วัดหอระฆัง วัดร้างโบราณ ริมคลองมะขามเรียง พระนครศรีอยุธยา

By | June 15, 2014


https://youtu.be/tMfGbZYR3EA

ผมได้หาโอกาสเดินทางมาสำรวจพื้นที่และท่องเที่ยวที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาอีกครั้ง และได้ค้นหาข้อมูลวัดโบราณและวัดร้างมาบางส่วน ก็ได้เจอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัดหอระฆัง จากข้อมูลแต่เดิมนั้น จะมองเห็นแต่เพียงสิ่งก่อสร้างก็คือหอระฆังที่โดดเด่นอยู่เท่านั้น ต่อมาทางกรมศิลปากรได้ทำการขุดพื้นที่และสำรวจในปี พ.ศ. 2540 พบว่ามีตัวอาคาร และชิ้นส่วนพระพุทธรูปมากมายด้านหลังของหอระฆังนี้

จากการขุดสำรวจพบว่า วัดหอระฆังจะตั้งอยู่ในแนวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก  โดยหอระฆังจะอยู่ทิศตะวันออก มีคลองมะขามเรียงผ่านหน้าวัด ในอดีตจะเรียกชื่อว่าคลองนายก่าย และเพี้ยนมาเป็นในไก่ และมาเปลี่ยนเป็นคลองมะขามเรียงในปัจจุบันนี้

เดินทางตามรอยกันเลยครับ

การเดินทาง ถือว่ามาง่ายและสะดวกครับ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ให้ข้ามสะพานสะพานปรีดี-ธำรง  เจอกับสี่แยกไฟแดงแรก ให้เลี้ยวขวาได้เลยครับ แล้วตรงไปอีก 50 เมตรก็จะเห็นหอระฆังตั้งตระง่านอยู่ข้างทางด้านซ้าย แล้วก็เข้าชมพื้นที่ได้เลยครับ

ลงจากสะพานปรีดี-ธำรง จะเจอสี่แยกไฟแดงด้านหน้าให้เลี้ยวขวา

ลงจากสะพานปรีดี-ธำรง จะเจอสี่แยกไฟแดงด้านหน้าให้เลี้ยวขวา

วันนี้ผมเดินทางด้วยมอเตอร์ไซด์ เลยสะดวกขึ้นเยอะแวะข้างทางถ่ายรูปกันได้ แต่ต้องระวังอุบัติเหตุให้มากๆ เนื่องจากในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยามีจุดที่เป็นวงเวียนหลายจุด เวลาขับรถเหมือนจะวัดใจว่าใครจะไปด้านหน้าหรือเลี้ยว ยิ่งเราขับมอเตอร์ไซด์ก็อาจจะเสียจังหวะได้ง่ายๆ ต้องระวังครับ ส่วนท่านที่ไม่นิยมขับมอเตอร์ไซด์ ก็จะมีเรื่องลำบากก็คือหาที่จอดลำบากในบางพื้นที่

เลี้ยวขวาเข้าถนนคลองมะขามเรียง

เลี้ยวขวาเข้าถนนคลองมะขามเรียง

ป้ายขนาดใหญ่ ถนนคนเดินคลองในไก่

ป้ายขนาดใหญ่ ถนนคนเดินคลองในไก่

สรุปเลยนะครับ เดี๋ยวจะสับสนกันซะก่อน คลองในไก่ ก็คือคลองเดียวกันกับคลองมะขามเรียงนั่นแหละครับ

หอระฆังจะอยู่ริมถนนคลองมะขามเรียง

หอระฆังจะอยู่ริมถนนคลองมะขามเรียง

อีกประมาณ 50 เมตร จากทางแยกไฟแดงก็จะถึงวัดหอระฆังแล้วหล่ะครับ อยู่ริมถนนซ้ายมือ

คลองในไก่หรือคลองมะขามเรียง

คลองในไก่หรือคลองมะขามเรียง

คลองมะขามเรียงจะวางตัวในแนวทิศเหนือและใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ในอดีตบริเวณนี้เป็นย่านการค้าสำคัญในสมัยอยุธยา

หอระฆังด้านหน้าวัด

หอระฆังด้านหน้าวัด

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของหอระฆังมีการเจาะช่องโค้งรูปกลีบบัว เป็นรูปแบบที่นิยมกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงสันนิษฐานกันว่าวัดหอระฆังแห่งนี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซุ้มโค้งรูปกลีบบัวทะลุถึงกันแนวทิศตะวันออกและตะวันตก ผนังชั้นบนเจาะเป็นรูปโค้งกลีบบัวทั้งสี่ด้าน ชั้นบนเป็นที่แขวนระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นยอดทรงปราสาทที่ชำรุดทรุดโทรมไปแล้ว

บริเวณด้านหลังของหอระฆัง

บริเวณด้านหลังของหอระฆัง

วัดหอระฆังนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดใครเป็นผู้สร้าง สำนักโบราณคดี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2486

หลังหอระฆังจะเป็นตัวพระวิหาร อาคารก่ออิฐถือปูนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านท้ายมีฐานชุกชีเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปประธานของวัด

บ่อหมักปูนโบราณ

บ่อหมักปูนโบราณ

บ่อหมักปูนโบราณ  เป็นบ่อที่ใช้ในการหมักปูนสำหรับสร้างวัดในสมัยโบราณ ลักษณะบ่อจะเป็นทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร วิธีการสร้างจะขุดดินเป็นหลุมแล้วนำอิฐมาทำเป็นขอบบ่อ สาเหตุที่ต้องทำบ่อหมักปูนโดยการขุดดินลงไปนั้นเนื่องจาก ระหว่างการหมักปูนจะเกิดความร้อนและแรงดันมาก จึงเป็นการป้องกันไม่ให้บ่อหมักปูนแตกได้

พื้นที่โดยรอบวัด

พื้นที่โดยรอบวัด

พื้นที่วัดโดยรอบ

พื้นที่วัดโดยรอบ

เมื่อกรมศิลปากรทำการขุดแต่งแล้วพบเป็นร่องรอยรากฐานอาคารขนาดเล็ก 1 หลัง จึงไม่อาจศึกษารายละเอียดรูทรงใด ๆ ได้ ถัดมาเป็นซากวิหาร ขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 22 เมตร มีแนวพื้นวิหารปูด้วยอิฐ มีร่องร้อยเสาอาคารเหลือให้เห็นได้ 3 คู่ เป็นเสากลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เมตร ช่วงหลังของวิหารมีส่วนของฐานชุกชีซึ่งมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่พบจากการขุดแต่งตั้งเรียงรายอยู่

สำหรับวัดหอระฆังก็คงจะมีเนื้อหาเพียงเท่านี้ เนื่องจากไม่ได้ปรากฏหลักฐานการสร้างวัด แต่สิ่งที่แปลกตาสำหรับผมก็คือบ่อหมักปูนโบราณนี่แหละครับ ตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งจะเคยเห็น สัมผัสได้ถึงบรรยากาศในอดีตเลยครับ

ที่จริงแล้วผมกะจะเดินสำรวจพื้นที่ให้มากกว่านี้แต่เนื่องจาก มีเจ้าถิ่น 2 ตัว (หมา 2 ตัว) มันมองและเดินวนเวียนผมไปมา จนผมเกร็งไปหมดกลัวมันจะกัดเอา ก็เสียดายพอสมควรที่ไม่ได้เดินเข้าไปลึกถึงตัววิหารทั้งๆที่มาถึงที่แล้ว แต่ยังไงผมก็ได้ถ่ายรูปไว้ชัดเจนพอสมควรแล้วครับ

อีกจุดหนึ่งที่ผมดูแล้วอยากให้ปรับปรุงสถานที่กันอีกสักเล็กน้อยเพราะมีขยะค่อนข้างมาก ทั้งๆที่เป็นโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ร่องรอยเหมือนมีคนพเนจรมาคอยหลบหลับนอนกันทั่วบริเวณวิหารและในหอระฆัง อยากให้ดูสะอาดตากว่านี้จริงๆ

จบบทบันทึกตามรอยกรุงเก่าอีก 1 บท

แนะนำโรงแรมราคาถูกในพระนครศรีอยุธยา โดย Hotel2Thailand ตาม Link ด้านล่าง

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด