ตามรอยอารยธรรมพุทธศาสนา เมืองโบราณซับจำปา ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงทวารวดี

By | July 3, 2017

https://youtu.be/9xIUUZJX3do

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านออกเดินทางไปตามรอยอารยธรรมพุทธศาสนา ณ เมืองโบราณซับจำปา ที่มีอายุในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี … ก่อนที่ผมจะเดินทางตามรอยครั้งนี้ เนื่องจากผมได้เดินทางไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี  ได้เห็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย โดยผมให้ความสนใจเรื่องราวในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจนถึงยุคทวารวดีเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอิทธิพลทางพระพุทธศาสนา

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ มีหลักฐานโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั่นก็คือ การขุดค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาก็คือ ฐานและเสาหินธรรมจักรแปดเหลี่ยม จารึกอักษรปัลลวะ คาถาในพระไตรปิฎก อายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13

และได้ค้นพบเศียรพระพุทธรูปสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งมีความสมบูรณ์อย่างมาก

เศียรพระพุทธรูปหินเขียว สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11-12 ขุดค้นพบที่เมืองโบราณซับจำปา

เศียรพระพุทธรูปหินเขียวนี้ มีสภาพที่สมบูรณ์อย่างมาก จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

เสาธรรมจักรแปดเหลี่ยม สมัยทวารวดี

จารึกอักษรปัลลวะ คาถาในพระไตรปิฎก บนเสาหินธรรมจักรแปดเหลี่ยม สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-13

การเดินทางเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ครั้งนี้ ทำให้ผมให้ความสนใจเรื่องราวของเมืองซับจำปามากยิ่งขึ้น จึงค้นหาเส้นทางว่าไกลเพียงใด…ปรากฏว่าต้องเดินทางต่อไปถึง อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี อยู่ห่างออกไปราวๆ 100 กิโลเมตร

พอทราบถึงระยะทางที่ไกลพอสมควร จึงได้วางแผนที่จะเดินทางกันในวันหลัง

จากข้อมูลเมืองโบราณซับจำปา พบว่ามีอายุในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเพราะค้นพบเครื่องใช้เครื่องประดับที่ทำจากหินและโลหะ จนถึงสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)

แต่สิ่งที่ผมสนใจเรื่องราวและอยากเดินทางไปตามรอยเพราะเรื่องราวของพระพุทธศาสนามากที่สุด จากการจารึกบนหลักศิลาจารึกที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น และโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา

การค้นพบเมืองโบราณซับจำปาอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ.2513 เกิดเหตุการณ์ตั๊กแตนปาทังก้าระบาดในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้กรมการเกษตรส่งอากาศยานเพื่อโปรยสารเคมีกำจัดแมลง ทำให้นักบินเห็นสันฐานคูเมืองโบราณซับจำปา ข่าวนี้จึงกระจายไปในแวดวงโบราณคดี ถือเป็นการค้นพบอย่างเป็นทางการ

สันฐานทางอากาศเมืองโบราณซับจำปา

ผมได้ค้นหาข้อมูล ก็ยิ่งตื่นเต้นกับเรื่องราวของเมืองโบราณแห่งนี้ แม้ว่าจะไม่มีความรู้ทางโบราณคดีเลยก็ตาม เพียงแค่อยากเดินทางไปดูสถานที่ ผมจึงวางแผนเดินทางไปในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2560

เศียรพระพุทธรูป สมัยทวารวดีที่ขุดพบครั้งแรก

มีคลิปวีดีโอหนึ่งที่น่าสนใจของคุณ Pipope Panitchpakdi ผมจึงแนบมาให้ชมกันด้วยครับ ตามคลิปด้านล่างนี้

เมื่อเดินทางมาถึง จะพบแหล่งท่องเที่ยว 3 จุดหลักๆ ก็คือ ป่าจำปีสิรินธร ซึ่งมีแห่งเดียวในโลกนี้, พิพิธภัณฑ์ซับจำปา, และเมืองโบราณซับจำปา

จุดแรกที่ผมเดินทางไปชมก่อนก็คือป่าจำปีสิรินธร

แอดมินเดินชมป่าจำปีสิรินทร

ป่าจำปีสิรินทร

จำปีสิรินธร (ชื่อวิทยาศาสตร์: Magnolia sirindhorniae Noot & Chalermglin) เป็นพรรณไม้จำปี ที่มีอยู่แห่งเดียวในโลกพบได้ที่ป่าพุชุมชน ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการ 10 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ลักษณะลำต้นสูงประมาณ 20 – 30 ม. ใบใหญ่กว่าจำปีทั่วไป มีกลิ่นฉุน เฉพาะตัว ดอกสีขาวนวล มีกลีบดอก 12-15 กลีบ เมื่อดอกโรยแล้วจะมีเมล็ดเป็นช่ออยู่รวมเป็นกลุ่ม ออกดอกบาน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า “จำปีสิรินธร” และเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ผมเดินชมป่าจำปีใช้เวลาราวๆ 30 นาที จึงออกมาเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ซับจำปาต่อไป

พิพิธภณฑ์ซับจำปา

ที่พิพิธภัณฑ์ จะอยู่ในความดูแลของ อบต. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ สามารถติดต่อเพื่อขอเข้าชมได้ทุกวันครับ

ภายในพิพิธภัณฑ์ซับจำปา

โบราณวัตถุที่จัดแสดง

โบราณวัตถุที่จัดแสดง

โบราณวัตถุที่จัดแสดง

นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

การจัดแสดงถือว่าจัดได้สวยงามและน่าสนใจ มีเรื่องการบุกเบิกเข้าสู่พื้นที่ซับจำปา ซึ่งสมัยก่อนนั้นถือว่าอันตรายเพราะเป็นที่กบดานของเหล่าเสือ (ขุนโจรในสมัยก่อน) จึงไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าพื้นที่  นอกจากมีเรื่องราวของเมืองโบราณ ก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับป่าจำปีสิรินทรอีกด้วย

ผมเดินชมพิพิธภัณฑ์ประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง  จึงได้สอบถามเส้นทางการเดินทางไปชมเมืองโบราณซับจำปากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องเดินทางต่อไปอีกราวๆ 2 กิโลเมตรเพื่อไปขอบคูเมืองโบราณ

ผมจึงจอดรถไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพื่อเดินไปชมสถานที่จริง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ปัจจุบันไม่เห็นอะไรแล้ว นอกจากคูเมืองเพราะวัตถุโบราณต่างๆ ได้ทำการขุดค้นศึกษาไปมากพอสมควรแล้ว

เดินสู่เมืองโบาราณซับจำปา

เมืองโบราณซับจำปา

ตัวเมืองโบราณเป็นสมัยทวารวดี พบพระพุทธรูปและโครงกระดูกเป็นจำนวนมาก และเนินดินเป็นโบราณสถาน หลักฐานที่พบคือ กำไลหิน เศษภาชนะดินเผา จารึกภาษาสันสกฤต ชิ้นส่วนและเศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระพิมพ์ พระหัตถ์ ธรรมจักรพร้อมเสาและกวางหมอบ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับโลหะ

เมืองโบราณแห่งนี้เริ่มรู้จักและได้รับการสำรวจทางโบราณคดี โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ 1 จังหวัดลพบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2513 และได้เริ่มขุดค้นภายในเมืองโบราณแห่งนี้ ในพ.ศ. 2516

นายวีรพันธ์ มาไลพันธ์ อาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรณ์ผู้ควบคุมการขุดค้นได้เขียนบทความและดำเนินงานเบื้องต้น เผยแพร่ชื่อ “ซับจำปา” พิมพ์ในวารสารโบราณคดี และพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ Early South East Asia ในพ.ศ. 2522

นายควอริทช์ เวลส์ ได้เขียนบทความเรื่องการค้นพบ(เมือง)ทวารวดีแห่งใหม่และข้อเปรียบเทียบกัยเขมร พิมพ์ในวารสารสยามสมาคมเมื่อ พ.ศ.2525 และพ.ศ. 2524-2525

ผศ.มยุรี วีรประเสริฐ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาโบราณคดีที่ได้ขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2514 รวมทั้งได้รับจากราษฎรและที่เก็บในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสนอเป็นวิทายนิพนธ์ภาษาฝรั่งเศสต่อมามหาวิทยาลัยซอร์บอนด์(ปารีส) นับได้ว่าหลักฐานทางโบราณคดีซับจำปา ในช่วงที่ผ่านมาถูกเผยแพร่ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศมาแล้วมากพอสมควร

เริ่มออกเดินทางสู่เมืองโบราณซับจำปา

โชคดีที่บรรยากาศการเดินทางที่แม้จะแดดแรง แต่ก็มีลมพัดเย็นตลอดเวลา ทำให้คลายร้อนไปได้เป็นอย่างดี และในวันที่ผมเดินทางตรงกับฤดูฝน ทำให้พื้นที่ดูเขียวชอุ่ม ผ่อนคลายไปได้เยอะครับ

เส้นทางสู่คูเมืองโบราณซับจำปา

พื้นที่เกษตรกรรมชาวบ้าน

บรรยากาศโดยรอบ

รูปบนนี้ ฝั่งขวาจะเป็นเขตคูเมืองโบราณซับจำปา

บริเวณคูเมืองก่อนเข้าสู่เมืองโบราณซับจำป่า

สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยการปลูกป่ากคลุม การจะเดินเข้าไปก็คงจะลำบากพอสมควร และควรจะหาผู้เชียวชาญพาเดินเข้าไปจะดีกว่าครับ

เส้นทางรอบคูเมือง

ผมจึงเดินทางเข้าไปให้ลูกขึ้น เพื่อเทียบกับ GPS

แอดมินเข้าไปสู่ขอบคูเมือง

เมื่อผมเดินเข้ามาลึก ก็เจอกับแอ่งลึกลงไป เพราะจุดที่ผมยืนคือคูเมือง ซึ่งเป็นเพียงขอบเมืองโบราณเท่านั้น

เทียบกับ GPS จุดน้ำเงินคือจุดที่แอดมินยืนอยู่ครับ

ภาพจากตำแหน่งคูเมือง

การเดินเข้าสู่จุดกลางเมืองโบราณซับจำปา คงเป็นเรื่องที่ลำบากในตอนนี้ เพราะเราไม่ใช่คนพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่รกพอสมควร  แต่การได้เดินทางมาถึงที่นี่ ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีๆต่อผมมากพอสมควร และมีความตั้งใจว่า จะเดินทางกลับมาที่นี่อีกแน่นอน เพื่อเก็บบรรยากาศให้มากกว่าเดิม ในโอกาสต่อไป

อย่างน้อยการเดินทางในวันนี้ ก็เริ่มทำให้ผมเริ่มได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมบ้าง ทำให้รู้สึกรักหวงแหนสมบัติของชาติ เป็นสถานที่แสดงให้เห็นถึงอารยพุทธศาสนา ที่ได้มีอิทธิพลสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วผมจะกลับมาอีกแน่นอนครับ… แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ…

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok