วัดพระยาไกร วัดที่สาบสูญเป็นศูนย์การค้าเอเชียทีคในกรุงเทพฯ

By | December 11, 2020

 

วัดพระยาไกร วัดที่สาบสูญ จากวัดกลายเป็นวัดร้างและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เอเชียทีคในกรุงเทพฯ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวยังเอเชียทีค ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในย่านถนนเจริญกรุง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากันมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ด้วยบรรยากาศติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีความทันสมัย จึงมีความคึกคักของนักท่องเที่ยวอย่างมาก

ชิงช้าสวรรค์ สัญลักษณ์อันโดดเด่นของเอชียทีค

ความคึกคักในย่านศูนย์การค้าเอเชียทีค

เมื่อผมได้เดินทางไปถึงก็ได้ไปสะดุดตากับอาคารไม้เก่าหลังหนึ่งในเขตศูนย์การค้า จากป้ายเขียนไว้ว่าสร้างในปี ค.ศ. 1912 หรือ พ.ศ.2455 ซึ่งมีอายุเกิน 100 ปี มีความโดดเด่นในย่านธุรกิจ ผมจึงได้ลองค้นหาข้อมูล จึงได้พบว่าอาคารหลังนี้เป็นทรัพย์สินของ บริษัทอีสท์ เอเชียติก จำกัด แห่งประเทศเดนมาร์ก ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงเลื่อย

อาคารไม้เก่าของ บริษัทอีสท์ เอเชียติก จำกัด แห่งประเทศเดนมาร์ก

แต่ความน่าสนใจไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพราะก่อนที่จะมาเป็นโรงเลื่อย พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นวัดมาก่อน จนกระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นโรงเลื่อย และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ก็คือเอเชียทีค

ความสวยงามของอาคารเก่า

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยมีวัดพระยาไกรมาก่อน

วัดพระยาไกร วัดที่สาบสูญ

คำว่าวัดพระยาไกร ทำให้ผมนึกไปถึงพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก แห่งวัดไตรมิตรวิทยาราม เพราะแต่เดิมพระทองคำองค์ดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปที่มีปูนปั้นทับไว้ ทำให้ไม่มีผู้ใดทราบว่าคือพระพุทธรูปทองคำ จนกระทั่งได้ทำการอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยาราม จนเกิดการกระเทาะของปูนเผยให้เห็นความล้ำค้าด้านในองค์พระ สามารถเอ่านเพิ่มเติมจากบทความนี้ >> https://www.faiththaistory.com/precious-buddha

เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นจากวัดพระยาไกร

เมื่อผมได้ทราบข้อมูลเบื้องต้น จึงเกิดความสนใจในเรื่องราวนี้ขึ้นมา จึงได้ลองค้นหาข้อมูลจากหนังสือ “วัดร้างในบางกอก”  โดย ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ได้เขียนรายละเอียดไว้ได้อย่างน่าสนใจ 

หนังสือวัดร้างในบางกอก ที่ใช้หาข้อมูลวัดพระยาไกร

ในหนังสือได้เขียนว่า ที่ตั้งของวัดพระยาไกรจากแผนที่ ฉบับเก่าๆ ระบุว่าตั้งลงไปทางทิศใต้ของวัดราชสิงขรเล็กน้อย และวัดลาดบัวขาวขึ้นมาทางเหนือตามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือปัจจุบันคือถนนเจริญกรุงตอนล่าง ยังมีสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกรและป้ายชุมชนที่มีชื่อวัดเป็นหลักฐาน

สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร (Google Map)

ย่านชุมชนหลังตลาดเก่าวัดพระยาไกร (เจริญกรุง 76) Google Map

จากสารานุกรมเสรี ได้เขียนว่า วัดพระยาไกร เป็นชื่อเดิมของวัดโชตนาราม และมีหลักฐานว่าสร้างก่อน พ.ศ. 2344 จนกระทั่งมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) เจ้ากรมท่าซ้าย เป็นหัวหน้าคนจีน ควบคุมคนจีนในไทยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำการ บูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วได้น้อมถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นพระอารามหลวงมีนามว่า วัดโชตนาราม

แผนที่กรุงเทพฯ พิมพ์ปี 2453 (กรมแผนที่ทหาร) ระบุชื่อวัดพระยาไกร

สาเหตุที่เรียกกันว่า วัดพระยาไกร เพราะราชทินนามของผู้สร้างเปลี่ยนเป็น “พระยาไกรโกษา” จึงเรียกชื่อว่า “วัดพระยาไกร”

ต่อมา “วัดพระยาไกร” กลายสภาพเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะท่านเจ้าสัวบุญมาคงไม่มีทายาทสืบสายสกุลทำให้ขาดผู้ดูแลอุปถัมภ์วัด หลักฐานที่ปรากฏว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดนี้ก็ไม่มีเจ้าอาวาสปกครองแล้ว เสนาสนะสงฆ์ปรักหักพังชำรุดทรุดโทรมยากแก่การบูรณะ รวมไปถึงพระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น (พระสุโขทัยไตรมิตร ก่อนย้ายไปวัดไตรมิตรวิทยาราม และหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ก่อนย้ายไปวัดไผ่เงิน) ก็ชำรุดทรุดโทรมลงตามลำดับ บริเวณภายในวัดก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเนื่องจากไม่มีผู้ดูแลรักษา

พื้นที่เช่าทำโรงเลื่อย ด้านมุมบนซ้ายจะสังเกตเห็นหลังคาอุโบสถและวิหาร วัดพระยาไกร

จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 บริษัทอีสท์ เอเชียติก จำกัด แห่งประเทศเดนมาร์ก ซึ่งทำธุรกิจค้าไม้สักส่งออกยังต่างประเทศ ได้หาทำเลสำหรับการตั้งโรงเลื่อยจักรของบริษัทฯ (โรงเลื่อยจักรที่ใหญ่ที่สุดในสยามในช่วงเวลานั้น) จึงได้ขอเช่าพื้นที่วัดโชตนารามหรือวัดพระยาไกรจากทางราชการ

ภาพในวิหารวัดพระยาไกร ที่ถูกใช้เป็นสำนักงานของบริษัทอีสท์ เอเชียติก จำกัด

เมื่อได้รับอนุญาตแล้วทางบริษัทฯ ก็ได้ทำการรื้อถอนเสนาสนะสงฆ์ที่ปรักหักพังเสียคงเหลือไว้แต่เพียงพระอุโบสถ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 2 องค์ ไว้ภายในเท่านั้น พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (พระพุทธรูปทองคำ) ก่อนที่จะอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม และหลวงพ่อสัมฤทธิ์ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดไผ่เงิน

ภาพเก่าอุโบสถ วัดพระยาไกร เป็นแบบอาคารที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ มีเสาพาไลเหลี่ยมรอบ (หนังสือวัดร้างในบางกอก)

หลวงพ่อทองคำจากวัดพระยาไกร ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดไตรมิตรวิทยาราม                ซ้าย : พระพักตร์ปูนปั้นก่อนการกระเทาะ
ขวา : พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดไผ่เงิน

นี่คือเรื่องราวตำนานวัดพระยาไกรที่ได้สาบสูญไปเหลือเพียงภาพแห่งความทรงจำ และพระพุทธปฏิมากรล้ำค่าให้เราได้กราบไหว้จนถึงปัจจุบันนี้

ความคึกคักเอเชียทีค ยามค่ำคืน

ความคึกคักที่เอเชียทีค

ความคึกคักที่เอเชียทีค

ความคึกคักยามค่ำคืนของเอเชียทีค

อาคารบริษัทอีสท์ เอเชียติก จำกัด ยามค่ำคืน

ทุกสรรพสิ่ง ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างคงทนถาวรตลอดไปนั้นไม่มี แต่ก็ยังหลงเหลือภาพเก่า ความทรงจำ และพระปฏิมากรเก่าแก่สมัยสุโขทัย ให้เราได้กราบสักการะและระลึกถึง โดยท่านสามารถเดินทางไปกราบสักการะได้ที่วัดไตรมิตรวิทยารามและวัดไผ่เงิน ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจากวัดพระยาไกรที่ได้สาบสูญไปแล้วนั่นเอง

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน 

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok