เที่ยววัดสี่ร้อย อ่างทอง กราบหลวงพ่อใหญ่ สักการะอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู วีรชนผู้ไม่ควรถูกลืม

By | September 21, 2014

เที่ยววัดสี่ร้อย อ่างทอง กราบหลวงพ่อใหญ่ สักการะอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู วีรชนผู้ไม่ควรถูกลืม

อีกครั้งสำหรับการเดินทางมาที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเดินการเดินทางนั้นไม่ไกลมากนัก ห่างจากพระนครศรีอยุธยาเพียงประมาณ 30 กิโลเมตร ที่จังหวัดอ่างทองนั้น มีวัดที่น่าสนใจมากจังหวัดหนึ่งเลยครับ แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้

ครั้งนี้ที่ผมเดินทางมาจังหวัดอ่างทอง เพราะมีผู้แนะนำให้เดินทางมาที่วัดแห่งหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ถึงเรื่องราวเหล่าวีรชน 400 นาย นำโดยขุนรองปลัดชู ที่เข้าสกัดทัพพม่า ที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2302 แต่ด้วยกองกำลังพม่ามีร่วมหมื่น จึงทำให้ต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับและเสียชีวิตทั้งหมด

เมื่อผมได้รับทราบถึงเรื่องราวนี้ ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อน และมั่นใจว่าอีกหลายคนก็ไม่เคยรับทราบข้อมูลนี้แน่นอน เรื่องราวกองกำลังชาวบ้านที่โด่งดังของไทยนั้น คนส่วนมากจะรู้จักหมู่บ้านบางระจัน แห่งสิงห์บุรีมากกว่า  จนกระทั่ง สุรัศวดี เชื้อชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องขุนรองปลัดชู ขึ้นมาเพื่อเชิดชูเกียรติให้เหล่าวีรชนผู้ไม่ควรถูกลืม ตามคำบอกเล่าของผู้กำกับได้บอกว่า เท่าที่ค้นหาข้อมูลในพระราชพงศาวดาร มีประวัติอยู่เพียง 2 บรรทัดเท่านั้น !!

 

วัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง

วัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง

แผนที่และการเดินทางไปวัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง

แผนที่วัดสี่ร้อย อ่างทอง

การเดินทางมาที่วัดสี่ร้อย เราสามารถเดินทางมาเส้นทางเดียวกับวัดม่วง (พระพุทธรูปปางมารวิชัยใหญ่ที่สุดในโลก) โดยให้เดินทางผ่านวัดม่วงเข้าสู่อำเภอวิเศษชัยชาญ เมื่อเจอสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย (หมายเลข 3454) ตรงไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะสังเกตุเห็นวัดสี่ร้อยทางซ้ายมือ

 

ซุ้มประตูทางเข้าวัดสี่ร้อย

ซุ้มประตูทางเข้าวัดสี่ร้อย

วัดสี่ร้อยจะอยู่ติดริมถนนหมายเลข 3454  เมื่อเข้ามาแล้วจะพบกับอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู ผู้นำกองกำลังชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน รบกับกองทัพพม่า

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู

ตามข้อมูลในท้องถิ่นอำเภอวิเศษชัยชาญกล่าวว่า ขุนรองปลัดชูมีชื่อตัวว่า “ชู” เป็นครูดาบอาทมาตผู้มีฝีมือในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ มีลูกศิษย์จำนวนมากและเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปในแถบนั้น นายชูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองวิเศษไชยชาญตำแหน่ง “ปลัดเมือง” ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อคนผู้นี้โดยทั่วไปว่า “ขุนรองปลัดชู”

บันทึกเกี่ยวกับกองกำลังขุนรองปลัดชู ในพระราชพงศาวดาร

…ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทราบนั้นแล้ว จึงดำรัสให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า พลทหาร ๓๐๐๐ ทัพหนึ่ง ให้พระยาธารมาถืออาญาเป็นแม่ทัพ พลทหาร ๒๐๐๐ ยกไปตั้งเมืองกุยบุรี พะม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราชณแกงตุมแตก พระยาธารมาจึงเกณฑ์ไพร่ ๕๐๐ เข้าบรรจบกองปลัดชู แล้วให้ยกไปตั้งตำบลอ่าวขาวริมทะเล ฝ่ายทัพหน้าพะม่ายกขึ้นมาตี กองปลัดชูก็แตกพ่าย พระเจ้าอังวะจึงดำเนินทัพเข้ามา ณ เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี…

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

…ม้าใช้รีบออกไปสืบราชการดู มากราบทูลว่า พม่ายกมาทางมะริด ๑ ทางท่ากระดาน ๑ ทางเชียงใหม่ ๑ ที่จริงนั้นพม่ายกมาแต่ข้าง มะริดทางเดียว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบแน่ ก็ตกพระทัย ด้วย มิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง จึ่ง ดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน แล้วเกณฑ์พระยาราชสงคราม พระยาไชยา พระยามหาเสนา พระยาเพชรพิชัย พระยาสมบัติธิบาล พระยาตะนาว พระยาพัทลุง หลวงกระ ๘ คนนี้คุมพล คนละ ๑,๐๐๐ แล้วให้พระยาอภัยราชาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ ยกไปรับทางเชียงใหม่ แล้วเกณฑ์ทิพเสนา ราชามาตย์ ทิพรักษา ราชาบาล วิสูตโยธามาตย์ ราชโยธาเทพ หลวงศักดิ์ หลวงสิทธิ หลวงฤทธิ หลวงเดช ๑๐ คน คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ให้พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปจุกไว้ทางท่ากระดาน ครั้นทรงทราบว่าทางมะริดพม่ายกมามาก ก็ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า คุมพล ๒๐๐๐๐ ให้พระยาธรมาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พลทหาร ๓๐๐๐ ยกเพิ่มเติมไปตั้ง ณ เมืองกุยบุรี พม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราช ณ แก่งตุ่มแตก แล้วยกแยกไปตีกองปลัดชู ซึ่งตั้งอยู่ตำบลอ่าวขาวริมทะเล จึ่งแบ่งไพร่ ๕๐๐ ไปช่วยกองปลัดชู รบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน กองปลัดชูก็แตกพ่ายมา พระเจ้าอังวะก็ดำเนินทัพเข้ามา ณ แขวงเมืองกุยบุรี เมืองปรานบุรี…

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม

ที่มา : http://th.wikipedia.org

หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

หลังจากนั้นผมก็เดินไปด้านหลังของวัด จะมีจุดเด่นชัดเจนของวัดก็คือหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อใหญ่

พระปลัดบุญ เจ้าอาวาสวัดสี่ร้อย หลวงพ่อปั้น เจ้าอาวาสวัดพิกุล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านร่วมกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางป่าลิไลย์ เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชา เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ. 2456 ถึง พ.ศ. 2471 เป็นระยะเวลา 15 ปี และทำพิธีพุทธาภิเษก ยกรัศมีเบิกเนตร ติดอุณาโลม พ.ศ. 2475 รวมการก่อสร้างเป็นเวลาทั้งสิ้น 19 ปี

เหตุที่สร้างเพราะด้วยชาวบ้านตำบลสี่ร้อยมีความศรัทธาและได้เดินทางไปกราบไหว้พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรีบ่อยครั้ง จึงได้ตกลงกันว่า จะสร้างพระพุทธรูป โดยจำลองแบบมาจากวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ประดิษฐานที่วัดสี่ร้อยนี้

งานบุญประจำปีของวัดป่าสี่ร้อย จะจัดทุกๆปีในวันเพ็ญเดือน 12 โดยผู้คนจากทั่วสาระทิศจะมากราบไหว้ขอพร ใครที่มีความทุกข์ใดๆ มักจะมาบอกกล่าวต่อหลวงพ่อใหญ่ และมักจะถวายพลุและละครต่อหลวงพ่อใหญ่เมื่อสมปรารถนา

ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ.2430 มีข่าวใหญ่ว่า หลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก (จมูก)

ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไป ทั้งชาวอ่างทอง และจังหวัดใกล้เคียง ต่างหาโอกาสมาสักการะ และมีการขนานนามว่า หลวงพ่อร้องไห้”

พระเจดีย์อนุสรณ์ที่ระลึกถึงวีรชน และรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม

พระเจดีย์อนุสรณ์ที่ระลึกถึงวีรชน และรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม

พระอุโบสถวัดสี่ร้อย

พระอุโบสถวัดสี่ร้อย

พระพุทธประธาน ในพระอุโบสถ

พระพุทธประธาน ในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถนอกจากจาประดิษฐานพระประธานแล้ว ยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย เพื่อให้พุทธศาสนิกกราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคลต่อชีวิต

พระวิหารวัดสี่ร้อย

พระวิหารวัดสี่ร้อย

พระพุทธประธานในวิหาร

พระพุทธประธานในวิหาร

พระพุทธบาทจำลองอายุกว่า 105 ปี ในพระวิหาร

พระพุทธบาทจำลองอายุกว่า 105 ปี ในพระวิหาร

ในพระวิหารมีพระพุทธบาทจำลองที่มีอายุกว่า 105 ปี ประดิษฐานอยู่

ประวัติวัดสี่ร้อย

เมื่อปี พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพระยากษัตริย์แห่งพม่า ให้มังระและมังฆ้องนรธา พระราชบุตรยกกองทัพมารบตีเมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดของไทย ซึ่งอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์ครั้งนั้นขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ทำการรวบรวมผู้กล้าชาวเมืองวิเศษชัยชาญทั้งสิ้น 400 คน เพื่อเข้าสมทบกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์รวมกันเป็นกองอาทมาต ขุนรองปลัดชูได้รับคำสั่งให้ไปตั้งรับสกัดทัพพม่าในเขตท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ อ่าวหว้าขาว ตั้งอยู่เหนือที่ว่าการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขุนรองปลัดชูนำทหารเข้าโจมตีด้วยอาวุธสั้น และตะลุมบอน การต่อสู้เป็นระยะเวลา 1 คืนจนถึงเที่ยงวันรุ่งขึ้น แต่กองทัพพม่าก็มีกองทัพหนุนมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดด้วยกองกำลังที่ฝ่ายไทยมีน้อยกว่ามากจึงถูกไล่โจมตีพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ เสียชีวิตทั้งหมด ณ สมรภูมิหาดหว้าขาว ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เมื่อชาวเมืองวิเศษชัยชาญ ได้ทราบข่าว การพ่ายแพ้ของขุนรองปลัดชู จึงต่างพากันโศกเศร้าเสียใจอย่างมาก จนถึง พ.ศ. 2314 ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ชนรุ่นหลัง และเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน โดยให้ชื่อว่า “วัดสี่ร้อย” และสร้างเจดีย์ไว้ป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณผู้กล้าทั้งสี่ร้อยนายของชาวเมืองวิเศษชัยชาญ และได้รับการเคารพบูชามาจนถึงทุกวันนี้

จุดเด่นสำคัญของวัดสี่ร้อย

นอกจากประวัติศาสตร์สำคัญ ที่คนส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยทราบมาก่อน สิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่วัดสี่ร้อยก็คือ หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ องค์ใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความศรัทธาอย่างมาก และเดินทางมากราบไหว้ขอพรกัน และในทุกๆปี จะมีการจัดงานบุญซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 จะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมากันมาก

สิ่งที่จะได้จากการเดินทางมาวัดสี่ร้อย

ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ที่ทำให้รู้ว่าบรรพชนของชาติต่างหวงแหนผืนแผ่นดินไทย ยอมเสียสละแม้ชีวิต เพื่อให้ไทยยังดำรงความเป็นไทยมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ก็ยังเป็นการได้เดินทางทำบุญกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเราเองสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

เรื่องราวของ ขุนรองปลัดชู ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์

ภาพจาก ภาพยนตร์ขุนรองปลัดชู

ภาพจาก ภาพยนตร์ขุนรองปลัดชู

เรื่องย่อจากภาพยนตร์ขุนรองปลัดชู

ครั้งสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกหลงลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ได้ถูกกล่าวไว้ในบันทึกเพียงสองบรรทัด กล่าวถึงการพลีชีพเพื่อแผ่นดินที่เกิดขึ้นกับกองอาตมาตทั้งสี่ร้อยคน ภายใต้การนำของ “ขุนรองปลัดชู” แม่กองอาทมาตแห่งเมืองวิเศษชัยชาญ ที่รวบรวมกำลังพลมาได้สี่ร้อยนาย อาสาเดินทางเข้าร่วมรบกับทหารพม่าที่หาดหว้าขาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนต้องมาเสียชีวิตพร้อมกันที่นั่น โดยกลุ่มทหารอาทมาต ถูกทหารพม่าไล่ต้อนไปจนมุมที่ชายทะเลและถูกช้างศึกไล่เหยียบป่นกระดูก บ้างหมดเรี่ยวแรง บ้างจมน้ำตาย ส่วนตัวขุนรองปลัดชูนั้น ห้วงนาทีสุดท้ายของชีวิตก่อนสิ้นใจ ท่านคิดตำหนิตนเองที่พาพี่น้องชาววิเศษฯ มาล้มตายในท้องทะเลที่ห่างไกลจากบ้านเกิด และพลันย้อนรำลึกถึงต้นเหตุที่อยุธยาต้องปิดฉากลงอย่างน่าเศร้าเช่นนี้

ก่อนหน้านั้นขุนรองปลัดชู รับตำแหน่งข้าราชการประจำอยู่หัวเมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งสำนักดาบมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในชื่อ “วิชาดาบอาทมาต” ในชีวิตราชการของท่านหวังเพียงมีโอกาสสนองคุณต่อแผ่นดินเกิด แต่เหตุเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ขุนรองปลัดชู รับคำสั่งให้จัดกำลังอารักขาในการเดินทางเข้ากรุงศรีร่วมพิธีบรมศพ แลได้เห็นเหล่ากรมการเมืองที่หวังในอำนาจมากกว่าเรื่องชาติบ้านเมือง แม้มีการผลัดแผ่นดินใหม่ ก็ยังมิวายมีการแย่งชิงอำนาจภายในพี่น้อง ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรกับเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีผู้เป็นพระเชษฐา อีกทั้งออกพระวิเศษยังร่วมสนับสนุนเจ้าฟ้าองค์พี่ตามพระยารัตนาธิเบศ และพระอินทรา จนพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรทรงตัดสินใจผนวชเพื่อเปิดทางให้พระเชษฐา ซึ่งภายหลังเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ แม้เป็นภิกษุก็มิวายได้อยู่อย่างสงบ พระอินทรายังเกรงเรื่องการเคลื่อนไหวของอำนาจแผ่นดินเก่าซึ่งมีเค้าว่าจะยังไม่จบ ขุนรองปลัดชูเฝ้าถามตนเอง ว่าเหตุใดเราต้องหันคมดาบเข้าใส่กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ ขุนรองปลัดชูตัดสินใจหันหลังให้กับระบบราชการในอยุธยา ทั้งยังต่อว่าตนเองว่าขลาดเขลา เห็นแก่ยศตำแหน่ง พร้อมทำลายข้าวของที่บอกบรรดาศักดิ์ทั้งหลายทิ้งลงกองเพลิง ปฏิญาณว่าจะไม่มีขุนนางฝ่ายใดมาเป็นเจ้าชีวิตตนอีก

ปีพุทธศักราช 2302 สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ครองราชสมบัติ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในครั้งนั้น พระเจ้าอลองพญา ครองราชสมบัติกรุงอังวะรัตนสิงห์ ปกครองพม่ารามัญ ด้วยความบากบั่นไม่ท้อถอย ทำให้เกียรติภูมิของชาวพม่าได้ถูกกู้คืนอย่างสมบูรณ์ ยิ่งได้ทราบว่ากรุงศรีอยุธยาวุ่นวายระส่ำระสายภายใน จึงทรงมีพระราชดำริตัดสินใจจะทำศึกแก่สยามซึ่งห่างศึกกันมาเกือบ 90 ปี ครั้นขุนรองปลัดชู ทราบข่าวสถานการณ์ภายในกรุงศรี จากหมี่นไกรภักดี ขุนรองปลัดชูที่ตั้งใจหันหลังให้กับระบบราชการเริ่มคิดหนัก แต่ก็ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะไปรบ ศิษย์สำนักดาบยินดีร่วมเป็นร่วมตายติดตามขุนรองปลัดชูไปออกรบเพื่อชาติ ขุนรองปลัดชู นำกองอาทมาตสี่ร้อยมาอาสาศึก โดยทัพพระยายมราชตั้งค่ายอยู่ที่แก่งตุ่มตอนปลายแม่น้ำตะนาวศรี ส่วนพระยารัตนาธิเบศตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรีด้วยไพร่พลที่อ่อนโรยแรง แต่ขุนรองปลัดชูเกรงจะไม่ทันการจึงขออาสาล่วงหน้าไปก่อนเพื่อตามทัพที่แก่งตุ่ม จากนั้นทราบข่าวว่าแก่งตุ่มแตกพ่าย กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู ได้ตั้งรับพม่าที่ตำบลหว้าขาวโดยมีทัพพระยารัตนาธิเบศนำทัพหนุนเร่งเดินทาง ขุนรองปลัดชูมั่นใจว่ากองทัพหนุนใกล้มาถึงแน่จึงมีกำลังใจ สั่งกองอาสาสู้ตาย ทัพทั้งสองปะทะกันดุเดือดจนถึงเที่ยงไม่รู้แพ้ชนะ แต่ทัพไทยพลน้อยกว่าก็เริ่มอ่อนแรง กองอาทมาตรบจนสิ้นกำลังถูกทหารพม่าไล่ลงทะเลไปและให้ช้างศึกเข้าเหยียบย่ำทัพไทยล้มตายเป็นจำนวนมาก กองอาทมาตสี่ร้อยคนตายแทบจะสิ้นทั้งทัพ ขณะเดียวกันกองทัพพระยารัตนาธิเบศนำกองทัพหนุนมาถึงแล้วมองลงดูสมรภูมิเลือดเบื้องล่าง ตัดสินใจหันหลังม้านำกองทัพหนุนทิ้งกองอาสาอาทมาตให้ตายลงอย่างพ่ายแพ้ ขุนรองปลัดชูและกองอาสาอาตมาตเห็นดังนั้นจึงทั้งหมดแรงและหมดใจ ทหารพม่าหนุนเข้ามาพาช้างศึกรุมไล่เหยียบกองอาสาอาทมาต จนสิ้นใจ ร่างของขุนรองปลัดชูจมดิ่งสู่ก้นทะเล คิดน้อยใจที่ถูกทิ้งให้ตายอย่างโดดเดี่ยว แต่ก็ยังภูมิใจที่ยังมีพี่น้องที่รักชาติมากกว่าชีวิตร่วมตายเคียงข้างท่าน

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ ขุนรองปลัดชู

>>>โปรโมชั่นการท่องเที่ยวและโรงแรมที่พักราคาถูกที่นี่ <<<

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory