ตามรอยพระมหาสีทน วัดสมศรี ขอนแก่น พระอาจารย์ของหลวงปู่ผาง

By | September 21, 2017


https://youtu.be/QX8ri0VJ05c

สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยความศรัทธาทุกท่าน ครั้งนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดสมศรี ขอนแก่น สถานที่ที่พระมหาสีทน กาญจโน เคยจำพรรษาที่นี่

หลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคยชื่อของหลวงพ่อพระมหาสีทน รวมถึงตัวผมเช่นกัน สำหรับในจังหวัดขอนแก่นนั้น โดยส่วนตัวผมคิดว่าในสายพระกรรมฐาน หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต แห่งวัดอุดมคงคาคีรีเขต จะมีชื่อเสียงมากที่สุด และหลายท่านจะรู้ว่าหลวงปู่ผางเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

แต่รู้หรือไม่ครับ หลวงปู่ผางท่านก็เป็นศิษย์ของหลวงพ่อพระมหาสีทนอีกรูปหนึ่งอีกด้วย จากสาเหตุนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมต้องเดินทางมายังวัดสมศรี เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราวทั้งหมดไว้ให้เป็นอนุสรณ์แก่ครูบาอาจารย์ต่อไป

การเดินทางของผม เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเดินทางกลับบ้านที่ขอนแก่นพอดี

ซุ้มประตูวัดสมศรี

การเดินทางตรงกับช่วงพายุเข้าโจมตีภาคอีสานพอดีเลยครับ บรรยากาศก็ครึ้มฟ้าครึ้มฝน จึงต้องรีบเก็บบรรยากาศก่อนที่ฝนจะตกลงมา … เรื่องของพายุเข้าภาคอีสานปีนี้ ถือว่าหนักเอาการโดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ที่ได้รับภัยพิบัติอุทกภัยนานเป็นเดือนเลยครับ

จุดจอดรถ

ผมจอดรถไว้บริเวณหอธรรมสภา และรีบออกเดินดูบรรยากาศทันที… ในบริเวณวัดเงียบสงบเพราะไม่ใช่ช่วงงานบุญ อีกทั้งไม่ใช่วัดท่องเที่ยวจึงไม่ค่อยจะมีผู้คนในวัดนัก

ถ้าไม่ทราบเรื่องราวว่าที่นี่เป็นถิ่นครูบาอาจารย์ หลายคนก็คงไม่ค่อยแวะเวียนมาเท่าไหร่นัก

สมเด็จพระพุทธกาญจโนภาสศาสดาหรือหลวงพ่อพระคือ

จุดเด่นที่วัดสมศรีคือ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานบนวิหารภายในวัดพระนามว่า สมเด็จพระพุทธกาญจโนภาสศาสดา หรือ หลวงพ่อพระคือ

การตั้งชื่อพระพุทธรูป ได้ใช้ฉายาของหลวงพ่อพระมหาสีทนในการตั้ง แต่ชาวบ้านจะคุ้นเคยเรียกกันว่า หลวงพ่อพระคือ… เพราะวัดสมศรี ตั้งอยู่ที่บ้านพระคือ นั่นเอง

รูปถ่ายพระมหาสีทนในวิหาร

ถัดเข้าไปจะเป็นพระอุโบสถหลังใหม่ และมีพระอุโบสถหลังเก่าอยู่เยื้องกันเล็กน้อย ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมไปมากแล้ว

ส่วนหลังพระอุโบสถจะเป็นพระวิหารหลวงพ่อพระมหาสีทน ซึ่งได้เก็บรักษาอัฐบริขารของหลวงพ่อไว้ด้วย

พระอุโบสถหลังใหม่

พระอุโบสถหลังเก่า

วิหารหลวงพ่อพระมหาสีทน

ร฿ปหล่อพระมหาสีทนในวิหาร

ผมได้กราบรูปหล่อหลวงพ่อพระมาหสีทน และชมอัฐบริขารของหลวงพ่อ แต่มองเห็นไม่ชัดเจนนักเพราะวิหารถูกล็อคประตูไว้จึงต้องมองผ่านกระจกด้านหน้า

ผมใช้เวลาไม่นานนักในการชมบรรยากาศทั้งหมด เพราะฝนมีทีท่าจะตกลงมา จึงขอแนะนำสำหรับท่านที่ศรัทธาในพระกรรมฐานสายป่า ที่วัดสมศรีจึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่ท่านควรเดินทางมาตามรอยครับ

ประวัติหลวงพ่อพระมหาสีทน กาญจโน (พอสังเขป)

ประวัติย่อฉบับนี้คุณภากรได้อาราธนา หลวงปู่โส กัสสโป แห่งวัดป่าคำแคนเหนือ จ.ขอนแก่น ได้เมตตาบอกเล่าให้ศิษย์ได้บันทึกไว้ซึ่งหลวงปู่โสก็ได้เมตตาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับหลวงปู่มหาสีทนให้พระภิกษุ ได้บันทึกส่งให้คุณภากร

บันทึกฉบับนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คุณภากรเก็บบันทึกนี้ไว้หลายปี เพิ่งมาค้นพบอีกครั้งและได้ส่งมาให้ “คาบใบลานผ่านลานพระ” เพื่อให้ประวัติและปฏิปทาของหลวงปู่มหาสีทนได้แพร่หลายสืบต่อไป

หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน บิดาของท่าน ชื่อนายจันทร์ศรี อวยพร มารดาชื่อ นางบุญจันทร์ อวยพร ท่านเกิดวันจันทร์ที่… เดือนพ.ย. พ.ศ. 2449 ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของบิดามารดา ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านก่อ ต.หนองไข่นก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

ตอนปฐมวัย ท่านได้จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนบ้านก่อ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่บ้านนั้นเอง ช่วงวัยหนุ่มของหลวงปู่นั้น ท่านได้เข้าอบรมเป็นครูช่วยสอนนักเรียนที่ อ.พิบูลมังสาหาร ต่อจากนั้นท่านได้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายทางโลกและเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากครูช่วยสอนเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านขี้เหล็ก ต.หัวเรือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งมี พระครูซาว เป็นพระอุปัชฌาย์ จนอายุล่วงเข้า 20 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ (มหานิกาย) ที่วัดบ้านขี้เหล็กแห่งเดิมนี้ โดยมีพระครูซาวเป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเดิม

หลังจากหลวงปู่บวชเป็นพระภิกษุได้ 1 พรรษา เพื่อนของท่านก็ชวนลาสิกขา ท่านก็เล็งเห็นว่าถ้าท่านยังคงบวชอยู่อย่างนี้ต่อไป ใครจะดูแลบิดามารดา ซึ่งท่านทั้งสองก็แก่เฒ่าชราภาพลงทุกวัน เมื่อพิจารณาใคร่ครวญอย่างนี้แล้ว ท่านจึงลาสิกขา

หลังจากท่านลาสิกขาแล้ว ท่านก็ตั้งหน้าตั้งตาทำการทำงาน เพื่อทดแทนคุณบิดามารดาได้ประมาณ 1 ปี บิดามารดาของท่านก็ปรารภกับท่านถึงการมีครอบครัว ทั้งบิดามารดาของท่านก็ได้ติดต่อทาบทามฝ่ายหญิงไว้แล้ว แม้ตัวท่านเองและฝ่ายหญิงก็มีความสนิทสนมคุ้นเคย ต้องตาต้องใจกันอยู่ แต่ท่านเองก็ยังไม่ได้ตอบตกลงเสียทีเดียว แต่ขอเวลาคิดดูก่อน ท่านได้ไปนอนคิดพิจารณาที่ศาลาโรงธรรมวัดบ้านขี้เหล็ก อันเป็นวัดที่ท่านเองบรรพชาและอุปสมบทก่อนนี้ ท่านใช้เวลาใคร่ครวญอยู่ถึง 3 วัน จึงสามารถตัดสินใจได้ว่าการใช้ชีวิตในการครองตนเป็นฆราวาส มีแต่ความวุ่นวาย หาความสบายใจไม่ได้ ยิ่งต้องมีครอบครัวแล้ว เป็นการสร้างภาระนานัปการ

หลังจากที่ท่านได้ปรารภกับตนเองแล้ว ท่านก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะอุปสมบทอีกครั้ง แต่ท่านยังคงตัดสินใจไม่ได้ว่าจะบวชที่ใดดี หลวงปู่ท่านได้พิจารณาว่า ที่วัดป่าบุญญานุสรณ์ บ้านหนองวัวซอ ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มี พระอาจารย์เพชร ซึ่งเป็นเครือญาติของท่านได้ไปบำเพ็ญสมณกิจอยู่ ซึ่งตัวท่านเองก็มีความเลื่อมใสในพระอาจารย์เพชรอยู่มาก นอกจากพระอาจารย์เพชรแล้ว ก็ยังมี พระอาจารย์ขัน และ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ซึ่งเป็นคนพื้นเพเดียวกันด้วย ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจที่จะอุปสมบทเป็นพระธรรมยุต และเดินทางไปอุปสมบท ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเวที เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กาญจโน” เมื่อวันที่ 18 เม.ย. พ.ศ. 2472

หลังจากอุปสมบท ท่านได้กราบลาท่านเจ้าคุณพระราชเวที มาพักบำเพ็ญสมณกิจที่วัดป่าบุญญานุสรณ์ โดยมีพระอาจารย์เพชรและพระอาจารย์ขันให้การอบรมด้านกรรมฐานอยู่เสมอ และท่านก็ได้พบสหธรรมิกคู่ใจ คือ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม หลังจากที่ท่านได้ช่วยดูแลรักษาความเรียบร้อยและช่วยภารกิจต่างๆ ของวัดพอสมควร หลวงปู่ก็กราบลาท่านพระอาจารย์เพชรและพระอาจารย์ขัน เดินทางไปเรียนบาลีไวยากรณ์ที่วัดโพธิสมภรณ์ ท่านใช้เวลาเรียนอยู่ถึง 4 ปี สอบได้นักธรรมตรี หลวงปู่ท่านมีความตั้งใจที่จะศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ดังนั้น หลังจากได้ศึกษาเล่าเรียนพอเป็นแนวทางแล้ว ท่านก็ออกแสวงหาโมกขธรรม มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้ชวนพระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ไปกราบคารวะ หลวงปู่สุวรรณ ซึ่งมาพักปักกลดอยู่ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อฟังธรรมปฏิบัติ

หลวงปู่ท่านศึกษาโมกขธรรมอยู่เป็นเวลานาน จนอายุพรรษาได้ 9 พรรษา ท่านจึงอยากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่บ้านก่อ หลังจากออกพรรษาท่านก็เดินทางไปยังบ้านก่อ และได้แวะไปกราบนมัสการและบำเพ็ญสมณธรรมกับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พรรษาที่ 10 ท่านได้จำพรรษาที่บ้านก่อ อันเป็นบ้านเกิดของท่าน และอาศัยชาวบ้านที่คุ้นเคยและศรัทธาปลูกกุฏิให้พออาศัยบังแดดบังฝน มีพระเณรมาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยราว 20 รูป ท่านจึงได้เริ่มสอนบาลีที่บ้านก่อเป็นแห่งแรก พอออกพรรษาแล้ว ราวๆ พ.ศ. 2482 ท่านได้กลับไปที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ก็มีพระเณรติดตามไปด้วย ท่านจึงได้เปิดสอนบาลีอีก พอออกพรรษา พ.ศ. 2483 พระเทพบัณฑิต (อินทร์ ถิรเสวี) ได้นิมนต์หลวงปู่ไปที่บ้านพระคือ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีพระอยู่

เมื่อหลวงปู่มาดูก็ชอบใจ จึงได้อยู่จำพรรษาที่วัดสมศรี บ้านพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เนื่องจากหลวงปู่มีความรู้ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ จึงมีพระเณรร่วมจำพรรษาในแต่ละปีอย่างต่ำราวๆ 30 รูป ซึ่งหลวงปู่ได้แนะนำพร่ำสอนอย่างเอาจริงเอาจังตามนิสัยของท่าน โดยนอกจากหลวงปู่จะสอนทางปริยัติ คือ บาลีไวยากรณ์ แล้ว ท่านยังเน้นหนักอย่างในการปฏิบัติกรรมฐานด้วย จนเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากในวงปฏิบัติขณะนั้น

พ.ศ. 2484 ท่านเจ้าคุณ พระเทพกวี (จูม พันธุโล) สั่งให้หลวงปู่ไปสอบเปรียญธรรม หลวงปู่จึงไปสอบ และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
หลวงปู่อยู่ที่วัดสมศรีเรื่อยมาจนกระทั่งพ.ศ. 2487 ท่านจึงออกไปวิเวกที่ภูเก้า อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู และจำพรรษาที่ถ้ำหามต่าง 1 พรรษา โดยอาศัยชาวบ้านวังมน ต.โคกม่วง อ.โนนสัง บิณฑบาตเลี้ยงชีพ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้มาจำพรรษาที่บ้านกุดหินอีก 2 พรรษา ในขณะที่ท่านออกวิเวกนี้ มีลูกศิษย์ติดตามอยู่บ้างเล็กน้อย เพื่อเหมาะแก่การบิณฑบาต เพราะสมัยนั้นบ้านเรือนมีไม่กี่หลังคาเรือน

ขณะที่ท่านพักอยู่ที่บ้านกุดหินนี้ พระอาจารย์คำผุนได้ทราบว่าหลวงปู่เป็นพระกรรมฐานองค์สำคัญ จึงอาราธนานิมนต์ให้มาที่บ้านโคกกลาง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ดังนั้น หลวงปู่ พร้อม พระอาจารย์คำผุน และลูกศิษย์จำนวนหนึ่งจึงเดินธุดงค์รอนแรมตามป่าเขามาทางภูโค้ง อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ และจำพรรษาที่วัดป่าบ้านขามป้อมน้อย 1 พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วจึงเดินผ่านบ้านหนองดินดำ เข้าเขต อ.มัญจาคีรี มาพักที่บ้านโคกกลาง และสร้างวัดป่าบ้านโคกกลาง ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น แล้วจำพรรษาที่นั่น 1 พรรษา นอกจากนี้ ท่านยังช่วยบูรณะวัดบ้านสวนหม่อนที่กำลังทรุดโทรม

หลังจากเสร็จการบูรณะวัดบ้านสวนหม่อนแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ไปเยี่ยมเยียน พระอาจารย์มหามณี ที่วัดกุดโง้ง และท่านได้ตั้งวัดป่าบ้านชีวังแคน ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดกุดโง้ง โดยมีแม่น้ำชีคั่นกลาง พระอาจารย์มหามณีได้ปรารภกับหลวงปู่ว่าท่านอยากให้หลวงปู่ช่วยอบรมพระเณรและ ดูแลความเรียบร้อยในวัดกุดโง้งให้ด้วย เพราะตัวท่านเองก็ชราภาพมากแล้ว โดยจะพักอยู่ที่วัดป่าบ้านวังแคนหรือวัดกุดโง้งก็ได้

นอกจากนี้ พระอาจารย์มหามณียังได้ปรารภเรื่องการญัตติพระเณรในวัดจากมหานิกายเป็น ธรรมยุต เมื่อไม่มีอะไรติดขัด จึงได้ทำการญัตติพระเณรในวัดทั้งหมดทุกรูป ดังนั้นหลวงปู่จึงเริ่มทำการบูรณะวัดกุดโง้ง โดยอาศัยพระเณรและศรัทธาญาติโยม ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุ อาทิ กุฏิ ศาลาโรงธรรม เป็นต้น โดยท่านข้ามฟากแม่น้ำชีมาควบคุมการก่อสร้างและดูแลความเรียบร้อยที่วัดกุด โง้ง และยังต้องดูแลถาวรวัตถุ ตลอดทั้งพระเณรและญาติโยมที่วัดป่าบ้านชีวังแคนด้วย ถือเป็นภาระอันยากยิ่ง แต่ท่านก็ทำจนสำเร็จ
ขณะเดียวกันญาติโยมทางบ้านพระคือก็เดินทางมากราบเยี่ยมและนิมนต์หลวงปู่กลับ ไปโปรดชาวบ้านพระคืออีก เนื่องจากเห็นวัตรปฏิบัติ พร้อมทั้งปฏิปทาของหลวงปู่ อันเปี่ยมไปด้วยวิชชาและจรณะ เป็นที่พึ่งของฆราวาสญาติโยมได้

พ.ศ. 2506 หลวงปู่เดินทางไป อ.เซกา จ.หนองคาย ในหน้าที่พระธรรมทูต แม้อายุของท่านจะมากขึ้น แต่ท่านยังคำทำหน้าที่เพื่อพระพุทธศาสนาอย่างไม่บกพร่อง และได้จำพรรษาที่วัดสันติกาวาส ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.หนองคาย ถึง 3 พรรษา

ในบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่ ราวๆ พ.ศ. 2514 หลวงปู่เดินทางกลับมาที่วัดสมศรี บ้านพระคือ โดยคณะศรัทธาญาติโยมเดินทางไปนิมนต์ ท่านเองก็ยินดีที่จะกลับมา แต่มาในฐานะพระอาคันตุกะ และได้สร้างศาลาขึ้นที่บ้านพระคือด้วย

หลวงปู่ท่านอยู่ที่วัดสมศรี บ้านพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2518 ณ โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น

หลวงพ่อพระมหาสีทน พระอาจารย์ของหลวงพ่อผาง

หลังจากที่หลวงพ่อผาง จิตตคุตโตได้กราบลาหลวงปู่มั่นเพื่อออกธุดงค์ตามนิมิตมายังภูผาแดง ปัจจุบันคือวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลวงพ่อผางได้เล่าไว้ในหนังสือรับรองการสร้างวัด ที่ท่านได้ให้การไว้กับกรมป่าไม้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งที่ท่านในฐานะเจ้าอาวาสวัดอุดมคงคาคีรีเขต ได้ทำเรื่องขอกันพื้นที่วัดจำนวน 480 ไร่ ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไว้ดังนี้

“ได้ธุดงค์เข้ามาถึงวัดแห่งนี้ สมัยนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า “ดูน” ในครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 แต่พอมาถึงก็เห็นท่านพระมหาสีทน กาญฺจโน ได้ปักกลดอยู่ใต้ร่มไม้องค์เดียวอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระมหาสีทน กำลังพาญาติโยมทำเป็นเพิงกันฝนสำหรับพักฉันข้าวหลังเล็กๆ ขึ้น 1 หลัง 

ได้พูดคุยอยู่กับท่านพระมหาสีทน ตอนเย็นในช่วงที่อยู่ด้วยกันเป็นประจำ หลวงพ่อผางได้ถามท่านพระมหาสีทนว่า ได้มาปฏิบัติกรรมฐานอยู่องค์เดียวอย่างนี้กี่ปีแล้ว

หลวงพ่อผาง จิตตคุตโต

พระมหาสีทนท่านตอบว่า ตั้งแต่ผมเข้ามาอยู่ที่นี้ราวๆ 10 ปีเห็นจะได้ ตอนผมเข้ามาอยู่ใหม่ๆ สัตว์ร้ายนานาชนิดมาก และชุกชุมจนไม่มีใครกล้าเข้ามาในบริเวณนี้ได้เลย ท่านพระมหาสีทนพูดต่อไปว่า ตอนกลางคืนของทุกๆ คืน เสือก็มาหาผมบ้าง ช้างก็มาหาผมบ้าง ยังไม่มีใครสนใจผมหรอกในตอนนั้น เพราะเขากลัวสัตว์ร้าย ผมออกไปบิณฑบาต บ้านโสกใหญ่บ้าง บ้านดอนแก่นเท่าบ้าง บ้านโสกน้ำขุ่นบ้าง ตอนแรกเขายังไม่ศรัทธาเลย เด็กๆพากันวิ่งหนีเวลาเห็นผมไปบิณฑบาต ผมก็นึกสงสารเขามาก เขาคงจะกลัวถึงได้วิ่งหนี แต่พอนานๆ เข้า เขาก็ไม่กลัว ผู้เฒ่าผู้แก่จะมาทำกุฏิถวายผมเหมือนกัน แต่ผมไม่ให้เขาทำ เพราะผมยังไม่แน่ว่าจะธุดงค์ต่อไปไหนอีก ท่านมาก็ดีเหมือนกัน ผมกำลังอยากมีเพื่อนอยู่พอดี ผมขอนิมนต์อยู่ที่นี้นะ

หลวงพ่อผางและหลวงพ่อพระมหาสีทนได้อยู่ด้วยกันมาอีกประมาณ 4-5 ปี พระมหาสีทนก็ขอลา ออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือ แล้วไม่กลับมาอีกเลย

ตอนเราอยู่ด้วยกัน ได้พาญาติโยมสร้างกุฏิขึ้น 2 หลัง ศาลาพักฉันข้าว 1 หลัง ตอนนั้นมีทายกทายิกาช่วยกันสร้าง ทั้งสามหมู่บ้านด้วยกัน มีทายกทายิกาประจำวัดตอนนั้น ได้แก่

1. นายผง บ้านโสกน้ำขุ่น 2. นายหอม บ้านดอนแก่นเท่า 3. นายสม บ้านโสกใหญ่ เป็นทายกอุปัฏฐากวัด ตอนนั้นยังไม่มีใครสนใจทำหลักฐานอะไรไว้ เพราะไม่มีผู้เขียนหนังสือได้กันเลยในตอนนั้น การคมนาคมก็ไม่สะดวก เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองมาก”

***************************************************

แม้หลวงพ่อผางจะอายุมากกว่าพระอาจารย์มหาสีทน (หลวงพ่อผางแก่กว่าพระมหาสีทน 4 ปี) แต่ตามธรรมเนียมพระที่นับอาวุโสจากพรรษาที่บวช (พระมหาสีทนมีพรรษามากกว่าหลวงพ่อผาง 15 ปี) หลวงพ่อผางผู้มาเยือนจึงได้ก้มลงกราบพระอาจารย์มหาสีทนและตกลงจำพรรษาที่วัดดูน (วัดอุดมคงคาคีรีเขต)

พระอาจารย์มหาสีทนนั้นท่านเป็นพระป่ากรรมฐานที่มีวิชาอาคม หลังจากท่านสอบเปรียญธรรม 3 ประโยคได้ ท่านจึงออกเดินธุดงค์แสวงหาความสงบและเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงการสร้างวัดวาอารามและถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ในพระพุทธศาสนาหลายแห่ง 

ประมาณว่าเมื่อท่านเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ใด และพบว่าวัดไหนอยู่ในสภาพทรุดโทรม ท่านก็จะอยู่ช่วยบูรณะ ส่วนบางสถานที่หากท่านพิจารณาเห็นว่าที่นี่เหมาะสม ท่านก็จะสร้างวัดและถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กับเจ้าอาวาสก่อนที่ท่านจะออกเดินธุดงค์ต่อไป ทำให้ท่านเป็นพระที่มีลูกศิษย์มากมาย

จนเมื่อท่านได้เดินธุดงค์มาถึงบริเวณเขตวัดดูน ซึ่งในระยะแรกที่พระอาจารย์มหาสีทนอยู่จำพรรษา สิ่งปลูกสร้างในวัดมีเพียงศาลาและกุฏิหลังคาแฝกเพียงหลังเดียวเท่านั้น ไม่มีใครทราบว่า เพราะเหตุใดพระอาจารย์มหาสีทนจึงมิได้ขยับขยายหรือเร่งรีบในการก่อสร้างเสนาสนะแต่อย่างใด ผิดกับวัดอื่นๆ ที่ท่านเคยสร้างมา ประหนึ่งเหมือนท่านจะรอคอยบางอย่าง

จนกระทั่งอีก 10 ปีต่อมา เหตุผลของการรอคอยก็ปรากฏ

ทั้งนี้เพราะพระอาจารย์มหาสีทนเหมือนหนึ่งได้ทราบแล้วว่าต่อไปวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ จะเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยฝีมือและบารมีของพระภิกษุผู้มาเยือน ดังนั้นเมื่อหลวงปู่ผางได้ถวายตัวเป็นศิษย์ ท่านจึงได้เมตตาแนะนำการปฏิบัติกรรมฐานพร้อมกับถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้หลวงปู่ผางจนหมดสิ้น 

ด้วยทุนบารมีเดิมที่มีอยู่ติดตัวมาตั้งแต่อดีตชาติ ทำให้ในเวลาไม่นานนักหลวงปู่ผางสามารถเรียนรู้และแตกฉานในสิ่งต่างๆ ที่พระอาจารย์มหาสีทนได้สอน และเมื่อพระอาจารย์มหาสีทนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลวงปู่ผางสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองแล้ว พระมหาสีทนก็ออกธุดงค์ไปทางภูเก้า เขตท้องที่อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี และไม่ได้กลับมาอีกเลย

บทส่งท้าย

วัดสมศรี เป็นอีกหนึ่งวัดในจังหวัดขอนแก่น ที่มีความสำคัญในวงพระกรรมฐานที่ชาวพุทธจะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของพระสุปฏิปันโน ที่เป็นเนื้อนาบุญแห่งโลก เช่นหลวงพ่อมหาสีทน กาญจโน

ถึงแม้บรรยากาศจะดูเงียบเหงา เพราะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด แต่ถ้าท่านใดรู้ถึงเรื่องราวครูบาอาจารย์ จะได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่น่าตามรอยยิ่งนักครับ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com