ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปประจำวัน สำหรับผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้

By | August 29, 2014

พระพุทธรูป จำวันเกิดไม่ได้

เมื่อเร็วๆนี้ หลายๆคนคงจะได้เห็นการแชร์รูปเกี่ยวกับพระพุทธรูปประจำวันเกิด ในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งในแต่ละวัดก็มักจะเห็นพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดอยู่โดยทั่วไป แต่ก็เกิดประเด็นร้อนขึ้นมา ในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้จะมีพระพุทธรูปปางประจำวันในปางใด ซึ่งจากรูปที่ปรากฏจะเป็นพระพุทธรูปในอริยาบทที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันนัก ส่งผลให้เกิดการแชร์ไปบนโลกออนไลน์กันอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีหลายๆคนก็คิดไปต่างๆนานาๆ ว่าพระพุทธรูปปางนี้มีอยู่จริงหรือไม่ บางคนก็คิดไปในแง่ที่ไม่ถูกต้อง และก็มีบางส่วนที่หาข้อมูลและก็ทราบความจริงว่าเป็นเช่นไร

แท้จริงแล้วรูปพระพุทธรูปที่เราไม่คุ้นเคยกันนัก นั่นคือ “พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ” และก็มีการสร้างอยู่จริง ตามบันทึกจากหนังสือ “ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ” นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถร)

 

พระพุทธรูปประจำวันเกิดของผู้จำวันเกิดไม่ได้ คือพระพุทธรูปปางใด

ในเรื่องที่มาที่ไปเกี่ยวกับพระพุทธรูปประจำวันเกิดนั้น มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณแต่ในเรื่องการบันทึกของพระพุทธรูปประจำวันเกิดสำหรับผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดนั้นไม่มีบันทึกที่แน่นอน แต่ผมคิดว่าน่าจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของเทวดาประจำวันเกิดตามความเชื่อก็ได้ ตามความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาประจำวันเกิดที่เราคุ้นเคยกันนั้นก็จะทราบกันดีว่า ผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้จะมีเทวดาประจำตัวคือ “เทวดาพระเกตุ”  นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทางสถานที่แห่งนั้นได้จัดตั้งพระพุทธรูปประจำวันเกิดสำหรับผู้ที่จำวันวันเกิดไม่ได้เป็น “พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ” ซึ่งมีคำที่พ้องเสียงกัน

สำหรับบางตำราก็ได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธรูปประจำวันสำหรับผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้นั้น คือ “พระพุทธรูปปางมารวิชัย”

 

พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ยกฝ่าพระหัตถ์ขวาขึ้นแนบพระเศียร เป็นกิริยาเสยพระเกศา

 

พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ มีเรื่องราวประวัติและตำนานดังนี้

หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ และ ภัลลิกะ ซึ่งมีอาชีพพ่อค้า ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระองค์กับพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองเป็นอุบาสก ในพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าอวสานแห่งชีวิต ขอกราบทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งควรแก่การอภิวาทในยามอนุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณในกาลเบื้องหน้าต่อไป”

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระมหากรุณา จึงยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นลูบพระเศียรเกล้าฯ ได้พระเกศามา 8 เส้น มีสีดุจแก้วอินทนิล แลปีกแมลงภู่…ก็หล่นลงประดิษฐานในฝ่าพระหัตถ์ เรียกว่า “พระเกศธาตุ” แล้วทรงประทานพระเกศธาตุทั้ง 8 เส้นนั้น แก่พ่อค้าทั้งสอง ตปุสสะและ ภัลลิกะ น้อมรับเกศธาตุทั้ง 8 องค์ ด้วยความโสมนัสเป็นอันมาก แล้วกราบถวายบังคมลาไป

พ่อค้าทั้งสองนั้น ได้เป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ในเทววาจิกสรณคม คือถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมทั้งสองเป็นสรณะ เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้นในโลก เมื่อพานิชทั้งสองนั้นเดินทางกลับถึงเมืองของตนแล้ว ได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศธาตุ ทั้ง 8 องค์ ไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน

 

พระพุทธรูปประจำวันเกิดมีที่มาอย่างไร

เคยมีผู้ตั้งคำถามต่อพระไพศาล วิสาโล ไว้ดังนี้

คำถาม : กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ ผมกฤษณะครับ ผมสงสัยมานานแล้วครับว่า ที่มาของพระประจำวันเกิด ในแต่ละปางนั้น ที่มาใครเป็นคนกำหนดครับ ผมค้นหานานแล้ว แต่หาที่ไปที่มาไม่พบครับ พระอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะครับ กราบนมัสการครับ

คำตอบ : อาตมาไม่มีความรู้ด้านนี้เหมือนกัน แต่ได้พบข้อมูลมาว่า  ที่มาของพระประจำวันเกิดคือรัชกาลที่ 4 พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า “รัชกาลที่ 4 ท่านเป็นปราชญ์ ทั้งทางโหราศาสตร์ และ พุทธศาสนา ท่านเลยมาดูว่า ตามดวงแล้วคนเกิดวันนั้น ๆ จะมีข้อเสีย ข้อพีงระวังอะไรบ้าง แล้วท่านก็เลือกเอาปางพระพุทธรูป ที่มีเรื่องราวเป็นข้อคิดสอนใจให้กับคนวันนั้นๆ เพื่อที่ว่า เวลาชาวบ้านกราบไหว้แล้ว จะย้อนมาเตือนใจตัวเอง”

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวผมเอง การบูชาพระพุทธเจ้าเป็นกุศลต่อชีวิต จึงอาจจะไม่ต้องยึดติดในพระพุทธรูปปางใดปางหนึ่ง แต่สำหรับความศรัทธาทางด้านจิตใจและความเชื่อส่วนบุคคล ก็คงจะห้ามกันไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นที่พึ่งทางจิตใจและการดำเนินชีวิตที่ดีของพุทธศาสนิกชนครับ

 

ความเชื่อเทวดาพระเกตุ เทวดาประจำผู้ที่จำวันเกิดไม่ได้