เที่ยววัดหันตรา จุดปะทะพม่าครั้งแรก เส้นทางเดินทัพพระยาตาก#2

By | September 20, 2015

https://youtu.be/HJlCprUE_T4

จากการเที่ยววัดพิชัยสงคราม ซึ่งเป็นจุดแรกของการตั้งทัพตามเส้นทางเดินทัพพระยาตาก … ครั้งนี้ผมจะพาไปเที่ยวต่อในจุดที่ 2 นั่นก็คือทุ่งหันตรา ซึ่งจะมีวัดหันตราตั้งอยู่ในบริเวณนี้ เป็นจุดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ เป็นจุดที่เกิดการปะทะกันครั้งแรกระหว่างกองทัพพระยาวชิรปราการ (พระเจ้าตาก) กับทัพพม่า ซึ่งสุดท้ายแล้วฝ่ายไทยก็เป็นฝ่ายชนะในจุดปะทะนี้ ทำให้เหล่าทหารมีกำลังใจขึ้นมามาก

ผมได้ขับรถตามเส้นทางป้ายบอกทางผ่านวัดพระญาติการาม จนถึงวัดกะสังข์ จากนั้นอีกเล็กน้อยจะถึงทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ซึ่งจะมีป้ายบอกเส้นทางโดยตลอด อีกเล็กน้อยก็จะถึงวัดหันตราแล้วหล่ะครับ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

ผมได้ขับรถมาจอดไว้บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เนื่องจากว่าวัดหันตราแห่งนี้เป็นพระอารามที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ทั้งวัด เมื่อสำเร็จบริบูรณ์แล้วโปรดเกล้าให้จัดการฉลองขึ้นเมื่อเดือน 6 ปีมะเมียสัมฤทธิศก จุลศักราช 1100 หรือ พ.ศ. 2281

บรรยากาศในวัดหันตรา

บรรยากาศในวัดหันตรา

ป้ายแนะนำสถานที่ในวัด

ป้ายแนะนำสถานที่ในวัด

โบสถ์ วัดหันตรา

ต้องบอกว่าบรรยากาศในวัดหันตรา เงียบมาก อาจจะเป็นเพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยมากๆ แต่ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้ก็ยังมีให้เห็นนั่นก็คือโบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งลักษณะคือจะไม่มีประตูทางออกด้านหลัง และไม่มีหน้าต่าง … เนื่องจากพระอุโบสถปิดไว้ ทำให้ผมไม่สามารถเดินเข้าไปกราบพระพุทธรูปด้านในได้ (ในใจก็รู้สึกเสียดายมากๆครับ) เหตุที่ปิดไว้ อาจจะเนื่องมาจากปริมาณนักท่องเที่ยวน้อยมาก

โบสถ์มหาอุตม์

โบสถ์มหาอุตม์

โบสถ์มหาอุตม์สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่มีประตูด้านหลังและไม่เจาะช่องหน้าต่าง เชื่อกันว่าใช้พระอุโบสถ์แห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังที่ศักดิืสิทธิ์ยิ่ง โดยเฉพาะบริเวณที่ทุ่งหันตราแห่งนี้เป็นสถานที่ตั้งทัพรับศึก และเป็นที่ประชุมทัพสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อไปตีเมืองละแวกการสร้างพระเครื่องจึงเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจของเหล่าทหารกล้ากรุงศรีอยุธยา ดังที่เคยได้ยินชื่อติดปากมาจนถึงปัจจุบันว่า”พระยอดธง”ภายในอุโบสถ์มหาอุดแห่งนี้ มีพระประธานปางมารวิชัย พระนามว่า “พระพุทธอนันตชินราช” และนอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับพุทธประวัติให้แก่พุทธศาสนิกชน … ที่มา : วัฒนธรรมอำเภอพระนครศรีอยุธยา

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ

วัดหันตรามีชื่อในพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า จุลศักราช ๑๑๐๐ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนนาวาพยุหไปฉลองวัดหันตรา และสมโภชอาราม ๓ วัน

บรรยากาศจากด้านหลังวัด

บรรยากาศจากด้านหลังวัด

พระพุทธฉายจำลอง

พระพุทธฉายจำลอง

พระพุทธฉายจำลององค์นี้ สันนิษฐานว่ามีการสร้างขึ้นมานับร้อยปี แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจหรือรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธฉายจำลองตรงนี้ ซึ่งผมเองนั้นก็ไม่เคยรู้มาก่อนเช่นกัน ผมเริ่มมาหาข้อมูลหลังจากที่ได้เดินทางไปที่วัดแล้ว จึงได้รู้ว่าพระพุทธฉายมีความเก่าแก่มากๆ ซึ่งผมวางแผนจะกลับไปยังสถานที่นี้อีกครั้ง

ลักษณะพระพุทธฉาย เป็นแบบ 2 มิติ มีการซ่อมแซมในช่วงปี พ.ศ. 2547 ลักษณะยังคงแบบเดิมไว้ มีพุทธสาวกสันนิษฐานว่าเป็นปัญจวัคคีย์ทั้ง 5  คือพระอัญญาโกณฑัญญะ พระภัทริยะ พระวัปปะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ

อ่านเรื่องราว พระพุทธฉายวัดหันตราได้ที่ สถาบันอยุธยาศึกษา

ศาลาริมคลองหลังวัด

ศาลาริมคลองหลังวัด

บรรยากาศริมคลองหลังวัด

บรรยากาศริมคลองหันตราหลังวัด

ผมใช้เวลาเดินชมพื้นที่ในวัดหันตรา ไม่นานเท่าไหร่นัก เพราะบรรยากาศเงียบมาก อีกทั้งพระอุโบสถก็ปิดอยู่จึงไม่ได้เข้าไปด้านใน … แม้บรรยากาศในวัดจะเงียบเหงา แต่ถ้าได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ ว่าเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งของเส้นทางเดินทัพพระยาตาก ก็คงจะรู้สึกภาคภูมิใจมากขึ้น

เลียบคลองข้าวเม่า (เส้นทางเดินทัพพระเจ้าตาก)

ลองมาเที่ยวกันดูนะครับ ผมอยากให้วัดแห่งนี้มีบรรยากาศที่มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์และทำบุญกันมากกว่านี้ แล้วพบกันในเส้นทางเดินทัพพระยาตาก ที่วัดโกโรโกโส (อนุสรณ์สถานบ้านข้าวเม่า-ธนู) ต่อไปนะครับ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด