วัดสำแล วัดสวยที่ชาวมอญอพยพสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา

By | August 6, 2019

https://youtu.be/Jxg3Ce_d-_w

วัดสำแล ปทุมธานี วัดสวยที่ชาวมอญอพยพสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา… สวัสดีครับท่านที่รักการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยววัดสวยงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อว่า “วัดสำแล” ที่มีเรื่องราวว่าชาวมอญอพยพได้สร้างไว้ ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเป็นมอญอย่างชัดเจนคือ เจดีย์แบบมอญและเสาหงส์ธงตะขาบ

อีกทั้งมีสถูปบรรจุอัฐิของคีตกวีชั้นครูอยู่ที่นี่ คือครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แต่งเพลงชื่อดัง มนต์รักลูกทุ่ง

วัดสำแล ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านกระแชง อ.เมือง จ.ปทุมธานี วัดแห่งนี้สร้างโดยชาวมอญที่อพยพเข้ามาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2  ต่อมาวัดเกิดความทรุดโทรมและได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ.2412

วัดสำแลติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีบรรยากาศที่เย็นสบาย ถ้าเราเดินทางผ่านหน้าวัดจะไม่เห็นความสวยงามของหมู่เจดีย์แบบมอญ ซึ่งตั้งหลังวัด (ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) ดังนั้นเมื่อผ่านมายังวัดสำแล อย่าลืมแวะเที่ยวชมความงามของเจดีย์แบบมอญหลังวัดด้วยนะครับ

อุโบสถ

ด้านหน้าวัดสำแล จะเห็นอุโบสถหลังใหม่สวยงาม ซึ่งสร้างแทนอุโบสถหลังเก่าในปี พ.ศ.2547 และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2551 โดยมีคุณสมบูรณ์ เตชะมงคลกิจ นักธุรกิจที่มีบ้านเกิดอยู่ที่นี่ร่วมบริจาคกว่า 16 ล้านบาท

ข้างอุโบสถหลังใหม่ เป็นอุโบสถหลังเก่าเป็นแบบมหาอุตม์ แต่หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา

ความวิจิตรหน้าบันอุโบสถหลังใหม่

หลังจากที่ชมความสวยงามหน้าบันของอุโบสถหลังใหม่แล้ว ผมจึงเดินไปหลังวัด ทั้งนี้เราสามารถขับรถไปจอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้เช่นกันครับ

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดสำแล

วัดสำแลมองจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เสาหงส์ ธรงตะขาบ (สัญลักษณ์ชาวมอญ)

ตำนานสัญลักษณ์ชาวมอญ

ธงตะขาบ

มีตำนานเล่าว่า ณ ดอยสิงคุตต์ เมืองย่างกุ้ง มีตะขาบยักษ์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่และชอบจับช้างมากินเป็นอาหาร จนซากช้างกองสุมเต็มไปหมด

วันหนึ่งมีพ่อค้าจากต่างแดนผ่านมาพบซากช้างนี้ จึงอาศัยจังหวะที่ตะขาบยักษ์ออกไปหากิน คัดเลือกและขนงาช้างลงเรือสำเภาของตนไป เมื่อตะขาบยักษ์กลับมาเห็นก็โกรธมาก จึงไล่ตามพ่อค้านั้นลงไปในทะเล แต่กลับต้องพบกับปูยักษ์เจ้าทะเลขนาดมหึมา เจ้าตะขาบยักษ์สู้ไม่ได้จึงถูกปูยักษ์จับกินเป็นอาหารไปในที่สุด

ต่อมาในสมัยพุทธกาล ตปุสสะและภัลลิกะ พ่อค้าจากอุกกลชนบท ได้พบกับพระพุทธเจ้าและได้แสดงตนเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าจึงประธานพระเกศาธาตุให้ทั้งสองคน ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองของตนแล้ว ก็ได้เสาะหาสถานที่ก่อสร้างเจดีย์บรรจุเกศาธาตุ จนมาสรุปที่ดอยสิงคุตต์ของตะขาบยักษ์ ส่วนเจดีย์นี้ ปัจจุบันก็คือเจดีย์ชเวดากอง และการแขวนธงตะขาบก็เพื่อระลึกถึงตะขาบยักษ์เจ้าถิ่นและบูชาปูชนียสถานด้วยนั่นเอง

หงส์

“หงส์” เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ มีตำนานที่เล่าขานกันมาดังนี้ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ 8 ปี ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่างๆ

จนกระทั่งวันหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล เมื่อน้ำงวดสูงได้ประมาณ 23 วา ครั้งน้ำเปี่ยมฝั่งพอน้ำกระเพื่อม บนเนินดินนั้นมีหงส์ทอง 2 ตัวเล่นน้ำอยู่ ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เนื่องจากเนินดินที่ยืนอยู่มีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว พอที่หงส์ยืนได้ตัวเดียวเท่านั้น

พระพุทธองค์ตนัสว่ากาลสืบไปภายหน้า เนินดินที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นมหานครมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ ที่นี้   

ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 100 ปี เนินดินกลางทะเลใหญ่นั้นก็ตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มีพระราชบุตรของพระเจ้าเสนะคงคา ทรงพระนามว่าสมลกุมาร และวิมลกุมาร เป็นผู้รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นเมืองขึ้น เป็นอันว่าเมืองหงสาวดี ซึ่งมอญเรียกว่า อองสาแวะตอย ได้เกิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองลงเล่นน้ำอยู่นั่นเอง

ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศแต่นั้นมา 

คนมอญนั้นมีชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา จึงสร้างเสาหงส์ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัด เป็นการแสดงว่าวัดนั้นเป็นวัดมอญ

หอระฆัง

หอระฆังวัดสำแล เป็นหอระฆังเก่าที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 และมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2546

หมู่เจดีย์แบบมอญ

หมู่เจดีย์แบบมอญ

จุดเด่นของวัดสำแลคือหมู่เจดีย์แบบมอญ ซึ่งมีความสวยงามโดดเด่นรับกับอุโบสถของวัด 

สถูปบรรจุอัฐิครูเพลง ไพบูลย์ บุตรขัน

ระหว่างที่เดินชมหมู่เจดีย์ ก็ไปสะดุดเห็นสถูปบรรจุอัฐิของคีตกวีลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงมากในอดีต เพลงที่หลายคนคุ้นเคยคือ เพลงมนต์รักลูกทุ่ง

ครูไพบูลย์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2515 และมีการบรรจุอัฐิที่วัดแห่งนี้ เพราะเป็นบ้านเกิดของท่าน

หลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ในปี พ.ศ. 2532 เพลงของครูไพบูลย์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกไทย ถึง 10 เพลง ได้แก่ “ชายสามโบสถ์” (ขับร้องโดย คำรณ สัมบุญณานนท์) “น้ำตาเทียน” (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ) “บ้านไร่นารัก” และ “เพชรร่วงในสลัม” (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) “ฝนซาฟ้าใส” (ขับร้องโดย ยุพิน แพรทอง) “ฝนเดือนหก” (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์) “บุพเพสันนิวาส” และ “มนต์รักแม่กลอง” (ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ) “มนต์รักลูกทุ่ง” (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) และ “ยมบาลเจ้าขา” (ขับร้องโดย บุปผา สายชล) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลจากเพลง “หนุ่มเรือนแพ” (ขับร้องโดย กาเหว่า เสียงทอง)

ความงามหน้าบันหลังอุโบสถหลังใหม่

ที่มาของชื่อ วัดสำแล

หลังจากชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ ผมจึงลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับชื่อวัดสำแลว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร จึงไปพบข้อมูลที่เพจ รามัญคดี – MON Studies

ซึ่งขียนอธิบายที่มาที่ไปไว้อย่างน่าสนใจ จึงยกข้อความมาเรียบเรียงไว้ดังนี้

วัดสำแล (ဘာသာံေလွ) ตั้งอยู่ที่บ้านท้องคุ้ง ณ ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก ปทุมธานี ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก วัดแห่งนี้สร้างโดยมอญที่อพยพเข้ามาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ 200 ปีก่อน มีชื่อเรียกในภาษามอญว่า “เพี่ยว์ธ่มแหมะซะ” (ဘာဓမၼသ) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหมู่บ้านมอญในแขวงเมือง จย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ (ประเทศพม่าปัจจุบัน)

โดยปกติ คนมอญเมื่ออพยพมาจากเมืองมอญ มักนิยมตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามเดิมที่เคยอยู่อาศัยในเมืองมอญ เพราะมากันเป็นกลุ่มใหญ่ และคงต้องการให้พวกมาทีหลังได้ตามมาถูก จะได้มาอยู่รวมกัน ความที่มอญกลุ่มนี้มาจากหมู่บ้านใหญ่ 2 แห่งติดกัน แต่หากแยกหมู่บ้านใครหมู่บ้านมันแล้ว จำนวนไม่ได้มากเมื่อเทียบกับหมู่บ้านอื่น จึงเกิดการรวมเข้าด้วยกัน คือ หมู่บ้าน “ธ่มแหมะซะ” กับหมู่บ้าน “ซัมเล” ชื่อหมู่บ้านเก่าจึงถูกเรียกสับสน และน่าจะถูกคนภายนอกเรียกขานเสียใหม่ว่า “บ้านท้องคุ้ง” ด้วยมีชัยภูมิบ้านเรือนอยู่ตรงคุ้งน้ำโดดเด่น ขณะที่มอญยังคงเรียกชื่อวัดแบบของใครของมัน “วัดซัมเล” บ้าง “วัดธ่มแหมะซะ” บ้าง

เมื่อคนไม่รู้ความหมาย คิดว่า “สำแล” เป็นคำภาษาไทย จึงเกิดเรื่องราวตำนานว่า สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านมาทางชลมารค เรือพระที่นั่งเลยไปแล้ว แต่ด้วยความงดงามประณีตของวัดวาอาราม พระองค์ทรงผินพระพักตร์มาแล (มอง) ถึง 3 ครั้ง 3 ครา วัดมอญและหมู่บ้านมอญแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “สามแล” ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น “สำแล”

ที่สุดวัดซัมเลก็มีชื่อไทยว่า “วัดสำแล” มีชื่อมอญว่า “วัดธ่มแหมะซะ”

สรุปปิดท้าย

วัดสำแล เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสวยงามวิจิตรทางศิลปกรรม และมีบรรยากาศที่ยอดเยี่ยมด้วยเพราะติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอแนะนำเป็นวัดท่องเที่ยวเพื่อเก็บความสวยงามอีกวัดหนึ่งครับ เดินทางสะดวก ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วยครับ

ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ…แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด