เที่ยวงานไหว้วัดภูเขาทอง ประเพณีสองวัฒนธรรมพุทธ-มุสลิม พระนครศรีอยุธยา

By | October 9, 2017


https://youtu.be/uveugwR7GNQ

เที่ยวงานไหว้วัดภูเขาทอง ประเพณีสองวัฒนธรรมพุทธ-มุสลิม พระนครศรีอยุธยา… สวัสดีครับท่านผู้ติดตามภารกิจเที่ยววัดตามรอยศรัทธาทุกท่าน ผมได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวชมงานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ฟื้นฟูจัดขึ้นอีกครั้งโดย หลวงพ่อประเทือง (พระครูใบฎีกาประเทือง กิตติปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง รูปปัจจุบัน

งานครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2560 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมายาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา โดยท้องที่แห่งนี้มีความสัมพันธ์ของ 2 วัฒนธรรมที่แน่นแฟ้นคือ ไทยพุทธและมุสลิม แม้จะเป็นศาสนิกชนต่างศาสนา แต่ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมมีความกลมกลืนสอดคล้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถือเป็นความสวยงามทางวัฒนธรรมยิ่งนัก

ผมได้ทราบข่าวถึงงานครั้งนี้ จึงได้วางแผนที่จะเดินทางไปชมงานวัฒนธรรมครั้งนี้และได้เก็บภาพบรรยากาศมาให้ได้รับชมกันครับ

บรรยากาศในวันงาน

ความเป็นมาของประเพณี

ในช่วงฤดูน้ำมาก ในช่วงที่พันธุ์ข้าวกำลังเติบโตแต่ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะพากันรวมตัวกันไหว้วัดสำคัญและนมัสการพระพุทธรูปประจำวัดนั้น เริ่มกันตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ที่วัดป่าโมก จากนั้นจะพายเรือจนมาถึงคลองมหานาค วัดภูเขาทอง ในคืนแรม 2 ค่ำ เดือน 11 แล้วทำพิธีไหว้วัดภูเขาทองในเช้าวันแรม 3 ค่ำ เดือน 11

งานไหว้วัดจึงมีการนัดหมายพ่อเพลงแม่เพลงมาร้องเล่นเพลงเรือ อย่างสนุกสนาน

เมื่อความเจริญต่างๆเข้าสู่เมือง เส้นทางการสัญจรจึงเปลี่ยนมาเป็นทางบก วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป ทำให้ประเพณีทางวัฒนธรรมต่างๆได้เลือนหายไป จนกระทั่ง หลวงพ่อประเทือง เจ้าอาวาสวัดภูเขาทองรูปปัจจุบัน ได้ริเริ่มรื้อฟื้นประเพณีโบราณทางวัฒนธรรมกลับมาอีกครั้ง โดยร่วมกับชาวไทยพุทธและมุสลิมในท้องที่ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป

รองเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาส วัดภูเขาทองในพิธีไหว้วัด ช่วงเช้า

พิธีไหว้วัด

พิธีไหว้วัด เริ่มทำการบวงสรวงกันตั้งแต่เช้า ซึ่งผมเดินทางไปไม่ทันพิธีนี้ จึงนำภาพจากกลุ่มไลน์วัดภูเขาทองมานำเสนอแทนครับ โดยมีรองเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาส วัดภูเขาทอง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

เครื่องบวงสรวง ณ เจดีย์ วัดภูเขาทอง

เมื่อทำการบวงสรวงวัดภูเขาทองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่งานพิธีเปิด งานไหว้วัดภูเขาทอง ประเพณี 2 วัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ซึ่งผมเดินทางมาถึงยังงานพอดีเลยครับ

พิธีเปิดงานไหว้วัด ประเพณี 2 วัฒนธรรม

หลังจากพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ก็เข้าสู่การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเริ่มจากวัฒนธรรมพี่น้องชาวมุสลิมคือ “อุเละห์นบี เพลงกล่อมเด็ก”

พิธีกรและผู้นำชุมชนชาวมุสลิมนำเข้าสู่การแสดง

ผมได้เข้าไปสอบถามผู้นำชุมชนมุสลิมที่นำเสนอการแสดงครั้งนี้ ได้ความว่า “อุเละห์นบี เพลงกล่อมเด็ก” เป็นวัฒนธรรมที่มีขึ้นเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และขอพรพระผู้เป็นเจ้าให้แก่เด็กที่เกิดมา ทั้งนี้ชาวบ้านที่ยากจนอาจจะไม่ได้จัดพิธีนี้ขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่าย จึงมักจัดขึ้นสำหรับครอบครัวที่มีฐานะ

เตรียมเข้าสู่การแสดงอุเละห์นบี

ผู้บรรเลงเพลงกล่อมเด็ก

การบรรเลงเพลงกล่อมเด็ก มีความสนุกสนานมากครับ บางช่วงบางตอนก็ได้ประยุกต์เนื้อหาภาษาไทยเข้าไปทำให้ฟังดูครึกครื้นไปอีกแบบ ทั้งผู้ร้องผู้ตีกลองก็กระหน่ำตี ไม่เกรงใจเด็กที่กำลังนอนเอาเสียเลย ฮ่าๆ

และจุดไคลแม็กซ์ที่ผู้เข้าชมงานรอคอยคือ ต้องการรู้ถึงผลลัพธ์ว่าเด็กจะนอนหลับจริงมั้ย เพราะเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเสียงดังเอาเรื่องเลยครับ ส่วนเด็กที่นอนในเปลก็นอนใกล้นักบรรเลงอีกด้วย

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เด็กหลับสนิท

เวลาผ่านไป ไม่ถึง 5 นาที ปรากฏว่า เด็กหลับสนิทครับท่านผู้ชม…หลับสนิท ศิษย์ส่ายหน้าเลยทีเดียว… และเชื่อมั้ยครับว่า เมื่อจบการแสดงจะนำเด็กขึ้นจากเปล เด็กก็ไม่ยอมจะตื่นซะด้วยแบบนี้ถือว่าหลับจริงจังเลยหล่ะครับ…ว่านอนสอนง่าย จริงๆลูกเอ๋ย…

หลังการแสดงเพลงกล่อมเด็กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่การแสดงเพลงเรือที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่มีมายาวนานเมื่อครั้งอดีต แต่ปัจจุบันประเพณีนี้ได้หายไป เพราะการสัญจหลักคือทางบก จึงได้มีการแสดงประเพณีให้ได้รับชมกัน

พิธีกรนำเข้าสู่การแสดงเพลงเรือ

ความเป็นมา เพลงเรือ

เพลงเรือ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีชายและหญิงลงเรือร้องเพลงโต้ตอบกัน ซึ่งจะมีเรือฝ่ายชายหนึ่งลำ ฝ่ายหญิงหนึ่งลำ

การเล่นเพลงเรือมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าวิวัฒนาการมาจากการเล่นสักวาในพระราชพิธีลอยกระทง นักเล่นสักวาจะลอยเรือเล่นสักวาให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร เมื่อมีการดัดแปลงวิธีการร้องสักวาให้พลิกแพลงออกไปจึงได้เรียกพิธีเล่นใหม่นี้ว่า “เล่นเพลงเรือ”

ฤดูการเล่นเพลงเรือจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำมาก ช่วงนั้นชาวบ้านยังไม่ว่างงานเพราะยังไม่ถึงฤดูเก็บเกี่ยว น้ำมากเต็มท้องทุ่ง จึงเป็นช่วงเทศกาลงานทางศาสนา ได้แก่ เทศน์มหาชาติ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ลอยกระทงและประเพณีนมัสการสักการะพระพุทธรูปองค์สำคัญต่างๆ

ฝ่ายหนุ่มสาวจะนัดกันพายเรือไหว้พระวัดต่างๆ และร้องเพลงแก้กันเป็นที่สนุกสนาน

แสดงเพลงเรือ

แสดงเพลงเรือ

จากนั้นก็เข้าสู่พิธีการแสดงเพลงเรือ ที่มีท่านผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอ อยู่อยู่ในวัยรุ่นทั้งนั้นครับ ฮ่าๆ (แซวเล่นครับผม อย่าโกรธกัน) บรรยากาศคำร้องสามารถชมผ่านคลิปวีดีโอกันได้ครับ ซึ่งผมติดไว้ให้ด้านบนบทความนี้

การแสดงยังดำเนินต่อไป แต่ผมเริ่มหิวแล้วหล่ะครับ จึงออกมาเดินดู เดินชมและซื้ออาหารท้องถิ่นที่นำมาจัดแสดงและจำหน่าย เพื่อบรรเทาอาการหิวสักเล็กน้อย

บรรยากาศนักท่องเที่ยวและร้านค้าจากชาวบ้านท้องถิ่น

ขนมหวายไทยที่เราคุ้นเคย

ผัดไทยที่เราก็คุ้นเคย

ซุ้มอาหารไทย ล่าเตียง

ซุ้มขนมหวานทับทิม กร๊อบ กรอบ

ทับทิมกร๊อบ กรอบ

ลอดช่องน่าอร่อย

เดินไปซุ้มไหนๆ ก็น่าอร่อยทั้งนั้น ถ้าอยู่ทั้งวันคงเดินกลับบ้านไม่ไหว เพราะหนักท้องเป็นแน่แท้ … สรุปโดยรวมถือว่าเป็นงานที่จัดขึ้นได้ดี แม้จะเป็นงานครั้งแรกของการฟื้นฟูวัฒนธรรม จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี ได้นำประเพณีวัฒนธรรมกลับมาสืบสานให้ลูกหลานได้เห็น ได้ทำการศึกษาสืบไป

ทั้งนี้การแสดงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ผมติดภารกิจช่วงใกล้เที่ยงจึงต้องเดินทางกลับเสียก่อน โดยการแสดงที่ยังคงดำเนินต่อไปก็คือ การแสดงกระบี่กระบอง โดยคณะพยัคฆ์ธรณี ลูกหลานชาวไทยมุสลิม ตำบลภูเขาทอง, การแสดงอาวุธไทยสมัยโบราณ โดยสำนักดาบพุทไธศวรรย์ บ้านภูเขาทอง, นิทรรศการเล่าผ่านภาพเก่า, กิจกรรมตามรอยประวัติศาสตร์ 360 องศารอบวัดภูเขาทอง และการแสดงทำอาหารไทยพื้นบ้าน เป็นต้น

ความน่ารักของเด็กๆในงาน 2 วัฒนธรรม

บรรยากาศ ณ ลานการแสดง

เป็นอีกหนึ่งงานประเพณีที่ควรอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ ให้เป็นงานท่องเที่ยวสำคัญอีกงานหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผมจึงขอจบการบรรยายบทความในงานประเพณี 2 วัฒนธรรม มา ณ โอกาสนี้ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ…ขอบพระคุณการติดตาม สวัสดีครับ…

 

ประวัติวัดภูเขาทอง (พอสังเขป)

วัดภูเขาทองตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กลางทุ่งภูเขาทอง ภายในวัดมีพระเจดีย์ย่อมุมขนาดใหญ่บนฐานประทักษิณเป็นประธาน

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระราเมศวร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๐

ที่บริเวณใกล้กับวัดภูเขาทองมีลำคลองสายหนึ่งชื่อว่า คลองมหานาค ขุดขึ้นเพื่อเป็นแนวป้องกันกองทัพหงสาวดีในคราวสงคราม ปี พ.ศ.๒๐๙๒

ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้สถาปนาพระเจดีย์องค์ใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์ในการชนะกรุงศรีอยุธยา หากแต่ในบันทึกของหมอแกรมเฟอร์ ชาวเยอรมัน ที่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๓ กลับกล่าวไว้ว่า เจดีย์องค์นี้ เป็นเจดีย์ที่กษัตริย์อยุธยาสถาปนาขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในการมีชัยชนะเหนือหงสาวดี

ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาถือว่าเจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง เป็นพระมหาเจดีย์ใหญ่นอกพระนคร และแม้หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดภูเขาทองก็ยังถือว่าเป็นศาสนสถานสำคัญ ดังปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ.๒๓๗๓ รัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่กวีเอกได้เดินทางขึ้นมานมัสการำระเจดีย์องค์นี้

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com