วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา อลังการงานสถาปัตยกรรม

By | April 11, 2018


https://youtu.be/FMSinG3E_oI

วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา อลังการงานสถาปัตยกรรม… สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยทุกท่าน ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีความโดดเด่นยิ่งใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดดเด่นทางสถาปัตยกรรม มีเรื่องราวให้ศึกษาโดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นพุทธประวัติที่น้อยคนจะสนใจ เป็นวัดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับความนิยมสูงวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ช่วงต้นปี พ.ศ.2561 กระแสการท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความคึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่วัดไชยวัฒนาราม จากกระแสการตามรอยละครดัง “บุพเพสันนิวาส”

ผมจึงจะพาทุกท่านมาชมภาพบรรยากาศที่วัดแห่งนี้ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันสักเล็กน้อย เพราะแต่ละสถานที่นอกจากมีความสวยงาม แต่เรื่องราวก็น่าค้นหามากเช่นกัน

บรรยากาศที่วัดไชยวัฒนาราม

บรรยากาศที่วัดไชยวัฒนาราม

ประวัติวัดไชยวัฒนาราม พอสังเขป

วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาการเดินทางไปวัดไชยวัฒนารามจะลงเรือจ้างออกที่ “ท่าบ้านชี” และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวว่า ท้องน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตกนั้นคึกคักด้วยบ้านเรือนแพ

วัดไชยวัฒนารามเป็นโบราณสถานที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศใยราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๕

วัดไชยวัฒนาราม เป็นพระอารามหลวงสมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์องค์ที่ ๒๔ ครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ.๒๑๗๓ – ๒๑๙๘ ทรงสถาปนาเป็นวัดอรัญวาสี ณ บริเวณที่ดินซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนี ในปีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ เพื่ออุทิศถวายพระราชชนนีและเฉลิมฉลองพระเกียรติพระองค์ที่มีชัยต่อการรบกับเขมร

ภาพบรรยากาศความคึกคักที่วัดไชยวัฒนาราม

เดือนเมษายน พ.ศ.2561 กับความคึกคักจากกระแสละครบุพเพสันนิวาส

บรรยากาศการท่องเที่ยว วัดไชยวัฒนาราม

บรรยากาศการท่องเที่ยว วัดไชยวัฒนาราม

บรรยากาศการท่องเที่ยว วัดไชยวัฒนาราม

ภาพบรรยากาศวัดไชยวัฒนาราม ยามค่ำคืน

เมษายน พ.ศ.2561… กรมศิลปากรได้ขยายการเข้าชมโบราณสถานที่วัดไชวัฒนาราม จนถึง 22:00 น.

วัดไชยวัฒนาราม ยามค่ำคืน

วัดไชยวัฒนาราม ยามค่ำคืน

วัดไชยวัฒนาราม ยามค่ำคืน

วัดไชยวัฒนาราม ยามค่ำคืน

ปฏิมากรรมปูนปั้นพุทธประวัติ ณ วัดไชยวัฒนาราม

ปฏิมากรรมที่โดดเด่นของวัดไชยวัฒนารามคือ ปูนปั้นเรื่องราวในพุทธประวัติ ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลจากอาจารย์วรณัย พงศาชลากร จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

ทั้งนี้ภาพปฏิมากรรมปูนปั้นที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้ชำรุดหลุดร่วงไปมาก บางส่วนแทบไม่เหลือปูนปั้นให้ได้เห็น

ปฏิมากรรมปูนปั้นพุทธประวัติทั้ง 12 ตอน
ภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นที่ผนังเรือนธาตุ ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติตอนสำคัญอันเป็นมหามงคลตามคติเถรวาท ที่ถูกเลือกมา 12 ตอน โดยเมรุประจำทิศจะมีภาพปูนปั้นองค์ละ 1 ภาพ เมรุมุมระเบียงมีภาพปูนปั้น 2 ภาพใน 2 มุม ลักษณะการวางภาพปูนปั้นบนผนังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่าง ของเรื่องราวพุทธประวัติตอนเดียวกัน โดยปั้นเส้นลวดแบบหยักและเส้นสินเทาตามแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเส้นแบ่ง

ภาพปูนปั้นผนังที่ 1 : “เหล่าเทวดาอัญเชิญพระโพธิสัตว์ “สันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์” บนสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อลงมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า”

ภาพปูนปั้นผนังที่ 1 เริ่มตั้งต้นจากเมรุทิศตะวันออกติดกับพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นด้านหน้าสุด แล้วไล่เรื่องไปตามการเดินทักษิณาวรรตลงไปทางทิศใต้ เริ่มจากภาพปูนปั้นผนังแรก เป็นพุทธประวัติตอน “เหล่าเทวดาอัญเชิญพระโพธิสัตว์ “สันดุสิตเทวราชโพธิสัตว์” บนสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อลงมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า” งานปูนปั้นชำรุดไปจนเกือบหมด คงเหลือเพียงร่องรอยเป็นภาพต้นไม้ ปราสาทขนาดใหญ่ในส่วนล่าง ส่วนกลางภาพบุคคลแสดงอัญชลี ภาพฉัตร ภายส่วนบน เป็นบุคคลใกล้กึ่งกลางมี 4 แขนที่หมายถึงพระพรหมและพระอินทร์ บนสุดเป็นรูปเทพยดาที่มีรัศมีมาร่วมชุมนุมสาธุการ ในท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ “มณฑาทิพย์” ที่โปรยลงมา

ภาพปูนปั้นผนังที่ 2 : “พระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา”  เอื้อเฟื้อภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นผนังที่ 2 ผนังฝั่งทิศตะวันออกของเมรุมุมตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพุทธประวัติตอน “พระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา” ปูนปั้นฝั่งนี้กะเทาะหายไปเช่นเดียวกัน ปรากฏร่องรอยของภาพบุคคลนั่งเรียงแถวอยู่ทั้งสามชั้น ชั้นบนสุดเป็นรูปปราสาทยอดแหลม

ภาพปูนปั้นผนังที่ 3 : “ประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน”  เอื้อเฟื้อภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นผนังที่ 3 ผนังฝั่งทิศใต้ของเมรุมุมตะวันออกเฉียงใต้ รูปปูนปั้นหลุดหายไปจนเกือบหมด เหลือเป็นรูปของใบไม้ ต้นไม้ สันนิษฐานตามขนบแบบแผนการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคเดียวกัน ภาพนี้จึงควรเป็นภาพพุทธประวัติตอน “ประสูติ ณ ป่าลุมพินีวัน”

ภาพปูนปั้นผนังที่ 4 : “ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา” เอื้อเฟื้อภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นผนังที่ 4 เมรุทิศใต้ เป็นภาพพุทธประวัติ ตอน “ตัดสินพระทัยเสด็จออกบรรพชา” ปูนปั้นที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นเพียงภาพของปราสาทด้านล่าง หัวช้าง และภาพบุคคลนั่งในอาคารในส่วนกลาง เท่านั้น

ภาพปูนปั้นผนังที่ 5 : “เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์” เอื้อเฟื้อภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นผนังที่ 5 ผนังฝั่งทิศใต้ของเมรุมุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์” ถึงภาพปูนปั้นที่ผนังฝั่งนี้จะหายไปจนเกือบหมด แต่ภาพบุคคลเหาะเหินต่อเนื่อง ก็เป็นภาพในขนบแบบแผนสำคัญทางศิลปะของพุทธประวัติตอนนี้โดยตรงครับ

ภาพปูนปั้นผนังที่ 6 : “เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี และ บำเพ็ญทุกรกิริยา” เอื้อเฟื้อภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นผนังที่ 6 ผนังฝั่งตะวันตกของเมรุมุมตะวันตกเฉียงใต้ เหลือเพียงปูนปั้นเป็นภาพของป่าและบัลลังก์ ซึ่งสันนิษฐาน ตามเนื้อเรื่องที่เรียงต่อกันมาตามขนบภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคเดียวกัน ควรจะเป็นพุทธประวัติตอน “เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาฬี และ บำเพ็ญทุกรกิริยา”

ภาพปูนปั้นผนังที่ 7 : “นางสุชาดาเตรียมถวายข้าวมธุปายาส” เอื้อเฟื้อภาพจาก อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ภาพปูนปั้นผนังที่ 7 เมรุทิศตะวันตก เหลือปูนปั้นเป็นเพียงเส้นลวดคั่นภาพ สันนิษฐานไปตามขนบการดำเนินเรื่องพุทธประวัติตามภาพจิตรกรรมว่าเป็นตอน “นางสุชาดาเตรียมถวายข้าวมธุปายาส”

ภาพปูนปั้นผนังที่ 8 : “มารผจญ”

ภาพปูนปั้นผนังที่ 8 ผนังฝั่งทิศตะวันตกของเมรุมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ปรากฏภาพปูนปั้นใด ๆ เหลืออยู่เลย สันนิษฐานว่าเป็นพุทธประวัติตอน “มารผจญ” ตามเนื้อเรื่องที่เรียงต่อกันมาตามขนบภาพจิตรกรรมฝาผนัง ครับ

ปูนปั้นผนังที่ 9 : “ปฐมเทศนา”

ปูนปั้นผนังที่ 9 ผนังฝั่งทิศเหนือของเมรุมุมตะวันตกเฉียงเหนือ ก็ไม่ปรากฏภาพปูนปั้นใด ๆ เหลืออยู่เลยเช่นกันครับ สันนิษฐานว่าเป็นภาพพุทธประวัติตอน “ปฐมเทศนา”

ปูนปั้นผนังที่ 10 : “ยมกปาฏิหาริย์”

ปูนปั้นผนังที่ 10 ผนังเมรุทิศเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “ยมกปาฏิหาริย์” ปูนปั้นที่เหลืออยู่แสดงเป็นภาพของป่าไม้และสัตว์ป่าในส่วนล่าง ภาพส่วนกลางแสดงภาพบุคคลนั่งพนมมือหลายแถว ส่วนของฐานบัลลังก์และเปลวรัศมี เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่บนฐานมีเปลวรัศมีโดยรอบ

ปูนปั้นผนังที่ 11 : “เสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระประยูรญาติพระนางพิมพาและพระโอรส ที่กรุงกบิลพัสดุ์”

ปูนปั้นผนังที่ 11 ผนังฝั่งทิศเหนื ของเมรุมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระประยูรญาติพระนางพิมพาและพระโอรส ที่กรุงกบิลพัสดุ์” ปูนปั้นผนังนี้ ยังเหลือให้เห็นอยู่มากก็จริง แต่ส่วนล่างเหลือเพียงแค่รูปต้นไม้ ภาพบุคคลและรูปโค้งคล้ายร่ม ที่หมายถึงขบวนของคณะทูต 10 คณะที่เดินทางไปทูลอาราธนาอัญเชิญพระพุทธเจ้ากลับวัง ส่วนกลางเป็นภาพของเหล่าพระญาติพระวงศ์แสดงอัญชลีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่วนบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าในปราสาท 7 ชั้น ยอดปรางค์ แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมของพระเมรุ (ปราสาททิศ) ในมุขปีกของปราสาทเป็นภาพบุคคลชายหญิง 2 ข้าง เหนือหลังคามุขประดับด้วยฉัตรที่แสดงความเป็นบุคคลสำคัญ

ปูนปั้นผนังที่ 12 : “เสด็จลงจากดาวดึงส์”

ปูนปั้นผนังที่ 12 ผนังฝั่งทิศตะวันออกของเมรุมุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาพพุทธประวัติตอน “เสด็จลงจากดาวดึงส์” ภาพปูนปั้นส่วนล่าง เป็นภาพภาพบุคคลจำนวนมากรอรับเสด็จในวันเทโวโรหนะ ส่วนกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้าที่มีพวยรัศมีอยู่โดยรอบกำลังเสด็จลงมาจากสวรรค์ แวดล้อมด้วยพระพรหม ( 4 พักตร์) และเหล่าเทพยดาเหาะเกินตามเสด็จลงมาจำนวนมาก

อนุเคราะห์ข้อมูลจาก : อาจารย์วรณัย พงศาชลากร

ปิดท้าย ณ วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ด้วยโครงสร้างรูปแบบที่มีความยิ่งใหญ่สวยงาม ในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา… จึงเหมาะแก่การเดินทางมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และซึบซับบรรยากาศการพักผ่อนที่ได้อรรถรสจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ เรียนเชิญมาท่องเที่ยวกันเยอะๆครับ

ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ…

วัดไชยวัฒนาราม พระนครศรีอยุธยา

เพลงบุพเพสันนิวาส บรรเลงโดยวงดุริยางค์เครื่องลม แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2561 มีกิจกรรมพิเศษ งานบรรเลงดนตรี ณ วัดไชยวัฒนาราม โดยวงดุริยางค์เครื่องลม แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Wind Symphony) ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักอย่างยิ่ง


https://youtu.be/BBjt5-IAHNI

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com

****************************************

ผู้สนับสนุน

>> จองที่พักในพระนครศรีอยุธยากับ agoda <<