อาลัยหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ มรณภาพ

By | August 27, 2014
ภาพจากกระทู้ Pantip.com

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ   ภาพจากกระทู้ Pantip.com

รับชมสารคดีที่ระลึกในงานถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงพ่อคำเขียนลิ้งค์ด้านล่างนี้

>>> สารคดี ชีวประวัติ และผลงาน คำสอน หลวงพ่อคำเขียน <<<

อาลัยหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ มรณภาพ

พุทธศาสนิกชนร่วมไว้อาลัย ต่อการมรณภาพของหลวงพ่อเขียน สุวัณโณ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลวงพ่อคำเขียนสุวณฺโณ วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งท่านเป็นพระวัดป่า สายวิปัสสนา ระดับพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง ที่ชาวบ้านในพื้นที่และผู้คนทั่วประเทศเคารพ ศรัทธา กราบไหว้ เป็นจำนวนมากได้มรณภาพแล้ว ทั้งนี้บนหน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของวัดป่าสุคะโต ได้เขียนว่า หลวงพ่อคำเขียน ก่อนมรณภาพ ท่านได้เขียนไว้ว่า ท่านป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมาประมาณ 7 เดือน ซึ่งหลวงพ่อเองทราบตลอดว่า ว่าเวลาของท่านกำลังมาถึงและพร้อมรับความตายทุกเมื่อ โดยมีบันทึกถึงลูกศิษย์ตอนหนึ่งว่า “ขอสั่งลาทุกๆ ท่านธาตุขันธ์คงอยู่อีกได้ไม่นาน แต่ความเป็นกัลยาณมิตรยังอยู่ตลอดไป “

และอีกตอนหนึ่งว่า “สั่งลามิตรสหายทุกท่าน ธาตุขันธ์ไม่มีวันที่จะอยู่ได้นาน ขอให้เน้นสติ ปัญญาแทน เป็นปากเป็นเสียงธรรม ตามที่หลวงพ่อเทียนสอน พวกเราถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้จริง เวลานี้มีแต่ปล่อยวาง ไม่เป็นอะไรกับอะไร ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนมีธรรมนำพาไม่มีวันตาย เราเห็นประสบการณ์ตั้งแต่เห็นรูปนามตามความเป็นจริง ขอให้เราจงพากันปฏิบัติไปจะได้พบเห็นอาการดับไม่เหลือของนามรูป49ปีที่ผ่านมา คือวันนี้ รู้สึกตัวรู้สึกตัวดี “

นอกจากนี้ท่านได้กำชับว่า “ในงานศพให้จัดแบบพระที่จน อย่าฟุ่มเฟือย” โดยวันที่ 23 – 29 สิงหาคม 2557 จะตั้งสรีระสังขารของหลวงพ่อ ณ กุฏิพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคำเขียน วัดภูเขาทอง จังหวัดชัยภูมิ และถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงพ่อคำเขียน ณ เมรุ วัดภุเขาทองในวันที่ 6 กันยายน 2557

เรียบเรียงบทความจาก บทความข่าวจากเดลินิวส์

ประวัติหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

หลวงพ่อคำเขียน สุวณัโณ ท่านเกิดที่บ้านหนองเรือ ตำบลหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ตรงกับวันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือน 9 ปีชวด โยมพ่อชื่อ นายสมาน เหล่าชำนิ โยมแม่ชื่อ นางเฮียน แอมปัชฌาย์ (เหล่าชำนิ) มีพี่น้องรวมเจ็ดคน ท่านเป็นบุตรคนที่สาม

เมื่อท่านอายุย่างเข้า 10 ขวบ บิดาและมารดาของท่านได้ย้ายไปอยู่บ้านหนองแก อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ทำการบุกเบิกที่ทำกิน ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา

ชีวิตวัยเด็กของท่านเหมือนกับเด็กไทยในชนบททั่วไปที่ครอบครัวทำเกษตรกรรม มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้ไม่มีเงินก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีข้าว ปลา อาหาร ผัก ผลไม้ รวมถึงมียาสมุนไพรอยู่รอบบ้าน และเลี้ยงวัว เลี้ยงควายไว้ใช้แรงงาน ท่านใช้ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีกับการงานเหล่านี้อยู่กับครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวเล่นสนุกสนานเช่นเด็กทั่วไป เนื่องจากบิดาของท่านเสียชีวิตตั้งแต่ท่านอายุได้ประมาณ 10 ขวบ ประกอบกับพี่ของท่าน 2 คนไปอยู่กับปู่และย่า ท่านจึงต้องรับผิดชอบการงานแทนบิดาของท่าน

ท่านบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี หลังจากบวชอยู่ได้ประมาณสองปีก็จำต้องลาสิกขา ออกไปช่วยงานของครอบครัวอย่างเต็มที่ ด้วยความจริงจังกับงานและขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอนี้เอง ทำให้ท่านเป็นที่ยกย่องของคนในหมู่บ้าน

ในช่วงเวลานั้นเองท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคม ทำน้ำมนต์ ปัดรังควาน ไล่ผี และรักษาคนป่วยไปด้วย ฉะนั้นทุกคืนก่อนนอนท่านต้องสวดมนต์ ภาวนา บริกรรม ท่องคาถาอาคมต่างๆจนคล่องแคล่ว เกิดความชำนาญ จนสามารถใช้วิชาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ยามชาวบ้านเดือดร้อนท่านได้เข้าทำการช่วยเหลือ นับตั้งแต่เจ็บไข้ได้ป่วย ไล่ผี คลอดบุตร ตลอดจนผูกข้อมือให้เด็ก จนเป็นที่เรียกขานกันในหมู่บ้านว่า ท่านเป็นหมอธรรม

ก่อนมาปฏิบัติธรรมในสายหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านได้ฝึกสมาธิแบบพุทโธ เมื่อปฏิบัติมาเป็น
เวลานานจึงทำให้จิตสงบได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก เมื่ออายุย่างเข้า 30 ปี หลังจากมีครอบครัวมาได้ 7-8 ปี ท่านได้เริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ที่แนะนำเรื่องสมาธิ วิปัสสนา ตามแนวทางอื่น ๆ
ที่เหมาะสมกับตัวท่านบ้าง

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2509 ท่านมีโอกาสได้ไปศึกษา และปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียนที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย หลวงพ่อเทียนสอนให้สร้างจังหวะและเดินจงกรม ท่านเคยฝึกหัดมาแบบพุทโธ โดยนั่งนิ่งๆ และสามารถเข้าถึงความสงบได้อย่างว่องไว ทำให้ไม่ชอบการสร้างจังหวะ แต่หลวงพ่อเทียนสอนไม่ให้สงบแต่เพียงอย่างเดียว สอนให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดรู้ไปกับการสร้างจังหวะ และไม่ให้เข้าไปอยู่กับความสงบ

คำสอนของหลวงพ่อเทียนนี้ สวนทางกับวิธีที่ท่านฝึกหัดมา ทำให้บางทีท่านไม่อยากทำ เกิดความรู้สึกคัดค้านอยู่ในใจ แต่ในที่สุดท่านก็ตกลงทำ เพราะอย่างไรก็ตั้งใจมาปฏิบัติแล้ว จึงทดลองดู โดยพยายามทวนความรู้สึกเดิม ตั้งใจสร้างจังหวะ เพื่อปลูกสติสัมปชัญญะ และสร้างสติ จากนั้นจึงเริ่มต้นปฏิบัติไปเรื่อย ๆ

ในการปฏิบัตินั้น เมื่อเริ่มคิด ให้กลับมาอยู่กับการสร้างจังหวะ จะเกิดความสงบ ความรู้สึกตัว ไม่เข้าไปอยู่ในความสงบ รู้กาย รู้ใจ ชัดขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อการเคลื่อนไหว รู้ทันต่อใจ ที่คิด เกิดปัญญาญาณขึ้นมา รู้เรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง ลำดับไปจนจบอารมณ์รูปนามเบื้องต้น จากนั้นจิตใจของท่านได้เปลี่ยนไป พ้นจากภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป ได้รู้เรื่องสมถะ และเรื่องวิปัสสนา ท่านรู้สึกว่าความทุกข์ที่มีอยู่หมดไป 60 เปอร์เซ็นต์ จึงมั่นใจในคำสอนหลวงพ่อเทียนมาก จนไม่สนใจต่อความรู้เดิมที่มีอยู่

คาถาอาคมเครื่องรางของขลังที่เคยเรียนมานั้น ท่านเริ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสมมติ พิธีรีตองต่าง ๆ
ที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เริ่มวางได้ มีความเชื่อในการกระทำ รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์
รู้เรื่องศาสนา พุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านมีความรู้สึกเหมือนว่า แบกของหนักมา 100 กิโลกรัม พอเกิดปัญญาญาณขึ้น น้ำหนักที่แบกนั้นหายไป 60 กิโลกรัมทันที

ท่านจึงคิดไปว่า เมื่อทำเพียงเท่านี้ ความทุกข์ที่มียังหลุดไปได้ถึงเพียงนี้ หากทำให้มากกว่านี้
จะเป็นอย่างไร ทำให้ท่านคิดปฏิบัติต่อไป และมีความมั่นใจต่อการเจริญสติสัมปชัญญะแบบเคลื่อนไหว จนในที่สุดท่านไม่คิดแสวงหาครูบาอาจารย์ และไม่แสวงหาวิธีปฏิบัติตามแนวทางอื่นอีกเพราะได้บทเรียนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในชีวิต

ปัจจุบันท่านประจำอยู่วัดป่าสุคะโต และดูแลวัดภูเขาทอง บ้านท่ามะไฟหวาน ควบคู่ไปกับ วัดป่ามหาวัน(ภูหลง) บ้านตาดรินทอง ซึ่งเป็นวัดป่าในสาขาและอยู่ไม่ไกลจากวัดป่าสุคะโต

เรียบเรียงจาก : www.pasukato.org

 

กำหนดการงานละสังขารหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

านละสังขารหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ภาพจากเฟซบุ๊ควัดป่าสุคะโต

านละสังขารหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ภาพจากเฟซบุ๊ควัดป่าสุคะโต


วันที่ 23-29 สิงหาคม 2557

ตั้งสรีระสังขารหลวงพ่อ ณ กุฏิพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อคำเขียน วัดภูเขาทอง
ตลอดวันสามารถกราบคารวะสรีระสังขารหลวงพ่อที่หน้าหีบทอง
18.00 น. ร่วมสวดมนต์ทำวัตรสาธยายธรรม ณ ลานหินโค้ง ภูเขาทอง
(บทธัมมจักร (แปล) หรือ อภิธรรม (แปล)
18.30 น. ฟังธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
19.00 น. ปฏิบัติธรรมบูชา

วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 6 กันยายน 2557

ตั้งสรีระสังขารหลวงพ่อ ณ ศาลาใหญ่ (หอสวดมนต์) วัดภูเขาทอง
ตลอดวันสามารถกราบคารวะสรีระสังขารหลวงพ่อที่หน้าหีบทอง
18.00 น. ร่วมสวดมนต์ทำวัตรสาธยายธรรม ณ ลานหินโค้ง ภูเขาทอง
18.30 น. ฟังธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
19.00 น. ปฏิบัติธรรมบูชา

วันที่ 6 กันยายน 2557

13.00 น. เคลื่อนสรีระสังขารหลวงพ่อ สู่เมรุ วัดภูเขาทอง
14.00 น. ฟังธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
14.30 น. สาธยายอภิธรรมแปล
15.00 น. ถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงพ่อ

แผนที่วัดป่าสุคะโต วัดภูเขาทอง

การเดินทางไปวัดป่าสุคะโต วัดภูเขาทอง วัดมะหาวัน


1. รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร

จากตัวเมืองชัยภูมิไปทางอุทยานแห่งชาติตาดโตน ก่อนถึงอุทยานแห่งชาติตาดโตน ให้เลี้ยวซ้าย เมื่อถึงบ้านท่าหินโงมให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางสายใหญ่ ผ่านบ้านท่ามะไฟหวาน จนถึงบ้านใหม่ไทยเจริญ ระยะทาง
จากชัยภูมิ ถึงบ้านใหม่ไทยเจริญ ประมาณ 50 กิโลเมตร

หรือจากตัวเมืองชัยภูมิไปทางอำเภอแก้งคร้อ เลยตัวอำเภอไป 1 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายตรงปั๊มน้ำมัน ปตท. แล้วไปตามเส้นทาง ผ่านบ้านโคกกุง ขึ้นเขา จนถึงบ้านใหม่ไทยเจริญ ระยะทางจากแก้งคร้อถึงบ้านใหม่ไทยเจริญ ประมาณ 40 กิโลเมตร

2. รถประจำทางสายกรุงเทพฯ – ชัยภูมิ เมื่อถึงชัยภูมิ ให้มาขึ้นรถสองแถวสายชัยภูมิ ท่ามะไฟหวาน ถ้าต้องการไปวัดป่าสุคะโต เมื่อถึงท่ามะไฟหวานแล้ว ให้เดินอีก 3 กิโลเมตร หรือจ้างรถมอเตอร์ไซด์ไปส่งที่วัด รถสองแถวสายชัยภูมิ – ท่ามะไฟหวาน เที่ยวสุดท้ายออกเวลา 16.00 น.

3. รถประจำทางสายกรุงเทพฯ – เมืองเลย (ชุมแพทัวร์ หรือแอร์เมืองเลย) ลงที่อำเภอแก้งคร้อ รถจะจอดใต้สะพานลอย จะมีป้อมตำรวจอยู่ใกล้ๆ ให้เดินไปทางร้านเซเวนฯ ประมาณ 200-300 เมตร ก่อนถึงร้านเซเวนฯ
ทางด้านขวามือจะเห็นสถานีจอดรถสองแถว มองหารถไปบ้านใหม่ไทยเจริญ ค่ารถประมาณ 60 บาทให้แจ้งคนขับรถว่าให้ช่วยไปส่งที่วัดป่าสุคะโตด้วย (ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม)

รถสองแถวเที่ยวแรกจะออกประมาณเที่ยงกว่าๆ เที่ยวต่อไปประมาณบ่ายสามโมง เที่ยวสุดท้ายประมาณห้าโมงเย็น (ไม่แนะนำให้มาเที่ยวสุดท้ายเพราะจะเต็มไปด้วยนักเรียน) ใช้เวลาไม่แน่นอนในการเดินทางถึงวัด ขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารเที่ยวนั้นจะไปลงที่ใดบ้าง รถอาจจะแวะส่งหลายหมู่บ้าน โดยปกติถ้าขับรถส่วนตัวใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที
ข้อมูลการเดินทางจาก เฟซบุ๊ควัดป่าสุคะโต

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