ตำนานพระพุทธรูปยืนโบราณพันปี สมัยทวารวดี เมืองโบราณกันทรวิชัย มหาสารคาม

By | October 2, 2020

https://youtu.be/CuiMdFZxnVo

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยตำนาน ณ เมืองโบราณกันทรวิชัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งมีตำนานกล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ ได้แก่ พระพุทธมงคล ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ลาดโพธิ์ วัดพุทธมงคล และ พระพุทธมิ่งเมือง ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดสุวรรณาวาส เป็นพระพุทธรูปยืนโบราณอายุมากกว่าพันปี สมัยทวาราวดี เป็นที่เคารพสักการะของชาวกันทรวิชัยมายาวนาน

พระพุทธมงคล ณ ลานโพธิ์ วัดพุทธมงคล มหาสารคาม

จากหลักฐานทางโบราณคดีของเมืองโบราณกันทรวิชัย แสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนขนาดใหญ่สืบเนื่องมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในสมัยทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา หรือกว่า 1,400 ปีที่แล้ว  สภาพพื้นที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน เพราะเป็นเนินสูง มีคูน้ำล้อมรอบ มีป่าไม้และทรัพยากรอุดมสมบูรณ์

พระพุทธมิ่งเมือง วัดสุวรรณาวาส มหาสารคาม

หลักฐานบันทึกการตั้งเมืองในปัจจุบัน บันทึกว่า เมื่อ ปี พ.ศ. 2413 เพียคำมูล (ต้นตระกูลศิริกิจ) ได้อพยพผู้คนจากจังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ 2,700 คน มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณ “บ้านกันทางร้าง” ขอขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ ทางราชสำนักกรุงเทพฯ จึงตั้งเพียคำมูลเป็นพระปทุมวิเสศเจ้าเมืองคนแรก โดยยกบ้านกันทางร้างเป็นเมืองกันทะวิชัย ต่อมาในปี พ.ศ.2425 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวทองคำซึ่งเป็นหลานพระขันติยะวงศา(จันทร์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระปทุมวิเสศ ผู้ว่าการเมืองกันทะวิชัย

ภาพถ่ายทางอากาศ เมืองโบราณกันทรวิชัย

จนกระทั่งปี พ.ศ.2443 เมืองกันทะวิชัย ได้ถูกยุบเป็นอำเภอ ชื่อ อำเภอกันทรวิชัย ขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2456 อ.กันทรวิชัยถูกโอนขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม จนถึงปี พ.ศ.2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโคกพระ  ตามชื่อวัดบ้านโคกพระหรือวัดสุวรรณาวาสในปัจจุบัน

และในปี พ.ศ.2482 จึงกลับมาให้ชื่อ อ.กันทรวิชัย จนถึงปัจจุบันนี้

ลานโพธิ์ วัดพุทธมงคล

สำหรับเรื่องราวตำนานพระยืน พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองกันทรวิชัย 2 องค์ ได้แก่ พระพุทธมงคล ณ วัดพุทธมงคลหรือวัดบ้านสระ และ พระพุทธมิ่งเมือง ณ วัดสุวรรณาวาส เป็นที่เคารพสักการะของชาวกันทรวิชัยมาช้านาน และมีเรื่องราวตำนานกล่าวขานสืบต่อกันมา ดังนี้

ตำนานพระพุทธรูปยืนโบราณพันปี

ในดินแดนแถบนี้ เป็นเมืองโบราณมาช้านาน เดิมชื่อ เมืองคันธาธิราช หรือ เมืองคันธะวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 14 มีเจ้าเมืองปกครองเรื่อยมา จนถึงสมัยท้าวลินจง มีภรรยาชื่อ นางบัวคำ ได้ปกครองชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุขมาโดยตลอด ต่อมาได้มีบุตรชายชื่อ ท้าวสิงโต หรือ ท้าวลินทอง ซึ่งเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว แต่มีจิตใจโหดเหี้ยมผิดกับผู้เป็นบิดาครองเมือง

ต่อมาท้าวลินจงชรามากขึ้น จึงคิดหาผู้ครองเมืองสืบต่อแทนลูกชายที่มีจิตใจโหดหี้ยม ทำให้ท้าวลินทอง ผู้เป็นบุตรชายเกิดความไม่พอใจ จึงได้จับบิดาของตนเองขังในห้องมืดแล้วทรมานอย่างแสนสาหัสจนกระทั่งสิ้นใจตาย แต่ก่อนสิ้นใจได้ตั้งอธิษฐานว่า หากผู้ครองเมืองต่อไป เป็นผู้ไร้คุณธรรม ขออย่าให้มีความสุข หาความเจริญใดไม่ได้ พบแต่ความวิบัติ เมื่ออธิษฐานจึงสิ้นใจตายไป

นางบัวคำ เมื่อรู้ว่าบุตรชายตนได้ฆ่าบิดาไปแล้ว จึงได้ต่อว่ารุนแรงแก่ท้าวลินทอง ทำให้ท้าวลินทองไม่พอใจและได้ฆ่ามารดาของตนไปอีกคนหนึ่ง

ท้าวลินทอง จึงขึ้นครองเมืองคันธาธิราชสืบต่อมา นับตั้งแต่การครองเมือง บ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย ชาวเมืองเดือดร้อนหนัก ยังความทุกข์ยากไปทุกหย่อมหญ้า

ท้าวลินทองจึงเรียกโหรเข้าพบเพื่อแก้ไขสถานการณ์ โหรได้กล่าวว่า ท้าวลินทองได้ทำอนันตริยกรรมหรือกรรมหนัก คือการฆ่าบิดาและมารดา จึงต้องสร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บิดาและมารดา

พระพุทธมิ่งเมือง วัดสุวรรณาวาส

ท้าวลินทอง จึงได้สร้างองค์พระยืนองค์หนึ่งนอกเขตกำแพงเมืองทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้คือพระพุทธมิ่งเมือง เพื่อทดแทนคุณมารดา ประดิษฐานในวัดสุวรรณาวาสในปัจจุบัน

สิมวัดสุวรรณาวาส

พระพุทธรูปยืนองค์ที่สอง สร้างขึ้นในกำแพงเมืองหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้เช่นกัน คือพระพุทธมงคล เพื่อทดแทนคุณบิดา ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ลานโพธิ์ วัดพุทธมงคล

บริเวณลานโพธิ์ วัดพุทธมงคล พบซากอิฐโบราณ และศิลาแลงที่ต้นโพธิ์ขึ้นคลุม

เมื่อสร้างพระยืนเรียบร้อยแล้ว ความเดือดร้อนของชาวเมืองได้ทุเลาเบาบางลง แต่ท้าวลินทองได้ล้มป่วยอย่างกะทันหัน โหรจึงทำนายว่า ให้สร้างพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนด้วยทองคำน้ำหนักเท่ากับตัวท้าวลินทอง เพื่อลดผลกรรมที่กระทำลงไป ท้าวลินทองจึงได้สร้างพระนอนขึ้นอีกองค์ด้วยทองคำ พร้อมสร้างอุโบสถครอบองค์พระ แต่ก่อนที่พระอุโบสถจะแล้วเสร็จ ท้าวลินทองได้สิ้นใจตายไปเสียก่อน แต่ก่อนสิ้นใจได้อธิษฐานไว้ว่า อย่าให้มีผู้ใดได้พบเห็นองค์พระพุทธนอนทองคำ หากผู้ใดได้พบเห็น ของให้พบแต่ความพินาศ นับแต่นั้นมาบริเวณอุโบสถดังกล่าวจึงรกร้างถูกปกคลุมด้วยป่าไม่เคยมีใครได้พบพระนอนทองคำในตำนานนั้น จนผ่านกาลเวลาตราบจนถึงทุกวันนี้

ภายในวัดพุทธไสยาสน์ ดอนพระนอน

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า องค์พระนอนทองคำตามตำนาน ได้เคยมีการขุดหาแต่ไม่มีใครพบ แล้วปล่อยทิ้งกลายเป็นหนองน้ำภายในวัดพุทธไสยาสน์ ดอนพระนอน ในปัจจุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดพุทธมงคล ห่างออกไปราว 200 เมตร

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวบันทึกการเดินทางตามรอยตำนานพระพุทธรูปยืนโบราณเก่าแก่กว่าพันปี หวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้ติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ… แอดมินตั้ม Faiththaistory.com

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม เที่ยววัดและโบราณสถาน