจะทราบถึงเรื่องราวนี้ ทำให้เกิดกระแสความสนใจขึ้นในกลุ่มนักเดินทางที่ชอบเรื่องราวการตามรอยประวัติศาสตร์

เนื่องด้วยจำนวนวัดร้างมีมาก แต่ผมมีเวลาเดินทางเพียงแค่ 1 วัน จึงไปได้แค่บางส่วนเท่านั้น จึงให้บทความนี้เป็นภาคที่ 1 และถ้ามีโอกาสเดินทางเพิ่มเติมจะเป็นบทความภาคต่อๆไปครับ

ทั้งนี้บทความการเดินทางครั้งนี้ ไม่ใช่บทความทางวิชาการ เพียงแต่จะพาทุกท่านเดินทางท่องเที่ยวให้รู้ถึงเรื่องราวที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อน… ผมวางแผนเดินทางเข้าเมืองกรุงในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2561 มีเพื่อนเดินทางด้วยกันรวม 3 คน โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ…

และแน่นนอน ผมไม่คุ้นเคยเส้นทางในเมืองหลวง จึงต้องอาศัยซ้อนท้ายผู้ชำนาญทางไปตลอดทริปนี้ ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่ทีมเดินทางมีความชำนาญเส้นทางในกรุงเทพฯเป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์การเดินทางตามรอยเส้นทางด้านประวัติศาสตร์มามากพอสมควร

หนังสือวัดร้างในบางกอก ณ สถานีลาดพร้าว

สามารถสั่งซื้อหนังสือที่ ซีเอ็ดบุ๊คออนไลน์ ที่ลิ้งก์นี้ >> วัดร้างในบางกอก

จุดนัดพบที่สะดวกสำหรับผมก็คือสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเรานัดกันที่สถานีลาดพร้าวเวลาเที่ยงตรง… เป็นเวลาทีสายเกินไปหน่อยเพราะทีมเดินทางติดภารกิจในช่วงเช้า แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามนัด เมื่อถึงเวลาเที่ยง จึงได้ออกแว๊นตามที่วางแผนการเดินทางไว้ โดยมีแผนวัดร้าง 3 วัด และวัดทั่วไปอีก 3 วัด โดยเรียงลำดับการเดินทางดังนี้ วัดสระเกศ (ภูเขาทอง), วัดน้อยทองอยู่(ร้าง), วัดภุมรินทร์ราชปักษี(ร้าง), วัดสวนสวรรค์(ร้าง), วัดช่องนนทรี, วัดมหาบุศย์(แม่นาคพระโขนง) และวางแผนจะไปที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

บรรยากาศการเดินทางสายแว๊น

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง

จุดแรกต้องเติมพลัง เพราะทีมเดินทางนัดกันตอนเที่ยง… ผมได้แวะมาทานอาหารเที่ยงที่ร้านสุธาทิพย์ ใกล้วัดสระเกศ(ภูเขาทอง) โดยมีเมนูขนมจีนไหหลำเนื้อ และยำเนื้อไหหลำ

ร้านสุธาทิพย์

ขนมจีนไหหลำเนื้อ ที่ผมสั่งมาทาน

ขนมจีนไหหลำเนื้อลักษณะเหมือนเส้นอูด้ง รสชาติจืดๆแบบน้ำซุปทั่วไป โดยมีน้ำพริกกะปิเป็นเครื่องเพิ่มรสชาติ

ยำเนื้อไหหลำ

ยำเนื้อไหหลำไม่ได้มีรสเปรี้ยวแบบยำของไทย รสชาติเหมือนหมูตุ๋นพะโล้

บรรยากาศในร้านสุธาทิพย์

รสชาติอาหารเป็นรสชาติที่ไม่เผ็ดออกไปทางจืดๆ แต่ถือว่าอร่อยและมีคุณภาพครับ… (ถ้ามีเครื่องปรุงแบบไทย จะแจ่มมาก ฮ่าๆ)

หลังจากเติมพลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เดินทางไปที่วัดสระเกศ(ภูเขาทอง) เป็นวัดแรก

วัดที่ 1 : วัดสระเกศ(ภูเขาทอง)

วัดนี้ไม่ใช่วัดร้าง แต่เป็นวัดยอดนิยมของนักท่องเที่ยววัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จุดประสงค์ที่เดินทางเพราะผมต้องการมาชมพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งบามิยัน ซึ่งได้ถูกลักลอบออกมาจากหุบเขาบามิยัน ในประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะถูกทำลายโดยกลุ่มตาลีบัน

ท่านสามารถอ่านบทความบันทึกเรื่องราวที่ลิ้งก์นี้ครับ >> คัมภีร์โบราณที่วัดสระเกศ

พระคัมภีร์โบราณที่รับมอบจากรัฐบาลนอร์เวย์

หลังจากที่ชมพระคัมภีร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงออกเดินทางไปยังสถานที่ ที่ได้วางแผนต่อไป

วัดที่ 2 : วัดน้อยทองอยู่ (ร้าง)

ที่ตั้งของวัดน้อยทองอยู่ เป็นจุดที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรีกับโรงเรียนวัดดุสิดารามเหนือจากคลองบางกอกน้อย

มาถึงวัดนี้แบบไม่รู้ตัวเพราะไม่สามารถสังเกตุสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าเป็นวัดร้างเลยหล่ะครับ ผมเห็นแต่สังกะสีล้อมเขตบริเวณ และได้ขออนุญาตร้านค้าเข้าไปถ่ายรูป ซึ่งได้รับความสะดวกเป็นอย่างดีครับ

ป้าที่ร้านค้าพาเข้าไปถ่ายรูปหลังร้าน

วัดแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแบบเต็มๆ เหลือเพียงมณฑปห้ายอดที่ยังให้เห็นในปัจจุบัน… หนังสือวัดร้างในบางกอก เขียนไว้ว่า ความเป็นมาของวัดนี้ไม่ปรากฏชัด มีเพียงงานค้นคว้าทางด้านสถาปัตยกรรมไทยของ คาร์ล ซิกฟรีด เดอห์ริง สถาปนิกชาวเยอรมันที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้บันทึกว่า ชื่อวัดแห่งนี้มาจากนามของผู้สร้างซึ่งเป็นคู่สามีภรรยา ได้แก่ ายน้อยและแม่ทองอยู่ ซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมบรรจุอัฐิไว้คู่กันหน้าวัดนี้ (ปัจจุบันไม่เห็นแล้วครับ)

ภาพถ่ายเก่า มณฑปห้ายอดวัดน้อยทองอยู่ โดย คาร์ล เดอห์ริง

มณฑปห้ายอดวัดน้อยทองอยู่ (พ.ศ.2561)

พบร่องรอยการขุดหาสมบัติในมณฑป

ป้าที่พาเข้ามาถ่ายรูปได้บอกว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาขอเข้าชมและถ่ายรูปเป็นระยะ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ บ่งบอกว่ามีผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัดเก่ามากขึ้นในสมัยนี้ครับ

เมื่อถ่ายรูปเก็บบรรยากาศไว้มากพอสมควร ป้าที่ร้านค้าได้พาไปชมภาพเก่าวัดน้อยทองอยู่ ที่ร้านข้างๆกัน

ภาพเก่าที่ป้าให้ชม

ภาพเก่าที่ป้าพาไปชม พบว่า 2 ภาพฝั่งขวาคือภาพของ คาร์ล เดอห์ริง ที่ได้ถ่ายไว้… แต่ภาพซ้ายไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นภาพวัดน้อยทองอยู่จริงหรือไม่ ส่วนภาพพระสงฆ์ในภาพคือ ขรัวตาแสงที่เคยจำพรรษาที่วัดน้อยทองอยู่นั่นเอง

เมื่อได้ชมและพูดคุยเรื่องราวต่างๆเป็นเวลาพอสมควร เราจึงเดินทางไปยังวัดภุมรินทร์ราชปักษี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวัดน้อยทองอยู่นั่นเอง

วัดที่ 3 : วัดภุมรินทร์ราชปักษี (ร้าง)

วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏเอกสารการสร้าง แต่พบข้อมูลในประวัติวัดดุสิดารามว่า เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงตรวจตรากิจการสงฆ์ตามวัดวาอารามต่างๆ พบว่าวัดภุมรินทร์ราชปักษีที่ตั้งอยู่เหนือวัดดุสิดาราม มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว ทั้งที่เคยเป็นพระอารามหลวงมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์จึงโปรดให้ยุบรวมเข้ากับวัดดุสิดารามตั้งแต่นั้นมา

ปัจจุบันมีวิหาร, พระอุโบสถและมีหอไตรคั่นตรงกลาง

วิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี

หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปประทับยืนที่ผนังด้านหลังของวิหาร วัดภุมรินทร์ราชปักษี

ในวันเดินทาง ไม่สามารถเข้าภายในวิหารได้ ในหนังสือวัดร้างในบางกอกเขียนไว้ว่า ในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัยสร้างจากหินทรายแดง สันนิษฐานอายุอาจเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา รวมถึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกด้วย

อุโบสถวัดภุมรินทร์ราชปักษี

อุโบสถวัดภุมรินทร์ราชปักษี

รูปแบบของอุโบสถ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นติดกระจก ด้านบนเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ถัดลงมาเป็นนกยูงรำแพน ซุ้มประตูหน้าต่างทรงปราสาท คือมีซุ้มที่ซ้อนกันขึ้นไปแล้วต่อด้วยยอดแหลม บางซุ้มเป็นยอดปรางค์ก็มี มีประตูทางเข้าด้านข้างแตกต่างจากอาคารโดยทั่วไปที่จะมีประตูด้านหน้า กรอบประตูด้านหน้าอุโบสถกลายเป็นประตูหลอกทึบตัน

หน้าบันอุโบสถ วัดภุมรินทร์ราชปักษี มีรูปนกยูงรำแพน เป็นลักษณะที่แปลกตาไม่เห็นทั่วไป

สิ่งสำคัญภายในอุโบสถปรากฏในรายงานการสำรวจของ “น. ณ ปากน้ำ” ในหนังสือศิลปกรรมในบางกอก ฉบับตีพิมพ์ปี ๒๕๑๔ ว่า “พบงานจิตรกรรมฝาผนังรูปมารผจญ และมีลายเมฆ ลายต้นไม้เป็นกรอบซุ้มที่ผนังด้านหลัง ซึ่งน่าจะเคยเจาะไว้สำหรับประดิษฐานพระยืน”

หลังจากใช้เวลาเก็บภาพพอสมควร ทีมเดินทางจึงเดินทางต่อไปที่ชุมชนบ้านปูนเพื่อไปยังวัดร้างแห่งต่อไป…

วัดที่ 4 : วัดสวนสวรรค์ (ร้าง)

ณ ชุมชนบ้านปูน เคยเป็นแหล่งผลิตปูนที่ใช้กินกับหมากแก่ชาวพระนครตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้วจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและจากผลกระทบเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลสั่งห้ามกิจการเพราะแสงสว่างจากเตาเผาปูนเป็นเป้าโจมตีทางทหารในสมัยนั้น

และชุมชนแห่งนี้ มีโบราณสถานที่แอบซ่อนตัวอยู่ นั่นก็คือ “วัดสวนสวรรค์”

ซอยเข้าสู่อุโบสถ วัดสวนสวรรค์

ทีมเดินทางขับจักรยานยนต์ซอกแซกตามซอย จนกระทั่งสังเกตุเห็นหลังคาอุโบสถในซอยแคบๆ ซึ่งแอบซ่อนอยู่…ถ้าไม่สังเกตุดีๆ หรือสอบถามชาวบ้านคงหาได้ยากครับ…

อุโบสถ วัดสวนสวรรค์

อุโบสถเป็นอาคารขนาดเล็กก่ออิฐทรงสูงรวมไปถึงหน้าบัน ใช้ผนังรองรับน้ำหนัก มีเพิงยื่นด้านหน้า สันนิษฐานว่าสร้างไม่เกินสมัยอยุธยาตอนปลาย

หลวงพ่อดำ วัดสวนสวรรค์

หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปปางมารวิชัยมีลักษณะเคยปิดทองแต่ได้หลุดลอกเหลือแต่รักสีดำ

ช่องเว้าในผนังอุโบสถรูปกลับบัว

ช่องเว้ารูปกลีบบัวในอุโบสถ เป็นรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย

ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถ

ด้านข้างอุโบสถ วัดสวนสวรรค์

ซุ้มใบเสมาทรงกูบ วัดสวนสวรรค์

ใบเสมาสลักจากหินแกรนิต สูงราวหนึ่งศอกเป็นทรงเจว็ดค่อนข้างเตี้ย สันมน ไม่มีลวดลาย กระหนกเสมาสองข้างงอนขึ้นเป็นจะงอย ที่แปลกตาคือใบเสมามีลักษณะหักมุม

ปรางค์หน้าอุโบสถ วัดสวนสวรรค์ ทรงสูงเพรียวสมัยรัตนโกสินทร์

หลังจากเก็บภาพในเวลาพอสมควร จึงได้เร่งรีบเดินทางต่อเพราะช่วงเวลาใกล้ค่ำเข้าไปทุกที

สถานที่ที่ 5 : อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จประศรีนครินทราบรมราชชนนี เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างขึ้นสนองกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ที่จะให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสสถานเดิมครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ และพัฒนาพื้นที่ซึ่งนายแดง นานา และนายเล็ก นานา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ได้พร้อมใจน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายจำนวน 4 ไร่ ในบริเวณชุมชนหลังวัดอนงคาราม ให้เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน

สถานที่แห่งนี้ ผมใช้เวลาไม่นานนัก เพียงมาเพื่อชมบรรยากาศในพื้นที่โดยรอบและชมบรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยา

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จประศรีนครินทราบรมราชชนนี

แอดมินถ่ายรูปความคลาสสิก ที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์

อาคารโกดังร้าง ริมน้ำเจ้าพระยา

ชมวิวริมน้ำเจ้าพระยา

สถานที่ ที่ 6 : วัดช่องนนทรี

วัดช่องนนทรีไม่ใช่วัดร้าง แต่จุดประสงค์ที่เดินทางมาเพื่อมาชมความสวยงามของอุโบสถหลังเดิมที่มีหลังคาติดเชิงชายสวยงามสมบูรณ์อย่างมาก อีกทั้งจะชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถหลังเก่าด้วย… แต่ด้วยการเดินทางใกล้ค่ำ จึงไม่สามารถเข้าไปชมด้านในได้ จึงได้แต่เพียงถ่ายรูปความงามด้านนอกให้ได้ชมกันครับ

วัดช่องนนทรีเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือพระอุโบสถฐานเป็นโบสถ์แอ่นท้องสำเภา มีขนาด ๕ ห้อง ๒ มุข ลักษณะคล้ายโบสถ์มหาอุตม์ ด้านหน้าพระอุโบสถทำเป็นมุขเด็จ มีเสาหารรองรับเครื่องบนหลังคาสี่ต้น หน้าบันทำเป็นฝาปะกนไม่สลักลวดลาย หลังคาเป็นลอนมุงกระเบื้องแล้วฉาบปูนติดเชิงชาย ด้านหน้าโบสถ์มีเจดีย์และใบเสมาเรียง-รายกันอยู่

อุโบสถวัดช่องนนทรี

หลังคาอุโบสถประดับเชิงชาย วัดช่องนนทรี

หลังคาอุโบสถประดับเชิงชาย วัดช่องนนทรี

ใบเสมา วัดช่องนนทรี

ปิดท้าย ณ วัดมหาบุศย์ (แม่นาคพระโขนง)

สถานที่ปิดท้ายทริปท่องเที่ยวครั้งนี้ ผมไปจบที่วัดมหาบุศย์ ไปชมบรรากาศคลองพระโขนงยามค่ำคืนว่าจะหลอนสมคำร่ำลือหรือไม่… พอเดินทางมาถึงก็เป็นเวลามืดพอดีเลยครับ…เข้าบรรยากาศดีจริงๆ

คลองพระโขนงยามโพล้เพล้ หน้าวัดมหาบุศย์

บรรยากาศโพล้เพล้เช่นนี้ พลอยให้จินตนาการถึงความหลอนเหมือนกันครับ

เดินชมบรรยากาศริมคลองพระโขนง

ระหว่างที่เดินชมริมคลอง จะมองเห็นโรงสีร้างและอาคารร้างฝั่งตรงข้าม พลอยให้วังเวงใจพอสมควรเลยครับ

ผู้คนมากราบไหว้แม่นาคพระโขนง

ที่วัดมหาบุศย์ จะมีผู้คนเดินทางมาจุดธูปเทียนบูชาแม่นาคไม่ขาดสาย จนกระทั่งมืดค่ำ…ผมสอบถามแม่ค้าได้ความว่า ในวันก่อนหวยออกจะเปิดให้เข้าบูชาตลอดคืนอีกด้วย

สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในภารกิจเที่ยววัดร้างในเมืองกรุง ภาคแรก ได้มาจบที่วัดมหาบุศย์… จริงๆแล้วไม่ใช่เที่ยววัดร้างอย่างเดียว แต่ได้ชมบรรยากาศในท้องถิ่นและวัดสวยงามอื่นๆอีกด้วย ถือว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไปอย่างยิ่ง เป็นการเปิดหูเปิดตาให้ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้

แม้จะมีเวลาน้อยนิด แต่ก็เร่งการเดินทางจนเพลียไปมากพอสมควร…โอกาสต่อไป ผมจะหาเวลากลับมาเที่ยวเมืองกรุงอีกแน่นอน แล้วพบกับใหม่ในการเดินทางภาคต่อๆไป สวัสดีครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com