วัดกุฎีทอง อยุธยา ที่ตั้งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพระยาละแวก

By | July 26, 2014

วัดกุฎีทอง ที่ตั้งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพระยาละแวก ผมได้มีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยครั้งนี้วางแผนจะเดินทางไปชมวัดที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันนัก สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ นั่นก็คือวัดกุฎีทอง ถ้าจะดูตามแผนที่ท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยาของ ททท. จะไม่เห็นวัดนี้ในแผนที่ จึงทำให้ไม่ค่อยจะมีผู้คนรู้จักกันนัก ทั้งๆที่วัดนี้อยู่ที่ถนนอู่ทอง ตรงข้ามกับวัดธรรมิกราช ติดริมแม่น้ำลพบุรี ไม่ห่างจากวัดหน้าพระเมรุมากนัก

แม้จะไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ก็สามารถเดินทางไปกันได้ไม่ยาก โดยให้ไปตามเส้นทางถนนอู่ทอง จะเห็นป้ายวัดกุฎีทองตรงข้ามวัดธรรมิกราชครับ แนะนำว่าถ้าเอารถมาเองให้ไปจอดรถในวัดธรรมิกราช แล้วเดินข้ามฝั่งมาจะดีกว่า เพราะซอยจะเล็กและแคบ ไม่มีที่จอดรถและเราต้องเดินข้ามสะพานไม้ไปยังวัดกุฎีทองด้วย

ความน่าสนใจของวัดนี้ที่ทำให้ผมเดินทางมาท่องเที่ยว เนื่องมาจากตามพงศาวดาร ได้กล่าวไว้ว่า วัดกุฎีทองเป็นวัดที่สร้างก่อนสมัยสร้างกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผมคิดว่าเป็นวัดที่น่าสนใจ เพราะมีความเก่าแก่เป็นอย่างมาก

ทางเข้าวัดกุฎีทอง จะเป็นซอยแคบๆ ตรงข้ามวัดธรรมิกราช

ทางเข้าวัดกุฎีทอง จะเป็นซอยแคบๆ ตรงข้ามวัดธรรมิกราช

ทางเข้าวัดจะอยู่ตรงข้ามวัดธรรมิกราช เป็นซอยแคบๆ จึงไม่ควรนำรถส่วนตัวเข้าไป

สะพานข้ามฝั่งแม่น้ำลพบุรี

สะพานข้ามฝั่งแม่น้ำลพบุรี

เมื่อเข้ามาในซอย จะต้องเดินข้ามสะพานไม้ข้ามแม่น้ำลพบุรี เพื่อจะข้ามฝั่งไปยังวัดกุฎีทอง บริเวณเชิงสะพานจะมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ด้วยครับ

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

สะพานข้ามแม่น้ำลพบุรี

สะพานข้ามแม่น้ำลพบุรี

บรรยากาศชีวิตริมแม่น้ำลพบุรี

บรรยากาศชีวิตริมแม่น้ำลพบุรี

ฝั่งวัดกุฎีทอง

ฝั่งวัดกุฎีทอง

เมื่อเดินข้ามฝั่งแม่น้ำมา จะต้องเดินเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตรก็จะเข้าถึงบริเวณพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโบราณสถานที่ผมตั้งใจจะไปเที่ยวชมครับ

ซุ้มประตูโบราณหน้าพระอุโบสถ

ซุ้มประตูโบราณ และกำแพงแก้ว หน้าพระอุโบสถ

กำแพงแก้วโบราณ

กำแพงแก้วโบราณ

ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว ความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนคือซุ้มประตู หน้าพระอุโบสถและกำแพงแก้ว ที่ทางวัดยังคงอนุรักษ์ไว้แม้จะทรุดโทรมอย่างมาก เมื่อดูแล้วรู้สึกถึงความเข้มขลังมากครับ ประตูซุ้ม เหลือเพียงประตูทางด้านหน้า เป็นประตูซุ้มมีแนวกำแพงก่ออิฐสอปูน สันกำแพงคล้ายหลังคาโค้งแหลม เป็นแบบศิลปะที่รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตกในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วของวัดพุทไธสวรรย์  ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย

พระอุโบสถ วัดกุฎีทอง

พระอุโบสถ วัดกุฎีทอง

พระพุทธประธาน ในพระอุโบสถ วัดกุฎีทอง

พระพุทธประธาน ในพระอุโบสถ วัดกุฎีทอง

พระอุโบสถ ตั้งอยู่บนโคกหรือเนินดินค่อนข้างสูง สันนิษฐานว่าเป็นโคกโบราณที่ตั้งวัดเดิม ตัวอุโบสถที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะแต่ยังคงรูปทรงแบบเดิมเอาไว้ คือ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่อมผืนผ้า ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตรเศษ ผนังตรงกลางหรือผนังหุ้มกลองด้านหน้าและด้านหลังก่อเป็นชาลายื่นออกมา มีบันไดขนาบด้านละสองข้าง ผนังด้านข้างมีซุ้มหน้าต่างข้างละเจ็ดช่อง ฐานอุโบสถอ่อนโค้งท้องสำเภาประดับแข้งสิงห์ ลานประทักษิณกว้างใหญ่มีเสมาคู่ตั้งอยู่ทั้งแปดทิศ

ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย คือ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเป็นหนามขนุนเล็ก พระเกตุมาลาใหญ่ พระรัศมียาว ชายจีวรยาวถึงพระนาภี ปลายตัดตรง นิ้วพระหัตถ์ยาวเกือบเท่ากัน เป็นต้น (พระประธานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วเมื่อราวปี พ.ศ. 2517)

เสมาคู่รอบพระอุโบสถ

เสมาคู่รอบพระอุโบสถ

เสมาคู่รอบอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันทางวัดทาสีทับไว้ เป็นใบเสมาสลักจากหินชนวนขนาดใหญ่ สูง 110 เซนติเมตร กว้าง 79 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร  สันสองข้างแหลมคม ยอดแหลม ตรงส่วนยอดและส่วนกลางที่เรียกว่าอกเสมา มีลายคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสองรูป ใบเสมาที่นี่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับใบเสมาของวัดที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงครึ่งแรก ของพุทธศตวรรษที่ 20 เช่นที่วัดพุทไธสวรรย์ วัดหน้าพระเมรุ วัดสามพิหาร ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธา และที่วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น

รูปแบบของใบเสมาคู่ เป็นการบ่งบอกว่าวัดกุฎีทองเคยเป็นวัดหลวงมาก่อน

เจดีย์ทรงกลมขนาดเล็ก

เจดีย์ทรงกลมขนาดเล็ก

เจดีย์ทรงกลมขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถใกล้ประตูกำแพงแก้ว ก่อด้วยอิฐสอปูน ประกอบด้วยฐานบัวแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดหรือเครื่องบนหักหายไปหมด จากลักษณะดังกล่าวทำให้สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นภายหลังเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ด้านหลังอุโบสถเล็กน้อย

เจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่

เจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่

เจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่

เจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่

เจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ จำนวน 2 องค์ องค์ที่อยู่ใกล้อุโบสถมีสภาพดีกว่าองค์หลัง ซึ่งเหลือแต่ฐานก่ออิฐสอปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้ารองรับมาลัยลูกแก้ว ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลม ซึ่งอาจจะรับรูปแบบมาจากเจดีย์ทรงกลม สมัยสุโขทัย บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เสาหานหักหายไปหมดแล้ว ถัดไปคือปล้องไฉน เจดีย์ทั้งสององค์นี้ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ เจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคล และเจดีย์ที่วัดสามพิหาร ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 22

จากการเดินสำรวจรอบพื้นที่พระอุโบสถจะพบว่าพื้นที่ของพระอุโบสถและเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ทั้ง 2 องค์จะตั้งบนพื้นที่เนินสูงขึ้นมาค่อนข้างมาก

ชุมชนชางบ้านด้านนอกกำแพงแก้ว

ชุมชนชาวบ้านด้านนอกกำแพงแก้ว

โดยรอบนอกของกำแพงแก้วจะเห็นว่ามีชุมชนชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ อาจจะดูไม่ค่อยสะอาดตานักเพราะว่าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมนัก เลยไม่ค่อยมีคนมาดูแลรักษาความสะอาด แต่ทั้งนี้สภาพกำแพงแก้วและซุ้มประตูก็ยังมีการอนุรักษ์ไว้อยู่

ตามประวัติของวัดกุฎีทองจากข้อมูลจากทางวัดได้กล่าวไว้ดังนี้

ประวัติวัดกุฎีทอง

วัดกุฎีทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นวัดเก่าโบราณ สมัยเมืองละโว้ ซึ่งในพงศาวดารเหนือและพงศาวดารชาติไทยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า พระเจ้าจันทโชติทรงสร้างวัดกุฎีทอง เมื่อ พ.ศ. 1401 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 1890 จากหลักฐานอิฐและปูนที่ก่อสร้างกำแพงแก้วใกล้อุโบสถเป็นอิฐและปูนก่อนสมัยสร้างกรุงศรีอยุธยาดังนั้น วัดกุฎีทองจึงเป็นวัดก่อนสมัยสร้างกรุงศรีอยุธยา เหมือนเช่น วัดธรรมิกราช และวัดพนัญเชิง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 ได้ทำการบูรณะพระอุโบสถของวัดให้ดีขึ้น จากหลักฐานบันทึกที่เล่าสืบต่อกันมาในตำนานอิศวร ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. 2148 พระองค์ไล (ราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถซึ่งเกิดกับพระสนมชาวบ้านบางปะอิน)ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระเอกาทศรถ และในวันหนึ่งพระองค์ไลต้องการรู้ดวงชะตาของท่าน จึงได้มาที่วัดกุฎีทอง เพื่อให้อาจารย์ดี (หลวงพ่อดี) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสได้ช่วยดูดวงชะตาให้หลวงพ่อดีได้บอกว่า พ.ศ. 2173 ท่านจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระองค์ไลก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง ตามคำทำนาย พระเจ้าปราสาททองจึงโปรดเกล้าให้ช่างหลวงมาปิดทองที่กุฏิหลวงพ่อดีทั้งหลังและปฏิสังขรณ์ทั้งอารามจึงเป็นที่มาของชื่อวัดกุฎีทอง

วัดกุฎีทองเคยเป็นสนามรบ เมื่อครั้งพญาละแวกได้ใช้พื้นที่วัดกุฎีทองเป็นที่ตั้งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อต้นรัชกาลสมเด็จพระธรรมราชา พ.ศ. 2112 – 2133

การเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ ได้เห็นความเก่าแก่ที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้ แม้จะทรุดโทรมหนัก แต่ด้วยความที่วัดกุฎีทอง เป็นวัดที่ไม่ค่อยนิยมท่องเที่ยวกันเท่าไหร่นัก ทำให้สภาพพื้นที่ อาจจะดูรกปกคลุมไปด้วยวัชพืชต่างๆค่อนข้างมาก ถ้าจะเดินทางเข้าไปชมเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ด้านหลังพระอุโบสถ ก็ควรระวังเรื่องสัตตว์เลื้อนคลานไว้บ้างก็ดีนะครับ

เจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ วัดกุฎีทอง

ภาพเก่าวัดกุฎีทอง

ภาพเก่าวัดกุฎีทอง อยุธยา ของคุณอู้ด ฅนกันเอง โพสต์ในกลุ่มชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ โดยคุณปิยะศักดิ์ สำราญใจ

ภาพเก่าวัดกุฎีทอง อยุธยา ของคุณอู้ด ฅนกันเอง โพสต์ในกลุ่มชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ โดยคุณปิยะศักดิ์ สำราญใจ

ภาพเก่าวัดกุฎีทอง อยุธยา ของคุณอู้ด ฅนกันเอง โพสต์ในกลุ่มชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ โดยคุณปิยะศักดิ์ สำราญใจ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด