ตามรอยกรุมหาสมบัติ วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา

By | July 27, 2014
วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา

วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา

จากบทความเดิมที่ผมเขียนไว้สั้นๆ  กรุสมบัติ วัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก อยุธยา ที่กล่าวไว้เกี่ยวกับโจรที่ลงไปขโมยทองคำในกรุสมบัติ เมื่อปี พ.ศ. 2500 พร้อมคลิปวีดีโอจาก YouTube

>>> อ่านบทความ วัดราชบูรณะ และวัดเจ้าชาย (วัดกระซ้าย) วัดเฮี้ยนติดอัน 8 เอเชีย <<< !! ที่นี่

และในวันนี้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสถานที่จริง ที่วัดราชบูรณะ โดยทางกรมศิลปากรได้อนุญาติให้นักท่องเที่ยวสามารถที่ลงไปยังกรุสมบัติได้ ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวกันเยอะขึ้น วัดราชบูรณะอยู่ตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ คนละฝั่งถนน อยู่บริเวณของเกาะเมือง เป็นวัดร้างที่นักท่องเที่ยวนิยมมากันค่อนข้างมาก เท่าที่ผมเห็นจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันตกมากพอสมควร โดยจะนิยมปั่นจักรยานเที่ยวทั่วบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์


https://youtu.be/mHumxj7dObs

ตามบันทึกในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐได้บันทึกไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 1967 สมเด็จพระนครินทราธิราชได้เสด็จสวรรคต พระราชโอรสองค์โตคือ เจ้าอ้ายพระยา ซึ่งครองเมืองสุพรรณ และเจ้ายี่พระยา พระราชโอรสองค์รอง ซึ่งครองเมืองสรรค์บุรี ได้ทำยุทธหัตถีเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ จนสิ้นพระชนม์ ทั้งสองพระองค์ ณ เชิงสะพานป่าถ่าน ทำให้เจ้าสามพระยา พระราชโอรสองค์เล็ก ซึ่งครองเมืองชัยนาท ได้เสวยราชสมบัติแทน โดยมีพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2” พระองค์จึงได้โปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์ 2 องค์ เพื่อระลึกแด่พระเชษฐาทั้งสองไว้ที่เชิงสะพานป่าถ่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเชษฐาทั้งสองทำยุทธหัตถีกัน และได้ทรงสถาปนาวัดราชบูรณะขึ้นมาในปี พ.ศ. 1967

รูปแบบแผนผังของวัดราชบูรณะจะเป็นแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยจะมีพระวิหารอยู่ด้านหน้า และถัดเข้าไปจะเป็นพระปรางค์ประธาน และมีพระอุโบสถอยู่ด้านหลัง ซึ่งรูปแบบนี้จะเป็นการวางผังที่ให้ความสำคัญกับพระปรางค์ประธานมากที่สุด

วิหารวัดราชบูรณะ

วิหารวัดราชบูรณะ

พระวิหารหลวง จะตั้งอยู่ทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน ลักษณะของพระวิหารหลวงจะทรุดโทรมไปมากพอสมควรแล้ว แต่ยังมีผนังทั้งสี่ด้านอยู่ มีซากเสาที่ยังหลงเหลือให้เห็น และฐานชุกชีของพระพุทธประธานก็ยังมีสภาพให้เห็นเช่นกัน ส่วนตัวหลังคาได้พังทลายลงมาหมดแล้ว อุปกรณ์ที่ใช่ก่อสร้างจะสร้างด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่

พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ

พระปรางค์ประธาน วัดราชบูรณะ

พระปรงค์ประธาน เป็นจุดเด่นสำคัญของวัดราชบูรณะ เมื่อครั้งที่มีการเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดราชบูรณะได้ถูกทำลายเสียหายไปมาก แต่องค์พระปรางค์ยังมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยลักษณะของปรางค์ประธานจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีมุขยื่นออก และมุขนี้มีทางเข้าออกทั้ง 3 ด้านคือ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้

พระพุทธรูป บนซุ้มปรางค์ประธาน

พระพุทธรูป บนซุ้มปรางค์ประธาน

พระปรางค์ประธาน จะมีซุ้มพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งสามด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ลักษณะของพระปรางค์ประธานจะก่อสร้างด้วนหินศิลาแลง

ครุฑและยักษ์ปูนปั้มประดับบนยอดปรางค์

ครุฑและยักษ์ปูนปั้นประดับบนยอดปรางค์

ยอดปรางค์ประธานจะมีปูนปั้นรูปครุฑและยักษ์ประดับอยู่ เป็นสัญลักษณ์ของการปกปักษ์รักษาพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ ณ จุดศูนย์กลาง

กรุมหาสมบัติด้านในองค์ปรางค์ประธาน

กรุมหาสมบัติด้านในองค์ปรางค์ประธาน

เมื่อเดินขึ้นมาบนปรางค์ประธาน เราจะมองเห็นการขุดเจาะกรุสมบัติลงไปด้านล่าง และอนุญาติให้นักท่องเที่ยวลงไปชมกันได้ ถ้าจะเดินลงไปก็ระมัดระวังกันด้วยนะครับเพราะบันไดทางลงค่อนข้างชัน ถ้ามีอุปกรณ์โทรศัพท์ หรือกล้องก็ให้ถือดีๆ หรือเก็บเข้ากระเป๋าระหว่างการเดินลงไปในกรุด้วยครับ เดี๋ยวจะตกเสียหายซะก่อน

กรุมหาสมบัติของวัดราชบูรณะ ถูกขุดค้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2499 โดยกรมศิลปากร ลึกลงไป 17 เมตรใต้องค์ปรางค์ประธานและค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องทองจำนวนมาก ทำให้ข่าวใหญ่และแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกลุ่มโจรขโมยได้วางแผนลักลอบที่จะทำการเข้าขุดกรุในปี พ.ศ. 2500 ได้ค้นพบและขโมยเครื่องทองจำนวนมากมายออกไป

ลักษณะกรุสมบัติ วัดราชบูรณะ

ลักษณะจำลองกรุสมบัติ วัดราชบูรณะ

กรุสมบัติจะแบ่งเป็น 3 ห้อง โดยขโมยได้ทำการขุดเจาะตั้งแต่กลางพระปรางค์ประธานทะลุลงมา

ห้องชั้นที่ 1 ที่ห้องนี้จะบรรจุพระพิมพ์และพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก บริเวณฝาผนังจะมีจิตรกรรมฝาผนังโบราณเป็นรูปชุมชนชาวจีน และรูปเทวดา

ห้องชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นจุดที่เก็บเครื่องทองคำมากมายหลายร้อยกิโลกรัม กลุ่มโจรได้ขุดเจาะลงมาถึงเพียงชั้นนี้ ก็ได้รีบร้อนหนีแล้วขนเครื่องทองคำล้ำค่าไปบางส่วน ซึ่งสันนิษฐานว่าได้ไปไม่ต่ำกว่า 75 กิโลกรัม บริเวณผนังของห้องชั้นที่ 2 จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นรูปพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อที่ว่า พระพุทธเจ้าในอดีตมีอยู่หลายพระองค์จนมาถึงยุคปัจจุบันคือพระพุทธโคดม ของพวกเราเองครับ

หลังจากทางเจ้าหน้าที่ทราบข่าวจึงสามารถเข้าจับกุมโขมยได้ 2 คน ได้เครื่องทองกลับคืนมาบางส่วน แต่อีกจำนวนมากได้หายไปกับกลุ่มขโมยที่ไม่สามารถจับกุมได้ ทางกรมศิลปากรจึงได้รีบดำเนินการขุดเจาะสำรวจกรุอย่างละเอียดอีกครั้ง และก็ได้พบเครื่องทองที่ยังหลงเหลืออีกจำนวนมากที่คนร้ายไม่สามารถขนไปได้หมด จากนั้นทางกรมศิลปากรก็ได้ขุดเจาะต่อลงไป ได้พบว่าเป็นห้องอีก 1 ห้อง

ห้องชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่พบเจดีย์ทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ปัจจุบันห้องชั้นที่ 2 และสามจะเป็นห้องที่เชื่อมติดกัน

ภาพจิตรกรรมชาวจีนที่กรุห้องที่ 1

ภาพจิตรกรรมชาวจีนที่กรุห้องที่ 1

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รูปเทวดาที่ห้องชั้นที่ 1

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รูปเทวดาที่ห้องชั้นที่ 1

เพดานห้องชั้นที่ 2 ที่คนร้ายเจาะลงมา

เพดานห้องชั้นที่ 2 ที่คนร้ายเจาะลงมา

เมื่อมองขึ้นไปบนเพดานที่ห้องชั้นที่ 2 จะมองเห็นความชำรุดที่คนร้ายได้ขุดเจาะลงมา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ห้องชั้นที่ 2

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ห้องชั้นที่ 2

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ห้องชั้นที่ 2

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ห้องชั้นที่ 2

ห้องชั้นที่ 3 เป็นจุดเก็บเจดีย์ทองคำที่บรรขุพระบรมสารีริกธาตุ

ห้องชั้นที่ 3 เป็นจุดเก็บเจดีย์ทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ลักาณะห้องชั้นที่ 3 จะเป็นห้องเล็กๆ สำหรับเก็บเจดีย์ทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เวลาเราเดินกันลงมาจะมาที่ห้องชั้นที่ 3 ก่อน แล้วค่อยมุดตัวเข้าไป จะโผล่ไปห้องชั้นที่ 2 เนื่องจากห้องทั้ง 2 ได้เชื่อมถึงกันแล้วในปัจจุบัน

เจดีย์ทองคำเก็บพระบรมสารีริกธาตุ

เจดีย์ทองคำเก็บพระบรมสารีริกธาตุ

ยุคตื่นทอง

หลังจากที่กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจกรุอย่างละเอียด และได้ค้นพบสิ่งของล้ำค่ามากกว่า 2,000 รายการ น้ำหนักทองคำไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม จนเกิดกระแสตื่นทองทำให้ประชาชนหลั่งไหลจากทั่วสาระทิศเดินทางมาดูกันเป็นจำนวนมาก จนกล่าวกันว่าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงนั้นถึงกับขาดตลาดกันเลย ปัจจุบันสิ่งของมีค่าส่วนใหญ่ได้เก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เครื่องทองคำที่ค้นพบแบ่่งเป็นประเภทได้ดังนี้

1. เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรี ฉลองพระบาท เป็นต้น

2. เครื่องต้น หมายถึงของทรงของพระมหากษัตริย์ เช่น กำไล เครื่องประดับศีรษะ

3. เครื่องราชูปโภค หมายถึง เครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ เช่น คชาธาร

4. พระพุทธรูปทองคำ

5. เครื่องราชบรรณาการ

6. เครื่องอุทิศ เช่นปรางค์จำลองทองคำ

7. จารึก เช่น จารึกลานทองอักษรขอม

การเดินทางมาท่องเที่ยว ดูกรุมหาสมบัติครั้งนี้ รู้สึกถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของคนไทยนั้นมีมากจริงๆ เพราะมีการเสียสละทรัพย์สินอันมีค่าไว้ในกรุมากมาย อีกทั้งการก่อสร้างต่างๆก็ล้วนมีความประณีต เป็นการบ่งบอกถึงความศรัทธาและตั้งใจจริง

ถ้ามีโอกาสได้มาท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา ผมขอแนะนำให้มาที่วัดราชบูรณะเป็นเป้าหมายด้วยนะครับ เพื่อจะได้ชมความสวยงามและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ที่ยังหลงเหลือให้ได้ชมมากมาย เช่นกรุสมบัติ จิตรกรรมฝาผนัง

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) บนปรางค์ประธานอาจจะมีนั่งร้าน ที่ก่อขึ้นเพื่อทำการบูรณะในบางส่วน แต่เราก็ยังสามารถขึ้นไปบนปรางค์กันได้ ถ้ามากันแล้วอย่าพลาดที่จะลงไปชมกรุด้านในนะครับ

– จบบันทึกตามรอยกรุมหาสมบัติ วัดราชบูรณะ –

 

 

 

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com 

 

One thought on “ตามรอยกรุมหาสมบัติ วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา

  1. Pingback: วัดราชบูรณะ และ วัดเจ้าชาย (วัดกระซ้าย) ติดอันดับความเฮี้ยนและน่ากลัว เป็นอันดับ 8 ของโลก | Faith

Comments are closed.