เมืองครุฑ เมืองโบราณที่ล่มสลาย สถานที่พบครุฑหินใหญ่ที่สุดในไทย

By | June 24, 2022

ผมได้มีโอกาสดินทางไปท่องเที่ยวที่ จ.กาญจนบุรี และได้ลองค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ จึงมีความสนใจที่จะเดินทางไปยังปราสาทเมืองสิงห์ และโบราณสถานเมืองครุฑ หลายท่านคงคุ้นเคยกับปราสาทเมืองสิงห์ เพราะเป็นโบราณสถานที่ยังปรากฏโครงสร้างขนาดใหญ่ แต่โบราณสถานเมืองครุฑ หลายท่านก็อาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งผมก็มีความสนใจจะเดินทางไปด้วยเช่นกัน และได้ทราบมาว่าเส้นทางจะไปยังเมืองครุฑ จะอยู่ห่างจากปราสาทเมืองสิงห์ราว 10 กิโลเมตร ผ่านเส้นทางลูกรัก เข้าสู่ซากโบราณสถานที่รายล้อมไปด้วยขุนเขา ปรากฏร่องรอยคันดินและรากฐานศิลาแลง

ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี

ก่อนไปยังเมืองครุฑ ผมจะพาทุกท่านไปยังปราสาทเมืองสิงห์กันเสียก่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีคูเมืองคันดินและกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ สร้างขึ้นตามลักษณะขอมแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี

นักวิชาการส่วนใหญ่ ได้นำหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เชื่อมโยงกับข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งปรากฏชื่อเมืองที่สันนิษฐานว่าตั้งอยู่ทางภาคกลางและภาคตะวันตกของไทย จึงอาจมีนัยยะสำคัญในการแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

แต่ก็มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ได้สันนิษฐานว่า เขตภาคกลางและภาคตะวันตกของไทย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองของเขมรโบราณ ปราสาทเมืองสิงห์เป็นเพียงการสร้างที่ได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมเขมรเท่านั้น เช่น ในทัศนะของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในหนังสือข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย และ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนเมษายน พ.ศ.2530

ประติมากรรมครุฑหินทราย ที่นำมาจากเมืองครุฑ (ภาพจากอาจารย์วรณัย พงศาชลากร)

หลังจากที่ผมได้ท่องเที่ยวที่ปราสาทเมืองสิงห์แล้ว จึงได้เดินไปชมประติมากรรมครุฑหินทรายขนาดใหญ่ ที่ได้นำมาจากโบราณสถานเมืองครุฑ แล้วนำมาตั้งไว้บริเวณลานจอดรถของอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ มีความสูงราว 3 เมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นประติมากรรมครุฑแบบลอยตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมนี้ไม่มีเศียร จึงน่าจะถูกลักขโมยไปก่อนที่เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่นำเก็บเข้ามา

ตำแหน่งเมืองครุฑ จาก Google Earth

เมื่อเรามาชมครุฑกันแล้ว ต่อไป เราจะเดินทางไปสู่โบราณสถานเมืองครุฑ ซึ่งเมื่อค้นหาสถานที่บน Google Earth จะพบว่าโบราณสถานนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา ได้แก่ เขาครุฑ เขาแก้วน้อย และเขาแก้วใหญ่ จากรายงานการสำรวจทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2534 บันทึกว่า เมืองครุฑปรากฏร่องรอยคันดิน 3 ด้าน คือทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตกเป็นปราการธรรมชาติคือเขาครุฑ กลางเมืองครุฑปรากฏร่องรอยฐานโบราณสถานที่ทำจากศิลาแลง มีโบราณวัตถุสำคัญคือประติมากรรมครุฑ ที่ได้พาไปชมแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆแทบไม่หลงเหลือให้เห็น คงจะถูกลักลอบออกไป เพราะพื้นที่ค่อนข้างห่างไกล

กรมศิลปากรสำรวจโบราณสถานเมืองครุฑ พ.ศ.2534 (ภาพจากอาจารย์วรณัย พงศาชลากร)

การเดินทางจะผ่านทางลูกรัง รายล้อมไปด้วยไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และพืชเกษตรกรรมอื่นๆ เมื่อขับรถตาม GPS มาเรื่อยๆ ก็จะมองเห็นขุนเขาครุฑเบื้องหน้า เป็นสัญลักษณ์ว่าใกล้เข้าสู่เขตเมืองโบราณแล้ว ซึ่งผมจอดรถบริเวณที่เป็นคันดิน ซึ่งน่าจะเป็นคูเมืองโบราณเมืองครุฑ ที่มองเห็นขุนเขาปราการธรรมชาติรอบทิศทาง

มุ่งหน้าสู่เมืองครุฑ เบื้องหน้าคือเขาครุฑ

คันดินเมืองครุฑฝั่งทิศตะวันออก

ซ้ายมือคือคันดินฝั่งทิศตะวันออกของเมืองครุฑ

อาจารย์วรณัย พงศาชลากร ได้ให้ความเห็นว่า ในอดีต เมืองครุฑคงเป็นเมืองบริวารหน้าด่านของเมืองสิงห์ ป้องกันศัตรูจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นเมืองเพื่อเป็นฐานในการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากป่าในพื้นที่ใกล้เคียงให้กับเมืองสิงห์

เขาแก้วใหญ่

เป้าหมายคือพุ่มไม้ 2 พุ่ม คือกลางเมืองครุฑ

หลังจากนั้นผมได้ขับรถไปต่อ เพื่อจะเข้าสู่ใจกลางเมืองโบราณ มีพิกัดสำคัญคือพุ่มไม้  2 พุ่ม ท่ามกลางไร่อ้อยของชาวบ้าน ซึ่งพบว่าจะต้องเดินเข้าไปจากถนนลูกรังอีกราว 200 เมตร เพราะไม่สามารถนำรถเก๋งเข้าไปได้ เป็นตำแหน่งสำคัญที่พบครุฑหินทรายขนาดใหญ่ที่สุดในไทย

เส้นทางที่เดินเข้าไปสู่กลางเมืองครุฑ

ผมได้จอดรถไว้ริมถนนลูกรัง เพื่อเดินต่อเข้าไป ซึ่งยังถือว่ามีความโชคดีที่ต้นอ้อยยังไม่สูงมาก เพราะถ้าสูงกว่านี้ มีโอกาสหลงทางในดงอ้อยแน่นอน อีกทั้งบรรยากาศช่างดูหลอนๆพิกล เพราะผมเดินเข้าไปคนเดียว สำหรับท่านที่สนใจมาเที่ยวชม แนะนำว่า หาใครมาเป็นเพื่อนจะดีกว่า จะได้ไม่วังเวงใจครับ

มาถึงพุ่มไม้กลางเมืองครุฑ

ซากฐานศิลาแลงในพุ่มไม้

ฐากฐานศิลาแลงในพุ่มไม้

การเดินทางในวันนี้ อาจจะไม่เห็นอะไรมากนัก เพราะกลางเมืองโบราณ ถูกปกคลุมไปด้วยกอไผ่ ซากศิลาแลงคงจมอยู่ใต้ดินยากแก่การมองเห็น ทั้งนี้กรมศิลปากรได้เข้าสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2534 แต่ไม่ได้ขุดแต่ง เพราะแทบไม่เหลือความสมบูรณ์เลย ยกเว้นเศษศิลาแลงกระจัดกระจายเท่านั้น

กรมศิลปากรสำรวจโบราณสถานเมืองครุฑ พ.ศ.2534 (ภาพจากอาจารย์วรณัย พงศาชลากร)

ภาพเพิ่มเติมจากคุณอชิรวิชญ์ อันธพันธ์ สำรวจเมื่อราว 10 ปีก่อน พบซากศิลาแลงบริเวณคูเมืองครุฑ

ภาพเพิ่มเติมจากคุณอชิรวิชญ์ อันธพันธ์ สำรวจเมื่อราว 10 ปีก่อน พบซากศิลาแลงบริเวณคูเมืองครุฑ

แนะนำอีกครั้ง สำหรับท่านที่จะเดินทางไปชม ขอให้มีเพื่อนไปด้วยนะครับ เพราะเส้นทางเปลี่ยว และถ้าใช้รถยกสูงเข้าไปจะสะดวกกว่าครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตามแล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ / แอดมินลุงตั้ม (นายยุทธนา ผิวขม)

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน 

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok