Category Archives: วัดวาอาราม

วัดเกาะแก้วอัมพวัน นครพนม หลวงปู่เสาร์สร้าง หลวงปู่มั่นเคยพำนัก

วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปตามรอยเส้นทางพระธุดงค์กรรมฐาน(หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น) ที่จังหวัดนครพนม โดยผมจะพาไปยังวัดเกาะแก้วอัมพวัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม อยู่ห่างจากองค์พระธาตุพนมไม่ถึง 2 กิโลเมตร วัดแห่งนี้เป็นวัดในท้องถิ่น ที่ไม่มีประวัติการสร้างแน่ชัด เล่ากันแต่เพียงว่า หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้เข้ามาพัฒนาและสร้างวัดขึ้นมาเมื่อราวปี พ.ศ.2473 เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ที่เรียกกันว่า “วัดอ้อมแก้ว” ตามชื่อเจ้าของที่ดินเดิมที่ไปได้บริจาคเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะทางพระพุทธศาสนา และเรียกชื่อใหม่ว่า วัดเกาะแก้วอัมพวัน ในภายหลัง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2490 เมื่อราวปี พ.ศ.2486 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยมาพำนักยังวัดแห่งนี้ โดยมีหลักฐานจากคำบอกเล่าของหลวงตามหาบัว ที่ได้เล่าไว้ว่า ในปี พ.ศ.2486 หลวงปู่มั่น ได้มาพำนักยังวัดเกาะแก้วอัมพวัน หลังงานฌาปนกิจหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งได้อยู่พำนักระยะหนึ่ง จากนั้นหลวงตามหาบัวจึงได้ตามมารับหลวงปู่มั่นไปยังบ้านฝั่งแดง ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม เพื่อสงเคราะห์ญาติโยมที่นั่น และในครั้งนั้น หลวงปู่มั่นได้อนุเคราะห์ให้โยมทองอยู่ ได้ถ่ายภาพ เป็นภาพยืนพาดสังฆาฏิอยู่ใต้ต้นค้อ (ผมสันนิษฐานว่าจะเป็นวัดกัณตะศิลาวาส ที่หลวงปู่กินรีเคยพัฒนาไว้)  หลังจากที่หลวงปู่มั่นได้สงเคราะห์ญาติโยมที่บ้านฝั่งแดงแล้ว หลวงตามหาบัวได้พาท่านไปจำพรรษาที่ วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน ต.ตองโขป อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ผมเดินทางไปยังวัดเกาะแก้วอัมพวัน(ปี 2566) พบว่ามีการปลูกสร้างเสนาสนะหลายอย่าง และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างพระธาตุมิ่งเมือง ภายในวัดมีลานธรรม สร้างพระพุทธรูปและรูปหล่อครูบาอาจารย์ที่เกี่ยวของกับวัดแห่งนี้ไว้ ได้แก่ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต… Read More »

โบสถ์ร้างในหมู่บ้าน เก่าแก่โบราณกว่าร้อยปี วัดหนองเค็ด ฉะเชิงเทรา

หลังจากที่ผมได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดสระแก้ว ระหว่างทางกลับผมตั้งใจที่จะแวะพักดื่มกาแฟที่ ไลฟ์เฮ้าส์ คิทเช่น อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดหนองเค็ด จึงนึกขึ้นได้ว่า “วัดหนองเค็ด” มีโบราณสถานที่น่าสนใจหลบซ่อนอยู่  นั่นก็คือโบสถ์หลังเก่าที่มีอายุกว่าร้อยปี ผมจึงได้ถือโอกาสนี้ แวะเข้าไปเก็บภาพ วัดหนองเค็ด ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เดิมพื้นที่วัดหนองเค็ด จะอยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้านลึกเข้าไปจากถนนหลายเลข 304 เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ไม่ได้ตั้งอยู่ริมถนนเช่นปัจจุบันนี้ โบสถ์หลังใหม่สร้างเมื่อปี 2516 แต่โบสถ์หลังเก่าที่อยู่ลึกเข้าไป ยังคงหลงเหลือให้เห็นถึงปัจจุบันนี้ และผมจะพาทุกท่านเข้าไปชมครับ ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เขียนไว้ว่า วัดหนองเค็ด ตั้งมาตั้งแต่ปี 2375 ซึ่งมีข้อมูลไม่มากนัก ผมจึงไปพบข้อมูลในกลุ่มเฟสบุ๊คหอจดหมายเหตุบางคล้า ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “วัดหนองเค็ด” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตั้งแต่ปี 2426 และได้รับพระราชทานตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดพนมพนาวาศ”  แต่ชาวบ้านยังคงใช้ชื่อวัดหนองเค็ดตามชื่อของหมู่บ้าน ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันฯ ระบุ จ.ศ.1245 ตรงกับปี พ.ศ.2426 เป็นปีที่วัดหนองเค็ด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพนมพนาวาศ”  โบสถ์หลังเก่าวัดหนองเค็ด มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นโบสถ์โล่ง มีเสาไม้ หลังคาสังกะสี ภายในมีฐานชุกชีและประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ที่เคยเป็นพระประธาน แต่มีสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนักด้วยกาลเวลาที่ผ่านมานานกว่าร้อยปี โครงสร้างภายในมีความชำรุดพอสมควรจากปลวกที่ขึ้นกินเนื้อไม้ เกรงว่าจะพังทลายลงมา แต่ชาวบ้านในพื้นที่มีความหวงแหน จึงได้ร่วมกันอนุรักษ์โครงสร้างเดิม โดยการสร้างหลังคาถาวรขึ้นปกคลุมไว้ เพื่อย้ำเตือนความทรงจำในความศรัทธาของบรรพบุรุษ ที่ร่วมสร้างโบสถ์หลังนี้ขึ้น… Read More »

วัดบันไดนาค วัดร้างที่เหลือเจดีย์ถูกเจาะหาสมบัติพรุนไปทั้งองค์ ในป่าที่อยุธยา

วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยวัดร้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามไปยังฝั่งทิศใต้นอกเกาะพระนครศรีอยุธยา ที่ ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อไปยังวัดบันไดนาค ซึ่งเป็นวัดร้างยังไม่ผ่านการบูรณะ ปัจจุบัน(ปี 2566) ยังหลงเหลือซากเจดีย์สมัยอยุธยา ที่ถูกเจาะหาสมบัติจนพรุนทั้งองค์ วัดแห่งนี้ไม่พบข้อมูลเอกสารบันทึก แม้แต่หนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ที่ อ.น. ณ ปากน้ำได้ลงพื้นทีสำรวจ เมื่อราวปลายปี 2509 ก็ไม่ปรากฏการพบวัดแห่งนี้ ซึ่งสมัยนั้นคงอยู่ในป่ารกทึบ ประกอบกับวัดร้างในอยุธยามีเป็นจำนวนมาก จึงอาจตกสำรวจในครั้งนั้น แม้วัดบันไดนาค จะยังไม่ผ่านการบูรณะ แต่ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมายและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้เรียบร้อยแล้ว  พื้นที่วัดบันไดนาค มีสภาพที่มีวัชพืชและต้นไม้ขึ้นปกคลุมจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะต้องลุยป่าเข้าไป ซากองค์เจดีย์ของวัดบันไดนาค มีสภาพถูกเจาะหาสมบัติด้านในจนพรุนไปทั้งองค์ เกือบจะพังทลายลงมา เมื่อเรามองเข้าไปด้านในจะเห็นช่องกรุ เป็นห้องกลวงที่เคยถูกค้นหาเมื่อครั้งอดีต สำหรับเรื่องการขุดหาสมบัติในอยุธยาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากได้กอบกู้คืนเอกราช ซึ่งมีบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาครั้งกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ว่า มีการขุดหาสมบัติตามวัดในกรุงศรีอยุธยาโดยคนจีนและคนไทย พบของมีค่าและทองคำ มีจำนวนมากจึงต้องนำออกไปเป็นลำเรือ แม้แต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ให้รื้ออิฐไปสร้างกรุงใหม่ ก็มีการลักลอบขุดหาสมบัติด้วยเช่นกัน กาลเวลาผ่านไปหลายร้อยปี จนมาถึงปัจจุบัน โบราณสถานทุกแห่งในกรุงศรีอยุธยา จึงถูกทำลายไปมากมาย เนื่องจากไม่พบบันทึกประวัติการสร้างวัด จึงสันนิษฐานจากรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์ วัดบันไดนาค ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเจดีย์ของวัดบันไดนาคไว้ว่า ชั้นซ้อนเจดีย์มีความคล้ายกับเมรุรายที่วัดไชยวัฒนราม ซึ่งมีชั้นซ้อนรองรับด้วยบัวหงายต่อกันขึ้นไปหลายชั้นจนแทบไม่เหลือยอด แม้จะเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมก็ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างถึงสมัยอยุธยาต้น แต่เป็นเจดีย์ที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบวัดไชยวัฒนารามในสมัยอยุธยาตอนปลาย สุดท้ายนี้ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ / แอดมินลุงตั้ม (ยุทธนา ผิวขม) ช่องทางการติดตาม Facebook : เพจภารกิจเที่ยววัด YouTube… Read More »

วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ เจดีย์ใหญ่ที่สุดในล้านนา วัดที่หลวงปู่มั่นเคยเป็นเจ้าอาวาส

  ผมได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองเชียงใหม่ โดยมีจุดหมายสำคัญ คือการไปชมเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา ณ วัดเจดีย์หลวง ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นอกจากจะเป็นโบราณสถานสำคัญกลางเมืองเชียงใหม่แล้ว สถานที่แห่งนี้ ก็เป็นอนุสรณ์สถานเกี่ยวครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือ นั่นก็คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านได้เคยจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดแห่งนี้ เมื่อราวปี พ.ศ.2475 วัดเจดีย์หลวง ตามตำนานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ในพุทธศตวรรษที่ 20 เพื่ออุทิศถวายพระเจ้ากือนาผู้เป็นพระราชบิดา แต่สร้างไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน จึงมีการก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยพระเจ้าติโลกราช ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และมีการบูรณะในสมัยพระเมืองแก้วอีกครั้ง จนกระทั่งมีบันทึกว่าปี พ.ศ.2088 สมัยของพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวจนยอดเจดีย์พังทลาย ไม่สามารถซ่อมแซมได้ มีสภาพตามที่เห็นในปัจจุบันนี้ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้วิเคราะห์และสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรม จัดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา 2ประกอบด้วยส่วนฐานเพิ่มลานประทักษิณ ประดับด้วยช้างล้อม ถัดขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุประดับซุ้มจระนำ 3ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ถัดไปเป็นชั้นหลังคาแบบเอนลาด 2 ชั้น เพื่อรับส่วนยอด ซึ่งถ้ายังสมบูรณ์จะมีลักษณะเหมือนกับเจดีย์ที่วัดเชียงมั่นที่มีขนาดเล็กกว่า จึงสามารถกำหนดอายุของเจดีย์อยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ในวันที่ผมเดินทางนั้น พระวิหารได้ปิดเพื่อทำการบูรณะ ผมจึงไม่ได้เข้าไปชมด้านใน แต่รู้มาว่าภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย สร้างจากสำริด ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นผมได้เข้าไปกราบสักการะในวิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นวิหารที่หลวงตามหาบัว ได้มาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 เพื่อประดิษฐานรูปเหมือนและพระอัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น ไว้เป็นที่สักการะของสาธุชน เนื่องจากเมื่อราวปี พ.ศ.2475… Read More »

