วัดกุฎีทอง อยุธยา ที่ตั้งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพระยาละแวก
วัดกุฎีทอง ที่ตั้งทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพระยาละแวก ผมได้มีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง โดยครั้งนี้วางแผนจะเดินทางไปชมวัดที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันนัก สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ นั่นก็คือวัดกุฎีทอง ถ้าจะดูตามแผนที่ท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยาของ ททท. จะไม่เห็นวัดนี้ในแผนที่ จึงทำให้ไม่ค่อยจะมีผู้คนรู้จักกันนัก ทั้งๆที่วัดนี้อยู่ที่ถนนอู่ทอง ตรงข้ามกับวัดธรรมิกราช ติดริมแม่น้ำลพบุรี ไม่ห่างจากวัดหน้าพระเมรุมากนัก แม้จะไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ก็สามารถเดินทางไปกันได้ไม่ยาก โดยให้ไปตามเส้นทางถนนอู่ทอง จะเห็นป้ายวัดกุฎีทองตรงข้ามวัดธรรมิกราชครับ แนะนำว่าถ้าเอารถมาเองให้ไปจอดรถในวัดธรรมิกราช แล้วเดินข้ามฝั่งมาจะดีกว่า เพราะซอยจะเล็กและแคบ ไม่มีที่จอดรถและเราต้องเดินข้ามสะพานไม้ไปยังวัดกุฎีทองด้วย ความน่าสนใจของวัดนี้ที่ทำให้ผมเดินทางมาท่องเที่ยว เนื่องมาจากตามพงศาวดาร ได้กล่าวไว้ว่า วัดกุฎีทองเป็นวัดที่สร้างก่อนสมัยสร้างกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผมคิดว่าเป็นวัดที่น่าสนใจ เพราะมีความเก่าแก่เป็นอย่างมาก ทางเข้าวัดจะอยู่ตรงข้ามวัดธรรมิกราช เป็นซอยแคบๆ จึงไม่ควรนำรถส่วนตัวเข้าไป เมื่อเข้ามาในซอย จะต้องเดินข้ามสะพานไม้ข้ามแม่น้ำลพบุรี เพื่อจะข้ามฝั่งไปยังวัดกุฎีทอง บริเวณเชิงสะพานจะมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ด้วยครับ เมื่อเดินข้ามฝั่งแม่น้ำมา จะต้องเดินเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตรก็จะเข้าถึงบริเวณพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโบราณสถานที่ผมตั้งใจจะไปเที่ยวชมครับ ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว ความโดดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนคือซุ้มประตู หน้าพระอุโบสถและกำแพงแก้ว ที่ทางวัดยังคงอนุรักษ์ไว้แม้จะทรุดโทรมอย่างมาก เมื่อดูแล้วรู้สึกถึงความเข้มขลังมากครับ ประตูซุ้ม เหลือเพียงประตูทางด้านหน้า เป็นประตูซุ้มมีแนวกำแพงก่ออิฐสอปูน สันกำแพงคล้ายหลังคาโค้งแหลม เป็นแบบศิลปะที่รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตกในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วของวัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย พระอุโบสถ ตั้งอยู่บนโคกหรือเนินดินค่อนข้างสูง สันนิษฐานว่าเป็นโคกโบราณที่ตั้งวัดเดิม ตัวอุโบสถที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้รับการบูรณะแต่ยังคงรูปทรงแบบเดิมเอาไว้ คือ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่อมผืนผ้า ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตรเศษ ผนังตรงกลางหรือผนังหุ้มกลองด้านหน้าและด้านหลังก่อเป็นชาลายื่นออกมา มีบันไดขนาบด้านละสองข้าง ผนังด้านข้างมีซุ้มหน้าต่างข้างละเจ็ดช่อง ฐานอุโบสถอ่อนโค้งท้องสำเภาประดับแข้งสิงห์ ลานประทักษิณกว้างใหญ่มีเสมาคู่ตั้งอยู่ทั้งแปดทิศ ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย… Read More »