พระธาตุเชิงชุม ที่ประชุมพระพุทธบาท 4 พระองค์ในตำนานอุรังคธาตุ

By | April 16, 2018


https://youtu.be/QYtmU5gBST8

พระธาตุเชิงชุม ที่ประชุมพระพุทธบาท 4 พระองค์ในตำนานอุรังคธาตุ… สวัสดีครับ ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังจังหวัดสกลนคร เพื่อไปกราบสักการะองค์พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร นั่นก็คือ พระธาตุเชิงชุม ซึ่งมีเรื่องเล่าในตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นสถานที่ประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ 4 พระองค์ อีกทั้งประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นสถานที่แหล่งรวมความศรัทธาของประชาชนชาวสกลนครและภาพพระธาตุเชิงชุม ยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอีกด้วย

วัดพระธาตุเชิงชุม

ลักษณะองค์พระธาตุเชิงชุม

พระธาตุเชิงชุมตั้งหันหน้าไปทางหนองหานที่อยู่ทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน

ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอม ด้านทิศ เหนือ ใต้ และตะวันตก ซุ้มประตูทางเข้าจริงอยู่ด้านทิศตะวันออก

แต่แรกเริ่มพระธาตุเชิงชุมคงเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม ภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ มีจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17  แต่ยังไม่ทราบว่าตรงกับสมัยรัชกาลใดของอาณาจักรขอม

องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องจากช่วงที่อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่

ภายในองค์พระธาตุจะเป็นปราสาทหิน ที่กรอบประตูทางขวาทีจารึกอักษรขอม

พระธาตุเชิงชุมสร้างครอบปราสาทหินเดิม ซึ่งปรากฏจารึกอักษรขอมตรงกรอบประตูฝั่งขวา กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 16-17 สมัยขอมเรืองอำนาจ

ภายในองค์พระธาตุ มีข้อห้ามสำคัญคือ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปโดยเด็ดขาดครับ…

คำแปลอักษรขอม โดยนายอำไพ คำโท

ทางเข้าในองค์พระธาตุ

หน้าบันทางเข้าองค์พระธาตุ

ลวดลายหน้าบันปราสาทหินด้านในองค์พระธาตุ

ตำนานอุรังคธาตุ

ตำนานการสร้างพระธาตุเชิงชุม แต่เดิมเป็นปราสาทหินในสมัยขอม ต่อมาได้สร้างพระธาตุครอบปราสาทหินภายหลัง ซึ่งความเชื่อตามตำนานกล่าวว่าสร้างครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันโท พระพุทธเจ้าโกนาคมโน พระพุทธเจ้ากัสสโป และพระพุทธเจ้าโคตโม และในอนาคตพระศรีอริยเมตตรัยพุทธเจ้าจะมาประทับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ 5

ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมสาวกเสด็จมายังภูกำพร้าซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม ขณะนั้นพระอินทร์ได้กราบทูลถามสาเหตุที่พระพุทธองค์เสด็จมา  พระองค์ตรัสว่า เป็นพุทธประเพณีที่พระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ จะนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้าแห่งนี้หลังกาลปรินิพพาน

จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังหนองหารหลวง เทศนาโปรดพญาสุวรรณภิงคารและพระนางเทวี และประทานรอยพระพุทธบาทไว้ (ประทับไว้บริเวณที่พระพุทธเจ้าในอดีต 3 องค์เคยประทับไว้) แล้วเสด็จกลับสู่พระเชตวันมหาวิหาร

พญาสุวรรณภิคารเกิดความปิติยินดี จึงได้สร้างปราสาทครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไว้ ต่อมาก็คือพระธาตุเชิงชุมนั้นเอง…

วิหารหลวงพ่อพระองค์แสน

ติดกับพระธาตุเลิงชุม เป็นวิหารหลวงพ่อพระองค์แสน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร

หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ขัดสมาธิราบ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระเมาลี 3.20 เมตรประทับนั่งบนแท่นสูง 1.35 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศ ตะวันออก หันพระปฤศฎางค์เข้าหาองค์ หลวงพ่อพระองค์แสนเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครคู่มากับพระ ธาตุเชิงชุม ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกองค์หนึ่งของประเทศ

หลวงพ่อพระองค์แสน

ตำนานหลวงพ่อพระองค์แสน

จากตำนาน หลวงพ่อพระองค์แสนสร้างขึ้นราว พ.ศ.1800 เพื่อแทนหลวงพ่อสุวรรณแสนองค์จริงที่เป็นทองคำทั้งองค์มีน้ำหนังหนึ่งแสนตำลึงทอง (สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 3)

ต่อมาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองหนองหารหลวงเกิดแห้งแล้วต่อกัน 7 ปี และเกิดศึกสงครามหลายครั้ง จึงย้ายเมืองไปอยู่ที่นครธมและได้นำพระสุวรรณแสนทองคำไปซ่อนไว้ในน้ำ เพราะเกรงว่าข้าศึกจะมาแย่งชิงในระหว่างทาง

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงได้สร้างหลวงพ่อพระองค์แสน(องค์ปัจจุบัน)แทนไว้ให้ ลงรักปิดทอง มีพุทธลักษณะเท่าเดิม ภายในบรรจุเครื่องรางของขลังสมัยก่อนไว้มาก ให้พระนามว่า “หลวงพ่อพระองค์แสน” ซึ่งต่อมามีการบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง บูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2558

พระธาตุเชิงชุม

ปิดท้าย

จังหวัดสกลนคร เป็นดินแดนที่มีครูบาอาจารย์ฝ่ายพระกรรมฐานมากที่สุดจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย อีกทั้งยังมีเรื่องราวความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงมาตั้งแต่อดีต และพระธาตุเชิงชุมแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวสกลนคร มีเรื่องราวตำนานเล่าขานความศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ ด้วยความสำคัญของพระธาตุองค์นี้ ทางจังหวัดสกลนครจึงได้ใีสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นรูปพระธาตุเชิงชุมอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ควรเดินทางมากราบไหว้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป

ตราประจำจังหวัดสกลนคร (พระธาตุเชิงชุม)

ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com