Faiththaistory.com

วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ สระบุรี ภาพสลักโบราณทางพุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในไทย


https://youtu.be/NVi7q_FJpss

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปตะลุยท่องเที่ยววัด ชมถ้ำโบราณ ตามรอยภาพสลักโบราณทางพระพุทธศาสนาอายุกว่าพันปีและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี  ด้วยความมีชื่อเสียงของวัดแห่งนี้คือมีถ้ำธรรมชาติ ที่มีสลักภาพศิลปะเก่าแก่ในยุคทวารวดี สันนิษฐานอายุมากกว่าพันปีและถือเป็นภาพสลักทางพระพุทธศาสนาที่เก่าที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปชมกันอย่างมากมาย นอกจากนี้ที่วัดยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีความเงียบสงบ ร่มรื่น แวดล้อมไปด้วยขุนเขาที่สวยงาม และมีธารน้ำตกยิ่งทำให้ดูร่มเย็นยิ่งนัก

การเดินทางในครั้งนี้ ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก จากจังหวัดลพบุรี มาถึงอ.แก่งคอยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งทางเข้าวัดจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง (ปูนตรานกอินทรีย์)  ระหว่าที่ขับรถเข้ามา ก็จะได้ชมบรรยากาศสองข้างทาง ที่ดูร่มรื่นสวยงามของธรรมชาติ ช่างเป็นวันพักผ่อนที่วิเศษจริงๆครับ

วัดถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อว่า ถ้ำพระงามหรือถ้ำเขาน้ำพุ ประกอบด้วย คูหาน้อยใหญ่ 6 คูหา คูหาที่มีภาพสลักบนผนัง เป็นคูหาติดทางเข้าถ้ำพระโพธิสัตว์ คูหานี้มีเจดีย์ปิดทอง ประดิษฐานโบกปูน ปูด้วยกระเบื้อง เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นภายหลังในสมัยปัจจุบันนี้ ณ ผนังด้านเหนือของคูหานี้สูงจากพื้นถ้ำราวๆ 4 เมตร มีภาพสลักนูนต่ำศิลปกรรมสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 13-14)

ทางไปถ้ำ

เมื่อผมมาถึงวัด ต้องบอกว่าได้รับรู้ถึงความสดชื่นจากธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ดีมากๆเลยครับ ผมจอดรถบริเวณป้ายทางเข้าถ้ำ

บรรยากาศสู่ถ้ำ

น้ำตกในวัด

ธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในวัด นั่นก็คือธารน้ำตกที่สวยงาม…ซึ่งกลุ่มนักเดินทาง ได้ทำการบันทึกภาพและชมน้ำตกสักระยะหนึ่ง กะว่าจะอัพขึ้นโซเชียล แต่พบว่าสัญญาณสื่อสารทุกค่ายดับสนิท เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ถ้ามากันเป็นคณะควรนัดหมายเวลากันให้ดี เพราะคุณจะใช้เครื่องมือสื่อสารไม่ได้

ทางขึ้นสู่ถ้ำ

ทางขึ้นถ้ำจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ พันผ้าสี ตามความเชื่อของคนไทยที่มีมายาวนานเกี่ยวกับรุกขเทวดา

ทางขึ้นถ้ำ

ระหว่างดินไปสู่ถ้ำ ก็จะได้ชมบรรยากาศแสนร่มรื่น ที่หาได้ยากในปัจจุบันถ้าเราไม่ออกเดินทางคงไม่ได้พบเจอ

บรรยากาศในวัด

เส้นทางขึ้นถ้ำ

ในวัดจะมีทางขึ้นถ้ำหลักๆ 3 ถ้ำคือ ถ้ำพระโพธิสัตว์ ถ้ำเลียงผา และถ้ำธรรมทัศน์ แต่ละจุดก็จะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไปครับ

บันไดขึ้นถ้ำ

ผมขอแนะนำว่าให้ใช้ทางขึ้นฝั่งซ้ายก่อนนะครับ เพราะเป็นทางบันไดสามารถเดินขึ้นได้สะดวก ซึ่งจะผ่านถ้ำเลียงผาก่อน จากนั้นจะขึ้นไปสู่ถ้ำพระโพธิสัตว์

เส้นทางขึ้นเขา เข้าถ้ำ

ปากทางเข้าถ้ำพระโพธิสัตว์

บริเวณใกล้ปากถ้ำ

ในถ้ำพระโพธิสัตว์ จะมีความมืดมาก สามารถเดินเข้าไปเปิดคัทเอ้าท์ไฟแสงสว่างด้านขวามือครับ… เมื่อเปิดไฟแสงสว่างแล้ว เราจะพบกับภาพศิลปะโบราณอายุกว่าพันปี หน้าปากถ้ำฝั่งซ้าย

พระเจดีย์ปิดทองในถ้ำพระโพธิสัตว์

ทีมนักเดินทางพิจารณาภาพสลักโบราณ

ในถ้ำพระโพธิสัตว์

ภาพสลักโบราณยุคทวารวดี

ภาพจากซ้ายจะปรากฏเป็นภาพพระพุทธรูปปางแสดงธรรมเทศนา ประทับห้อยพระบาทมีฐานบัวรองรับ ถัดไปมีลักษณะคล้ายเทวะ ที่อาจจะเป็นพระพรหมหรือพระอิศวร ประทับห้อยขาขวา ที่เอวมีผ้าคาดปล่อยชายยาว พระหัตถ์ซ้ายถือวัตถุคล้ายกำไล ต่อมาเป็นภาพพระนารายณ์สี่กรประทับยืน สองกรประสานอยู่เหนือพระอุระ กรข้างขวาถือจักร กรข้างซ้ายถือสังข์ ส่วนด้านบนเป็นภาพเทวดาหรือนางฟ้า 2 องค์  ส่วนด้านล่างถัดจากพระนารายณ์มีลักษณะเหมือนคนก้มกราบ

ในกลุ่มเราตื่นตาตื่นใจกับภาพสลักโบราณนี้มากครับ เพราะได้พากันจินตนาการย้อนกันไปในสมัยนั้น ว่าเพราะเหตุใดจึงมีการสลักภาพตรงนี้

คำอธิบายของอาจารย์วรณัย พงศาชลากร

อาจารย์วรณัย นักมานุษยวิทยา ได้กล่าวถึงภาพสลักนูนต่ำที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ไว้ว่า

ภาพสลักนูนต่ำบนผนังถ้ำหินปูน ที่ “ถ้ำโพธิสัตว์” เขตตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรี อาจสลักขึ้นด้วยฝีมือของนายช่างที่เดินทางมาจากอินเดียโดยตรง เป็นงานพุทธศิลป์ที่รับกันกับยุคปลายของ “อมราวดี – นาคารชุณโกณฑะ” (Amaravati – Nagarjunakonda) ต้นยุคสมัยราชวงศ์ปัลลวะ (Pallava Dynasty) แห่ง “แคว้นอานธระประเทศ” (Andhra Pradesh) ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12 

อาจารย์วรณัย พงศาชลากร (EJeab Academy) นักมานุษยวิทยา

ภาพสลักบนผนังที่ถ้ำโพธิสัตว์นี้จัดเป็นรูปสลักของพระพุทธรูปแบบนั่งห้อยพระบาทที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แสดงภาพของพระพุทธเจ้า-พระศากยมุนี ประทับนั่งแบบ “ปรลัมภปทาสนะ” หรือห้อยพระบาทแบบกรีกยุโรปบนบัลลังก์ภัทรบิฐ ข้างพนักพิงเป็นรูปหัวมกร (มะกะระ) มีบัวปัทม์รองรับที่พระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วแสดงวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะของการจีบนิ้วจับเส้นชายจีวรลูกบวบที่ตกลงมาเป็นเส้นโค้งเส้นเดียวและพาดผ่านพระเพลาทางด้านซ้าย

ถึงจะมีความคล้ายคลึงกับการประทับนั่งเทศนาธรรม ในพุทธประวัติตอนเทศนา “พระสัทธรรมปุณฑริกสูตรบนยอดเขาคิชกูฎ” ที่มีพระโพธิสัตว์ประทับอยู่รายรอบ 80,000 องค์ ของฝ่ายมหายาน แต่องค์ประกอบของภาพสลักนี้ เป็นภาพของมหาเทพของฝ่ายฮินดูอย่างพระศิวะและพระวิษณุ สะท้อนคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกาย “มหาสังฆิกะ” อิทธิพลตรงจากแคว้นอานธระ ในอินเดียใต้ฝั่งตะวันออก ในคติความเชื่อว่า องค์พระศากยมุนีนั้นทรงอยู่ในสภาวะสภาวะเหนือโลก เหนือธรรมชาติ ทรงถือเป็น “โลกุตระ” ทรงปรากฏพระองค์ได้ทุกหนแห่งในสกลจักรวาล ทรงสามารถแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเหล่าเทพเจ้าฮินดูบนสรวงสวรรค์ก็ได้

ภาพสลักที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อาจแสดงถึงการแสดงธรรมขั้นสูงสุดที่มีความละเอียดอ่อน ยากจะเข้าใจและเคร่งเครียด ที่กำลังเทศนาต่อเหล่าเทพเจ้าฮินดู โดยมีภาพของพระศิวะ ทรงพระเกศามุ่นมวยแบบชฏามุกุฏศิลปะแบบต้นปัลลวะ ประทับนั่งแบบยกพระเพลาเดี่ยวขึ้นมาไขว้บนอาสนะ แบบ “ลลิตาสนะ” พระหัตถ์ขวาแสดงการตอบรับ พระหัตถ์ซ้าย ถือสายอักษมาลา (ลูกประคำ) ปรากฏจุฑามณีรูปจันทร์เสี้ยวที่มวยพระเกศา นุ่งผ้าเตี่ยว คาดผ้ากฏิสูตรที่พระโสณีปล่อยโค้งห้อย ม้วนทบเป็นหูแล้วทิ้งชายผ้าปลายเป็นหางปลา อันเป็นเอกลักษณ์การนุ่งผ้าของชนชั้นสูงแบบศิลปะในแคว้นอานธระ

ส่วนรูปพระวิษณุ ถือจักรและสังข์ แสดงท่าให้ความเคารพโดยใช้พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่หน้าอก เป็นท่าสักการะที่เก่าแก่กว่าการเคารพด้วยการวันทา (ไหว้) ยืนเอียงแบบตริภังค์ (มนุษย์ธรรมดายืนแบบนี้ไม่ได้) นุ่งผ้าเตี่ยวมัด คาดผ้ากฏิสูตรที่พระโสณีแบบปล่อยหลวมด้านหนึ่งจนผ้าเฉียง ม้วนทบเป็นหูแล้วทิ้ง ชายผ้าที่ข้างลำตัว ปลายเป็นริ้วผ้าทบหลายขยัก

ถัดออกไปทางขวา มีเทพเจ้าอีกสององค์กำลังแสดงท่าเหาะเหินเพื่อเข้ามาร่วมฟังพระธรรม ที่ด้านล่างข้างพระวิษณุ ปรากฏรูปสลักของบุคคลขนาดเล็กกำลังแสดงการสักการบูชาด้วยท่านั่งคุกเข่าก้มกราบวันทา ซึ่งน่าจะหมายถึงมนุษย์ นักบวช (มีมวยผม ?) ที่มาร่วมฟังการเทศนาธรรมบนสวรรค์ หรืออาจเป็นภาพ “ตัวแทน” ในความหมายของตัวช่างผู้แกะสลักภาพเอง ที่ใส่ภาพของตนรวมเข้าไว้กับภาพสลักอันศักดิ์สิทธิ์ แสดงตัวว่าเป็นผู้ถวายการพุทธบูชาอันสำคัญนี้

คูหาในถ้ำพระโพธิสัตว์

สุดทางถ้ำพระโพธิสัตว์ฝั่งซ้าย

คล้ายแร่โลหะ บนเพดานถ้ำพระโพธิสัตว์

พระพุทธรูปในถ้ำพระโพธิสัตว์

ปฏิมากรรมธรรมชาติ ในถ้ำพระโพธิสัตว์

กลุ่มนักเดินทาง ได้พากันเดินชมถ้ำพระโพธิสัตว์นานพอสมควร จากนั้นผมและนักเดินทางอีกคน ก็พากันเดินลงมาอีกฝั่งเพื่อไปชมถ้ำธรรมทัศน์

ทางลงสู่ถ้ำธรรมทัศน์

ทางลงอีกฝั่งจะไม่มีบันได แต่ก็ยังมีราวกันให้ได้ใช้ผ่อนแรงครับ

วิวทิวทัศน์สวยงาม

ระหว่างทางที่ลงมาสู่ถ้ำธรรมทัศน์จะได้พบวิวทิวทัศน์อันสวยงาม สดชื่นสบายตา

ปากทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร

ทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์

ปากทางเข้าถ้ำธรรมทัศน์ เป็นทางเข้าเล็กๆ เมื่อส่องมองเข้าไปจะมองเห็นเป็นถ้ำกว้างใหญ่และยาวไกลสุดสายตา คดเคี้ยว ไปไม่สิ้นสุด… แรกๆนั้นก็เล่นเอาผมใจระทึก เกิดความรู้สึกหลอนๆพิกล เพราะดูถ้ำเร้นลับอย่างมาก แต่ด้วยว่าไหนๆก็มากันแล้ว จึงขอลงไปดูกันสักหน่อย

การเดินทางเข้าชมถ้ำธรรมทัศน์สิ่งที่ผมขอแนะนำคือ ต้องสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นผ้าใบ เพราะจะได้ปีนป่ายสะดวก ไม่เกิดอุบัติเหตุ… ถ้าเป็นไปได้ควรพกไฟฉายไปด้วย เพราะถ้าเกิดไฟฟ้าดับงานเข้าแน่ๆ และที่สำคัญควรมีเพื่อนร่วทางไปด้วย เนื่องจากจะได้ไม่รู้สึกหลอน และถ้าเกิดอุบัติเหตุจะได้ช่วยเหลือกันได้ ย้ำนะครับควรมีเพื่อนไปด้วย

บรรยากาศภายในถ้ำธรรมทัศน์กว้างใหญ่และยาวมาก ผมประมาณเส้นทางน่าจะอยู่ที่ราวๆ 1 กิโลเมตร บรรยากาศเป็นอย่างไร สามารถชมคลิปและภาพได้เลยครับ

ในถ้ำธรรมทัศน์

พิจารณาอยู่ครับว่า จะไปต่อดีมั้ย ใจหลอนๆ

บรรยากาศการเข้าถ้ำธรรมทัศน์ จะมีอยู่ในช่วงต้นๆ ที่ต้องปีนป่ายบันใดและไต่เชือกขึ้นไปครับ หลังจากนั้นจะเป็นเส้นทางคดเคี้ยวไปไกลมากครับ

เดินต่อไป

และหยุดมองดู

ปฏิมากรรมธรรมชาติ

ระหว่างเดินทางเข้าชมถ้ำธรรมทัศน์ ก็ตื่นเต้นพอสมควร ต่างติดจินตนาการไปต่างๆนาๆ … ถ้ามาคนเดียว คไม่เข้ามาแน่นอน ถ้าไม่เชื่อคุณลองมาชมและพิสูจน์กันนะครับ น่าจะเป็นที่ถูกใจของคนนิยมเข้าป่าชมถ้ำ

วันที่ผมเดินทางไปนั้นไปไม่สุดเส้นทางในถ้ำธรรมทัศน์ เพราะว่าไม่มีไฟฉายไปด้วย…ซึ่งจะสามารถเดินเข้าไปต่อได้ราวๆ 200 เมตร … ผมจึงได้นัดแนะกลุ่มนักเดินทางว่าจะกลับไปใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน… ยังไงผมจะมาอัพเดทบรรยากาศต่อไปนะครับ…

ขุนเขา ณ วัดถ้ำพระโพธิสัตว์

ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความการเดินทางท่องเที่ยวของผมต่อไปนะครับ…

