หลวงพ่อฉาบ พระผู้ไม่ลงกุฏิกว่า 30 ปี แห่งวัดศรีสาคร สิงห์บุรี (มีคลิป)

By | May 14, 2017


https://youtu.be/A6-AKuvNCMQ

คลิปแอดมินเล่าเรื่องหลวงพ่อฉาบ มังคโล วัดศรีสาคร สิงห์บุรี


https://youtu.be/wGN7q_rc3wA

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ผมมีเรื่องราวดีๆมาถ่ายทอดให้ได้รับชมกัน เป็นเรื่องราวของหลวงพ่อฉาบ แห่งวัดศรีสาคร จังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปี พ.ศ.2560 ท่านมีอายุย่างเข้าปีที่ 89  โดยท่านไม่ได้ลงกุฏิและไม่ได้รับกิจนิมนต์มากว่า 30 ปีแล้ว

ครั้งนี้เป็นการเดินทางครั้งที่ 2 ของผม เนื่องจากครั้งแรกผมยังไม่ทราบเวลาให้เข้ากราบนมัสการ

แม้ว่าท่านจะไม่ได้ลงกุฏิเป็นเวลานาน แต่ท่านก็ได้เมตตาต่อญาติโยมให้เข้าดราบไหว้ได้ทุกวัน เวลา 10.00 – 11.00 น. ส่วนเหตุผลที่ท่านไม่รับนิมนต์และลงกุฏินั้น แอดมินไม่ได้สอบถามถึงเหตุผล … แต่การเข้าไปกราบท่านในครั้งนี้ (วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2560) ผมก็ได้สัมผัสถึงความเมตตาของท่านอย่างเป็นที่สุด แม้ท่านจะชราภาพมาก แต่ท่านก็ได้กล่าวให้พรเสียงดังฟังชัด จนผมรู้สึกปิติอย่างบอกไม่ถูก

บนกุฏิของท่าน เป็นกุฏิไม้ธรรมดา ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรศัพท์ส่วนตัว แม้แต่เครื่องปรับอากาศท่านก็ไม่ให้ติดตั้ง  มีเพียงคณะศิษย์ที่คอยดูแลอุปัฏฐากท่านอย่างใกล้ชิด

แม้ว่าท่านจะห่างไกลจากเหตุการณ์ภายนอก แต่ท่านก็ทราบทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยปฏิปทาอันดีงามนี้เอง ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า จะมีผู้มีจิตศรัทธาต่อท่านเป็นอย่างมาก สังเกตุได้จาก สิ่งก่อสร้างภายในวัด เช่น เมรุ ศาลาการเปรียญ อาคารเอนกประสงค์ พระอุโบสถ และอื่นๆอีกมากมาย ที่ได้ทยอยสร้างกันในบริเวณวัด ทั้งๆที่ท่านไม่ได้ไปเรี่ยไรที่ไหนเลย …ปัจจัยทุกอย่างล้วนเกิดจากความศรัทธาที่เหล่าคณะศิษย์ได้สัมผัสถึงนั่นเอง

ในวัดจะติดป้ายเรื่องห้ามถ่ายรูปหลวงพ่อ อาจจะเพราะด้วยความเชื่อบางอย่างของคณะศิษย์ ซึ่งผมก็ไม่ขอก้าวล่วง จึงได้บันทึกเป็นคลิปเสียงที่ท่านได้อวยพรให้กับแอดมินมาให้ได้รับฟังกันด้วย ตามคลิปบนยูทูปในช่วงท้าย

ขอขอบคุณพี่แหม่ม และลุงเผือกที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้ได้รับรู้มา ณ โอกาสนี้  เรื่องราวการถ่ายทอดเรื่องราวสามารถรับชมรับฟังได้บนคลิปยูทูปที่ผมได้ติดไว้ให้แล้วครับ

พระอุโบสถ วัดศรีสาคร

ผมเดินทางมายังวัดศรีสาคร และนำรถมาจอดที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ

บริเวณหน้าทางเข้ากุฏิหลวงพ่อฉาบ

ทางวัดได้ติดป้ายให้เข้ากราบหลวงพ่อฉาบได้เวลา 10.00 – 11.00 น. ทุกวัน การกำหนดเวลานี้เนื่องจากหลวงพ่อท่านชราภาพมากแล้ว ทางคณะศิษย์จึงต้องการให้หลวงพ่อได้พักผ่อน

ส่วนการนำสิ่งของมาถวายนั้น สามารถนำมาถวายวางไว้ด้านล่าง แล้วขึ้นไปบอกกล่าวหลวงพ่อด้านบนกุฏิ แล้วหลวงพ่อจะให้พรครับ

รูปหลวงพ่อฉาบ บริเวณทางขึ้นกุฏิ

 

โอ่งน้ำมนต์หลวงพ่อฉาบ

น้ำมนต์หลวงพ่อฉาบ  เราสามารถนำกลับบ้านได้ครับ โดยนำขวดมาใส่… พี่แหม่ม ได้บอกว่าให้อธิษฐานขอหลวงพ่อแล้วหยอดเงินทำบุญ 12 บาทขึ้นไป ก่อนนำน้ำมนต์กลับ

วัตถุมงคลหลวงพ่อฉาบ

 

วัตถุมงคลหลวงพ่อฉาบ

 

พี่แหม่มและลุงเผือก ได้ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวให้ได้รับฟัง

ผมได้คุยและสอบถามเกี่ยวกับหลวงพ่อฉาบมากมาย ซึ่งทางพี่แหม่มและลุงเผือกเป็นผู้ให้ข้อมูล จากนั้นผมก็เดินขึ้นกุฏิเพื่อไปกราบหลวงพ่อฉาบ ซึ่งก็ได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมได้บันทึกเสียงมาให้รับฟังท้ายคลิปด้วยครับ

วิหารหลวงปู่ปั้น

หลวงปู่ปั้น เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดศรีสาคร

ศาลาการเปรียญที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง

เจดีย์บริเวณหลังวัด

รูปปั้นพระสังกัจจายนะ บริเวณหลังวัด

 

แอดมินพบแฟนเพจ

ในการเดินทางไปวัดศรีสาคร เพื่อไปกราบหลวงพ่อฉาบ ผมก็ได้บังเอิญพบกับแฟนเพจ 2 ท่านซึ่งเป็นคู่สามีภรรยา เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการ ที่ติดตามทาง Facebook และ YouTube จึงได้เข้ามาทักทายพูดคุยกันเป็นการถูกคอ ต่างคนก็ต่างมอบสิ่งมงคลให้แก่กันเป็นที่ระลึก

ภารกิจเดินทางตามรอยครูบาอาจารย์ในวันนี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยความประทับใจหลายๆอย่าง จึงขอเรียนเชิญท่านลองมาสัมผัสบรรยากาศกันดูครับ

ประวัติหลวงพ่อฉาบ มังคโล

พระครูมงคลนวการ (หลวงพ่อฉาบ มังคโล) ชาติภูมิหลวงพ่อฉาบ มังคโล มีนามเดิมว่า ฉาบ ด้วงดารา ท่านถือกำเนิดวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2471 ณ บ้านเลขที่ 27 ต.ต้นโพธิ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เป็นบุตรคนโต ของโยมพ่อเน่า และโยมแม่สมบุญ ในจำนวนพี่น้อง 7 คน ด้วยกันคือ 1.หลวงพ่อฉาบ 2.นายเอิบ 3.นายสังวาล 4.นายประสงค์ 5.นายถวิล 6.นายปุ่น 7.นางสมนึก จบการศึกษาชั้นป.4 ที่โรงเรียนวัดศรีสาคร มีอาชีพเกษตรกร

หลวงพ่อฉาบ มังคโล ในวัยเด็กตอนยังเป็นฆราวาส เป็นคนถือสัจจะเป็นใหญ่ มีความตั้งใจพูดจริงทำจริงและสนใจในเวทย์มนต์คาถา มักชอบไปกราบนมัสการหาพระอยู่เสมอ

ในปีพ.ศ.2485 หลวงพ่อแช่ม อินทโชโต แห่งวัดตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม ท่านได้สร้างเหรียญรุ่นแรกของท่านขึ้น ได้แจกให้คณะศิษยานุศิษย์ ทายกทายิกาที่ร่วมทำบุญมาทำการทอดกฐินยังวัดศรีสาครและได้มาพำนักอยู่ที่วัดศรีสาครเป็นเวลาถึง 6 เดือน เพราะท่านชอบพอสนิทกับหลวงพ่อดี เจ้าอาวาสวัดศรีสาครในสมัยนั้น

หลวงพ่อฉาบ ในวัยเด็กขณะนั้นอายุได้ 14 ปี มีความศรัทธาเลื่อมใสหลวงพ่อแช่มมาก ได้มากราบนมัสการหลวงพ่อแช่มบ่อยครั้ง และได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ขอเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมต่างๆ ในลำดับแรกหลวงพ่อแช่มได้สอนให้เรียนรู้ทางด้านการปฏิบัติจิต สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ให้จิตนิ่งเป็นสมาธิก่อน และหลังจากทำกรรมฐานและวิปัสสนาอยู่ 3 เดือน หลวงพ่อแช่มก็ได้สอนวิชาคาถาอาคมต่างๆให้

ในปีพ.ศ.2486 หลวงพ่อแช่ม ก็ได้กลับไปวัดตาก้อง จ.นครปฐม จนกระทั่งในปีพ.ศ.2488 หลวงพ่อแช่มได้มาพำนักที่วัดศรีสาครอีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลา 25 วัน หลวงพ่อฉาบ ตอนนั้นอายุได้ 17 ปี ได้เข้ามารับใช้และเล่าเรียนวิชาเวทย์มนต์ต่างๆพร้อมให้หลวงพ่อแช่มช่วยทบทวนวิชาคาถาที่เล่าเรียน จนสามารถปฏิบัติได้ตามคำสอนเป็นอย่างดี แล้วหลวงพ่อแช่มก็เดินทางกลับวัดตาก้อง ต่อมาในปีพ.ศ.2490 หลวงพ่อแช่ม ท่านก็ได้ละสังขารมรณภาพลงในปีนั้นเอง

หลวงพ่อฉาบเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดศรีสาคร เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2491 โดยมีพระครูเกศิวิกรม (หลวงพ่อทรัพย์ ฐิตปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดสังฆราชาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ประทุม เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการฉ่ำ เจ้าอาวาสวัดตึกราชาวาสเป็นพระอนุสาวนาจารย์

อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วได้รับฉายาว่า มังคโล เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วได้ตั้งจิตมั่นได้กล่าวคำสัจจะวาจาบอกกล่าว ต่อโยม และบิดามารดาของท่านว่า เมื่อฉันได้บวชเรียนเป็นภิกษุแล้วจะขอรับใช้พระพุทธศาสนาตลอดชีวิต โยมพ่อและโยมแม่ก็ไม่ได้ทักทวงแต่ประการใด เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีสาคร 2 พรรษา ได้เรียนพระธรรมวินัยไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมจากหลวงพ่อทรัพย์ ฐิตปัญโญ ซึ่งท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อพูล (เจ้าอาวาสองค์ก่อน) วัดสังฆราชาวาส ซึ่งเป็นสหายธรรมของหลวงพ่อเชย วัดท่าควาย และหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก

หลังจากหลวงพ่อฉาบได้ศึกษาวิชาจากหลวงพ่อทรัพย์แล้ว ก็ได้ปรึกษาหลวงพ่อทรัพย์ในการปฏิบัติกิจแห่งธุดงค์วัตร ก็ได้รับการแนะนำสั่งสอนอย่างดี

ในปีพ.ศ.2493 หลวงพ่อฉาบได้ธุดงค์มุ่งสู่จังหวัดลพบุรี หลวงพ่อฉาบได้เดินธุดงค์ไปยังถ้ำตะโก เพื่อจะไปหาความสงบวิเวก เมื่อถึงถ้ำตะโกมาทราบว่าหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา ท่านได้ละสังขารมรณภาพไปแล้ว ก็ได้พบกับหลวงพ่อคง คังคปัญโญ เจ้าอาวาสวัดถ้ำตะโก ศิษย์เอกหลวงพ่อเภา ซึ่งได้รับสืบทอดวิชาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธมนต์ต่างๆ จากหลวงพ่อเภาทั้งหมด
หลวงพ่อฉาบจึงได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาต่างๆ ของหลวงพ่อเภา วัดถ้ำตะโก จากหลวงพ่อคง คังคปัญโญ

แอดมินเดินทางไปที่วัดถ้ำตะโก

จากนั้นหลวงพ่อฉาบก็เดินทางมุ่งไปสู่วัดเขาสาริกา เพื่อจะไปศึกษาธรรมกรรมฐานจากหลวงพ่อกบ ก็ปรากฎว่าได้มรณภาพไปแล้วเช่นกัน จึงได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาวงกฎ

ที่วัดเขาวงกฎแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เขาสนามแจง ต.สนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในวงล้อมของเขา เป็นลักษณะหุบเขาเปิด มีทางเข้าออกทางเดียว เมื่อปีพ.ศ.2465 หลวงพ่อเภา พุทธสโร วัดถ้ำตะโกธุดงค์มาพบสถานที่แห่งนี้เข้าเห็นว่าเหมาะแก่การอบรมสมถกรรมฐาน และเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก จึงได้ทำการก่อสร้างให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์แบบ มีถ้ำคูหาสวรรค์อยู่ที่เชิงเขาด้านทิศเหนือ ซึ่งหลวงพ่อเภาจะจำพรรษาและทำความเพียรในถ้ำคูหาสวรรค์แห่งนี้ ต่อมากรมพระนครสวรรค์ พระองค์เจ้าบริพัตรสุขุมพันธ์เสด็จมาที่เขาวงกฎได้พบหลวงพ่อเภา ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาและแนวทางในการปฏิบัติของหลวงพ่อเภา จึงได้ถวายปัจจัยให้ก่อสร้างวัด หลวงพ่อเภาได้สร้างกุฏิขึ้นหน้าถ้ำคูหาสวรรค์ให้ชื่อว่า “ตึกบริพัตร” ตามนามของผู้บริจาค และหลวงพ่อเภาได้มาจำพรรษาที่กุฏินี้ตลอดมา หลังจากหลวงพ่อเภาได้มรณภาพในปีพ.ศ.2474 ที่วัดแห่งนี้ในปีหนึ่งจะมีพระสงฆ์มาจากวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคมาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาวงกฎแห่งนี้

หลวงพ่อฉาบได้มาปฏิบัติธรรมและพบกับ พระมหาชวน มลิพันธ์ หรือหลวงพ่อโอภาสี

หลวงพ่อโอภาสี ได้เล่าเรื่องมีความศรัทธาต่อหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา เป็นอย่างมาก หลวงพ่อฉาบได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อโอภาสี ซึ่งเป็นศิษย์ที่รับการถ่ายทอดวิชามาหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา หลวงพ่อฉาบจึงขอฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโอภาสี ขอศึกษาวิชากสิณต่าง ๆ และพุทธเวทย์ หลวงพ่อโอภาสีได้ฝึกสอนวิชาต่าง ๆ ให้เช่นกสิณไฟ และคาถาอาคมต่างๆ ให้หลวงพ่อฉาบ และยังได้ชักชวนนิมนต์ให้หลวงพ่อฉาบเดินทางไปพบท่าน ที่อาศมบางมดกรุงเทพฯ

แอดมินที่วัดเขาสาริกา (หลวงพ่อกบ)

ในครั้งนั้นที่วัดเขาวงกฎหลวงพ่อฉาบยังได้พบปะรู้จักเป็นสหายธรรมกับหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาวงกฎแห่งนี้ด้วย

หลวงพ่อฉาบอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดเขาวงกฏเป็นเวลา 45 วัน ก็ได้เดินทางกลับไปยังวัดถ้ำตะโกอีกครั้งหนึ่ง ได้พำนักอยู่ที่วัดถ้ำตะโกพบปะใกล้ชิดกับหลวงพ่อคงอีกครั้ง

แอดมินที่ถ้ำค้างคาว วัดเขาวงกฏ

ที่วัดถ้ำตะโกแห่งนี้อยู่ในบริเวณเทือกเขาเดียวกับวัดต่าง ๆ อีกถึง 3 วัด จึงมีวัดถึง 4 วัดคือ วัดเขาสมอคอน วัดถ้ำช้างเผือก วัดถ้ำตะโก และวัดบันไดสามแสน ในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยทวาราวดีเป็นต้นมา ดอยเทือกเขานี้มีความสำคัญมากมีถ้ำใหญ่น้อยเป็นร้อย ๆ ถ้ำ เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล สมณะ ฤาษี พราหมณ์ เป็นแห่งกำเนิดของวิชาเวทย์มนต์คาถา เช่นวิชาขอมดำดิน ก็ก่อเกิดในที่แห่งนี้

วัดเขาสมอคอนเป็นวัดอยู่ต้นดอย มีถ้ำพระนอนและที่พำนักของฤาษีสุกกะทันตะและ ถ้ำพราหมณี มีตำนานเล่าว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยก็มาศึกษาที่แห่งนี้ นับว่าเป็นแหล่งรวมศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ หลวงพ่อฉาบ ก็ได้เดินทางมาที่วัดเขาสมอคอน เข้ากราบนมัสการฝากตัวขอเป็นศิษย์เล่าเรียนวิชาจากหลวงพ่อบุญมี อิสโร ศิษย์ผู้รับการสืบทอดวิชาจากหลวงพ่อก๋ง จันทสโร

แอดมินไปวัดเขาสมอคอน

หลังจากการธุดงค์ศึกษาธรรมแล้ว หลวงพ่อฉาบก็อยู่แต่ภายในวัดศรีสาครไม่ได้เดินทางไปไหนอีกเลยท่านปิดกุฏิเป็นเวลานาน มุ่งบำเพ็ญกรรมฐานและสมาธิวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี ในแต่ละวันจะเปิดกุฎิรับญาติโยมเพียงบางเวลาเท่านั้นท่านไม่ มีโทรทัศน์, วิทยุ แม้แต่เครื่องปรับอากาศ ท่านปิดกุฎิไม่รับรู้เรื่องภายนอกแต่ท่านก็รอบรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี ท่านจะเน้นเรื่องกรรม บางครั้งสิ่งที่เป็นกรรมจะเกิดก็ไม่อาจเลี่ยงได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม

คุณสุนทร คนที่ดูแลหลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อจะพูดถึงหลวงพ่อชา สุภัทโท อยู่เสมอ เหมือนท่านได้นั่งสมาธิส่งกระแสจิตถึงกันเหมือนติดต่อกันทางจิต ในวันที่หลวงพ่อชาได้ละสังขารลง หลวงพ่อฉาบได้รีบเดินทางล่วงหน้าไปยังวัดหนองป่าพงและหลวงพ่อฉาบได้ไปร่วมใน งานพระราชทานเพลิงศพในครั้งนั้นด้วย

จากเรื่องราวทั้งหมด จะเห็นได้ว่า หลวงพ่อฉาบได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆจากครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูป เช่นสายหลวงพ่อเภาที่หลวงปู่มั่นได้เคยกล่าวกับหลวงพ่อชาว่า “หลวงพ่อเภาคือพระแท้รูปหนึ่ง…”

หลวงพ่อเภา

หลวงพ่อฉาบได้ศึกษาวิชาและคาถาต่าง ๆ จากพระเกจิอาจารย์และพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากอีกทั้งท่านได้ ปฏิบัติดีและประพฤติชอบตามพระธรรมวินัยคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวพุทธและชาวจังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัด ใกล้เคียงอีกจำนวนมาก

ปัจจุบัน ปี 2560 หลวงพ่อฉาบมีอายุย่างเข้าปีที่ 89 และยังคงให้เข้ากราบไหว้ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 11.00 น. ผมเดินทางไปกราบท่านแล้ว สัมผัสได้ถึงความเมตตาของท่านเป็นอย่างยิ่ง ระหว่างที่ท่านให้พรผมรู้สึกปลาบปลื้มและตัวชาไปทั้งตัว ด้วยเพราะรู้สึกถึงความเมตตาอย่างแท้จริง เรียนเชิญไปกราบไหว้ท่านกันนะครับ ส่วนเรื่องการถ่ายรูปหลวงพ่อนั้น ทางวัดได้ติดป้ายห้ามถ่ายรูปท่าน อาจจะด้วยเพราะความเชื่อของลูกศิษย์ ซึ่งผมก็ไม่อาจก้าวล่วงได้ ผมจึงได้อัดคลิปเสียงการอวยพรของหลวงพ่อฉาบมาให้ได้รับฟังแทนครับ ลองรับชมรับฟังบรรยากาศที่วัดศรีสาคร ผ่านทางคลิปบนยูทูปที่ผมติดไว้ให้กันเลยครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com