โบสถ์โบราณ วัดปากบาง กาญจนบุรี

ผมได้เดินทางไปงานบุญที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงถือโอกาสท่องเที่ยววัดเก่าในพื้นที่ใกล้เคียง และได้ทราบมาว่าที่วัดปากบาง มีโบราณสถานเป็นโบสถ์เก่าอายุกว่าร้อยปีให้ชม และเคยถูกปิดมานานกว่า 10 ปี วัดปากบาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเคยถูกทิ้งร้างลงช่วงหนึ่ง ก่อนได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 โบราณสถานสำคัญของวัดแห่งนี้คือ อุโบสถเก่า ซึ่งหันหน้าไปทางแม่น้ำแม่กลอง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ตัวอาคารใช้ผนังรองรับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคา ไม่มีเสาในอาคาร มีพาไลยื่นออกมา มีช่องประตูทางเข้า 1 ช่อง หน้าต่างข้างละ 2 ช่อง ฐานอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ สร้างทับบนฐานอิฐของอาคารเดิมในสมัยแรก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป พระนามว่า หลวงพ่อศรีมงคล โดยเป็นพระพุทธรูปเก่า 4 องค์ แบ่งเป็นปางมารวิชัย 2 องค์ และปางสมาธิ 2 องค์ ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างแทนองค์พระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ จำนวน 4 พระองค์ที่ผ่านมา ที่หน้าบันประดับประติมากรรมปูนปั้นและเขียนสีเล่าเรื่องทางพระพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย หน้าบันด้านหน้าอุโบสถ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งขัดสมาธิ ถัดลงมาเป็นพระมาลัยขึ้นไปโปรดเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ หน้าบันด้านหลังอุโบสถ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน มีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา 5ถัดลงมาเป็นพระมาลัยรับถวายดอกไม้จากมานพผู้ยากไร้ กรอบซุ้มประตูและหน้าต่าง ประดับประติมากรรมปูนปั้น พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ โดยที่ซุ้มหน้าต่างเป็นอดีตพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ 3 พระองค์ และพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน 1 พระองค์ ที่ซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถ เป็นภาพพระศรีอริยเมตรไตร… Read More »

วัดกันมาตุยาราม วัดเก่า จิตรกรรมงดงาม ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ผมได้พาไปท่องเที่ยวที่วัดคณิกาผล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดที่ยายแฟง นักธุรกิจด้านโสเภณีในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้สร้าง ซึ่งในสมัยนั้นการประกอบอาชีพด้านโสเภณีเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฏหมาย สำหรับวันนี้ผมจะพาไปเที่ยววัดกันมาตุยาราม ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน และมีความเกี่ยวข้องกับวงการธุรกิจโสเภณีเช่นกัน เพราะเป็นวัดที่ลูกสาวของยายแฟงเป็นผู้สร้าง นั่นก็คือ นางกลีบ สาครวาสี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2407 ต่อมาบุตรของนางกลีบ คือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว นางกลีบ ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดกันมาตุยาราม” อันหมายถึง “วัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง” สิ่งปลูกสร้างสำคัญในวัด ได้แก่ ธัมเมกขสถูปจำลอง อุโบสถภายในมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ และประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆในจระนำบนผนังอุโบสถ ผมเดินชมตลาดย่านเยาวราช ซึ่งมีความคึกคักอย่างมาก และลัดเลาะเข้าไปในซอยเยาวราช ซอย 8 ซึ่งในอดีตสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นย่านโสเภณีที่มีชื่อเสียงระดับไฮโซของยายแฟง ทะลุไปถึงวัดกันมาตุยาราม และโชคดีมากที่เป็นจังหวะที่กำลังจะปิดอุโบสถ ผมจึงได้ขออนุญาตเขาไปชม พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อกะไหล่ทอง ประดิษฐานในบุษบกไม้ ปิทอง ประดับกระจก บริเวณฐานบุษบก จำหลักเป็นรูปเทพพนมเรียงรายตลอด ผมมีความประทับใจความงดงามในอุโบสถมากเลยครับ ทั้งองค์พระประธาน และภาพจิตรกรรม ท่านที่สนใจไปเที่ยวชม จะเปิดให้เข้าในช่วงทำวัตรเช้าและเย็น เวลา 09.00 น. และ 17.00 น. เหตุที่ต้องปิดอุโบสถไว้ เพราะบ่อยครั้งจะมีคนไร้บ้านเข้าไปนอนภายในอุโบสถ และสัมผัสจิตรกรรมจนเกิดความเสียหายได้ครับ ยุทธนา ผิวขม… Read More »