ช่วงเก็บตกครั้งที่ 2 (วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2559) ชมถ้ำธรรมทัศน์และ จารึก จ.ป.ร

การเดินทางกลับไปครั้งนี้ เพื่อจะเก็บภาพ จารึกพระปรมาภิไธย “จ.ป.ร” ชมถ้ำเลียงผา และเข้าชมถ้ำธรรมทัศน์ จนสุดเส้นทางครับ

ขึ้นไปยังต้นน้ำตก เพื่อชม จารึก จ.ป.ร

อักษรพระปรมาภิไธย “จ.ป.ร”

อักษรพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นมาจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช” จึงมีอักษรพระปรมาภิไธยว่า “จ.ป.ร”

จารึกการประพาสของพระองค์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2439 (ร.ศ. ๑๑๕)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ จากสระบุรีโดยรถไฟถึงที่พักรถไฟแก่งคอย เสด็จลงจากรถไฟแล้วทรงม้าไปตามทางป่าถึงบ้านลาวเวลา 4 โมงเช้า พักเสวยพระกระยาหารเช้าจากนั้นทรงม้าไปเรื่อยๆ บ่ายโมงเศษถึงตำบลพุน้ำโจน พระองค์ทอดพระเนตรน้ำตกแล้วโปรดให้จารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ และปีที่เสด็จไว้ที่บริเวณเนินเขาเหนือน้ำตก

การเดินทางไปชมพระปรมาภิไธย จะต้องขึ้นไปที่ต้นน้ำตกนะครับ และก็ต้องระวังการปินป่ายก้อนหินด้วย เพราะอาจะจะหกล้มได้

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ จากด้านบน

ถ้ำเลียงผา

ถ้ำเลียงผา เป็นถ้ำที่มีลักษณะเป็นชะง่อนผายื่นออกมา ถึงก่อนที่จะเดินขึ้นไปยังถ้ำพระโพธิสัตว์

สำหรับถ้ำพระโพธิสัตว์นั้น ผมได้เดินขึ้นไปชมแล้ว จึงเดินไปชมถ้ำธรรมทัศน์ต่อทันที

ภายในถ้ำธรรมทัศน์

วันเดินทางมีเพื่อนร่วมทริป รวมผมแล้วก็ 4 คน…มาครั้งนี้สบายใจขึ้นเยอะครับ ฮ่าๆ มาคนเดียวนี่ผมไม่มาแน่ๆ

ปฏิมากรรมธรรมชาติ เป็นรูปคล้ายพระปรางค์

ความกว้างในถ้ำธรรมทัศน์

ยิ่งเข้าไปยิ่งเหมือนเหมืองแร่

บางช่วงต้องปีนป่าย

ปฏิมากรรมธรรมชาติ แล้วแต่จินตนาการครับ

ห้องโถง ก่อนเข้าถึงจุดลึกที่สุด

โอ่งรองน้ำในถ้ำ

เนื่องจากในถ้ำมีรอยแตก จึงมีน้ำไหลลงมา และมีคนนำโอ่งมารองไว้ น้ำเย็นดีครับ

จุดนี้มืดมากครับ

จุดนี้มืดที่สุด ให้เทียบกับภาพด้านล่าง ที่ผมใช้ไฟส่อง

จุดมืดที่สุด เมื่อส่องไฟ

จุดลึกที่สุดของถ้ำธรรมทัศน์

ในจุดลึกที่สุดของถ้ำธรรมทัศน์จะมีผู้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ กลุ่มเราจึงทำการกราบไหว้ และถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึกครับ

เพดานถ้ำธรรมทัศน์ จุดที่ลึกที่สุด

ถือเป็นการปิดจ๊อบสำหรับวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ สระบุรี… เหนื่อยเล็กน้อยครับ แต่คุ้มค่าเหลือเกิน เรียนเชิญมาท่องเที่ยวชมบรรยากาศที่ปนความลึกลับกันนะครับ แล้วคุณจะไม่ผิดหวังเลย…

ปิดท้ายด้วยคลิปตะลุยถ้ำรอบที่สอง


https://youtu.be/Bg91eeZW2mY

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

Exit mobile version