Faiththaistory.com

เที่ยววัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์ มรดกโลก อยุธยา

YouTube Poster

เที่ยววัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์ มรดกโลก อยุธยา … ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมได้มีโอกาสเดินทางมาวัดมหาธาตุ ซึ่งอยู่ในเขตของอุทยานประวัติศาสตร์ วัดแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  วัดมหาธาตุตั้งอยู่ในเขตเกาะเมือง ทำให้การเดินทางสะดวกและเป็นที่คุ้นเคยของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั่วไป

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) โปรดเกล้าให้สถาปนาวัดมหาธาตุในปี พ.ศ. 1917 แต่การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร (ปี พ.ศ.1931 – 1938)

จากหนังสือโบราณคดีห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา โดย น. ณ ปากน้ำ ได้สันนิษฐานว่า วัดมหาธาตุอาจจะตั้งมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะภายในวัดพบพระพุทธรูปหินในสมัยลพบุรี และพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท (พระคันธารราฐ) ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยทวารวดี มีอายุมากกว่า 1,500 ปี (ปัจจุบันได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดหน้าพระเมรุ)

รูปแผนผังวัดมหาธาตุในอดีต

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระปรางค์ประธานเคยพังลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ ปรางค์ของวัดนี้เดิมทีเดียวสร้างด้วยศิลาแลง แต่จะด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ จึงยังมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีดังเดิม ในรัชกาลนั้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะใหม่ รวมเป็นความสูง 25 วา แต่ก็ได้พังทลายลงมาอีกรอบในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำกำลังทหารไปช่วยกันสร้างยอดพระปรางค์ด้วยไม้สักชั้นเยี่ยมและได้สถาปนาให้เป็นพระปรางค์ประจำชาติ และในที่สุด พระปรางค์วัดมหาธาตุก็ยังคงอยู่ที่นั้นตลอดไป

การก่อสร้างวัดจะเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น คือจะมีลักษณะให้ความสำคัญต่อพระวิหารมากกว่าพระอุโบสถ จะสร้างพระวิหารไว้ด้านหน้า ถัดมาจะเป็นพระปรางค์ประธาน และพระอุโบสถจะอยู่หลังสุดและมีขนาดที่เล็กกว่า

วัดมหาธาตุจะมีความสำคัญอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีและใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ต่อมาได้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ จึงได้ย้ายไปประกอบพระราชพิธีที่วัดพระศรีสรรเพชญแทน

 

จุดเด่นสำคัญของวัดมหาธาตุที่นักท่องเที่ยวควรรู้จัก

1. เศียรพระพุทธรูปหินทราย ศิลปะอยุธยาวางอยู่ในรากโพธิ์ จุดนี้นักท่องเที่ยวจะให้เป็นจุด Landmark ของวัดมหาธาตุเลยครับ จะอยู่บริเวณผนังของวิหารเล็กนะครับ

2. เจดีย์แปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 4 ชั้น เป็นเจดีย์ที่แปลกตาและพบได้องค์เดียวในอยุธยา

3. วิหารเล็ก วิหารนี้จะมีรากต้นโพธิ์แผ่เต็มที่ผนังและล้อมเศียรพระพุทธรูปหินทรายไว้ กรมศิลปากรจึงไม่ได้ถอนรากออก

4. พระปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

5. จิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพเรือนแก้วใต้ต้นโพธิ์

6. วิหารหลวง จะอยู่ด้านหน้าของพระปรางค์ประธาน

7. พระอุโบสถ จะตั้งอยู่ด้านหลังหรือทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธาน

 

ป้ายหน้าวัดมหาธาตุ

 

บริเวณที่จอดรถ วัดมหาธาตุ

เราสามารถจอดรถในพื้นที่ที่มีการจัดสรรไว้ให้บริเวณทางเข้า หรือถ้าที่จอดรถเต็มก็จอดเลียบฟุตบาทข้างถนนกันได้ครับ

บริเวณทางเข้าจะมีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกและเครื่องดื่ม

ก่อนที่จะเดินทางเข้าวัดมหาธาตุ ควรเตรียมเครื่องดื่มน้ำเย็นๆ ติดตัวไว้ด้วยนะครับ เพราะพื้นที่วัดมีความกว้างพอสมควร และอากาศอาจจะร้อนด้วย

ห้องน้ำบริการภายในพื้นที่ ค่าบริการ 5 บาท

เข้าห้องน้ำห้องท่าให้เรียบร้อยก่อนเข้าพื้นที่วัด จะดีที่สุด แต่ค่าบริการผมว่าแพงไปนิดนึงตั้ง 5 บาท

คณะทัวร์ที่มาท่องเที่ยว

ก่อนเดินทางเข้าไปในพื้นที่วัด ผมก็เห็นกลุ่มทัวร์กลุ่มหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควร แสดงว่าวัดนี้เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง

เตรียมข้อมูลสักนิดก่อนเข้าตามรอยสถานที่จริง

ทุกครั้งที่ผมจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ผมมักจะเตรียมข้อมูลไว้บ้างสักเล็กน้อยเพื่อไม่ให้พลาดในจุดหลักสำคัญๆ หรือไปในจุดที่หลายๆคนที่อาจจะไม่คุ้นเคย เพื่อให้การท่องเที่ยวแต่ละครั้งได้ลิ้มรสบรรยากาศได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ทางเข้าพื้นที่วัดต้องซื้อตั๋วผ่าน

เพื่อเป็นการสนับสนุนงบประมาณในการบำรุงสถานที่โบราณสถานจะมีค่าธรรมเนียมทางผ่าน สำหรับคนไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท

ที่จำหน่ายตั๋วเข้าวัดมหาธาตุ

 

ผมเป็นคนไทย ค่าธรรมเนียม 10 บาทครับ

 

บริเวณจำหน่ายตั๋ว มีของที่ระลึกจำหน่าย

ในบริเวณที่จำหน่ายตั๋วค่าธรรมเนียม จะของที่ระลึกจำหน่ายมากมายเช่น โปสการ์ด พวงกุญแจ หนังสือคู่มือท่องเที่ยว เป็นต้น

Let’s go ลุยกันเลยครับ

 

เจดีย์แปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่น 4 ชั้น

 

เจดีย์แปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่น 4 ชั้น มองในระยะใกล้

 

เจดีย์แปดเหลี่ยม จะอยู่ในจุดหมายเลข 3

จุดที่ 1 ที่เราจะเดินผ่านกันจะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่น 4 ชั้น  ถ้าเราเดินผ่านประตูทางเข้าแล้วเลี้ยวขวาจะตั้งอยู่ทางซ้ายมือ หรือให้สังเกตุจุดหมายเลข 3 ก็ได้ครับ หากจะสังเกตองค์เจดีย์ให้ดี จะเห็นด้านข้างซุ้มแต่ละชั้นจะประดับด้วยรูปเทวดา ยกเว้นในชั้นที่ 4 จะเป็นรูปพระพรหม ส่วนบนยอดสุดจะเป็นปรางค์ขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าลายประดับองค์เจดีย์ดังกล่าวจะเป็นการแสดงระดับชั้นของสวรรค์ เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ที่มีความแปลกตาและพบเพียงองค์เดียวในอยุธยา

เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยา

 

เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยา

 

เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยา

 

เศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยา

ศียรพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยาจะเป็นจุดที่เราจะต้องผ่านมาเป็นจุดที่สอง จะสังเกตเห็นผู้คนมากมายคอยถ่ายรูปกันค่อนข้างมาก เป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุดของวัดมหาธาตุ เศียรพระพุทธรูปจะถูกรากต้นโพธิ์ล้อมไว้บริเวณผนังของวิหารเล็ก เศียรพระพุทธรูปทรายนี้เป็นศิลปะอยุธยา ไม่ทราบประวัติที่แน่ชัด แต่ได้สันนิษฐานกันว่าเมื่อครั้งเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 พระพุทธรูปส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย และเศียรพระนี้อาจจะแตกหักแล้วถูกทิ้งร้างจนรากไม้ห่อหุ้ม จนมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

วิหารเล็ก

จุดที่ 3 วิหารเล็ก วิหารเล็กแห่งนี้ มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้ธรรมดา กรมศิลปากรจะต้องตัดต้นไม้ออก แต่ที่นี่ดูจะว่าเป็นที่ยกเว้น ผนังที่มีรากต้นโพธิ์หุ้มเศียรพระพุทธรูปจะอยู่ด้านขวามือของรูปนี้ครับ

วิหารหลวง

 

วิหารหลวง

 

วิหารหลวง

จุดที่ 4 ที่ผมจะพาไปคือวิหารหลวง จะตั้งอยู่ด้านหน้าของพระปรางค์ประธาน เป็นวิหารขนาดใหญ่ ปัจจุบันจะมีเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมเหลือเพียง 1 ต้น และผนังด้านข้างจะเหลือเพียงด้านเดียวตามรูปด้านบน ผนังจะเจาะเป็นซี่ลูกกรงในแนวตั้ง ใช้ระบายลมแทนหน้าต่าง

กรมศิลปากรได้พบว่ามีผู้แอบลักลอบขุดฐานชุกชีลงไปประมาณ 2 เมตร จึงได้ทำการขุดสำรวจลงไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผา 5 ใบ บรรจุแผ่นทองบางๆวางซ้อนอยู่บนแผ่นทองดุนลายเป็นรุปพระพุทธรูป ปนอยู่กับแผ่นทองรูปเต่า ช้าง ม้า และปลา

บริเวณวิหารหลวง ที่จะเดินไปต่อยังปรางค์ประธาน

 

ปรางค์ประธาน

 

พื้นที่โดยรอบปรางค์ประธาน

 

ปรางค์ประธาน ก่อนที่จะพังทลายลงมา ถ่ายไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5

จุดที่ 5 ที่เราจะไปกันต่อก็คือ พื้นที่ปรางค์ประธาน  ถ้าสังเกตรูปที่ผมได้ถ่ายมา ทำไมบางรูปครึ้มบางรูปสว่าง ก็เนื่องมาจากระหว่างเดินชอมสถานที่ ก็เกิดฝนตกลงมาด้วย เลยมีรูปที่แตกต่างกัน

ปรางค์ประธาน เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ วัสดุที่ใช้สร้างเป็นอิฐและศิลาแลง มีปรางค์ทิศ 4 องค์ และโดยรอบพื้นที่ปรางค์ประธานจะเป็นวิหารคดซึ่งปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว

ปรางค์ประธาน ปัจจุบันได้พังทลายลงมาเหลือระดับแค่ใต้ซุ้มปรางค์ ตามประวัตินั้น ปรางค์ประธานที่เราได้เห็นในปัจจุบันนี้ ได้ถล่มลงมาถึง 2 ครั้ง เกิดในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ส่วนบนของพระปรางค์ได้ทลายลงมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2176 ในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้มีการปฏิสังขรณ์ใหม่โดยเสริมปรางค์ประธานให้สูง เพรียวขึ้น

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2447 เวลาประมาณ 11 โมงเช้าปรางค์ประธานก็ได้พังทลายลงมาจนมีสภาพที่เห็นดังปัจจุบันนี้

วิหารคดโดยรอบพื้นที่ปรางค์ประธาน ได้พังทลายทั้งหมด มีพระพุทธรูปที่ทรุดโทรมอย่างมากประดิษฐานโดยรอบ

ในพื้นที่ของปรางประธานโดยรอบจะเป็นวิหารคด ซึ่งในปัจจุบันได้พังทลายลงมาทั้งหมด ซึ่งภายในจะประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ก็มีความทรุดโทรมอย่างมากตามรูปด้านบน

พระพุทธรูปแบบอู่ทอง

ทิศตะวันตกของปรางค์ประธานจะประดิษฐานพระพุทธรูปแบบอู่ทอง สลักจากหินทราย ซึ่งได้ทำการบูรณะไว้สมบูรณ์ทั้งองค์

 

จิตรกรรมฝาผนังในคูหาปรางค์มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

จุดที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือปรางค์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธาน ถ้าดูตามรูปด้านบนก็จะอยู่ฝั่งขวาขององค์พระพุทธรูปแบบอู่ทองนั่นแหละครับ จุดนี้ผมเดินวนหานานพอสมควรเพราะหลงทิศทาง ประกอบกับไปเดินหาผิดปรางค์ ที่หาเจอยากเพราะไม่มีป้ายบอกเลยครับ และปรางค์ก็เยอะเอามากๆ เมื่อผมพบจุดที่ถูกต้องแล้ว ก็เลยหาทางเดินขึ้นไปด้านบน ก็หาทางขึ้นลำบากนิดนึง เพราะดูแล้วไม่มีใครขึ้นมาเลย นอกจากผมคนเดียว

คูหาปรางค์ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง

 

คูหาปรางค์ทิศ จิตรกรรมฝาผนัง

พื้นคูหาปรางค์จะมีมูลค้างคาวเต็มไปหมด

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง “เรือนแก้ว”

คูหาปรางค์ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปรางค์ประธานตามที่ผมได้เขียนรายละเอียดไว้ ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่หลงเหลืออยู่เพียงภาพเดียวในวัดมหาธาตุแห่งนี้ สันนิษฐานกันว่าคูหาปรางค์อื่นๆก็น่าจะมีการเขียนจิตรกรรมไว้เช่นกันแต่ถูกทำลายในช่วงที่มีการพังทลายของปรางค์ประธาน

ภาพที่เห็น เป็นภาพเรือนแก้วใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งจะเป็นการเล่าถึงพุทธประวัติในสมัยพุทธกาลที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้บรรลุธรรมเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ทรงพิจารณาธรรมใต้ต้นโพธิ์อยู่นาน 7 สัปดาห์ แล้วพระอินทร์ได้ทรงเนรมิตเรือนแก้วนี้ถวายพระพุทธเจ้าระหว่างการพิจารณาธรรมก่อนที่พระพุทธองค์จะตัดสินพระทัยในการแสดงธรรมโปรดเหล่ามนุษย์

บริเวณด้านบนคูหาปรางค์

พระอุโบสถ วัดมหาธาตุ

พระอุโบสถ วัดมหาธาตุ

หลังจากฝนได้หยุดตก ผมก็ได้เริ่มเดินชมสถานที่ต่างๆต่อไป โดยมาที่จุดของพระอุโบสถ แล้วก็เดินวนอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของปรางค์ประธาน วนไปวนมาก็มาจุดซ้ำเดิมนั่นแหละครับ ฮ่าๆ ก่อนจากกันไปผมก็พยายามเก็บบันทึกภาพให้มากที่สุดก่อน

พื้นที่โดยรอบ วัดมหาธาตุ

พื้นที่อื่นๆโดยรอบ วัดมหาธาตุ

พื้นที่อื่นๆ โดยรับวัดมหาธาตุ

สลักรูปพระพุทธรูป บนปรางค์ วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดในหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และยังเป็นที่สถิตของพระพุทธรูปองค์อื่นๆที่เคลื่อนย้ายเข้ามา รวมทั้งพระพุทธรูปที่ได้มาจากการชนะสงคราม พระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลได้ทรงดูแลไว้ รวมถึงที่วัดมหาธาตุเป็นที่รวมศิลปะและสถาปัตยกรรมหลายยุคหลายสมัยอีกด้วย

ระหว่างที่ผมได้เดินชมพื้นที่ ผมก็เห็นนักท่องเที่ยวแวะวเียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย และที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเยอะซะด้วยครับ มีทั้งชาวยุโรป และฝั่งเอเชียของเรา (ผมพยายามฟังภาษาที่เขาคุยกัน แล้วเดาๆเอาครับ)  บ่งบอกได้ว่าวัดแห่งนี้ได้รับการประชาสัมพันธ์ที่ดี จึงมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมากมากเช่นนี้ ในใจผมก็หวังและภาวนาไว้ว่าการเจริญเติบโตของเมืองและอุตสาหกรรม อย่าได้มาทำลายอดีตความทรงจำของโบราณสถานนี้เลย อยากได้ให้ชนรุ่นหลังได้เข้ามาเห็นภาพอดีตความรุ่งเรือง ที่กว่าจะมาเป็นชาติไทยในปัจจุบันนี้ มันมีเรื่องราวที่ควรศึกษายิ่งนัก

ก่อนจากกัน ขอแนะนำอีกนิดสำหรับท่านที่ต้องการจะเช่าจักรยาน หรือพักเหนื่อยหาอาหารรับประธาน ผมขอแนะนำร้านที่อยู่ด้านหน้าวัดบริเวณสามแยกครับ จะมีร้านอาหารตามสั่งและร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ราคาไม่แพง และมีร้านเช่าจักรยานด้วยครับ

จุดนี้เยื้องวัดมหาธาตุมาด้านขวา จะมีร้านอาหารตามสั่งและร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยๆ และมีจักรยานสำหรับเช่าด้วยครับ

ร้านขายพรรณไม้ประดับ ฝั่งเดียวกับวัดมหาธาตุ

– จบบันทึกความศรัทธา เที่ยววัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก พระนครศรีอยุธยา 

คลิปบรรยากาศในวัดมหาธาตุ

 

 

 

 

 


Exit mobile version