วัดชมภูเวก จิตรกรรมพระแม่ธรณีงามที่สุดในไทย

By | July 23, 2019

https://youtu.be/RMg3KXaBmu0

วัดชมภูเวก นนทบุรี วัดที่ชาวมอญอพยพได้สร้างและกล่าวกันว่ามีจิตรกรรมแม่ธรณีงามที่สุดในไทย… สวัสดีครับท่านผู้รักการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผมจะพาทุกท่านเที่ยวชมวัดแห่งหนึ่งในนนทบุรี ซึ่งพบว่ามีอัตลักษณ์รูปแบบของความเป็นมอญอยู่ที่วัดแห่งนี้ นั่นคือ “วัดชมภูเวก” 

วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี มีรูปแบบความเป็นมอญปรากฏให้เห็นชัดเจนคือ ลักษณะของเจดีย์ทรงมอญที่เรียกว่า พระธาตุมุเตา จำลองแบบมาจากหงสาวดี

จากประวัติในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ 2 กล่าวว่า วัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300 (อยุธยาตอนปลาย) โดยผู้สร้างเป็นกลุ่มชาวมอญที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและสร้างเจดีย์มุเตาขึ้นบนเนินอิฐ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเมืองมอญ เรียกวัดนี้ว่า “วัดชมภูเวก” ซึ่งแปลว่า “ขอสรรเสริญบริเวณที่เป็นเนินสูงมีความสงบเงียบ”

ในหนังสือประวัติวัดชมภูเวก เรียบเรียงโดยนายวีระโชติ ปั้นทอง ได้กล่าวว่า วัดสร้างขึ้นโดยชาวมอญกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และพบว่าบริเวณเนินดินเป็นเนินโบราณสถาน จึงพร้อมใจกันสร้างพระธาตุมุเตาเพื่อกราบไหว้บูชา และให้ชื่อว่า วัดชมภูเวก โดยมีมูลเหตุ อาจจะตั้งชื่อตามผู้นำในการสร้าง คือ พ่อปู่ศรีชมภู หรืออาจจะตั้งตามลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นหว้าขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งต้นหว้าตามภาษาบาลีใช้คำว่า ชมพู

พระธาตุมุเตา

พระธาตุมุเตา เป็นเจดีย์ทรงมอญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุมุเตา เมืองหงสาวดี มีจารึกแผ่นหินอ่อนไว้ว่า

“พระธาตุมุ๊ตาว”

พระธาตุมุ๊ตาวที่วัดชมภูเวกพวกชาวมอญได้อพยพเข้ามาจากกรุงหงสาวดี รามัญประเทศ ได้สร้างพระเจดีย์เหมือนพระธาตุมุ๊ตาว ราวพุทธศักราช ๒๒๒๕ เพื่อให้สาธุชนได้เคารพกราบไหว้บูชา

พระธาตุมุเตา สร้างครั้งแรกไม่ใหญ่มากนัก จนถึงปี พ.ศ.2485 มีพระครูลัยได้นำคณะสงฆ์จากเมืองมอญมาก่อสร้างเพิ่มเติม พร้อมกับสร้างเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ไว้แต่ละมุมของพระธาตุมุเตา การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2460 และมีการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ.2534 – 2539

อุโบสถเก่า

อุโบสถเก่า เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่มีลำคลองไหลผ่าน อาคารนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 18.50 เมตร ประตูทางเข้าอยู่ที่บริเวณผนังหุ้มกลองหน้า 1 ประตู และมีหน้าต่างที่ผนังด้านข้าง ด้านละ 3 ช่อง ภายในสุดมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน

พระประธานในอุโบสถเก่า

ภายในอุโบสถเก่ามีจิตรกรรมฝาผนังเต็มทั้ง 4 ด้าน ภาพส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก และภาพอดีตพระพุทธเจ้า แต่ที่ผนังหุ้มกลองหน้าส่วนบนเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าชนะมาร ซึ่งมีภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นภาพพระแม่ธรณีที่มีความอ่อนช้อยและงดงามที่สุดในประเทศไทย

จิตรกรรมพระแม่ธรณี

ในส่วนเครื่องบนอุโบสถเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นลายพรรณพฤกษาประดับด้วยเครื่องถ้วยจีนทั้งแบบเต็มใบและแบบใช้เศษเครื่องถ้วยมาแปะประดับเป็นส่วนกลีบดอก ก้านใบ

ในส่วนกรอบหน้าบันปั้นปูนประดับใบระกาลายใบไม้ และมีรูปเทพพนมอยู่ในตำแหน่งช่อฟ้าและหางหงส์ ส่วนชายคามีปีกนกโดยรอบและด้านหน้ามีการต่อบังสาดยื่นออกมา

หน้าบันอุโบสถเก่า

ด้านนอกอุโบสถเก่า มีแท่นใบเสมาอยู่รอบทั้ง 8 ทิศ โดยก่ออิฐถือปูนเป็นแท่นสูงตอนบนคล้ายดอกบัวกลุ่ม รองรับด้วยฐานบัวและฐานสิงห์ ซึ่งแท่นเสมาลักษณะนี้เรียกว่า “เสมานั่งแท่น” แต่ทีน่าเสียดายคือ มีใบเสมาสมบูรณ์เหลือเพียงใบเดียวเท่านั้น

เสมาอุโบสถเก่า

บริเวณมุมด้านนอกอุโบสถเก่า มีเจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 มุม แต่ก็มีสภาพไม่สมบูรณ์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงเครื่อง ประกอบด้วยฐานสิงห์ซ้อนกัน 2 ฐาน ต่อด้วยบัวกลุ่มที่รองรับองค์ระฆังย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอดหักหายไป ซึ่งการก่อสร้างเจดีย์บริวารตามมุมเพื่อใช้ประกอบกับอาคารหลังคาคลุม(อุโบสถ)เช่นนี้ แม้ว่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่การสร้างเจดีย์ทรงเครื่องเป็นเจดีย์บริวารลักษณะดังกล่าว มักพบในวัดที่มีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ภาพจิตรกรรมในอุโบสถเก่าจะมีภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับเรียงเป็นแถวบนผนังตอนบนทั้งซ้ายและขวา ส่วนผนังหุ้มกลองด้านหลังตรงกลางเขียนเป็นซุ้มเรือนแก้วและมีภาพพุทธเจ้าอยู่สองข้าง

จิตรกรรมส่วนอื่นๆ จะเป็นเรื่องราวทศชาติชาดกและพุทธประวัติ รวมถึงการถ่ายทอดแบบแผนวัฒนธรรมในสมัยก่อน

พระมาลัยประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สนทนากับพระอินทร์และมีจุฬามณีเจดีย์

พรหมนารทชาดก แสดงการแย่งสิ่งของจากต้นกัลปพฤกษ์

การแต่งการของชาวบ้านและอารมณ์ขันของผู้เขียน

เวสสันดรชาดก : ชูชกมาทูลขอกัณหาและชาลี

พระเวสสันดรชาดก : พระเวสสันดรเรียกกัณหาและชาลีให้ขึ้นมาจากสระน้ำ

ลวดลายเพดาน

มโหสถชาดก : มโสถใช้อุบายหลอกเกวัฏพราหมณ์

กินนรและกินรี ที่ผนังหุ้มกลองด้านหลัง

ขุมนรก

ภาพจิตรกรรมยังมีอีกมากมายให้ชมและน่าจะถูกใจท่านที่ชอบชมความงามของจิตรกรรมโบราณ จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่เดินทางไปเที่ยวชมได้สะดวก เป็นวัดแนะนำอีกวัดหนึ่งในนนทบุรี

ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด