ชมคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก วัดสระเกศ

By | February 9, 2018


https://youtu.be/x89ufbKoJ-M

ชมคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก วัดสระเกศ… สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยความศรัทธาทุกท่าน ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร เพื่อไปชมพระคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนา ที่ประเมินอายุว่าเก่าแก่ที่สุดในโลก

พระคัมภีร์โบราณนี้ เป็นพระคัมภีร์ที่ได้ลักลอบออกมาจากหุบเขาบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะถูกทำลายโดยกลุ่มตาลีบัน

กลุ่มตาลีบันมีความมุ่งหมายที่จะทำลายศาสนสถานต่างศาสนาในประเทศ อีกทั้งได้ทำลายพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสลักหน้าผาหินเก่าแก่ที่สุดในโลกและขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2544 แต่ได้มีพระคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนาบางส่วนถูกลักลอบออกมาได้

พระคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนาเริ่มเปิดเผยเมื่อครั้ง ดร.เจนส์ บราวิก ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี ประเทศนอร์เวย์ ได้เข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่เมืองไลเดน ประเทศเนเธอแลนด์ และมีผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แซม ฟ็อกก์ พ่อค้าของเก่าแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้เอกสารโบราณที่ลักลอบออกจากอัฟกานิสถานและขายให้แก่ ดร.มาร์ติน สเคอเยน ผู้อำนวยการและเจ้าของสถาบันอนุรักษ์สเคอเยน ซึ่งเป็นสถาบันที่เก็บเอกสารโบราณอันดับต้นๆของโลก

เมื่อ ดร.เจนส์ บราวิก ทราบดังนั้น จึงได้ติดต่อ ดร.มาร์ติน สเคอเยนเพื่อขอศึกษาพระคัมภีร์โบราณดังกล่าว และพบว่าเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ จารึกในช่วง พ.ศ.540 – 940 ที่มีรายละเอียดกล่าวถึง พระสูตร พระวินัย และพระธรรมทางพระพุทธศาสนา วัสดุที่จารึกมีทั้งเปลือกไม้ ใบลาน หนังสัตว์และแผ่นโลหะทองแดง เป็นมรดกล้ำค้ายิ่งของโลก

จารึกทั้งหมด เมื่อมีการแปลโดยผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี พบว่าตรงตามประไตรปิฎก เช่น พระสูตรจังกีสูตร และบางข้อมูลไม่เคยรู้มาก่อน

และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ทางรัฐบาลประเทศนอร์เวย์ ได้ส่งมอบพระคัมภีร์โบราณ 3 ชิ้นที่จารึกบนเปลือกไม้ให้แก่ประเทศไทย โดยมี ดร.มาร์ติน สเคอเยน (Martin Schoyen) และ ดร.เจนส์ บราวิก (Jens Braarvig) เป็นตัวแทนรัฐบาลประเทศนอร์เวย์ทำการส่งมอบ และอัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร

พระคัมภีร์โบราณที่รับมอบจากรัฐบาลนอร์เวย์

พระคัมภีร์โบราณที่จารึกบนเปลือกไม้ทั้ง 3 ชิ้นนี้ ผมยังไม่พบบันทึกการแปล อาจจะมีการแปลภายหลัง

ก่อนหน้านี้มีการจัดแสดงคัมภีร์โบราณที่พุทธมณฑล ได้กล่าวถึงพระคัมภีร์ชิ้นตรงกลางที่ภาพด้านบน สันนิษฐานว่าเป็นพระอภิธรรม ซึ่งคือข้อหลักธรรมล้วนๆ ในการพัฒนาจิต ส่วนชิ้นอื่นๆ ไม่มีเรื่องราวการแปลจัดแสดงไว้ครับ

ผมเดินทางไปยังวัดสระเกศในเดือนมกราคม พ.ศ.2561 เพื่อเข้าชมพระคัมภีร์โบราณนี้ ซึ่งปัจจุบันเตรียมที่จะอัญเชิญเข้าสู่ถ้ำแห่งบามิยันจำลอง ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

วัดสระเกศ

ใบรับรองเอกสารโบราณจากสถาบันสเคอเยน

ถ้ำบามิยันในระหว่างก่อสร้าง

ภายในถ้ำบามิยันจำลองนี้ จะจัดสร้างองค์จำลองพระพุทธรูปบามิยัน และประดิษฐานพระคัมภีร์โบราณไว้ด้านใน รวมถึงจัดสถานที่เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไว้ด้วย ซึ่งปัจจุบัน (มกราคม 2561) ยังสร้างไม่แล้วเสร็จครับ

ดร.มาร์ติน สเคอเยนและ ดร.เจน บราวิก ส่งมอบพระคัมภีร์โบราณ สู่วัดสระเกศ

ผมได้เข้าชมพระคัมภีร์โบราณและอ่าข้อมูลการจัดแสดงในเวลาพอประมาณ จึงได้ไปกราบสักการะพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร

พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร

ด้วยเวลามีจำกัด ผมจึงไม่ได้ชมบรรยากาศอื่นๆในวัดสระเกศ ซึ่งผมจะหาโอกาสกลับไปอีกครั้งหลังจากที่ถ้ำบามิยันจำลองได้สร้างแล้วเสร็จ

สิ่งที่ได้รับจากการเดินทางครั้งนี้

ทำให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาคือหลักคำสอนที่มีจริงแท้แน่นอนมาแต่โบราณ ซึ่งนักโบราณคดีได้ประเมินพระคัมภีร์อายุมากกว่า 2,000 ปี ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากสมัยพุทธกาลเพียงหลักร้อยปีเท่านั้น จึงให้เกิดความมั่นใจในหลักคำสอนที่พระพุทธองค์ได้สั่งสอนไว้

ผมหวังว่า จะมีการจัดแสดงและแปลเอกสารพระคัมภีร์โบราณนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อใช้เปรียบเทียบกับหลักคำสอนในพระไตรปิฎก เพื่อการศึกษาและเข้าใจพระธรรม คำสั่งสอนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ดังคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า

“โย โว อานันทะ มะยา ธัมโม จะ วินะโย จะ เทสิโต ปัญญัตโต โส โว มะมัจจะเยนะ สัตถา”

ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัย ที่เรา (ตถาคต) แสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว จักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเรา (ตถาคต) ล่วงลับไปแล้ว (มหาปรินิพพานสูตร)

ข้อมูลจัดแสดง (บางส่วน)

ข้อมูลจัดแสดง (บางส่วน)

คลิปพาชมคัมภีร์โบราณ ณ วัดสระเกศ


https://youtu.be/Gcs6ffWfcoc

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com