Faiththaistory.com

กราบหลวงพ่อพูน วัดตาลล้อม พระเกจิเมืองชลบุรี

https://youtu.be/nFvjuOc0jm8

สวัสดีครับทุกท่านกลับมาพบการเดินทางท่องเที่ยวในภารกิจเที่ยววัดกันต่อไป… ผมได้มีโอกาสเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดชลบุรี แต่ในเบื้องต้นนั้นผมไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวในครั้งนี้ เพราะเนื่องด้วยเวลาไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่นัก อีกทั้งมีเวลาจำกัด…

ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเหตุความบังเอิญที่ได้เดินทางมาวัดแห่งนี้ เพราะสถานที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ที่ผมมาทำธุระ และวัดแห่งนี้คือ “วัดตาลล้อม”

วัดตาลล้อม อยู่ถัดจากตลาดหนองมน มาไม่มากนัก… ผมขับรถจากกรุงเทพฯผ่านตลาดหนองมน ไปสักพักจะถึงแยกวัดตาลล้อม จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดชัดเจนฝั่งซ้ายมือแล้วเลี้ยวรถเข้าไปเลยครับ…

พื้นที่วัดตาลล้อม

เมื่อขับรถเข้ามาตามถนนสักพัก ก็จะเห็นซุ้มประตูใหญ่เพื่อเข้าพื้นที่วัดอีกทีหนึ่ง… ในเรื่องความเป็นมาของวัด ผมเองนั้นก็ไม่เคยทราบเลยครับ ครั้งนี้มาแบบไม่ได้ตั้งใจจริงๆ… พอเข้ามาในพื้นที่วัดพบว่ามีพื้นที่กว้างขวางมาก แล้วผมก็หาที่จอดรถ ซึ่งก็หาได้ไม่ยาก

การเตรียมพร้อมในวันนี้ต้องบอกว่า ไม่ได้เตรียมตัวเลยครับ …กล้องก็ไม่ได้นำมาด้วยถือแต่กล้องมือถือกับ GoPro ติดตัวมาเท่านั้น

หอระฆังวัดตาลล้อม

เมื่อเข้ามาในวัด จุดเด่นแรกก็จะมองเห็นหอระฆังตั้งสูงตระหง่าน เยื้องกับพระวิหารหลวงพ่อพูน

วิหารหลวงพ่อพูน

จากนั้นผมก็เดินไปยังวิหารหลวงพ่อพูน และอ่านประวัติด้านหน้า… ตามประวัติหลวงพ่อพูน โสวัณโณ ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดตาลล้อม รูปที่ 6 … ตอนนี้ในใจผมก็คิดขึ้นเลยทันทีว่า ท่านต้องเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี จนชาวบ้านให้ความเคารพนับถืออย่างมากรูปหนึ่งแน่นอน เพราะมีการสร้างวิหารเพื่อระลึกถึงคุณของท่าน…

ประวัติหลวงพ่อพูน โสวัณโณ วัดตาลล้อม พอสังเขป

จากป้ายหน้าพระวิหารได้เขียนบันทึกไว้ดังนี้

พระครูพิพัฒน์สีลคุณ (พูน โสวัณโณ) เป็นบุตรของท่านขุนคลังอินทร์ มารดาชื่อ มงคล อินทรมังคละ เกิดที่บ้านท้ายดอน ตำบลเหมือง (บางพระ) อำเภอเมืองชลบุรี ปีกุล พ.ศ. 2433 … เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้ไปเรียนหนังสือไทยเป็นศิษย์ของพระสุน 2 ปี และพระขวัญ 2 ปี โดยเป็นลูกศิษย์ที่วัดเจริญดอน

หลังจากนั้นได้ไปอยู่กับหลวงบุรัตถคามบดี ที่บ้านบางพระและได้ย้ายตามคุณหลวงไปที่อำเภอศรีราชา… เข้ารับราชการเป็นเสมียนประจำอำเภอศรีราชาเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นได้ย้ายไปเป็นเสมียนโรงงานยี่กงษีสุรา เป็นเวลา 1 ปี..

เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้ลาออกจากงานเข้าอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดตาลล้อม เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 โดยมีพระอุปัชฌาย์จั่น วัดเสม็ดเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เล็ก วัดแจ้งเจริญคอน เป็นพระกรรมวาจารย์ … ได้จำพรรษาที่วัดตาลล้อม 2 พรรษา และได้ไปจำพรรษาที่วัดท้ายดอน จนกระทั่งวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2459 ทางคณะอุบาสกอุบาสิกาวัดตาลล้อม ได้นิมนต์ให้ท่านกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตาลล้อมเพื่อพัฒนาวัดต่อไป

หลวงพ่อพูน มรณภาพ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ.2495 สิริรวมอายุ 62 ปี 42 พรรษา

ในวิหารหลวงพ่อพูน

เมื่อผมเดินเข้ามาภายในวิหารหลวงพ่อพูน ก็พบว่ามีเหล่าผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมากราบไหว้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการนำอาหารคาวหวานมาทำการแก้บน (โปรดใช้วิจารณญาณ) ตามความเชื่อส่วนบุคคล

รูปหล่อหลวงพ่อพูน สามารถที่จะปิดทองบูชากันได้ ภายในวิหารมีการจัดเตรียมธูปเทียนให้จุดไว้บูชากันด้วยครับ

ทั้งนี้ผมก็ได้จุดธูปบูชา อธิษฐานขอพรและร่วมบริจาคปัจจัยเล็กๆน้อยๆ เพื่อค่าน้ำค่าไฟฟ้าของวัด ที่ตู้บริจาคด้านข้าง… ผมขอแบ่งบุญกุศลนี้มายังทุกท่าน ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

รูปหล่อหลวงพ่อพูน

ความโด่งดังอีกอย่างหนึ่งของหลวงพ่อพูนคือเกี่ยวกับเรื่องวัตถุมงคล… จากบันทึก หลวงพ่อพูน เป็นพระคณาจารย์ชื่อดังของเมืองชลรูปหนึ่งที่ได้รับการนิมนต์ ในจำนวน 108 องค์ทั่วประเทศ ให้ไปร่วมพิ ธี พุทธภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ ณ วัดราชบพิธ

และเหรียญรุ่นแรก รุ่นฉลองศาลาโรงเรียนวัดตาลล้อม ปี พ.ศ. 2480 เป็นเหรียญที่นักสะสมตามหาและนิยมกันมาก… ซึ่งผมลองค้นหาข้อมูลพบว่ามีราคาเช่าหากันที่หลักหมื่นกลางๆ ขึ้นไปเลยหล่ะครับ ซึ่งขึ้นกับสภาพของเหรียญด้วย

รูปวัตถุมงคลหลวงพ่อพูน

ลักษณะเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อพูน วัดตาลล้อม ชลบุรี

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพูน ปีพ.ศ. 2480 ฉลองศาลาโรงเรียนวัดตาลล้อม (หน้า)

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพูน ปีพ.ศ. 2480 ฉลองศาลาโรงเรียนวัดตาลล้อม (หลัง)

รูปวัตถุมงคลจาก : www.g-pra.com โดยคุณรักชลบุรี

ประวัติวัดตาลล้อมพอสังเขป

วัดตาลล้อมสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2385 เดิมชื่อวัดณรงค์ เรียกตามนามของอุบาสกผู้ถวายที่ดินสร้างวัด ราว 31 ไร่ 3 งานเศษ นั่นก็คือ ขุนณรงค์ จอมสุวรรณ กำนันตำบลบางทรายต่อมาเมื่อมีผ้คนมากขึ้นทำให้วัดคับแคบไปไม่สามารถขยายต่อไปได้อีกเพราะวัดตั้งอยู่ติดกับชายป่า และมีทุ่งนาล้อมรอบ ประกอบกับการสัญจรไปมาระหว่างวัดกับหมู่บ้านไม่สะดวก ต้องใช้สะพาน ทางวัดและชาวบ้านจึงได้ย้ายวัดมาตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ของขุนณรงค์เช่นเดียวกัน เมื่อวัดย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้วชื่อวัดก็ได้เปลี่ยนจากเดิมด้วย เพราะสถานที่ตั้งของวัดแห่งใหม่นี้ล้อมรอบด้วยต้นตาลกลายเป็นวัดอยู่กลางดงตาล วัดจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดตาลล้อม” การขึ้นทะเบียน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 116 ตอนที่ พิเศษ 17 ง. ลงวันที่ 17 มีนาคม 2542 พื้นที่โบราณสถานโดยประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 20.5 ตารางวา

พระอุโบสถหลังเดิมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีน้ำ เกี่ยวกับเรื่องพุทธประวัติ แต่ปัจจุบันได้ผุพังไปตามกาลเวลา

พระอุโบสถหลังเดิม วัดตาลล้อม

รูปภาพและข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

เนื่องจากผมมีเวลาจำกัด ก็เลยเสียโอกาสเดินทางไปดูโบราณสถานของวัดตาลล้อม คือพระอุโบสถหลังเดิม ซึ่งได้รับการลงทะเบียนโดยกรมศิลปากรไปเรียบร้อย … พอนึกขึ้นมา ก็รู้สึกเสียดายจริงๆที่ไม่ได้เดินไปชมสถานที่จริง เพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสเดินทางมาไกลถึงที่นี่สักเท่าไหร่นัก …

ผมใช้เวลาไม่นานนักอยู่ในวัดตาลล้อม แล้วจึงเดินทางไปทำธุระต่อ … แล้วพบกันใหม่ในภารกิจเที่ยววัด… สวัสดีครับ

แนะนำร้านอาหารใกล้เคียงวัดตาลล้อม

เนื่องจากว่าผมเดินทางมาไกล ก็ถึงเวลาเที่ยง จึงได้หยุดรับประทานอาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดบริเวณแยกวัดตาลล้อม ซึ่งถือได้ว่ามีความอร่อยและราคาไม่แพงคุ้มค่ามากครับ มีอาหารตามสั่งมากมาย มีห่อหมกปลาอินทรีย์และห่อหมกปู และอื่นๆ ลองเชิญแวะชิมกันได้นะครับ


https://youtu.be/BO9QN3h5vgU

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

Exit mobile version