พาชมวัดตะไกร อยุธยา สถานที่ปลงศพนางวันทองในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน

By | November 16, 2014

https://youtu.be/woIPc-q35fA

วัดตะไกร เป็นวัดร้างที่น่าสนใจอีกวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าจะไม่พบหลักฐานทางเอกสารการสร้างวัดแห่งนี้ก็ตาม เนื่องจากมีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ว่าเป็นสถานที่ปลงศพนางวันทอง ซึ่งผมเองคิดว่าวรรณคดีขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องแต่งขึ้น แต่จากการบันทึกพบว่าเป็นเค้าโครงจากเรื่องจริง

ในวันที่ผมเดินทางมาที่วัดนี้ เป็นวันเดียวกับที่ผมได้เดินทางไปที่วัดหัสดาวาส ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก จึงได้ถือโอกาสเดินทางไปชมสถานที่แห่งนี้

แผนที่ไปวัดตะไกร

แผนที่ไปวัดตะไกร

>>>แผนที่วัดต่างๆในอยุธยา<<<

ถนนเส้นข้างวัดหน้าพระเมรุ ทางไปวัดตะไกร

ถนนเส้นข้างวัดหน้าพระเมรุ ทางไปวัดตะไกร

หลังจากผมได้เที่ยวชมวัดหัสดาวาสเรียบร้อยแล้ว ผมก็เดินทางไปตามถนนเส้นนี้ไปอีกประมาณ 1 – 2 กิโลเมตร ก็จะพบกับวัดตะไกร ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ โดยมีบ้านเรือนชาวบ้านอยู่โดยรอบ

วัดตะไกร

วัดตะไกร

วัดตะไกร อยู่ริมถนนฝั่งซ้ายเลยครับ มองเห็นชัดเจน ไม่หลงทางแน่นอน เมื่อผมมาถึงก็จอดรถไว้บริเวณนี้ บรรยากาศดูเงียบสงบมากครับ มีสุนัขเจ้าถิ่น 2 – 3 ตัว แต่ไม่ดุ แค่หันมามองหน้าผม แล้วมันก็นอนหลับต่อ (ค่อยยังชั่วหน่อย เจอสุนัขอัธยาศัยดี)

นี่ถ้าผมเดินทางมาช่วงเย็นๆ คงได้บรรยากาศวังเวงพิลึกแน่ๆ แต่ช่วงเวลาที่ผมเดินทางมาถึงประมาณเที่ยงพอดี ยังรู้สึกสยิวที่หลังนิดๆ ฮ่าๆ (ผมค่อนข้างกลัวผีอ่ะครับ)

บริเวณกำแพงแก้ว ทางเข้าวัดตะไกร

บริเวณกำแพงแก้ว ทางเข้าวัดตะไกร

วัดตะไกร มีชื่อในวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน

จากหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 ตอนว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยา ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 หน้า 166 – 167 ได้กล่าวถึงตลาดบกนอกกรุงว่า ที่หน้าวัดตะไกรเป็นตลาดลงท่าน้ำที่หน้าวัดพระเมรุแห่งหนึ่ง ในจำนวนตลาดนอกกรุงซึ่งมีอยู่ถึง 23 แห่ง ประกอบกับหลักฐานทางด้านวรรณคดีเรื่อง เสภาขุนช้างขุนแผน” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ได้ทรงสันนิษฐานโดยอาศัยพงศาวดารและคำให้การชาวกรุงเก่าไว้ว่า มีเค้ามาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 คือ ระหว่าง พ.ศ. 2034 ถึง พ.ศ. 2072 ได้กล่าวถึงความสำคัญ ถึงวัดตะไกรว่า เป็นที่ฝังและทำฌาปนกิจศพของนางวันทอง ผู้ต้องคำพิพากษาถึงประหารชีวิต แล้วนำศพไปฝังยังวัดตะไกร ดังนี้

                  “ครานั้นสายทองผู้เป็นพี่            ครั้นฟื้นสมประดีขึ้นมาได้

                   คิดถึงน้องน้อยละห้อยใจ                     น้ำตาไหลหลั่งละลุมลง

                   จึงอำลาศรีประจันแล้วครรไล                ลงเรือร่ำไห้อาลัยหลง

                   มาถึงกรุงไกรด้วยใจจง                       ตรงไปบ้านขุนแผนผู้แว่นไว

                   ครั้นถึงเข้าไปที่ในห้อง                       ถามว่าศพวันทองน้องอยู่ไหน

                   ขุนแผนบอกว่าฝังวัดตะไกร                      แล้วให้คนนำไปโดยฉับพลัน”

ตามหลักฐานทางโบราณคดี ได้สันนิษฐานว่า วัดตะไกรน่าจะสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2006 – 2170 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขึ้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2006 ถึง พ.ศ. 2170) ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 และมีหลักฐานว่ามีการกลับมาใช้พื้นที่วัดอีกครั้งเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับในส่วนของสิ่งก่อสร้างที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน ได้แก่ สระน้ำโบราณ กำแพงแก้ว พระวิหาร วิหารราย พระอุโบสถ พระเจดีย์ประธาน เจดีย์ราย (มีทั้งสิ้น 16 องค์รอบพระวิหาร)

ที่มาของข้อมูล : www.literatureandhistory.go.th

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

สระน้ำโบราณ

สระน้ำโบราณ

สระน้ำโบราณ

สระน้ำโบราณ

สระน้ำโบราณ จะตั้งอยู่ 2 ข้างก่อนทางเข้าพระวิหาร

เนินพระวิหาร

เนินพระวิหารราย

พระวิหารและเจดีย์ประธาน

พระวิหารและเจดีย์ประธาน

พระกรุวัดตะไกร เป็นที่ต้องการของเซียนพระ

นอกจากเรื่องราวความสำคัญของวัดตะไกร จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนแล้ว ยังมีในเรื่องของพระเครื่องล้ำค้าที่นักสะสมตามหาเพื่อเป็นเจ้าของ ซึ่งเล่าต่อๆกันมาว่าเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) จะมีทำที่วัดตะไกร เนื่องจากพระองค์มีวิชาคงกระพัน เจ้าอาวาสซึ่งวิทยาคมสูงเท่านั้นที่สามารถตัดผมของสมเด็จพระนเรศวรได้ จึงเป็นเหตุให้พระเครื่องที่วัดตะไกร มีพุทธคุณในเรื่องคงกระพันชาตรี

ได้มีการพบพระเครื่องเนื้อดิน เผาและเนื้อชินผสมตะกั่ว ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2470 ในพระเจดีย์ร้างบริเวณวัดตะไกรเป็นจำนวนมาก พระเครื่องที่พบมี พิมพ์หลวงพ่อโต พระวัดตะไกร พิมพ์หน้าครุฑ พิมพ์หน้าฤๅษี พิมพ์หน้ามงคล เป็นต้น พระเนื้อดินมีเอกลักษณ์คือที่ใต้ฐานจะมีรูทุกองค์สันนิษฐานว่าคงจะเอาไม้เสียบเวลานำพระออกจากแม่พิมพ์ บางองค์มีการลงรักปิดทองมาจากในกรุก็มี ส่วนพระเนื้อชินนั้นมีการพบน้อยกว่าพระเนื้อดิน และส่วนมากจะเป็นพิมพ์หน้ามงคล นอกจากนี้ยังมีการพบอีกหลายครั้ง และจากวัดอื่นอีกเช่น ที่กรุวัดเลียบในกทม. กรุวัดเชิงท่า นนทบุรี และครั้งล่าสุด วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2542 ที่ด้านข้างสระน้ำมนต์ ตรงด้านทิศตะวันออกของวิหารใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพิมพ์หน้าครุฑ พระวัดตะไกรมีชื่อเสียงมานานแล้ว เด่นทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และป้องกันเขี้ยวงาได้ จึงเป็นที่นิยมกันมาก สนนราคาสูง

ถ้าใครเก็บสะสมไว้ ก็ยินดีด้วยนะครับ เซียนเขาตามหากันเยอะเลย

พระกรุวัดตะไกร ภาพจาก www.aj-ram.com

พระกรุวัดตะไกร ภาพจาก www.aj-ram.com

พื้นที่โดยรอบวัดค่อนข้างสะอาดดีครับ เป็นการบ่งบอกว่าชาวบ้านและกรมศิลปากรได้ช่วยกันรักษาไว้ได้เป็นอย่างดี ลองเดินทางมาชมบรรยากาศกันดูนะครับ ได้บรรยากาศแห่งความขลังพอสมควรเลย แต่ถ้าใครกลัวผีก็หาเพื่อนไปด้วยแล้วกันนะครับ ค่อนข้างวังเวง ฮ่าๆ

ผมเดินวนเวียน ดูบรรยากาศสักระยะหนึ่ง และก็ได้เดินทางไปเที่ยววัดอื่นๆต่อ และจะมาแชร์ความสวยงามในบทความต่อๆไปครับ ขอบคุณที่กรุณราอ่านจนจบ

ขอให้ทุกท่านมีความสุข

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด