โคกหัวข้าว ชุมชนโบราณนับพันปี โบสถ์ดินโบราณและซากเจดีย์สมัยทวารวดี

By | April 17, 2019
https://youtu.be/FU7vV6usSBc

สวัสดีครับท่านผู้ติดตามรักการท่องเที่ยวทุกท่าน วันน้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปชมแหล่งโบราณสถาน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่น่าจะเป็นสถานที่ Unseen อีกแห่งหนึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้ นั่นก็คือ แหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

ความน่าสนใจของแหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าวนี้คือ มีโบสถ์ดินโบราณอายุกว่า 100 ปี และแหล่งโบราณสถาน เนินดินสมัยทวารวดีอายุนับพันปี พบซากเจดีย์ที่จมใต้ดินสันนิษฐานอายุว่าอาจจะเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา

การเดินทางให้ไปตามถนนสายพนมสารคาม – กบินทร์บุรี(ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) เลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านโคกหัวข้าว ไปตามทางจะพบโบสถ์ดินโบราณแล้วให้ไปจอดรถบริเวณพื้นที่โบสถ์นั้นครับ ส่วนแหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว จะอยู่ถัดไปจากโบสถ์หลังนี้ราว 100 เมตร สามารถเดินไปชมได้ครับ

โบสถ์ดินโบราณอายุกว่า 100 ปี (วัดโคกหัวข้าวเดิม)

จากการสอบถามและค้นหาข้อมูล ได้ระบุว่าโบสถ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดโคกหัวข้าวเดิม ส่วนของหลังคาสวยงามมากครับ

ส่วนหลังคาโบสถ์ดินโบราณ
พระพุทธรูปประดิษฐานภายในโบสถ์โบราณ

พระพุทธรูปประดิษฐานภายในโบสถ์โบราณ
แอดมินตั้ม(ผู้เขียน) ถ่ายรูปกับลายปูนปั้นหน้าบันซุ้มหน้าต่าง

โบสถ์ดินโบราณแห่งนี้ มีศิลปะสวยงามในส่วนของหลังคาและส่วนซุ้มหน้าต่างที่มีลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่ แต่มีเพียงบานเดียว… ส่วนหน้าต่างบานอื่น ไม่พบร่องรอยของลายปูนปั้นอยู่เลย จึงเป็นเรื่องที่แปลกว่าทำไมสร้างตกแต่งเพียงจุดเดียว

ผมใช้เวลาถ่ายรูปและชมสถานที่ราวๆ 30 นาที จึงเดินไปยังเนินทวารวดีซึ่งห่างจากโบสถ์นี้ราวๆ 100 เมตร

ศาลปู่ตา อยู่บริเวณด้านหน้าเนินทวารวดี

เมื่อเดินมาถึงศาลปู่ตา จะสังเกตุเห็นว่า มีการจัดสถานที่ระบุว่าเป็นแหล่งโบราณคดีเนินทวารวดี ได้แก่ มีการก่อสร้างทางเดินไม้ไผ่ เพื่อความสะดวกในการเดินเข้าชมพื้นที่

ทางเดินสู่เนินทวารวดี

บรรยากาศการเดินทางมีความเป็นท้องถิ่นมากๆครับ ตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านโคกหัวข้าว มีการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ตลอดเส้นทาง จึงมีความร่มรื่นอย่างมาก จนมาถึงโบสถ์ดินโบราณจะผ่านทุ่งนาของชาวบ้านได้สัมผัสบรรยากาศท้องถิ่นอย่างเต็มๆเลยครับ

ระหว่างทางจะมีร้านขนมของฝากตั้งอยู่ด้วย ท่านสามารถชมเพิ่มเติมได้ในคลิปวีดีโอ ที่ผมติดให้ชมด้านบนบทความนี้

บริเวณเนินทวารวดี
บริเวณเนินทวารวดี

เมื่อเดินมาถึงเนินทวารวดีโคกหัวข้าวแล้ว จะพบว่ามีร่องร่องการขุดสำรวจจากกรมศิลปากรแล้ว แต่ยังมีสภาพเป็นเพียงหลุมขุดเท่านั้น จะสังเกตุเห็นการเรียงอิฐของเจดีย์ที่จมอยู่ในหลุมที่ขุดสำรวจ

ซากเจดีย์สมัยทวารวดีที่จุมอยู่ใต้ดิน
ลักษณะการเรียงอิฐ

จากการสังเกตุและค้นหาข้อมูลจากรายงานโบราณคดี พบว่ามีการเรียงอิฐขนาดใหญ่สอด้วยดิน เนื้ออิฐมีส่วนผสมของแกลบข้าว (เพื่อช่วยในการเผาอิฐ) การเรียงอิฐเป็นแบบ “เฟรมมิช” คือการเรียงอิฐด้านกว้างและด้านยาวไปตลอด

ชิ้นส่วนโบราณวัตถุ
ชิ้นส่วนโบราณวัตถุ
ชิ้นส่วนโบราณวัตถุ

พบเศษชิ้นส่วนโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั้งแบบภาชนะกระเบื้องเคลือบและดินเผาทั่วไป

ผมใช้เวลาในการเก็บภาพและบันทึกเรื่องราวแล้วเสร็จ จึงเดินทางไปยังวัดโคกหัวข้าว(ใหม่) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งถนนทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อไปชมโบราณวัตถุที่พบบริเวณนี้ แล้วไปเก็บรักษาที่วัดโคกหัวข้าว(ใหม่) ได้แก่ ระฆังหิน ซึ่งพบมากในสมัยทวารวดี

ระฆังหินที่พบในแหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว
โบสถ์วัดโคกหัวข้าว(ใหม่)

จากข้อมูลหลักฐานต่างๆ จึงเชื่อได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่มานับพันปี จึงหลงเหลือซากแห่งอารยธรรมให้ได้เห็นมาจนถึงปัจจุบันนี้ การเดินทางเที่ยวชมโบราณสถานครั้งนี้ ถือว่าเป็นแหล่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ แม้ว่าเนินทวารวดีจะมีสภาพไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่ได้รับการบูรณะ แต่เราจะได้ชมความสวยงามของโบสถ์ดินโบราณอายุกว่า 100 ปี และสัมผัสบรรยากาศท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่เลยทีเดียว

จึงอยากจะขอเรียนเชิญท่านที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวโบราณสถาน ได้เดินทางมายังบ้านโคกหัวข้าวแห่งนี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมีอายุเก่าแก่ที่สุดในฉะเชิงเทราอีกด้วย

ขอขอบคุณการติดตามแล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ / แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com

ช่องทางการติดตามเรื่องราว

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com