วัดสี่เหลี่ยม วัดร้างริมถนนก่อนเข้าเมืองอยุธยา

By | October 9, 2019

https://youtu.be/wASinYPWf0M

วัดสี่เหลี่ยม วัดร้างข้างถนนก่อนเข้าเมืองอยุธยากับเจดีย์ทรงแปลกตาที่หลายคนไม่เคยรู้… สวัสดีครับท่านผู้ติดตามและรักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยอดีตทุกท่าน วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางเข้าสู่เมืองพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเข้าเมือง เราจะสังเกตเห็นเจดีย์ร้างข้างถนนก่อนถึงวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม หลายท่านคุ้นตากันเป็นประจำ ด้วยความคุ้นชินอาจทำให้ไม่ได้สนใจถึงวัดร้างแห่งนี้

จากแผนที่วัดและโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ได้ระบุในแผนที่ว่า ตำแหน่งตรงนี้คือ “วัดสี่เหลี่ยม” มีความโดดเด่นขององค์เจดีย์ รูปทรงที่ไม่ค่อยได้เห็นมากนักในอยุธยา

แผนที่ตำแหน่งวัดสี่เหลี่ยม(ร้าง)

ผมจึงได้เดินทางไปพร้อมกับ ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม เพื่อลงพื้นที่นำข้อมูลสันนิษฐานมาแบ่งปันความรู้เพิ่มเติมให้กับท่านผู้ติดตามครับ

Loading…

เจดีย์วัดสี่เหลี่ยม(ร้าง)

ท่านที่สนใจไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก สามารถจอดรถไว้ริมทางแล้วเดินเข้าไปชมกันได้ครับ นอกจากองค์เจดีย์ที่หลงเหลือ เราจะได้พบกับซากองค์พระพุทธรูปหินทรายข้างกับองค์เจดีย์นี้ ซึ่งเหลือเพียงส่วนลำตัว

พระพุทธรูปหินทราย วัดสี่เหลี่ยม(ร้าง)

ซากพระพุทธรูปมีองค์ค่อนข้างใหญ่ มีรูแกนสำหรับใส่สลักพระเศียร

ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม ได้ให้ข้อสันนิษฐานจากรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไว้อย่างน่าสนใจ เพราะรูปแบบเจดีย์เช่นนี้ค่อนข้างแปลกตา ไม่ได้พบทั่วไปในอยุธยา ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์แบบชาวพยูในเมืองมอญ (เจดีย์แบบลอมฟาง)

เจดีย์ทรงพยู(ลอมฟาง) รุ่นแรกในประเทศเมียนมาร์ (ฐานกลม)

เจดีย์ทรงพยู(ลอมฟาง) รุ่นแรกในประเทศเมียนมาร์ (ฐานสี่เหลี่ยม)

จากรูปแบบเจดีย์ในประเทศพม่า จึงมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ที่วัดสี่เหลี่ยมแห่งนี้

สัณฐานเจดีย์ วัดสี่เหลี่ยม(ร้าง)

องค์ประกอบสำคัญของเจดีย์แบบพยู(ลอมฟาง) ประกอบไปด้วย ฐานสองชั้นบนผังสี่เหลี่ยม มีลวดบัวกลม(บัวลูกแก้ว) คาดกลางทั้งสองชั้น ตัวองค์ระฆังลักษณะแบบลอมฟาง(คล้ายฟางกองพูนขั้น) เหนือองค์ระฆังเป็นก้านฉัตร

จากรูปแบบเจดีย์จึงสันนิษฐานได้ว่า เจดีย์นี้อาจจะสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นไป เพราะช่วงนั้นมีการกวาดต้อนชาวมอญเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอาจจะมีเชื้อสายชาวพยูในรัฐมอญ และมีการนำรูปแบบวัฒนธรรมของตนเองมาสร้างเจดีย์ในรูปแบบของตนเอง และลวดบัวลูกแก้วที่คาดตรงกลางฐานเจดีย์ทั้งสองชั้น จะพบมากในรูปแบบเจดีย์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เช่นกัน

จึงเป็นรูปแบบเจดีย์ที่ไม่ค่อยได้เห็นกันนักในอยุธยา และหลายท่านอาจจะไม่ได้สังเกตแม้จะมองเห็นผ่านตาอยู่เป็นประจำ

จากข้อมูลนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเพิ่มเติมของท่านที่รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยอดีตและวัฒนธรรมต่อไปนะครับ

ขอขอบคุณการติดตาม พบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ…แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด