วัดเขาดิน อยุธยากับปริศนายาอมตะ ในนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่… เป็นปริศนาการค้นหาวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ว่าอยู่ที่ใดกันแน่ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่อาจจะฟันธงลงไปได้ ปรากฏชื่ออยู่ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งแต่งขึ้นโดยสุนทรภู่ เป็นการบรรยายเรื่องราวการเดินทางไปวัดเจ้าฟ้า เพื่อค้นหาของวิเศษและยาอายุวัฒนะเพื่อการเป็นอมตะ ทำให้เรื่องราวนี้เป็นที่สนใจและเกิดการตามหาว่าวัดเจ้าฟ้าอยู่แห่งหนใดกันแน่
ผมผ่านมายังวัดเขาดิน ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และสะดุดกับป้ายชื่อวัดเพราะมีวงเล็บว่า “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” จึงเลี้ยวเข้าไปชมวัดนี้ พบฐานโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> นิราศวัดเจ้าฟ้า
สรุปย่อจากนิราศวัดเจ้าฟ้า
สุนทรภู่ขณะนั้นบวชอยู่ในเพศสมณะ ในช่วงพ.ศ.๒๓๗๕ สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ออกเดินทางตามลายแทงเพื่อไปหายาอายุวัฒนะเพื่อความเป็นอมตะ ซึ่งมีจุดหมายที่วัดเจ้าฟ้า
การเดินทางออกจากกรุงเทพฯที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในตอนเย็น ระหว่างทางบรรยายสถานที่ที่ผ่าน เช่น วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, ปากง่ามบางกอกน้อย, บางขุนพรหม, บางจาก, บางพลู, บางอ้อ, บางซ่อน, บางแก้ว ฯลฯ
จากนั้นเข้าสู่ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี บรรยายว่ามีชาวมอญตั้งบ้านเรือนอยู่จำนวนมาก จนไปถึงบ้านลาว เห็นชาวลาวเจาะหูยานใหญ่ต่างกับพวกลาวในกรุงเทพฯ ที่สวมซิ่นและสำอางมากกว่า
ในคืนแรกพักที่วัดมอญเชิงรากซึ่งมีบรรยากาศน่ากลัว เมื่อรุ่งเช้าจึงเดินทางต่อ ไปถึงสามโคก จังหวัดปทุมธานี และบรรยายถึงที่มาของชื่อสามโคก
เมื่อถึงวัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้บรรยายถึงหลวงพ่อโตที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยและชาวจีน
จากนั้นขึ้นฝั่งที่ศาลาท่าน้ำวัดโสมนัสเพื่อหาดอกไม้บูชาพระแล้วลงเรือเข้าสู่คลองสวนพลูซึ่งมีบรรยากาศร่มรื่นมาก แล้วไปค้างคืนที่วัดใหญ่ชัยมงคล
ในคืนนั้นมีการทำพิธีจับแร่ปรอทโดยใช้น้ำผึ้ง สามารถจับแร่ปรอทได้ ๓ องค์ แต่พอรุ่งสางแร่ปรอททั้งสามก็หนีไป
จึงได้เดินทางตามลายแทงไปหายาอายุวัฒนะที่วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ยานั้นอยู่ในตุ่มฝังไว้ใต้ฐานพระในโบสถ์ เมื่อถึงวัดในยามค่ำคืน ได้เริ่มทำพิธีเพื่อขุดยาอายุวัฒนะ แต่ได้เกิดลมพัดแรง ฝนตกหนัก ไม่สามารถทำพิธีต่อไปได้
เมื่อรุ่งสางจึงได้เก็บของนุ่งผ้า ส่วนตำราถูกลมพัดหายไป จึงเลิกคิดจะขุดยาอายุวัฒนะเพราะเกรงจะเกิดอาเพศ แล้วจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ
เรียบเรียงจาก : นามานุกรมวรรณคดีไทย
ปริศนาวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์
วัดเจ้าฟ้าจึงเป็นปริศนาว่าตั้งอยู่ที่ใดจนถึงทุกวันนี้ แต่เดิมมีความเข้าใจตาม อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ว่าวัดเขาดิน ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา คือวัดเจ้าฟ้าตามโคลงนิราศ แต่ได้มีการวิเคราะห์เนื้อหาโดยอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการเดินทางจากวัดใหญ่ชัยมงคลไปวัดเจ้าฟ้าใช้เวลาเป็นวันจึงจะถึง แต่วัดใหญ่ชัยมงคลกับวัดเขาดินมีระยะทางห่างกันราว ๑๐ กิโลเมตรเท่านั้น และให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นวัดพระพุทธฉาย สระบุรี หรือวัดบนเขาพนมยงค์ อ.หนองแค จ.สระบุรี
จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ.๒๕๖๑ มีการค้นพบวัดร้าง แถบสำนักสงฆ์ถ้ำเขาปูน ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี พบเศษซากพระพุทธรูป รวมถึงกระเบื้องและอิฐโบราณกระจายทั่วพื้นที่ การเดินทางขึ้นไปค่อนข้างลำบาก และมีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดเจ้าฟ้า เช่นกัน
อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้ทัศนะว่า กรณีสำนักสงฆ์ถ้ำเขาปูน ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นคนละทิศทางที่สุนทรภู่ได้เดินทางไป
ณ วัดเขาดิน ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
ภาพประกอบทั้งหมดคือ วัดเขาดิน ต.ธนู อ.อทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดินทางเข้าไป มีบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบ ที่วัดมีคลองข้างวัด แต่มีความ Unseen ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ พบซากฐานโบราณสถานขนาดใหญ่ โดยมีพระอุโบสถปลูกสร้างทับโคกฐานโบราณสถานนี้
ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ให้คำสันนิษฐานว่า จากการเรียงก้อนอิฐอาจจะเป็นฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ที่พังทลายหรือสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่งถือว่ามีความแปลกใหม่ที่ไม่เคยทราบมาก่อน
ทัศนะของ ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม (อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์)
ฐานอิฐใหญ่มาก ผมไปสำรวจเมื่อต้นปีนี้(พ.ศ. 2562) เห็นฐานก่ออิฐใหญ่ เดินสำรวจดูรอบๆ เห็นฐานทิศใต้ยังสมบูรณ์ จึงเข้าไปดูการเรียงอิฐใกล้ๆ การก่ออิฐแยกเป็น 2 ส่วน
1.ส่วนล่าง ก่ออิฐเหลื่อมประมาณเกือบ10ก้อน เป็นเหมือนบัวคว่ำหรือหลังคาลาดขนาดใหญ่มาก อิฐส่วนนี้ถูกขัดฝนให้เอียงเป็นบัวคว่ำอย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่าอิฐล้มทลายแล้วเอียงเป็นเนิน
2. ส่วนบน ถัดขึ้นไป ก่ออิฐตรง เหมือนก่อหน้ากระดาน แต่อิฐทลายลง เอียงเป็นเนิน มองเผินๆ สองส่วนนี้จึงดูคล้ายกัน เหมือนเนินใหญ่ แต่พอเข้าไปดูใกล้จึงเห็นว่าเป็นบัวคว่ำ โบราณสถานนี้ อาจจะเป็นฐานเจดีย์และไม่ใช่ฐานกำแพงแก้ว ไม่ใช่กำแพงวัด ฐานนี้มีขนาดใหญ่ประมาณ15×15 เมตรเป็นอย่างน้อย ถือเป็น unseen ที่คนไม่ทราบ
สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เป็นฐานเจดีย์ที่ก่อเสร็จแค่นี้ แล้วล้มเลิกไป โดยพยายามเริ่มก่อเป็นฐานบัวคว่ำขนาดใหญ่หรือหลังคาลาดขนาดใหญ่ เหมือนแบบเจดีย์วัดภูเขาทอง (แต่ถ้าเทียบกับเจดีย์วัดภูเขาทองที่นี่ก็เล็กกว่า) สาเหตุที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ อาจเพราะสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม หรือสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป หรือปัจจัยอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้นเท่าที่ตามองเห็นได้ ถ้าขุดสำรวจจะทราบมากกว่านี้
จากเรื่องราวที่นำเสนอทั้งหมดนี้ ท่านสามารถเข้าไปศึกษาบทนิราศวัดเจ้าฟ้าตามลิ้งก์ที่ผมได้ติดไว้ให้ จึงถือว่าวัดเจ้าฟ้า ยังคงเป็นปริศนาที่ยังเป็นการเปิดประเด็นให้ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลและตามหากันต่อไป
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ… แอดมินตั้ม
ช่องทางการติดตาม
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด