Faiththaistory.com

ไหว้หลวงพ่อโต และประเพณีรับบัว เที่ยววัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ

ไหว้หลวงพ่อโต และประเพณีรับบัว เที่ยววัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ


วัดหยุดสุดสัปดาห์ ผมได้มีโอกาสเดินทางมาหาญาติแถวๆบางนา ก็เลยหาข้อมูลว่ามีวัดไหนน่าสนใจมาเที่ยว และก็ได้รับการแนะนำให้มาไหว้หลวงพ่อโต ที่วัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งตามตำนานพระ 3 พี่น้อง  หลวงพ่อโตจะเป็นพระองค์เล็ก (องค์โตคือหลวงพ่อวัดบ้านแหลม องค์กลางคือหลวงพ่อพุทธโสธร) ซึ่งผมได้เขียนเรื่องราวไว้ที่บทความตำนานหลวงพ่อพุทธโสธรไว้แล้ว สำหรับวันที่ผมเดินทางมาที่วัดบางพลีใหญ่ในนั้น ตรงกับงานบุญประจำปีของวัดเลยครับ หรือที่เรียกว่า “ประเพณีรับบัว”  ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555

หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตามตามนานเรื่องเล่ากล่าวว่า ได้ลอยตามแม่น้ำแล้วผุดขึ้นที่ปากคลองสำโรง แล้วชาวบ้านแถวนั้นได้อาราธนาขึ้นจากน้ำโดยใช้แพลากจูง อีกทั้งยังอธิษฐานว่าจะขึ้นฝั่งประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญที่ใด ก็ขอให้แพหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวตรงนั้นแล้วแพก็มาหยุดนิ่งไม่ยอม เคลื่อนไหวหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน ชาวบ้านเลยอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จนถึงปัจจุบัน

ภายในพระอุโบสถหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน

วันที่ผมได้เดินทางมาเป็นวันที่มีพิธีเปิดงานบุญประจำปี “ประเพณีรับบัว” ก็เลยมีผู้คนค่อนข้างมาก มีร้านค้ามากมาย อาหารการกินก็เพียบ มีแต่ของน่ากินทั้งนั้น และผมก็ซื้อกินไปก็เยอะครับ

ร้านค้าในงานประเพณีรับบัว

ผมได้เดินเข้ามาในงานก็เจอแผงอาหารตั้งขายโดยชาวบ้าน มีแต่ของน่ากินครับ ผมก็ซื้อกินไปก็เยอะเหมือนกัน

แมลงทอด เมนูฮิตมีทุกๆงานบุญ

วงดุริยางค์จากทหารบก มาบรรเลงเพลงในพิธีเปิดงานประจำปี

วงดุริยางค์จากทหารบก มาบรรเลงเพลงในพิธีเปิดงานประจำปี

พอผมเดินจนมาถึงบริเวณหน้าพระอุโบสถหลวงพ่อโต ก็กำลังมีพิธีการในการเปิดงานประเพณีรับบัว อย่างเป็นทางการ โดยมีวงดุริยางค์จากทหารบกมาทำการบรรเลงเพลงด้วย อีกทั้งหลังพิธีเปิดจบลง พี่ๆทหารก็ทำการบรรเลงเพลงโชว์หลายเพลงเลยครับ ส่วนมากเป็นเพลงลูกทุ่ง และผมก็ได้บันทึกคลิปบรรเลงเพลงมาลงให้ชมกันด้วย ที่ด้านท้ายบทความนี้

เด็กๆ จากโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่ใน ช่วยกันอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดเก็บรองเท้าของผู้มางานบุญ

เด็กๆ จากโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่ใน ช่วยกันอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดเก็บรองเท้าของผู้มางานบุญ

ถ้าจะกล่าวถึงงานบุญที่จัดกันในวัด ไม่ว่าจะเป็นประเพณีประจำปี งานเวียนเทียน หรืองานสวดมนต์ข้ามปี หลายๆคนคงมักเจอปัญหารองเท้าหาย แต่มาที่วัดบางพลีใหญ่ใน ท่านจะสบายใจเลยครับ เพราะมีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่ใน มาคอยอำนวนความสะดวกดูแลรองเท้าให้ท่านเป็นอย่างดี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เราก็สามารถสนับสนุนทุนการศึกษาของเด็กๆได้ครับ มีตู้บริจาควางไว้ด้วย (ตามจิตศรัทธาครับ ไม่ใส่ก็ได้)

บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ หลวงพ่อโต

ผู้คนเยอะแยะมากมายเลยครับ เนื่องจากวันที่ผมเดินทางมาตรงกับวันเสาร์ ก็เลยเป็นเหตุให้ผู้คนหลั่งไหลกันมาอย่างต่อเนื่อง และผมมั่นใจว่า ปริมาณคนจะเยอะมากในช่วงเย็นถึงค่ำ เพราะอากาศจะเย็นลง

บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ เพื่อทำการจุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาหลวงพ่อโต

ภายในพระอุโบสถ จะไม่อนุญาตให้มีการจุดธูปเทียนบูชา เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายและอากาศระบายลำบาก จึงมีการจัดสรรพื้นที่จุดธูปเทียนบูชาบริเวณภายนอกด้านข้างพระอุโบสถ ส่วนการปิดทององค์หลวงพ่อสามารถที่จะเข้าไปปิดทองได้ครับ

คาถาบูชาหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ

ตั้งนะโม 3 จบ

อิมินาสักกาเรนะ พุทธะมหานุภาโว
อิมินาสักกาเรนะ ธัมมะมหานุภาโว
อิมินาสักกาเรนะ สังฆะมหานุภาโว
อิเมยันตา มหาเตชา มหานุภาตะชาติกา
มหามังคะละ สัมพุทตา อันตราเยวินาสะกา
สัพพะถะสุขะ สัมพุทตา อเนกาคุณันตานานับปะโก
สัพพะทุกขัง สัพพะภะยัง สัพพะโรคังวินาสสันติ
สัพพะลาภัง สัพพะสุขัง ภะวันตุเมฯ

อภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์เรื่องเล่าต่อๆกันมาของหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน

เสียงสวดมนต์ในคืน 15 ค่ำ
อันอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโตนั้น มีมากมายสุดจะนับได้ หลังจากที่ท่านได้ถูกอาราธนาประดิษฐานขึ้นจาก
น้ำที่วัดบางพลีใหญ่ในแล้ว ท่านก็ยังได้แสดงอภินิหารให้ประชาชนเห็นกันอยู่บ่อยๆ ดังเช่นครั้งท่านประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญของ
ชาวบางพลีท่านก็ยังได้แสดงอภินิหารให้ประชาชนเห็นกันอยู่บ่อยๆ ดังเช่นครั้งที่ท่านประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก่า บางวันที่เป็น
วันพระขึ้น 15 ค่ำ กลางคืนจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่ในวิหารคล้ายเสียงสวดมนต์ ครั้นเมื่อเข้าไปดูจึงไม่เห็นใครอยู่ในนั้นเลย
นอกจากองค์หลวงพ่อโตนั่งพระพักตร์ยิ้มแฉ่ง จนผู้คนที่พบเห็นเข้าไปดูเกิดขนลุกซู่ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส

พระภิกษุชรานิรนาม
บางคราวพระภิกษุและสามเณรในวัดจะเห็นพระภิกษุชราห่มจีวรสีคร่ำคร่า ถือไม้เท้าเดินออกมาจากวิหารและยืนสงบนิ่งอยู่หน้า
วิหาร ผู้ที่พบเห็นต่างเรียกกันมาดู เมื่อทุกคนเห็นพร้อมกันแล้ว ภิกษุชรารูปนั้นก็เดินหายเข้าไปในวิหารตรงองค์หลวงพ่อโต เป็น ดังนี้แล้วหลายครั้งหลายครา

ชายชราสง่างาม
บางครั้งจะมีผู้คนเห็นเป็นชาวชรารูปร่างสง่างามมีรัศมีเปล่งปลั่งนุ่งขาวห่มขาวเข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็หายไปตรงพระพักตร์ของ
ท่าน ซึ่งยังความปลาบปลื้มปีติแก่ผู้ที่ได้พบเห็น

ปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทอง
ที่ข้างวิหารนั้นมีสระน้ำย่อมๆ อยู่ใบหนึ่ง ในบางคราวจะมีปลาเงินปลาทองหรือปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองขนาดใหญ่ 2 ตัว ปรากฏให้เห็นลอยเล่นน้ำคู่กันอยู่ในสระนั้น ซึ่งสระนั้นไม่เคยมีปลาตะเพียนมาก่อนเลย ด้วยนิมิตนี้ทางวัดจึงได้จัดให้มีปลาตะเพียน เงินปลาตะเพียนทองไว้สมนาคุณสำหรับบูชาไว้กับร้านค้าและบ้านเรือน ปรากฏว่าผู้ที่นำไปสักการะบูชาประสบลาภผลอย่างดียิ่งใน การทำมาหากินและโชคลาภ ประชาชนจึงถือว่าปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองนี้ เป็นปลาคู่บารมีของหลวงพ่อโต จึงมีผู้คนต่าง นำไปสักการะมากมาย

นางไม้ต้นพิกุลกราบลาหลวงพ่อโต
เดิมก่อนนั้นหลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในวหารเก่าของวัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งมีอายุนานเก่าแก่นานคร่ำคร่าและทรุดโทรมลงไปมาก ทางวัดจึงพร้อมใจกันสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ถวายท่านใหม่ ขณะที่ก่อสร้างก็ได้รื้อิหารหลังเก่าออกมาแล้วอาราธนาชะลอองค์หลวง พ่อมาพักอยู่ที่ศาลาชั่วคราว และได้ตัดต้นพิกุลหน้าวิหารซึ่งมีขนาดใหญ่ประมาณ 3 คน โอบออกเสีย เพราะเห็นว่าขึ้นใหญ่โตและ เกะกะบริเวณที่จะสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่และในคืนวันหนึ่งตรงพื้นเบื้องหน้าห่างหลวงพ่อราว 2 ศอกเศษ ได้ปรากฏว่ามีรอยมือรอย เท้าแสดงท่าคุกเข่ากราบหลวงพ่อ รอยเท้าไม่ปรากฏตอนเข้ามา ปรากฏแต่รอยเท้าตอนเดินกลับเท่านั้น รุ่งขึ้นเช้าจึงได้มีผู้คนแตก ตื่นมาดูกันเป็นการใหญ่ ท่านผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าเป็นรอยมือรอยเท้าของนางพิกุลที่มากราบลาหลวงพ่อ ซึ่งผู้ที่เฝ้าองค์หลวงพ่อ ที่ศาลานั้น ได้กล่าวว่าตนเองได้กลิ่นหอมของดอกพิกุลมาก จึงผงกศีรษะขึ้นดูอย่างงัวเงียจึงได้เห็นผู้หญิงสาวสวยผมยาวจรดบั้นเอว นุ่งผ้าห่มบไสคล้ายกลีบดอกจำปามาร่ำไห่กราบลาหลวงพ่อ เมื่อกราบลาหลวงพ่อแล้วก็เดินร่ำไห้ลงบันไดไป และแสดงอภินิหารฝาก รอยมือรอยเท้าให้ปรากฏไว้ให้เห็น ต้นพิกุลนี้หลังจากที่ได้ตัดแล้ว ต่อมาภายหลังได้แกะสลักเป็นรูป “พระสังกัจจายน์” ประดิษฐานไว้ที่ด้านหน้าวิหารหลังเล็กข้างพระอุโบสถ พระสังกัจจายน์ที่แกะด้วยต้นพิกุลมีชื่อเสียงมากในทางโชคลาภ มีผู้มาขอโชคกันบ่อยๆ จนเป็ฯที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปอีกองค์หนึ่ง

เข้าพระอุโบสถไม่ได้
และเมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ ก่อนจะอาราธนาหลวงพ่อเข้าไปประดิษฐานภายในพระอุโบสถได้วัดองค์ท่านกับช่องประตูพระ อุโบสถ ช่องประตูใหญ่กว่าองค์ท่านประมาณ 5 นิ้ว ซึ่งสามารถนำท่านชะลอผ่านประตูเข้าไปได้สบายมาก ครั้นเวลาอาราธนาหลวง พ่อเข้าสู่พระอุโบสถจริงๆ กลับปรากฏว่าองค์หลวงพ่อใหญ่กว่าช่องประตูมาก จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถนำท่านผ่านประตูเข้าไปได้ คณะกรรมการและประชาชนทั้งหลายเห็นเช่นนั้นก็พากันตกใจ ให้ความเห็นว่าต้องทุบช่องประตูออกเสียให้กว้าง เมื่อนำหลวงพ่อ เข้าไปแล้วค่อยทำประตูกันใหม่ แต่บางส่วนให้ความเห็นว่าหลวงพ่อคงจะแสดงอภินิหารให้ทุกคนได้เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงพร้อมใจ กันทั่วทุกคนจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบต่อไปเมื่อ เสร็จจากอธิษฐานแล้ว ก็อาราธนาหลวงพ่อโตเข้าสู่ประตูพระอุโบสถใหม่ คราวนี้ทุกคนก็ต้องแปลกใจที่องค์หลวงพ่อโตผ่าน เข้า ประตูพระอุโบสถได้อย่างง่ายดาย โดยมีช่องว่างระหว่างองค์หลวงพ่อโตกับประตูพระอุโบสถเสียอีก นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ในอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโตยิ่งนัก

รักษาโรคด้วยน้ำมนต์
นอกจากนั้น หลวงพ่อโตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บปวยทั้งหลายที่มาบอกเล่าบนบานกราบนมัสการท่าน บางท่านได้นำน้ำมนต์ หลวงพ่อไปเพื่อเป็นสิริมงคล ปรากฎว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นนั้นกลับหายวันหายคืน

เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ จาก www.danpranipparn.com

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถ จะมีการจำลองพระสามพี่น้องในตำนานอีก 2 องค์คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อวัดบ้านแหลม (พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร) และพระพุทธรูปหลวงพ่อพุทธโสธร (พระพุทธรูปปางสมาธิ)

ผู้คนทยอยขึ้นไปทำการปิดทองหลวงพ่อโต

พระพุทธบาทจำลอง

ภายนอกพระอุโบสถจะประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองให้ทำการสักการะบูชา และภาพที่ชินตาของพวกเราก็คือ การพยายามตั้งเหรียญบนรอยพระพุทธบาท ของเหล่าผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ใครไปกันแล้ว ลองไปวัดฝีมือกันหน่อยนะครับ เป็นการฝึกสมาธิไปด้วยเลย ^^

น้ำมนต์ปลุกเสกหน้าพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระอุโบสถ ได้จัดภาชนะขนาดใหญ่บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ปลุกเสกไว้ สำหรับท่านที่ศรัทธา ก็นำขวดมาบรรจุกลับมาที่บ้านได้ แต่ก็อย่าถึงขนาดเอาแกลลอนมาเลยนะครับ เผื่อแผ่ท่านอื่นๆบ้างก็ดี

ห้องน้ำไฮเทค วัดบางพลีใหญ่ใน

สำหรับท่านที่ต้องการทำภาระกิจส่วนตัว ทางวัดได้จัดสถานที่ไว้ให้อย่างดีเลยครับเรียกกันว่า “ห้องน้ำไฮเทค” บรรยากาศดีจริงๆครับ จัดไว้สวยงามมาก แต่วันนี้คนเยอะอาจจะดูวุ่นวายเล็กน้อย แต่สถานการณ์ถือว่าเอาอยู่ครับ ติดแอร์เย็นฉ่ำ หลายๆคนเลยถือโอกาสนั่งพักผ่อนสบายอารมณ์ซะเลย บางคนก็ควักมือถือมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอัพ โซเชียลเน็ตเวิร์ค อวดเพื่อนๆกันเลยก็มี

วิหารเก่าสร้างปี พ.ศ. 2496

บรรยากาศรอบๆพระอุโบสถ

เรื่องราวความเป็นมาประวัติประเพณีรับบัว

ในอดึต ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีชาวบ้านตั้งถิ่นฐานอาศัยกันอยู่ 3 เชื้อสายได้แก่ ชาวไทย ชาวลาว และชาวรามัญ ซึ่งก็ได้ประกอบอาชีพที่แตกต่างกันไป และครั้งหนึ่งได้ร่วมมือร่วมใจกันว่า จะพัฒนาพื้นที่รกร้างนี้เพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแม่้ำลำคลอง มีวัชพืชเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง 3 เชื้อสายได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่จนมาบรรจบกันทางสามแยก คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยปากน้ำลำคลอง 3 สาย คือ คลองสลุด คลองชวดลากข้าว และคลองลาดกระบัง และได้ตกลงกันต่อว่า จะแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพตามลำคลองทั้ง 3 สายนี้ เพื่อจะได้รู้ว่าภูมิประเทศใดจะเหมาะสมกับการประกอบอาชีพทั้งในด้านการค้าขายและเกษตรกรรม โดยแนกกันดังนี้

ชาวไทยไปตามลำคลองชวดลากข้าว ชาวลาวไปตามคลองสลุด ชาวรามัญไปตามลำคลองลาดกระบัง จนเวลาล่วงเลยไปประมาณ 2 -3 ปี ชาวรามัญที่แยกย้ายไปประกอบอาชีพทางคลองลาดกระบังเกิดผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากภาวะศัตรูพืช เกิดความเสียหายอย่างมาก จึงได้อพยพกลับสู่ถื่นฐานเดิม คือฝั่งบ้านปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

โดยมีการอพยพตามกำหนดการในรุ่งเช้า วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 และได้ทำการเก็บดอกบัวหลวงในลำคลองเพื่อนำกลับไปบูชาพระคาถาพัน ณ จุดปลายทาง และได้บอกกล่าวกับชาวไทยที่สนิทสนมกันว่า เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ขอให้ชาวไทยช่วยเก็บดอกบัวหลวงไว้ที่วัดหลวงพ่อโต (วัดบางพลีใหญ่ใน) เพื่อพวกตนจะนำไปเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา ชาวไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือเตรียมดอกบัวหลวงไว้ให้ทุกครั้ง ชาวรามัญก็จะนำดอกบัวหลวงเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน และนำดอกบัวหลวงบางส่วนกลับไปบูชาที่วัดของพวกตน พร้อมนำน้ำพระพุทธมนต์กลับไปด้วย จนได้เกิดประเพณีรับบัว จนมาถึงทุกวันนี้

จากตำนานและประวัติเล่าขานมานี้ จะเห็นได้ว่า เป้นประเพณีที่ดีงาม บ่งบอกถึงความสามัคคีกลมเกลียวของ 3 เชื้อชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ประเพณีรับบัว” ขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555

เนื่องจากประเพณีรับบัว จะมีพิธีโยนบัวตรงกับวันทำงาน ผมก็เลยไม่ได้ไปแน่นอน เลยค้นหาภาพบางส่วนจากปีที่ผ่านๆมาลงไว้ นอกจากจะมีพิธีโยนบัวกันแล้ว จะได้ชมการประกวดเรือสวยงามด้วยครับ

ขอบคุณภาพจาก Pantip.com

 

ประวัติและตำนานวัดบางพลีใหญ่ใน

เดิมนั้นวัดบางพลีใหญ่ในมีชื่อว่า “วัดพลับพลาชัย” เป็นวัดที่ตั้งมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรได้ยกทัพขับไล่ศัตรูจนถอยร่นมาทางทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงตำบลหนึ่งไม่ปรากฏนาม และได้ทำการพักไพร่พล พร้อทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงหาฤกษ์ตามตำรับพิชัยสงคราม หลังจากพระองค์ทรงยกทัพปราบศัตรูได้ ก็เดินย้อนทัพกลับกรุงศรีอยุธยามาทางเดิม จนมาถึงตำบลที่พระองค์ได้ทำพลีกรรมไว้ จึงได้รับสั่งให้สร้างพลับพลาขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และขนานนามว่า “พลับพลาชัยชนะสงคราม” และชาวบ้านในละแวกนี้จึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นมาที่บริเวณนี้ ให้ชื่อว่า “วัดพลับพลาชัยชนะสงครม”

และตำบลนี้ได้ชื่อว่า “บางพลี” เนื่องมาจากที่สมเด็จพระนเรศวร ทรงทำพิธีพลีกรรมบวงสรวง ณ สถานที่นี้ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดบางพลี (เนื่องจากวัดนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์โต) จนต่อมาได้เป็นชื่อวัดบางพลีใหญ่ใน เพราะมีการก่อสร้างวัดอีกแห่งด้านนอก ที่ชื่อว่า “วัดบางพลีใหญ่กลาง” ในปัจจุบัน

สำหรับท่านที่ได้มีโอกาสเดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรปราการ ก็อย่าลืมแวะกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อโตกันนะครับ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเล่าขานเก่าแก่โบราณ และบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของประเทศไทยเลยครับ

เกียรติประวัติ วัดบางพลีใหญ่ใน

ในหลวงเสด็จถวายผ้าพระกฐิน

ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ส่วนพระองค์ ณ วัดบางพลีใหญ่ใน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2504

คลิปดุริยางค์ทหารบก บรรเลงเพลงในงานพิธีเปิด “ประเพณีรับบัว”

– จบบันทึกท่องเที่ยว ไหว้หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน –

แผนที่วัดบางพลีใหญ่ใน จาก www.watbangpleeyainai.org

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

Exit mobile version