ไหว้พระพุทธนิมิตมงคลพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประวัติการสร้างน่าอัศจรรย์ วัดเขาแดง นครนายก

By | February 15, 2015

ไหว้พระพุทธนิมิตมงคลพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประวัติการสร้างน่าอัศจรรย์ วัดเขาแดง นครนายก

จังหวัดนครนายกเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีพุทธสถานที่น่าเที่ยวชมมากมาย เช่น ที่วัดเขาแดงแห่งนี้ ที่ผมจะพาเดินทางไปเที่ยวกัน จุดเด่นสำคัญของที่นี่คือ พระพุทธนิมิตมงคล วัดเขาแดง เป็นพระพุทธรูปยืนศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก และมีประวัติการสร้างที่น่าอัศจรรย์อย่างมาก รายละเอียดประวัติอันน่าอัศจรรย์นี้ผมเขียนไว้ท้ายบทความนี้

นอกจากนี้ ยังมีรูปปั้นบูชาต่างๆ อาทิเช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพิฆเนศองค์ยืน ท้าวมหาพรหม และอื่นๆอีกมากมาย

นอกจากรูปปั้นบูชาต่างๆแล้ว ภายในวัดเขาแดง ตรงบริเวณวงเวียน จะมีต้นศรีมหาโพธิ์ ขนาดใหญ่มีอายุกว่า 300 ปี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศต้นไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดตามประกาศของจังหวัดนครนายก เมื่อปี พ.ศ. 2553 อีกด้วย

การเดินทางมาที่วัดเขาแดง

การเดินทางมาวัดเขาแดง ให้มาตามเส้นทางหลักเข้าสู่จังหวัดนครนายก ตามทางไปน้ำตกสาริกา จะเห็นป้ายบอกทางไปอุทยานพระพิฆเนศ จังหวัดนครนายก ก็ให้เลี้ยวเข้ามาเลยครับ เป็นเส้นทางเดียวกัน จะตั้งอยู่ห่างอุทยานพระพิฆเนศเพียง 300 เมตรเท่านั้น รับรองไม่หลงทางครับ เพราะป้ายบอกทางชัดเจน

วัดเขาแดง ตั้งอยู่ที่ ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก (เดิมเรียกตำบลบ้านบุ่ง) อยู่ห่างจากตัวเมืองนครนายกประมาณ 7 – 8 กม. ตามถนนสายสาลิกา-นางรอง ตรงสี่แยกประชาเกษม เลี้ยวซ้ายไปทางถนนเขาแดง-โรงเรียนนายร้อย จปร. อีก 1 กม. วัดจะอยู่ทางขวามือ หากเลยไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม คือ น้ำตกลานรัก

ประวัติวัดเขาแดง นครนายก

ที่มาของชื่อ “เขาแดง” นั้น เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ติดเทือกเขาแดงหรือเขาตะขาบ (เรียกตามแผนที่แผ่นระวางกรมที่ดิน) ชาวบ้านเรียก เขาหล่น หรือเขาแดง เพราะมองดูจะเห็นภูเขาลูกนี้โล้นโล่งเตียน เห็นภูเขาเป็นสีแดง จึงเรียกเขาแดง เหตุที่ตั้งอยู่ติดภูเขาลูกนี้จึงเรียกว่า “วัดเขาแดง”

ประชาชนในหมู่บ้าน เดิมเป็นคนเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่อพยพเข้ามาในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากที่เมืองเวียงจันทน์แพ้สงครามให้กับกรุงธนบุรีในระหว่างปี พ.ศ.2321 – 2322

สาเหตุศึกสงครามเนื่องมาจากเกิดศึกภายในเมืองเวียงจันทน์ ระหว่าพระวอ เสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ กับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ฝ่ายพระวอ แพ้ศึกได้หนีมาขอพึ่งนคจำปาศักดิ์และพาพรรคพวกมาตั้งเมืองที่ตำบลดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) เมื่อไทยตีนครจำปาศักดิ์ได้พระวอ ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาขอพึ่งไทย ครั้นกองทัพไทยยกกลับ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ใช้คนไปลอบฆ่าพระวอตาย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถือว่าทางเวียงจันทน์ดูหมิ่น จึงให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกษา ต่อมาคือพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พร้อมกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ต่อมาคือกรมพระราชวังบวร ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ รบกันอยู่สี่เดือนเศษจึงได้รับชัยชนะ

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ มาไว้ที่กรุงธนบุรีด้วย และได้กวาดต้อนประชาชนชาวเวียงจันทน์มาด้วยเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาอยู่ที่ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ต่อมาชาวลาวกลุ่มนี้ก็อพยพมาตามแม่น้ำนครนายก ด้านทิศเหนือจนมาตั้งเป็นที่อยู่อาศัยอยู่ที่ราบลุ่มเทือกเขาแดงปัจจุบัน ชุมชนกลุ่มนี้เป็นคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาจึงได้ร่วมกันก่อตั้งวัดขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชนในการบำเพ็ญบุญและพบปะกัน

ประชาชนดั้งเดิมในหมู่บ้าน พูดภาษาพื้นบ้าน คือภาษาลาวและลาวพวน (ปัจจุบันก็เรียกไทยพวน) ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมต่างๆ เช่น สู่ขวัญข้าว ข้าวประดับดิน ข้าวกระยาสารท บุญบั้งไฟ ยังปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้

เรียบเรียงจาก : เพจไหว้พระ

ภายในวัดเขาแดง

ภายในวัดเขาแดง

เมื่อผ่านซุ้มประตูวัดเข้ามา ก็จะพบกับความร่มรื่นของพื้นที่ เนื่องจากภายในวัดมีต้นไม้ใหญ่หลายต้น แม้ว่าช่วงที่ผมเดินทางมานั้นจะไม่ใช่ฤดูฝน แต่ก็ยังคงความร่มรื่นอยู่พอสมควร ผมก็เลยคิดว่านี่ถ้าฤดูฝนคงมีบรรยากาศที่น่าพักผ่อนหย่อนใจมากๆแน่นอน

การจอดรถ ผมแนะนำว่าให้จอดบริเวณลานกว้างฝั่งขวาก่อนเข้าบริเวณวัดนะครับ ตรงข้ามกับรูปปั้นท้าวมหาพรหม

ศาลเจ้าแม่ตะเคียน

ศาลเจ้าแม่ตะเคียน

จุดแรกด้านหน้าทางเข้าวัดเขาแดง จะพบกับศาลเจ้าแม่ตะเคียน ซึ่งตามความเชื่อของไทยมาแต่โบราณนั้นเชื่อว่าเป็นวิญญาณที่สถิตในต้นตะเคียน คอยคุ้มครองดูแลสถานที่ และมักบันดาลโชคลาภแก่ผู้บนบาน สำหรับเรื่องนี้ ผมไม่มีความเห็นนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณในการที่จะเชื่อ หรือไม่ก็ถือว่าเป็นความรู้ที่เราได้รับทราบต่อๆกันมาแต่โบราณในเรื่องของความเชื่อก็ได้ครับ

ท้าวมหาพรหม

ท้าวมหาพรหม

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

พระพิฆเนศ

พระพิฆเนศ

ถัดเข้ามาจากศาลเจ้าแม่ตะเคียน จะมีรูปปั้นบูชาสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ ท้าวมหาพรหม พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และพระพิฆเนศ

ต้นโพธิ์อายุกว่า 300 ปี

ต้นโพธิ์อายุกว่า 300 ปี

ต้นโพธิ์อายุกว่า 300 ปี

ต้นโพธิ์อายุกว่า 300 ปี

ต้นโพธิ์ตรงบริเวณวงเวียนของวัดเขาแดง เป็นต้นไม้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดต้นไม้ที่มีความใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดนครนายก เมื่อปี พ.ศ. 2553 ด้วยขนาดเส้นรอบลำต้น 925 เซนติเมตร สูง 40 เมตร ตามคำบอกเล่าของพระครูรัตตคีรีรักษ์ เจ้าอาวาสวัดเขาแดงได้เล่าว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปีเลยทีเดียว

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถของวัดจะมีความแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป เพราะเป็นพระอุโบสถพระราหู สามารถที่จะเดินลอดใต้พระอุโบสถได้ ซึ่งตามความเชื่อการลอดพระอุโบสถ เป็นการสะเดาะเคราะห์อย่างหนึ่ง

ด้านหน้าพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระอุโบสถ

พระพุทธประธานในพระอุโบสถ

พระพุทธประธานในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ และมีอ่างน้ำพระพุทธมนต์ ที่สามารถจะนำภาชนะมาใส่นำกลับบ้านได้ครับ

ป้ายหน้าวิหารพระพุทธนิมิตมงคล หรือหลวงพ่อใหญ่

ป้ายหน้าวิหารพระพุทธนิมิตมงคล หรือหลวงพ่อใหญ่

พระพุทธนิมิตมงคล

พระพุทธนิมิตมงคลหรือหลวงพ่อใหญ่ศักดิ์สิทธิ์

ประวัติอันน่าอัศจรรย์ของพระพุทธนิมิตมงคล หรือหลวงพ่อใหญ่ศักดิ์สิทธิ์

พระพุทธนิมิตมงคล เป็นพระพุทธรูปยืนปางพระร่วงประธานพร สูง 8 ศอก มีผู้เล่าว่า ได้สร้างขึ้นจากมูลเหตุการอธิษฐานจิตในการสวดมนต์ไหว้พระของจ่าสิบเอกจรูญ พร้อมเพรียง อยู่บ้านท่ากระยาง ต.ทะเลชุบสร อ.เมือง จ.ลพบุรี เรื่องมีอยู่ว่า

ในคืนวันหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 3 คืนติดต่อกัน ของต้นปี พ.ศ.2499 จ่าสิบเอกจรูญ พร้อมเพรียง เข้าห้องพระไหว้พระสวดมนต์แล้วอธิษฐานจิตต่อหน้าองค์พระที่กราบไหว้ที่บ้าน โดยอธิษฐานว่า “ลูกเป็นชาวพุทธ นับถือพระพุทธศาสนา เวลานี้เป็นเวลาใกล้กึ่งพุทธกาล ลูกอยากจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ลูกอยากจะสร้างพระพุทธรูป สูง 8 ศอก ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา จะสำเร็จหรือไม่ ขอองค์เทพผู้มีฤทธิ์ จงมาดลจิตข้าพเจ้าให้เกิดเป็นนิมิต มงคลเถิด” ปรากฏว่าในคืนนั้น และอีกคืนต่อมา รวม 3 คืนติดต่อกัน ช่วงจิตเข้าสู่ภวังค์ ระหว่างครึ่งหรับครึ่งตื่น เกิดนิมิตเห็นรูปเทวดาแต่งองค์ทรงเครื่องชัดเจนมาก จำได้ติดตา เหาะลอยมาในอากาศ และพูดเป็นภาษาบาลีว่า “ พุทธปฏิมานิมิตตัง ปฏิมามะมะ อรหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ปิตุ มาตา ” เหาะมาและว่าอย่างเดียวกันนี้ถึง 3 คืนติดต่อกัน

คาถาดังกล่าวเป็นพระคาถาเมตตาของเทวดา จ่าสิบเอกจรูญ จึงนำคำอธิษฐาน และคำเทพนิมิตนี้ มาเล่าสู่พระทองพล ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดซาก ลพบุรี และเล่าสู่พระอำคา วิสารโท ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาแดง จังหวัดนครนายก และปรึกษากับพระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครนายกสมัยนั้น ท่านได้เมตตาแนะนำว่า เป็นนิมิตมงคลอันดี จะสำเร็จตามความปารถนา เป็นพระคาถาเทพนิมิต เทพบันดาล

จ่าสิบเอกจรูญ จึงเข้าปรึกษากับผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดซากและผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาแดง และริเริ่มทั้งทุนทรัพย์และจัดหานายช่างมาออกแบบและทำแบบรูปหล่อ ทำด้วยปูนซีเมนต์ ทำเป็น 3 ท่อน ต่อกัน เป็นองค์พระยืน “ปางพระร่วงประธานพร” สูง 8 ศอก ทำพร้อมกัน พิมพ์เดียวกัน 2 องค์ เมื่อหล่อองค์พระเสร็จเรียบร้อย ก็ทำการแห่เคลื่อนย้ายมาจากจังหวัด ลพบุรี ทั้งสององค์ และทำพระเครื่องเป็นพระผง 84,000 องค์ นำมาที่วัดเขาแดง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2499 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 ปี จอ แล้วทำการประกอบต่อองค์พระ ต่อพระเศียร ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าอุโบสถ หลังปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2499 ได้จัดงานพุทธาภิเษก 3 วัน 3 คืน โดยเฉพาะใน วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2499 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ เป็นวันพุทธาภิเษก พระประธานทั้ง 2 องค์ พร้อมพระเครื่องที่ไว้บรรจุด้วย

ประธานสงฆ์ในพิธีคือ พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครนายก ขนานพระนามพระประธานที่สร้างทั้ง 2 องค์ พระนามเหมือนกันว่า“พระพุทธปฏิมานิมิตมงคล” ต่อมาเพื่อสะดวกในการเรียกพระนาม จึงเรียกว่า “พระพุทธนิมิตมงคล”

เมื่อ พ.ศ. 2538 จ่าสิบเอกจรูญ พร้อมเพรียง ประธานเจ้าภาพผู้สร้างถวาย ได้มาทอดกฐิน ที่วัดเขาแดง และได้มอบเงินสมทบสร้างวิหารใหม่แทนหลังเก่าจำนวน 1 แสนบาท และเล่าประวัติการก่อสร้าง ความเป็นมาให้เจ้าอาวาสวัดเขาแดงรูปปัจจุบันเพื่อทราบ และบอกพระคาถาเทพนิมิตที่ได้มาและยันต์องค์พระเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มีจิตศรัทธานำไปบูชาต่อไป

พระพุทธนิมิตมงคล อีกองค์หนึ่ง หลังจากทำการพุทธาภิเษกที่วัดเขาแดงแล้ว ได้นำไปถวายประดิษฐาน อยู่ ณ วัดซาก ต . ทะเลชุบสร อ.เมือง จ.ลพบุรี

เรียบเรียงจาก : เพจไหว้พระ

พระพุทธนิมิตมงคล หรือหลวงพ่อใหญ่

พระพุทธนิมิตมงคล หรือหลวงพ่อใหญ่

หลังจากได้รับทราบถึงประวัติของพระพุทธนิมิตมงคลแล้ว จึงรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง จึงน่าจะเป็นเหตุให้มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมาจนทุกวันนี้

ถ้าได้มีโอกาสมาเที่ยวถึงจังหวัดนครนายกกันแล้ว วัดเขาแดง จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปทำบุญกัน

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านสมความปรารถนานะครับ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com